พบเอกชนรุกที่ริมคลองนับสิบไร่ เครือข่ายชุมชนริมคลองจี้รัฐลดขั้นตอนเร่งโครงการบ้านมั่นคง

สื่อมวลชนล่องเรือสำรวจคลองลาดพร้าวตามแนวก่อสร้างเขื่อนป้องกันน้ำท่วมของ กทม. พบเอกชนบุกรุกที่ดินริมคลองหลายสิบไร่ เครือข่ายชุมชนริมคลองลาดพร้าวเสนอให้รัฐนำที่ดินที่เอกชนบุกรุกมาให้ชาวบ้านเช่าทำที่อยู่อาศัย ด้านเครือข่ายคลองบางบัวเรียกร้องให้หน่วยงานรัฐทั้ง กทม., ธนารักษ์ ฯลฯ ลดขั้นตอนและระเบียบราชการเพื่อให้ชาวบ้านทำโครงการบ้านมั่นคงได้รวดเร็ว
 
 
 
เมื่อวันที่ 12 ธันวาคม 2558 ที่ผ่านมาสถาบันพัฒนาองค์กร (องค์การมหาชน) ได้นำคณะสื่อมวลชนลงเรือสำรวจคลองลาดพร้าวตั้งแต่บริเวณอุโมงค์เขื่อนยักษ์พระราม 9 เขตห้วยขวาง (จุดเชื่อมระหว่างคลองแสนแสบกับคลองลาดพร้าว) ผ่านไปยังชุมชนริมคลองต่างๆ ตั้งแต่ชุมชนบึงพระราม 9-บึงพระราม 9-หลังสมาคมไทยญี่ปุ่น-ประชาอุทิศ-ลาดพร้าว 80–พิบูลร่วมใจ 2–ลาดพร้าว 45 ไปยังชุมชนบางบัว เขตห้วยขวาง ระยะทางประมาณ 15 กิโลเมตร 
 
ทั้งนี้ชุมชนริมคลองส่วนใหญ่ปลูกสร้างอยู่ในที่ดินของรัฐ เช่น สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์และกรมธนารักษ์ มีบางส่วนปลูกสร้างรุกล้ำลงในคลอง บางชุมชนปลูกสร้างในลักษณะเป็นห้องเช่า นอกจากนี้ยังมีเอกชนหลายรายที่รุกล้ำที่ดินของรัฐเหล่านี้ โดยสร้างบ้านเดี่ยวหลังใหญ่และมีกำแพงล้อมรอบที่ดินริมคลอง รวมเนื้อที่หลายสิบไร่เช่น พื้นที่ริมคลองใกล้ชุมชนประชาอุทิศและชุมชนพิบูลร่วมใจ 2 เขตห้วยขวาง 
 
เจ้าหน้าที่จากสำนักการระบายน้ำ กทม.ที่เคยสำรวจแนวคลองก่อนหน้านี้ได้บอกว่า หากจะมีการรื้อย้ายชาวบ้านออกจากแนวก่อสร้างเขื่อน สำนักการระบายน้ำก็จะต้องแจ้งไปยังหน่วยงานเจ้าของที่ดินเพื่อดำเนินการให้เอกชนที่ปลูกสร้างและรุกล้ำที่ดินเหล่านี้รื้อย้ายออกไปด้วย ไม่ใช่จะรื้อย้ายเฉพาะชุมชนเท่านั้น
 
นายพลากร วงค์กองแก้ว ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ พอช.กล่าวว่า การสำรวจแนวคลองครั้งนี้มีเป้าหมายเพื่อให้สื่อมวลชนได้เห็นสภาพชุมชนริมคลองลาดพร้าว ซึ่งสำนักการระบายน้ำ กรุงเทพมหานคร มีแผนงานที่จะสร้างเขื่อนคอนกรีตเพื่อให้การระบายน้ำเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและเป็นการป้องกันน้ำท่วมตามนโยบายของรัฐบาล โดย พอช.ได้รับมอบหมายจากรัฐบาลให้จัดทำแผนงานรองรับด้านที่อยู่อาศัยของประชาชนที่อยู่ริมคลองที่จะได้รับผลกระทบจากโครงการก่อสร้างเขื่อนครั้งนี้
 
“พอช.ได้จัดทำแผนรองรับที่อยู่อาศัยของชาวบ้านตามโครงการบ้านมั่นคง ระยะเวลา 3 ปี คือตั้งแต่ปี 2559-2561 มีเป้าหมายในชุมชนริมคลองลาดพร้าว คลองบางซื่อ และคลองเปรมประชากร รวม 74 ชุมชน จำนวน 11,004 ครัวเรือน รวมประชากรทั้งหมด 64,869 คนซึ่งจะใช้งบประมาณทั้งหมดประมาณ 4,000 ล้านบาทเศษ โดย พอช.จะเสนอเรื่องผ่านไปยังกระทรวงการพัฒนาสังคมฯ เพื่อให้คณะรัฐมนตรีอนุมัติแผนงาน ซึ่งหาก ครม.อนุมัติแล้ว พอช.ก็จะเริ่มเตรียมความพร้อมของชุมชนตั้งแต่ต้นปี 2559 เช่น การออกแบบผังชุมชนใหม่ การออกแบบบ้าน หลังจากนั้นในเดือนเมษายนก็จะเริ่มก่อสร้างบ้านได้” นายพลากรชี้แจงรายละเอียด
 
นายพลากรกล่าวเพิ่มเติมว่า ในปี 2559 พอช. มีเป้าหมายที่จะดำเนินโครงการบ้านมั่นคงในชุมชนริมคลองจำนวน 26 ชุมชน รวม 3,810ครัวเรือน จำนวนประชากร 22,460 คน ใช้งบประมาณปีแรกจำนวน 1,401.44 ล้านบาท ทั้งนี้ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา (2546-2557) พอช. ได้ดำเนินการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยชุมชนริมคลองลาดพร้าว (ลาดพร้าว,บางบัวและคลองสอง) และคลองเปรมประชากร จำนวน 30ชุมชน รวม 4,868ครัวเรือน โดยสร้างที่อยู่อาศัยแล้วเสร็จ 715หลัง และอยู่ระหว่างดำเนินการ คือ จัดระบบชุมชน จัดตั้งกลุ่มออมทรัพย์ และออกแบบบ้านวางผังชุมชนรวม 4,153 ครัวเรือน
 
สยาม นนท์คำจันทร์ ผู้จัดการสำนักงานกรุงเทพฯ ปริมณฑลและตะวันออก พอช. กล่าวว่า แนวทางการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยชุมชนริมคลองมีอยู่ 3 แนวทาง คือ 1.เพื่อให้ชาวบ้านได้อยู่ในชุมชนเดิม ดังนั้นในกรณีนี้ ชาวบ้านจะต้องแบ่งปันที่ดินกัน คนที่มีบ้านใหญ่หรือมีเนื้อที่มาก จะต้องเสียสละเพื่อให้คนที่ปลูกบ้านอยู่ในคลองได้มีที่อยู่อาศัย ส่วนรูปแบบก็จะต้องมีรื้อบ้านทั้งชุมชนเพื่อจัดทำผังชุมชนใหม่แล้วแบ่งแปลงที่ดินให้เท่าๆ กัน เช่น จัดทำเป็นบ้านแฝด 2 ชั้น สร้างสาธารณูปโภคมารองรับ เช่น มีบ่อบำบัดน้ำเสีย ทางเดินเลียบคลอง มีสวนหย่อม มีศูนย์เด็กเล็ก หรือแล้วแต่ความต้องการของชาวบ้าน 
 
2.ในกรณีที่ดินเดิมไม่พอก็อาจจะต้องจัดหาที่ดินของรัฐที่ใกล้เคียงชุมชนเดิมในรัศมี 5-10 กิโลเมตร เพื่อก่อสร้างบ้านและชุมชนขึ้นมาใหม่ เช่น ที่ดินของบรรรษัทบริหารสินทรัพย์ของกระทรวงการคลัง และ 3.จัดหาที่อยู่อาศัยของการเคหะแห่งชาติ เช่น บ้านเอื้ออาทร เพื่อรองรับชาวบ้านต่อไป โดยสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนจะสนับสนุนชาวบ้านในเรื่องของสินเชื่อเพื่อก่อสร้างที่อยู่อาศัยใหม่และสนับสนุนงบประมาณเพื่อสร้างสาธารณูปโภค
 
“โครงการบ้านมั่นคงจะเน้นการมีส่วนร่วมของชุมชน ให้ชาวบ้านในชุมชนที่เป็นเจ้าของปัญหาเป็นแกนหลักในการพัฒนาหรือแก้ไขปัญหา ส่วนหน่วยงานภายนอก เช่น พอช.มีบทบาทในการเป็นฝ่ายสนับสนุน รวมทั้งให้สินเชื่อเพื่อสร้างบ้านระยะยาวดอกเบี้ยต่ำ โดยชุมชนจะต้องรวมตัวกันจัดตั้งเป็นสหกรณ์เคหสถานเพื่อมาบริหารงานกันเอง ส่วนกรมธนารักษ์หรือสำนักงานทรัพย์สินฯ ก็จะให้ชาวบ้านเช่าที่ดินในราคาถูกและยาวนานไม่ต่ำกว่า 30 ปี” นายสยามกล่าวถึงหลักการของบ้านมั่นคง
 
นายจำรัส กลิ่นอุบล ประธานเครือข่ายชุมชนริมคลองลาดพร้าวและคลองบางซื่อ กล่าวว่า เครือข่ายฯ มีสมาชิกทั้งหมด 15 ชุมชน จำนวนครัวเรือนประมาณ 1,500 ครัวเรือน ทั้งนี้เครือข่ายฯ จะมีการจัดเวทีประชาคมร่วมกันในเร็วๆ นี้ เพื่อสร้างความเข้าใจกับชาวบ้านในการจัดทำโครงการบ้านมั่นคง และหากชุมชนใดมีพื้นที่ไม่เพียงพอในการจัดทำที่อยู่อาศัย ทางเครือข่ายฯ ก็จะเสนอขอเช่าที่ดินว่างเปล่าริมคลองของกรมธนารักษ์หรือสำนักงานทรัพย์สิน และขอเสนอให้รัฐนำที่ดินที่เอกชนบุกรุกริมคลองหลายสิบไร่ในเขตห้วยขวางมาให้ชาวบ้านเช่าเพื่อทำที่อยู่อาศัยต่อไป
 
“ส่วนแผนงานในการพัฒนาคลองนั้น เรามีนักวิชาการด้านผังเมืองจากมหาวิทยาลัยธรรมศาตร์และสภาสถาปนิกเป็นที่ปรึกษา เช่น แผนการเดินเรือในคลอง โดยในช่วงแรกจะเริ่มจากบริเวณปากคลองแสนแสบไปยังวัดลาดพร้าว และจากวัดลาดพร้าวไปยังคลองบางซื่อ เพื่อเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าบริเวณถนนรัชดาภิเษก ซึ่งจะช่วยแบ่งเบาภาระในการเดินทางของประชาชน โดยเฉพาะในย่านลาดพร้าวที่ปัจจุบันการจราจรติดขัดมาก และหากมีการสร้างก่อสร้างเส้นทางรถไฟฟ้าในถนนลาดพร้าวการจราจรก็จะยิ่งมีปัญหามากขึ้น โดยจะมีการนำแผนงานดังกล่าว รวมทั้งการจัดตลาดน้ำ การท่องเที่ยววิถีชุมชน และการฟื้นฟูบำบัดน้ำเสียในคลอง ไปเสนอต่อกระทรวงคมนาคมและกระทรวงการท่องเที่ยวฯ เพื่อขอรับการสนับสนุนในเร็วๆ นี้ ”นายจำรัสกล่าวและว่า แผนงานในการพัฒนาคลองดังกล่าวจะทำให้เครือข่ายชุมชนริมคลองลาดพร้าว เขตห้วยขวางเป็นต้นแบบการพัฒนาชุมชนและคลองร่วมกัน
 
นายประภาส แสงประดับ ประธานเครือข่ายพัฒนาชุมชนและสิ่งแวดล้อมคลองบางบัว ซึ่งมีสมาชิกกว่า 30 ชุมชนริมคลองในกรุงเทพฯ กล่าวว่า ชุมชนบางบัวเป็นที่ดินของกรมธนารักษ์ ชาวบ้านอยู่อาศัยมานานหลายสิบปีแต่ไม่ได้เช่าที่ดินอย่างถูกต้อง ชาวบ้านจึงนอนหวาดผวาเพราะไม่มีความมั่นคงเรื่องที่อยู่อาศัย กลัวจะถูกขับไล่ เมื่อ พอช.มีโครงการบ้านมั่นคงจึงเข้าร่วม มีการจัดประชุมสร้างความเข้าใจกับชาวบ้าน เริ่มมีการออมทรัพย์ในชุมชนตั้งแต่ปี 2547 ครอบครัวหนึ่งไม่ต่ำกว่า 200 บาทต่อเดือนเพื่อเป็นทุนในการสร้างบ้าน
 
หลังจากนั้นจึงมีกระบวนการออกแบบและจัดทำผังชุมชนใหม่ โดยรื้อย้ายบ้านที่ล้ำลงไปในคลองประมาณ 80 หลัง แต่เนื่องจากที่ดินที่มีทั้งหมด 9 ไร่เศษไม่เพียงพอต่อจำนวนบ้านทั้งหมด 264 ครัวเรือน จึงต้องออกแบบบ้านให้เพียงพอกับผู้อยู่อาศัยและได้รับสิทธิ์เท่ากัน เฉลี่ยครอบครัวละ 5 X10 เมตร ขนาดบ้านมีเนื้อที่ 12.5 ตารางวา มีแบบบ้านให้เลือก เช่น บ้านเดี่ยวชั้นเดียว, บ้านเดี่ยว 2 ชั้น, บ้านแฝด 2 ชั้น และทำสัญญาเช่าที่ดินกับกรมธนารักษ์ระยะเวลา 30 ปี อัตราค่าเช่าตารางวาละ 1.50 บาทต่อเดือน
 
หลังจากนั้นในปี 2549 โครงการบ้านมั่นคงริมคลองบางบัวจึงได้เริ่มก่อสร้างและแล้วเสร็จทั้งหมดในปี 2551 โดยได้รับงบประมาณสนับสนุนการก่อสร้างสาธารณูปโภคจาก พอช.รวม 10.3 ล้านบาท สินเชื่อสร้างบ้านรวม 24 ล้านบาท ราคาบ้านโดยประมาณ 100,000-250,000 บาท ผ่อนส่งสินเชื่อกับ พอช.ประมาณหลังละ 590-1,187 บาทต่อเดือน ระยะเวลา 15 ปีอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 4 ต่อปี โดยชาวชุมชนได้ร่วมกันจัดตั้งสหกรณ์เคหสถานบ้านมั่นคงฯ เพื่อบริหารโครงการขณะนี้ชาวบ้านส่วนใหญ่ผ่อนส่งบ้านเกือบหมดแล้ว (ผ่อนส่งมาแล้ว 10 ปีเศษ) 
 
ปัจจุบันบ้านมั่นคงชุมชนริมคลองบางบัวก่อสร้างเสร็จหมดแล้ว ชุมชนมีสภาพแวดล้อมที่ดีขึ้น บ้านเรือนริมคลองช่วยกันปลูกต้นไม้ ดูร่มรื่น สวยงาม มีสะพานคอนกรีตเลียบริมคลองขนาดกว้างประมาณ 2 เมตร ซึ่ง กทม.กำลังจะก่อสร้างเขื่อนคอนกรีตเสริมเหล็กความยาวประมาณ 620 เมตรขนานไปกับสะพานคอนกรีตของชุมชน ทำให้ชุมชนไม่ได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อน คสล.แต่อย่างใด เพราะรื้อย้ายบ้านเรือนมาสร้างบนที่ดินริมคลองหมดแล้ว
 
จากความร่วมมือร่วมใจของชาวบ้านริมคลองบางบัวทำให้การแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยรุกล้ำลำคลองได้รับการแก้ไข ชาวบ้านมีที่อยู่อาศัยที่มั่นคง มีสภาพแวดล้อมที่ดี ชุมชนอยู่ร่วมกับคลองได้ ไม่ต้องหวาดผวาต่อนโยบายไล่รื้ออีกต่อไป ผลสำเร็จดังกล่าว ในปี 2550 สถาบันสมิธโซเนี่ยนของรัฐบาลสหรัฐจึงได้เชิญให้ตัวแทนชาวบ้านชุมชนริมคลองบางบัวไปออกบูธจัดนิทรรศการเนื่องในงานที่อยู่อาศัยโลกที่กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. นอกจากนี้ยังมีผู้คนทั้งในและนอกประเทศมาศึกษาดูงานที่ชุมชนแห่งนี้ไม่ขาดสาย
 
นายประภาสกล่าวด้วยว่า โครงการบ้านมั่นคงริมคลองในขณะนี้ดำเนินไปได้ล่าช้า เพราะนอกจากจะมีกลุ่มนักการเมืองในท้องถิ่น กลุ่มผู้เสียผลประโยชน์ เช่น เจ้าของบ้านเช่า ร้านอาหารริมคลอง และเจ้าของบ้านหลังใหญ่รวมตัวกันคัดค้านเพราะไม่อยากจะทำบ้านมั่นคงแล้ว กฎหมายของรัฐบาลก็ไม่เอื้ออำนวยให้ชาวบ้านด้วย เช่น พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 ทำให้ชาวบ้านที่รื้อย้ายบ้านออกจากคลองแล้ว เช่น ชุมชนคนรักถิ่น ชุมชนแจ้งวัฒนะ 5 (เขตหลักสี่) ได้รับความเดือดร้อนเพราะก่อสร้างบ้านไม่ได้ เนื่องจากทางสำนักงานเขตยังไม่อนุญาต
 
“ชาวชุมชนริมคลองจึงขอเรียกร้องไปยังรัฐบาลและกทม.ให้เอื้ออำนวยและสนับสนุนให้ชาวบ้านได้สร้างบ้านมั่นคง เพราะเป็นการทำตามนโยบายของรัฐบาลในการรื้อบ้านออกจากคลองเพื่อให้รัฐก่อสร้างเขื่อนป้องกันน้ำท่วมได้ ดังนั้นรัฐบาลและกทม.ควรจะมีการออกกฎหมายหรือมีนโยบายเฉพาะกิจเพื่อให้ชาวชุมชนสามารถสามารถก่อสร้างบ้านได้ โดยไม่ติดกับขั้นตอนและกฎระเบียบต่างๆ นอกจากนี้สำนักการระบายน้ำควรจะเร่งรัดเรื่องการกำหนดแนวเขื่อนให้ชัดเจน และสอดคล้องกับสภาพของชุมชนริมคลอง เพื่อให้ชาวบ้านสามารถอยู่ในที่ดินเดิมได้และจะได้ทำเรื่องเช่าที่ดินจากรัฐเพื่อให้ก่อสร้างบ้านได้รวดเร็วและไม่ติดขั้นตอนของทางราชการ” นายประภาสกล่าว
 
ส่วนรายละเอียดของข้อเสนอต่างๆ มีดังนี้ กทม. 1.ให้งดเว้นหรือลดขั้นตอนการขออนุญาติก่อสร้าง 2.สร้างทีมทำงานร่วม สร้างความเข้าใจและการรับรู้ ระดับเขตร่วมกัน3.บูรณาการแผนการก่อสร้างเขื่อนและแผนพัฒนาที่อยู่อาศัยชุมชนริมคลอง4.การกำหนดระยะความกว้างของคลองที่คำนึงถึงประสิทธิภาพการระบายน้ำและคำนึงถึงผลกระทบที่มีต่อประชาชน
 
กรมธนารักษ์1.ดำเนินการให้เช่าที่ดินตามเงื่อนไขโครงการบ้านมั่นคงกรมส่งเสริมสหกรณ์1.เร่งการจัดตั้งและพัฒนาสหกรณ์เคหสถานการไฟฟ้านครหลวง และการประปานครหลวง1.สนับสนุนการขยายและถอน เขตไฟฟ้าและประปา โดยไม่คิดมูลค่าในการดำเนินงานฝ่ายความมั่นคงและนโยบาย1.ประสานสร้างความเข้าใจกับกลุ่มผู้ที่คัดค้านที่มีผลประโยชน์แอบแฝง (นักการเมือง /เจ้าของบ้านเช่า/ เจ้าของ ร้านอาหาร)2.เร่งเสนอแผนงานพัฒนาที่อยู่อาศัยชุมชนริมคลองเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี
 
สำหรับโครงการก่อสร้างเขื่อนคอนกรีตป้องกันน้ำท่วมของ กทม. ในช่วงแรก (พ.ศ.2558-2560) ประกอบด้วยการก่อสร้างเขื่อนคอนกรีตและประตูระบายน้ำในคลองลาดพร้าว (คลองบางบัว คลองถนน คลองสอง) และคลองบางซื่อ จากอุโมงค์เขื่อนยักษ์พระราม 9-รามคำแหง ไปยังประตูระบายน้ำคลองสองสายใต้ เขตสายไหม เพื่อระบายน้ำลงทะเลต่อไป โดยจะสร้างเป็นเขื่อนคอนกรีต(สมอยึดด้านหลัง) ความยาว 40,000 เมตร และ 5,300 เมตร รั้วเหล็กกันตกความยาว 43,000 เมตร และประตูระบายน้ำ 1 แห่ง ระยะเวลาก่อสร้าง 1,260 วัน งบประมาณจำนวน 2,426 ล้านบาทเศษ 
 
ทั้งนี้บริษัทริเวอร์เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด ประมูลงานได้ในวงเงิน 1,600 ล้านบาทเศษ คาดว่าจะเซ็นสัญญาและเริ่มลงมือก่อสร้างในช่วงต้นปี 2559 หน่วยงานที่รับผิดชอบการก่อสร้างเขื่อนคือ กองระบบคลอง สำนักการระบายน้ำ กรุงเทพฯทั้งนี้สำนักการระบายน้ำมีเป้าหมายที่จะก่อสร้างเขื่อนให้มีความกว้างของคลองขนาด 38 เมตรตลอดทั้งโครงการ และจะมีการขุดลอกคลองให้ลึกจากเดิมอีก 3 เมตรด้วย
 
อย่างไรก็ตาม ชาวชุมชนส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยกับแนวเขื่อนที่กว้าง 38 เมตร เนื่องจากคลองส่วนใหญ่มีความกว้างไม่ถึง 38 เมตร หากจะเอาตามความกว้างดังกล่าวก็จะทำให้ชุมชนต่างๆ ต้องถูกรื้อย้ายเกือบหมด ซึ่งในช่วงต้นเดือนธันวาคมที่ผ่านมา ตัวแทนชาวบ้านได้ไปยื่นหนังสือถึงสำนักการระบายน้ำเพื่อกำหนดแนวความกว้างของเขื่อนให้เหมาะสมกับสภาพชุมชน เพื่อให้ “คนอยู่ได้ เขื่อนสร้างได้”
 
 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท