Skip to main content
sharethis

 

เมื่อวันที่ 11 ธ.ค. 2558 สำนักข่าวเดอะการ์เดียนรายงานว่าทีมงานของกรีนพีซสืบเสาะเรื่องนี้โดยใช้วิธีการอ้างตัวว่าเป็นที่ปรึกษาจากบริษัทพลังงานเชื้อเพลิงฟอสซิลต้องการจ้างวานศาตราจารย์ดังกล่าวให้เขียนรายงานเกี่ยวกับข้อดีถ้าโลกมีระดับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่สูงขึ้นและประโยชน์ที่จะได้จากพลังงานถ่านหิน ซึ่งล้วนแต่เป็นมุมมองที่ไม่เป็นที่ยอมรับจากวิทยาศาสตร์ด้านภูมิอากาศกระแสหลัก

กรีนพีซยังได้ระบุถึงความไม่โปร่งใสของการ "จ้างเสนอข้อมูล" ในการนี้เนื่องจากผู้ได้รับการจ้างวานจะไม่เปิดเผยว่าพวกเขาได้รับเงินจ้างวานมาจากไหน

ผู้ที่ถูกกรีนพีซล่อจ้างวานในกรณีนี้คือวิลเลียม แฮปเปอร์ ศาตราจารย์ด้านฟิสิกส์จากมหาวิทยาลัยปรินส์ตัน ซึ่งเป็นผู้แสดงท่าทีกังขาต่อประเด็นภาวะโลกร้อน (climate sceptics) ผู้มีชื่อเสียงคนหนึ่งซึ่งทำงานเกี่ยวข้องกับนโยบายเรื่องโลกร้อนในหลายองค์กรของสหรัฐฯ ทั้งในระดับการเมืองและนโยบาย

รัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศของสหรัฐฯ จอห์น แคร์รี กล่าวถึงกรณีที่มีบริษัทจ้างวานนักวิทยาศาสตร์ให้เขียนต่อต้านแนวคิดลดโลกร้อนในที่ประชุมโลกร้อนที่กรุงปารีสว่า รายงานของนักวิทยาศาสตร์คนเดียวไม่สามารถส่งผลต่อการวิจัยของนักวิทยาศาสตร์ร้อยละ 97 ที่มีการตรวจสอบมาเป็นเวลานานหลายปีได้

การกระบวนการล่อจ้างของกรีนพีซนั้นแฮปเปอร์เป็นผู้บอกเองว่าเขายอมรับค่าจ้างและถูกขอให้บริจาคค่าธรรมเนียมให้กับกลุ่มองค์กรที่พยายามสนับสนุนก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และการใช้เชื้อเพลิงถ่านหิน กรีนพีซเปิดเผยว่าในอีเมลล์ที่ใช้สื่อสารกับแฮปเปอร์เขาเขียนว่า "งานของผมคือการค้านกลุ่มที่เชื่อเรื่องโลกร้อนอย่างสุดโต่งซึ่งเป็นสิ่งที่ผมทำด้วยใจรัก" โดยที่แฮปเปอร์เป็นผู้เคยพยายามบอกมาตลอดว่าก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เป็นสิ่งที่ดีต่อมนุษย์

นักวิชาการอีกคนหนึ่งที่ถูกกรีนพีซเปิดโปงคือ แฟรงค์ คเลเมนเต อดีตนักสังคมวิทยาจากมหาวิทยาลัยรัฐเพนซิลวาเนีย ที่รับเขียนรายงานตอบโต้กรณีงานวิจัยเรื่องพิษภัยของถ่านหินและส่งเสริมประโยชน์เกี่ยวกับถ่านหิน โดยทั้งสองกรณีมีการหารือช่องทางให้ทุนจ้างการเขียนรายงานแบบลับๆ ซึ่งการไม่ยอมเปิดเผยแหล่งทุนเช่นนี้ถือเป็นเรื่องผิดกฎหมายในสหรัฐฯ

นอกจากนี้นักวิชาการอย่างแฮปเปอร์ยังกล่าวกับกรีนพีซซึ่งปลอมตัวเป็นบริษัทว่า บทความของเขาจะไม่ผ่านการตรวจสอบด้วยกระบวนการตรวจทานโดยผู้รู้คนอื่น (peer review) และจะไม่ส่งผ่านวารสารทางวิชาการเพราะจะถูกดัดแปลงแก้ไขเนื้อหาให้ไม่เป็นไปตามที่บริษัทต้องการ ทำให้เขาใช้วิธีการคัดเลือกผู้ตรวจสอบจำนวนไม่กี่คนด้วยตนเองซึ่งเป็นวิธีการที่ทำให้เหมือนกับว่าบทความของเขาผ่านการตรวจทานโดยผู้รู้คนอื่นมาแล้ว

ทางกรีนพีซกล่าวว่าการเปิดโปงจากการสืบสวนสอบสวนในครั้งนี้แสดงให้เห็นว่าบรรษัทที่ใช้พลังงานก่อมลภาวะมีความพยายามจ้างวานให้นักวิชาการบางส่วนบิดเบือนแนวคิดเรื่องโลกร้อน แต่คเลเมนเตนักวิชาการผู้รับการจ้างวานอีกรายหนึ่งก็ยืนยันว่าเขาทำตามจุดยืนของตนเองโดยได้ให้สัมภาษณ์ต่อเดอะการ์เดียนว่าตัวเขาเองทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาให้กับธุรกิจจำนวนมากที่ "พัฒนาคุณภาพชีวิตมนุษย์ให้ดีขึ้น" และตัวเขาเองเชื่อว่าเทคโนโลยี "พลังงานถ่านหินที่สะอาด" จะช่วยลดปัญหาความยากจนและทำให้สิ่งแวดล้อมดีขึ้น

อย่างไรก็ตามข้ออ้างของนักวิชาการที่รับต่อต้านแนวคิดโลกร้อนก็ถูกคัดค้านจากนักวิทยาศาสตร์คนอื่นเสมอมา นาโอมิ โอเรสกีส์ นักประวัติศาสตร์ด้านวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดกล่าวว่า แฮปเปอร์มักจะใช้วาทกรรมเดิมๆ ตลอด 20 ปี ในการอ้างว่าคาร์บอนไดออกไซด์ดีต่อระบบการเกษตรของมนุษย์ทั้งที่มีการหักล้างความเชื่อนี้มานานแล้ว

นอกจากนี้ทางกรีนพีซยังได้แสดงความกังวลว่าความพยายามต่อต้านแนวคิดเรื่องโลกร้อนด้วยวิธีการส่งเสริมจากธุรกิจบางแห่งอย่างลับๆ เป็นเรื่องชวนให้ประชาชนเข้าใจผิดว่างานวิจัยมาจากนักวิชาการที่ศึกษาเรื่องนี้อย่างอิสระ อีกทั้งยังส่งผลให้กลุ่มบรรษัทพลังงานอ้างงานวิจัยของพวกเขาในการดำเนินอุตสาหกรรมพลังงานที่ก่อมลภาวะส่งผลกระทบต่อประชาชนในประเทศที่กำลังพัฒนาได้

 

เรียบเรียงจาก

Greenpeace exposes sceptics hired to cast doubt on climate science, The Guardian, 08-12-2015

http://www.theguardian.com/environment/2015/dec/08/greenpeace-exposes-sceptics-cast-doubt-climate-science

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net