Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

หลังจากที่ได้อ่านบทความ “บทรำพึง: เราจะไปข้างหน้ากันอย่างไร” ที่เขียนโดย จตุรัส นิรนามที่ได้รับการเผยแพร่ในเว็บไซด์ประชาไท ทำผมต้องออกมาโต้แย้งและตั้งคำถามด้วยประการนี้

1. “พวกเขาทำทุกอย่างให้เป็นการเมืองมากไป ขณะที่ฝั่งตรงข้ามก็ทำให้ทุกอย่างเป็นเกมการเมืองไปหมดเช่นกัน”

ในส่วนแรกทำให้ผมถึงกับต้องกลับไปตั้งคำถามในฐานะนักเรียนรัฐศาสตร์เลยว่า การเมือง คืออะไร แล้วการกระทำอะไรบ้างที่ไม่ใช่การเมือง แล้วการออกมาทำกิจกรรมเคลื่อนไหวในประชาสังคม ไม่เป็นการเมืองหรือ และอะไรคือหน่วยวัดพิกัดว่า อะไรคือการทำทุกอย่างให้เป็นการเมืองมากหรือน้อยไป

สำหรับผมนั้น การเมือง มันก็มีมาตั้งแต่มนุษย์มีปฏิสัมพันธ์กันตั้งแต่ 2 คนขึ้นไป หรือเป็นการที่มนุษย์ไปปฏิสังสรรค์กับกลไกหรือโครงสร้างทางสังคม ดังนั้น การให้ความเห็นลักษณะนี้ไม่มีความหมายเลยสำหรับผม ดังที่กล่าวไป

2. “พวกเขาทำงาน "ความคิด" น้อยเกินไป ยังไม่นับการ "เปิดพื้นที่" ให้คนเข้าร่วม”

ผมไม่แน่ใจว่าผู้ที่เขียนบทความนี้ได้สังเกตปรากฏการณ์ในการทำกิจกรรมและการเคลื่อนไหวที่เกิดมานานขนาดไหน และการทำงานทางความคิดที่เขาว่า น้อยเกินไป นั้น มันมากน้อยเพียงใด และวัดจากอะไร วัดจากปรากฏการณ์ที่เห็นในวัตถุวิสัย หรือวัดจากความรู้ของตนในเชิงอัตวิสัย ตามที่ผู้เขียนบทความเห็น

ที่ผ่านมาในการทำกิจกรรมเคลื่อนไหว เรามีทั้งการทำกิจกรรมเสวนา การทำหนังสือพิมพ์ก้าวข้ามของขบวนการประชาธิปไตยใหม่ ความพยายามของนักวิชการในการเผยแพร่ความรู้ อย่างนี้ทางผู้เขียนบทความจะเห็นว่าเป็นการทำงานทางความคิดไหม และในแง่ของการเปิดพื้นที่ให้คนเข้าร่วม มากน้อยอย่างไร ผมเองยังวัดไม่ได้เช่นกัน ที่ผ่านมาเราพยายามทำให้เป็นประเด็นสาธารณะ และทำในสถานที่สาธารณะ อย่างกิจกรรม “นั่งรถไฟ ไปอุทยานราชภักดิ์ ส่องแสงหากลโกง” เหตุที่เลือกใช้รถไฟฟรี ก็เพื่อให้ผู้คนเข้าถึงได้ง่าย เพราะการเดินทางสาธารณะที่ทุกคนเข้าถึงและสามารถไปทำกิจกรรมร่วมกันได้ไม่ยากมากนัก การทำกิจกรรมเสวนาต่างๆ เราก็เลือกทำพื้นที่ ของจุดใจกลางเมือง เพื่อให้เข้าถึงได้ เดินทางได้ง่าย จากสิ่งที่กล่าวไป ก็เป็นบริบทโดยทั่วไป ที่พยายามเอื้อให้เกิดการเปิดพื้นที่และการเข้าถึงพื้นที่ด้วย

3. “พวกเขาเคลื่อนไหวแล้วจบ (บ่อยครั้งก็จบลงด้วยการมาให้กำลังใจกันเอง เชียร์กันเองประณามอีกฝ่ายกันเอง) ไม่มีความต่อเนื่องของ "เป้าหมาย" ในการเคลื่อนไหว คนหนึ่งนั่งรถไฟไปไม่ถึง กลับไม่มีคนอื่นที่จะไปให้ถึงต่อ (ไม่ว่าด้วยวิธีไหน) คนหนึ่งกลายเป็นแพะโดนจับเพราะแชร์ภาพผัง ไม่มีใครยืนยันการกระทำนั้นว่าไม่ผิดด้วยการระดมพลแชร์กันต่อ เป็นพันเป็นหมื่นจะจับให้ผิดหมดก็จะได้รู้ไป (ซึ่งในอีกด้านหนึ่ง อาจสะท้อนว่า พวกเขาไม่ได้มีกำลังแนวร่วมอยู่จริง หรือ พวกเขาเองก็ไม่มีจินตภาพเกี่ยวกับแนวร่วมเหล่านี้ในทางความเป็นจริง)”

จากการกล่าวลักษณะนี้ คุณต้องดูก่อนว่า ในตัวกิจกรรมมันมีความสำเร็จในตัวเองหรือไม่ มีการจัดการของเจ้าหน้าที่รัฐ ที่บางครั้งใช้กฎหมายอย่างไม่เป็นธรรม บางครั้งใช้ความรุนแรงจึงไม่แปลกที่จะเกิดในลักษณะนั้น และที่กล่าวว่า ไม่มีความต่อเนื่องของเป้าหมาย ในการเคลื่อนไหวนั้น บางครั้งมันก็มีปัจจัยที่เกินกว่าจะควบคุม ในการทำกิจกรรมที่ไปให้เป้าหมาย ในแง่นี้เราต้องพิจารณาจากเป้าหมายย่อยของกิจกรรม และเป้าหมายหลักของขบวนการการเคลื่อนไหว ไปด้วยกัน ดังนั้น เป้าหมายที่ว่าไม่ต่อเนื่องนั้น คือเป้าหมายลักษณะใด และเกินกว่าปัจจัยที่เราจะควบคุมได้หรือไม่

4. “ไม่มีการสร้างตัวละครตัวใหม่ๆ ขึ้นมา (นั่นสะท้อนหรือไม่ว่า ที่ทำๆ กันอยู่ไม่เห็นผล เพราะไม่มีคนหน้าใหม่ๆ ออกมาชูธงร่วม) คนที่ออกมาเคลื่อนไหวก็คนหน้าเดิมๆ -- ไม่ใช่ไม่เคารพจิตใจ (พวกนายแน่มาก) แต่มันบอกอะไรเรา?”

ถ้าผมจะกล่าวว่า ขอให้ผู้เขียนออกมาเป็นตัวละคร ตัวใหม่ แทนตัวละครหลัก จะได้หรือไม่ สำหรับ การที่มีแต่หน้าเดิมนั้น อาจจะเป็นเพราะหน้าเดิมๆที่ว่า มีต้นทุนและความกล้าต่อความเสี่ยง ที่พอจะออกมาได้ ในบริบทปัจจุบันก็ใช่ว่า ทุกคนจะพร้อมออกมา เคลื่อนไหวทางการเมือง และต้นทุนชีวิตของแต่ละคนไม่เท่ากัน

สำหรับผม เท่าที่ผมเห็นจากประสบการณ์ คนที่มาเคลื่อนไหวทางการเมือง ก็ไม่ใช่คนที่มีต้นทุนของชีวิต ที่มากหรือน้อย จนเกินไป ไม่ใช่ว่าไม่มีจนไม่มีเวลาเพราะต้องให้เวลาในการทำงาน หรือมีมากไปจนบางครั้งอาจทำให้เกินการสูญเสียอย่างมหาศาล เช่น คนที่ในภาคธุรกิจ หลายคนมีจิตวิญญาณในการต่อสู้ แต่การออกมาอาจสร้างความเสียหายได้ในบางเรื่องสำหรับเขา ซึ่งในสถานการณ์อย่างนี้การออกมาก็ต้องยอมรับว่ามีความเสี่ยง บางครั้ง หน้าเดิมที่คุณเห็น เขาอาจจะอยู่ในจุดที่ต้นทุนชีวิตพอดีพอที่จะมาเคลื่อนไหวได้ และคำถามของผมที่จะถามผู้เขียนบทความนี้คือ คุณเองพร้อมจะเป็นหน้าใหม่หรือไม่

5. “พวกเขาต้องทำงาน "ความคิด" และ "เปิดพื้นที่การมีส่วนร่วม" ด้วยการสร้าง "ประเด็นเชิงรุก" ให้มากกว่านี้ พวกเขาต้องเรียนรู้ "การจัดขบวน" แบบมีแผนการเคลื่อนไหวที่ต่อเนื่องส่งผล ทำงานรณรงค์และสร้างแคมเปญใหม่ๆ ที่หลากหลายขึ้นมา ที่ไม่ใช่ใช้รูปแบบเดิมๆ ให้เขาจับทางได้ หรือแค่อาศัยกระแสสถานการณ์เป็นครั้งเป็นคราวเท่านั้น (ซึ่งอาจเป็นเรื่องใหม่สำหรับพวกเขาที่เติบโตมากับกระแสอนาธิปไตย แต่อนาธิปไตยไม่ได้แปลว่าเป็นขบวนไม่ได้ ทำงานร่วมกันอย่างมีประสิทธิภาพไม่เป็น)”

ในเรื่องของการทำงานเชิง ความคิด ผมได้กล่าวไปแล้ว จะขอเริ่มในส่วนที่ผู้เขียน กล่าวว่า ต้องเรียนรู้ในการจัดขบวน คำถาม การจัดขบวน จัดขบวนอะไร จัดอย่างไร ภายใต้ค่านิยมความคิดของผู้คนที่มีความเป็นปัจเจกบุคคล ไม่ได้มีความต้องการรวมพลังความเป็นกลุ่ม แบบการจัดตั้ง สำหรับแล้วในปัจจุบัน เราจะต้องทำให้ผู้คนที่แตกกระจายเป็นปัจเจก มีประเด็นทางสังคมให้ร้อยเรียงผู้คนไปด้วยกัน น่าจะเป็นที่ต้องทำเสียมากกว่า ส่วนในเรื่องของความต่อเนื่องนั้น พวกเราก็ยึดกันเป็นหลักๆ ว่าต่อต้านเผด็จการ และปลายทางคือขับไล่รัฐบาล คสช. การรณรงค์การทำแคมเปญ ของเราจึงต้องประเมินไปตามสถานการณ์ ว่าประเด็นอะไรที่เกิดขึ้น ซึ่งต้องอาศัยแต่ละสถานการณ์ไป ให้ร้อยเรียงผู้คนให้เห็นประเด็นได้อย่างชัดเจน ซึ่งเรื่องนี้ผมไม่เห็นจะเกี่ยวกับ อนาธิปไตยหรือไม่อนาธิปไตย ผู้เขียนอาจจะออกจากกรอบของซ้ายเก่า มามองการเคลื่อนไหวในบริบทของเสรีประชาธิปไตย ในเรื่องของการจัดขบวนที่ว่า อาจเป็นเพราะค่านิยมทางความคิดและการเปลี่ยนไปของการอยู่ในฐานทรัพยากรของปัจเจกบุคคล

ประเด็นสุดท้ายคือ อะไรคือการสะสมชัยชนะ ชัยชนะที่ว่าคืออะไร แล้วชัยชนะนั้นจะเป็นชัยชนะของใคร ที่ผู้เขียนต้องการเห็น ส่วนนี้ไม่เข้าใจจริง หรือต้องให้ทำแบบว่า ประกาศสงครามครั้งสุดท้าย แล้วประกาศชัยชนะจนน่าเบื่อ

สำหรับบทความนี้ หลายคนกล่าวเป็น คำวิจารณ์ ที่ชวนมอง เป็นยาขม ที่ต้องฝืนกิน แต่สำหรับผม มันเป็นยาขม ที่ควรเททิ้ง เพราะมันเป็นการวินิจฉัยโดยไม่ดูบริบท พลวัตความเปลี่ยนแปลง และข้อจำกัดของการเคลื่อนไหว ที่เกิดขึ้นและเป็นอยู่ในปัจจุบัน ผู้เขียนไม่ประเมินส่วนนี้เลย การวิพากษ์วิจารณ์ควรจะอิงกับบริบท เพราะบางบริบทที่ขบวนการเคลื่อนไหวเป็นแบบในปัจจุบันหรือในแบบที่พวกผมทำ ไม่สามารถปรับให้เป็นไปตามผู้เขียนต้องการได้ทุกประการ และบางครั้งในสิ่งที่ผู้เขียนว่าพวกเรา มันเป็นการทำบนข้อจำกัดทั้งสิ้น การไม่วิเคราห์ข้อจำกัด สำหรับผมก็ป่วยการ 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net