Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis


 

หลังจากอ่าน “บทรำพึง: เราจะไปข้างหน้ากันอย่างไร” ซึ่งเป็นบทความวิจารณ์กลุ่มคนที่บทความเรียกว่า “กลุ่มเคลื่อนไหวต่อต้านเผด็จการ” (ดูเหมือนบทความที่เผยแพร่ในประชาไทจะมีการแก้ไข เดิมทีในบทความใช้คำว่า "ขบวนการเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตย")

ก่อนอื่น ข้าพเจ้าสนับสนุนการวิจารณ์และอยากให้มีการวิจารณ์กันอีกมาก ๆ  ทั้งขอแสดงความชื่นชมต่อคุณ “จตุรัส นิรนาม” ที่เขียนบทความนี้ออกมาในเวลานี้ ซึ่งต้องนับเป็นความกล้าหาญ เพราะคุณ “จตุรัส นิรนาม” คงทราบดีว่าจะต้องโดนปฏิกิริยาสะท้อนกลับไม่มากก็น้อยแน่นอน

อย่างไรก็ตาม ข้าพเจ้าคิดว่าข้อวิจารณ์ในบทความข้างต้นมีปัญหาหลายประการ  เมื่ออ่านแล้วข้าพเจ้ามีข้อรำพึงขึ้นมา 9 ประการดังนี้

1. ประโยคแรก ๆ ของบทความบอกว่า "พวกเขา [“กลุ่มเคลื่อนไหวต่อต้านเผด็จการ”] ทำทุกอย่างให้เป็นการเมืองมากเกินไป" ---ข้าพเจ้าอ่านแล้วไม่เข้าใจ หมายความว่าอะไร  การต่อต้านเผด็จการ เรียกร้องประชาธิปไตย เป็นประเด็นการเมืองในตัวมันเอง จะให้เคลื่อนไหวเป็นแบบอื่นได้อย่างไร?

2. พวกเขาทำงานความคิดน้อยเกินไป ---การทำงานเผยแพร่ความคิดเป็นเรื่องระยะยาว แต่ในสภาพการณ์ปัจจุบันที่แม้แต่การเสวนายังกลายเป็นอาชญากรรม การเคลื่อนไหวที่เน้นเป้าหมายระยะสั้นก็จำเป็นอย่างยิ่งด้วย  การทำงานความคิดคงเกิดขึ้นได้ยากในสภาวะที่ไม่มีสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นดังที่เป็นอยู่ในขณะนี้

อนึ่ง ข้าพเจ้าคิดว่า กลุ่มคนที่บทความนี้เรียกว่า “กลุ่มเคลื่อนไหวต่อต้านเผด็จการ”  มีหลายคนทีเดียวที่ตั้งใจออกมาทำกิจกรรมแบบเฉพาะหน้า ถ้าประเทศกลับไปสู่ประชาธิปไตยแบบมีเลือกตั้งเมื่อไร ก็เป็นไปได้ที่พวกเขาจะไม่ดำเนินกิจกรรมทางการเมืองต่อ ส่วนบางคนที่จะเคลื่อนไหวต่อ พวกเขาก็ไปทำงานความคิดต่อแน่นอน  เราคงไม่สามารถเรียกร้องคนมากกว่าที่เขาเป็นหรือเขาเชื่อ

3. บทความบอกว่าขบวนการไม่เปิดพื้นที่ให้คนเข้าร่วม ---ข้าพเจ้ายังไม่เข้าใจว่า “เข้าร่วม” มีความหมายอย่างไรในทัศนะของผู้เขียนบทความ  เท่าที่เห็นในการจัดกิจกรรมที่ผ่านมา ก็จะมีประชาชนกลุ่มหนึ่งมา “เข้าร่วม” เสมอ โดยที่พวกเขาก็มีการสร้างสรรค์นำเสนอด้วยตัวเอง เช่น นัดกันแต่งกายแบบต่าง ๆ เตรียมโปสเตอร์ ป้ายผ้ามาพร้อม  รวมตัวกันร้องเพลง ฯลฯ 

อนึ่ง พื้นที่มีอยู่ทุกหนทุกแห่ง ใคร ๆ ก็สามารถนำไอเดียจากกลุ่มคนเหล่านี้ไปดัดแปลงทำในพื้นที่ของตัวเองได้ ขึ้นอยู่ว่าจะทำหรือไม่ทำเท่านั้นเอง

4. “คนหนึ่งกลายเป็นแพะโดนจับเพราะแชร์ภาพผัง ไม่มีใครยืนยันการกระทำนั้นว่าไม่ผิดด้วยการระดมพลแชร์กันต่อ เป็นพันเป็นหมื่นจะจับให้ผิดหมดก็จะได้รู้ไป” ---ข้าพเจ้าคิดว่าผู้เขียนบทความไม่เข้าใจบริบทของเผด็จการไทยกระมัง รัฐบาลทหารไม่ไล่จับคนเป็นพันเป็นหมื่นหรอก แต่จะเลือกจับคนธรรมดาตัวเล็ก ๆ ไม่มีทางสู้สักคนสองคน เสร็จแล้วก็จะมีคนเขียนบทความหรือโพสต์สเตตัสในเฟซบุ๊กด่ากลุ่มคนทำกิจกรรมว่าไม่รับผิดชอบชีวิตของสามัญชนอีก

อนึ่ง สมมติมีคนแชร์ไปเป็นพันเป็นหมื่น พอมีคนถูกจับสักคนสองคน จะมีประชาชนไทยเป็นพันเป็นหมื่นเดินไปที่สถานีตำรวจเพื่อบอกให้จับตัวเองด้วยหรือเปล่า ตรงนี้ควรวิเคราะห์หาเหตุผลมากกว่าว่าทำไมประชาชนไทยจึงไม่ทำเช่นนั้น  ทำไมประชาชนไทยจึงมีความอดทน มีขันติต่อรัฐบาลทหารและการกระทำอันละเมิดไร้เหตุผลได้ขนาดนี้

5. “พวกเขาไม่ได้มีกำลังแนวร่วมอยู่จริง หรือ พวกเขาเองก็ไม่มีจินตภาพเกี่ยวกับแนวร่วมเหล่านี้ในทางความเป็นจริง” ---ถูกต้อง แต่นี่คืองานจัดตั้ง กลุ่มคนที่เคลื่อนไหวตอนนี้ส่วนใหญ่ไม่เคยมีแนวคิดเรื่องจัดตั้งมาก่อน  ความผิดน่าจะตกอยู่ที่กลุ่มคนที่มีแนวคิดเรื่องจัดตั้ง แต่ทำไม่สำเร็จมากกว่า (เช่น พวกที่ชอบเขียนบทความว่าด้วยเรื่องจัดตั้งอย่างข้าพเจ้า) การกล่าวโทษคนที่ไม่ได้มีพื้นฐานความคิดเรื่องจัดตั้งว่าไม่รู้จักจัดตั้ง น่าจะเป็นการกล่าวโทษที่ผิดฝาผิดตัว  อีกทั้งคนกลุ่มที่เคลื่อนไหวหลายคนก็เป็นแค่เยาวชน อายุแค่ยี่สิบต้น  ถ้าพวกเขาสามารถจัดตั้งจนมีแนวร่วมได้ แปลว่าพวกเขาน่าจะต้องเริ่มการจัดตั้งมาตั้งแต่มัธยมต้นกระมัง!

6. ไม่มีการสร้างตัวละครตัวใหม่ๆ ขึ้นมา ---ของแบบนี้ "สร้าง" ได้ด้วยหรือ?

7. “พวกเขาต้องเรียนรู้ที่จะ "สะสมชัยชนะ" บ้าง” ---“ชัยชนะ” ที่ว่านี้คืออะไร การเคลื่อนไหวต่อสู้กับเผด็จการทหารย่อมต่างจากการเคลื่อนไหวแบบเอ็นจีโอที่มีประเด็นระยะยาว ยกตัวอย่างเช่น การต่อต้านจีเอ็มโอ ซึ่งหากชะลอกฎหมายได้ ก็นับเป็นชัยชนะเล็ก ๆ ที่สะสมไว้  แต่การต่อสู้กับเผด็จการทหารนั้น ตราบที่เผด็จการทหารยังไม่โค่นล้ม จะไม่นับว่ากลุ่มคนที่ต่อสู้ไม่มีชัยชนะบ้างเลยหรือ?  การก้าวข้ามความกลัวออกมา การได้จัดกิจกรรมทั้ง ๆ ที่ถูกสั่งห้าม ไม่นับเป็นชัยชนะเลยหรือ?

8. “พวกเขาเคลื่อนไหวแล้วจบ (บ่อยครั้งก็จบลงด้วยการมาให้กำลังใจกันเอง เชียร์กันเองประณามอีกฝ่ายกันเอง) ไม่มีความต่อเนื่องของ "เป้าหมาย" ในการเคลื่อนไหว”  ---ข้าพเจ้างุนงงกับข้อความตรงนี้เช่นกัน  เพราะข้าพเจ้าก็เห็นพวกเขาออกมาเคลื่อนไหวแล้ว “ไม่จบ” พวกเขาโผล่กลับมาพร้อมกิจกรรมใหม่ ๆ ตลอด และเป้าหมายของการเคลื่อนไหวก็ต่อเนื่องมีหนึ่งเดียวมาตลอด กล่าวคือ การขับไล่เผด็จการทหาร

9.  บทความนี้สุดท้ายแล้วก็ตกหลุมวิธีคิดแบบชนชั้นนำ นั่นคือการฝากความหวังทุกอย่างไว้กับคนกลุ่มเล็ก ๆ ที่ถูกอุปโลกน์ว่าจะต้องเป็น "แกนนำ" ทำแทนทุกอย่างเพื่อบรรลุเป้าหมายของผู้เขียนบทความ ซึ่งไม่รู้ว่าเป็นเป้าหมายเดียวกับกลุ่มคนที่เคลื่อนไหวอยู่ตอนนี้หรือเปล่าด้วยซ้ำ

ข้าพเจ้าไม่ได้บอกว่ากลุ่มคนที่เคลื่อนไหวตอนนี้ไม่มีข้อบกพร่อง แต่เราก็ไม่ควรวิจารณ์เขาว่าทำแทนเราได้ไม่ดีพอ  "ไม่ใช่แฟน ทำแทนไม่ได้" --แม้แต่แฟน ก็ทำแทนตัวเราไม่ได้--

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net