มาเงียบ ๆ กรธ. เผยร่าง รธน. คืบ 70% ไม่มี 'คปป.' แต่ให้ 'ตุลาการ' ผ่าทางตันประเทศแทน

กรธ. เผยความคืบหน้าการร่าง รธน. ว่าเสร็จแล้วกว่า 70% เกือบ 200 รายมาตรา ไม่มีการตั้งองค์กรคณะกรรมการยุทธศาสตร์การปฏิรูปและการปรองดองแห่งชาติ (คปป.) เพื่อแก้ปัญหาทางการเมืองที่ไม่มีทางออก แต่จะให้องค์กรฝ่ายตุลาการเข้ามาช่วยเหลือแต่ยังไม่ได้ข้อยุติว่าจะใช้ศาลรัฐธรรมนูญหรือศาลยุติธรรม
 
ไทยรัฐออนไลน์รายงานเมื่อวันที่ 11 ธ.ค. 2558 ว่านายอุดม รัฐอมฤต โฆษกคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) กล่าวถึงความคืบหน้าการร่างรัฐธรรมนูญว่า ขณะนี้ร่างรัฐธรรมนูญเสร็จสิ้นไปแล้วกว่า 70 เปอร์เซ็นต์หรือเกือบ 200 รายมาตรา โดยเรื่องที่กำลังจะเร่งพิจารณาต่อจากนี้ให้แล้วเสร็จ คือ เรื่องการปกครองท้องถิ่น เรื่องการปฏิรูปต่างๆและบทเฉพาะกาล ที่ต้องรอรับฟังความเห็นจากหลายฝ่าย ส่วนเรื่องการสร้างความปรองดองนั้นอยู่ในขั้นตอนของการศึกษาเรื่องการวางกลไกในการแก้ปัญหาวิกฤติการเมืองที่ทุกฝ่ายยอมรับได้ ไม่ใช่ให้ทหารออกมาเหมือนเช่นทุกครั้งและขอยืนยัน กรธ.ไม่มีความต้องการตั้งองค์กรคณะกรรมการยุทธศาสตร์การปฏิรูปและการปรองดองแห่งชาติ (คปป.) เพื่อแก้ ปัญหา หากเกิดปัญหาทางการเมืองโดยไม่มีทางออก จะต้องให้องค์กรที่สังคมยอมรับเข้ามาคลี่คลายสถานการณ์ ขณะนี้มีความเป็นไปได้ที่จะให้องค์กรฝ่ายตุลาการเข้ามาช่วยเหลือ แต่ยังไม่ได้ข้อยุติว่าจะใช้ศาลรัฐธรรมนูญหรือศาลยุติธรรม ขึ้นอยู่กับความต้องการของสังคม ขณะนี้ กรธ.กำลังรับฟังความเห็นอยู่ และจะพิจารณาเรื่องนี้ในช่วงต้นเดือน ม.ค. 2559
 
นายอุดมกล่าวว่า กรธ.ยังคิดมาตรการใหม่ เพื่อป้องกันปัญหาทางการเมือง ตั้งแต่ต้นเหตุเพื่อป้องกันการลุกลามในอนาคต นอกจากเรื่องการเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจ ตั้งกระทู้ถามแล้ว ล่าสุด กรธ.เสนอให้ฝ่ายค้านเสนอญัตติได้ในกรณีที่บ้านเมืองกำลังจะเกิดวิกฤติ และให้รัฐบาลมาแถลงแนวทางแก้ไขปัญหาต่อรัฐสภา โดยไม่มีการลงมติ เชื่อว่าจะเป็นการเพิ่มช่องทางออกทางการเมืองมากขึ้น
 
“แม้ร่างรัฐธรรมนูญจะยังไม่เป็นที่ยอมรับของนักการเมือง แต่ก็เป็นเรื่องปกติเพราะบางพรรคมีอคติตั้งแต่ต้น อยากให้เปิดใจ เพราะการทำงานของ กรธ. พยายามหาทางยึดโยงกับประชาชนให้ทุกฝ่ายรับได้ เพื่อให้เกิดความสงบในบ้านเมือง หากพรรคการเมืองมีข้อเสนอ กรธ.พร้อมที่จะรับฟัง” นายอุดมระบุ
 
นายชาติชาย ณ เชียงใหม่ โฆษก กรธ. กล่าวว่า ขณะนี้ กรธ.ได้พิจารณาบทบัญญัติในส่วนที่เกี่ยวข้องกับฝ่ายนิติบัญญัติเสร็จแล้ว การประชุมในสัปดาห์หน้าวันที่ 14 ธ.ค. จะพิจารณาในส่วนที่เกี่ยวข้องกับฝ่ายบริหาร อาทิ คุณสมบัติของนายกรัฐมนตรี คณะรัฐมนตรี (ครม.) จำนวนและอำนาจหน้าที่ของ ครม. ความสัมพันธ์ของ ครม.กับข้าราชการประจำ บทบาทของฝ่ายบริหารในการถ่วงดุลกับฝ่ายนิติบัญญัติ โดยคุณสมบัติของบุคคลที่จะมาเป็นนายกฯและรัฐมนตรีนั้น จะต้องเข้มข้นขึ้นมากกว่าเดิม แต่ยังไม่ได้ข้อสรุปชัดเจนว่าแค่ไหน อย่างไร เบื้องต้นกำลังดูในแง่พื้นฐานก่อน เช่น เป็นคนซื่อตรง ต้องแสดงบัญชีรายการเสียภาษีย้อนหลัง แสดงบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินของตนเอง คู่สมรส รวมทั้งบุตรที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ เป็นต้น ส่วนแนวทางอื่นๆต้องรอดูว่าที่ประชุม กรธ.จะมีความคิดเห็นอย่างไร เพื่อให้ได้บุคคลที่มีความรู้ ความสามารถ ประชาชนไว้วางใจได้จริงๆ
 
นายชาติชายกล่าวถึงกรณีที่ กรธ.วางหลักการอภิปรายไม่ไว้วางใจโดยให้อภิปราย ครม.เป็นรายบุคคลหรือทั้งคณะได้ รวมทั้งกำหนดให้ผู้นำฝ่ายค้านยื่นเปิดประชุมนัดพิเศษเพื่ออภิปรายเสนอความเห็นโดยไม่ลงมติได้ หากเสียงสนับสนุนไม่พอ ว่าเหตุผล ที่วางหลักการแบบนี้ เพื่อให้ควบคุมการบริหารราชการแผ่นดินได้ดีขึ้นและป้องกันเสียงข้างมากเผด็จการไม่ฟังเสียงข้างน้อย จึงหาช่องทางให้มีการรับฟังเสียงทุกฝ่ายด้วยการหารือกัน ต้องการให้ทุกฝ่ายรู้จักการประนีประนอม เพราะฐานของระบอบประชาธิปไตยคือความรัก ความเมตตาในเพื่อนมนุษย์ ที่จะช่วยกันทำสิ่งดี ๆ ให้เกิดกับคนส่วนรวม การเป็นรัฐบาลหรือฝ่ายค้านเป็นเพียงการแยกบทบาทกันเท่านั้น
 
นายชาติชายกล่าวด้วยว่า แนวทางการร่างรัฐธรรมนูญเพื่อป้องกันการฉีกทิ้งที่ดีที่สุดคือ ออกแบบหามาตรการป้องกันตั้งแต่ต้นเหตุของความขัดแย้ง และถ้าเมื่อเกิดปัญหาแล้วจะมีทางออก หรือแก้ไขอย่างไร เพื่อป้องกันการยึดอำนาจ อาจจะใช้กลไกให้แต่ละฝ่ายช่วยหาทางออก แต่หากยังหาทางออกไม่เจอ จนเกิดสุญญากาศทางการเมือง กรธ.ก็คิดว่าจะให้องค์กรที่มีอยู่หาทางออก ยกตัวอย่าง เช่นให้ศาลรัฐธรรมนูญเป็นผู้ตัดสิน หรืออีกรูปแบบ ให้ประธาน 3 ศาล ประกอบด้วย ประธานศาลรัฐธรรมนูญ ประธานศาลฎีกา และประธานศาลปกครองสูงสุด หาทางออกร่วมกัน อย่างไรก็ตาม ยังเป็นเพียงข้อเสนอเท่านั้น ยังไม่ใช่มติของ กรธ. แต่ยืนยันได้ว่าจะไม่มีการตั้ง คปป.ขึ้นมาแก้ปัญหา
 
นายชาติชายกล่าวว่า กรธ.ตั้งเป้าหมายว่าภายในวันที่ 8 ม.ค. 59 จะต้องยกร่างมาตราทั้งหมดให้ครบ เพื่อการประชุมนอกสถานที่ระหว่างวันที่ 11-17 ม.ค. ที่ อ.ชะอำ จ.เพชรบุรี กรธ.จะได้ไปพิจารณาเรียงตามมาตรา เพื่อดูว่าจะต้องเพิ่มเติมหรือตัดสิ่งใดบ้าง จากนั้นจะมาทบทวนด้วยความรอบคอบอีกครั้งก่อนเปิดเผยรัฐธรรมนูญร่างแรกต่อสาธารณชนในวันที่ 29 ม.ค. ส่วนกรณีที่พรรคเพื่อไทยขอให้ กรธ.ร่างรัฐธรรมนูญโดยยึดหลักประชาธิปไตยนั้น ขอยืนยันว่า กรธ.ร่างรัฐธรรมนูญให้เป็นไปตามประชาธิปไตย ไม่ได้เขียนให้มีอำนาจนิยมหรืออำนาจเผด็จการ หรือเขียนโดยไม่ฟังเสียงประชาชน เราเปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วม กรธ.ทั้ง 21 คน จะคิดจะเขียนสิ่งใดเราคุยกันเสมอว่ามีความเหมาะสม ถูกต้องตามหลักสากล หรือมีประเทศใดทำกันบ้าง ไม่ได้เขียนไปเรื่อยเปื่อย กรธ.สามารถอธิบายได้ทุกเรื่อง เพราะเรายึดประโยชน์ของคนส่วนใหญ่เป็นที่ตั้ง

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท