แอมเนสตี้จัด ‘เขียนจดหมายรัก(ษ์)สิทธิ’ ร่วมเขียนจม.ถึง 3 นักโทษความคิด

พรเพ็ญ คงขจรเกียรติ กรรมการ AI ประเทศไทย กล่าวเปิดกิจกรรม

ในเดือนธันวาคมของทุกปี Amnesty International หรือ AI ทั่วโลกได้จัดกิจกรรม ‘เขียนจดหมายรัก(ษ์)สิทธิ’ หรือ ‘Write For Rights’ โครงการนี้ถือกำเนิดขึ้นเมื่อ 12 ปีที่แล้วในประเทศโปแลนด์ ในปีนี้กิจกรรมถูกจัดขึ้นพร้อมกันทั่วโลกโดยมีสมาชิกกว่าแสนคนร่วมทำกิจกรรมในสัปดาห์สิทธิมนุษยชน ระหว่างวันที่ 4-17 ธันวาคม โดยในประเทศไทยได้จัดกิจกรรม ‘Write for rights’ ในวันที่ 13 ธันวาคมที่ผ่านมา ณ สวนสันติชัยปราการ ถนนพระอาทิตย์ โดยมีกิจกรรมที่น่าสนใจมากมาย เช่น การเขียนเพื่อช่วยนักโทษ, นิทรรศการภาพวาดผู้ต้องขังและแผ่นกระดาษรูปตัวคนที่แสดงข้อมูลผู้ที่โดนบังคับสูญหาย ที่กระจายอยู่บนม้านั่งรอบๆ บริเวณเพื่อแสดงให้สังคมตะหนักถึงความมีตัวตนของบุคคลที่สูญหาย

แผ่นกระดาษรูปคนพร้อมรายละเอียดของผู้สูญหาย ที่กระจายอยู่รอบๆ บริเวณงาน

นอกจากนั้น ยังมีการแสดงดนตรีจากวง ‘สามัญชน’ ที่ร่วมเล่นในช่วงค่ำ และวงเสวนา‘คนธรรมดาเปลี่ยนโลก?’ โดยโตมร ศุขปรีชา คอลัมนิสต์ชื่อดัง จีรนุช เปรมชัยพร ผู้อำนวยการมูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมนุม ซึ่งดำเนินการเว็บไซต์ประชาไท ณัฐนันท์ วรินทรเวช อดีตเลขาธิการกลุ่มการศึกษาเพื่อความเป็นไท และ ปิยนุช โคตรสาร แอมเนสตี้ ประเทศไทย

วงเสวนา ‘คนธรรมดาเปลี่ยนโลก?’

กิจกรรม’Write for rights’ครั้งนี้ มีจุดประสงค์เพื่อเขียนและส่งจดหมายให้กับบุคคลและชุมชน รวมทั้งส่งจดหมาย อีเมล เอสเอ็มเอส แฟกซ์ โพสข้อความทวิตเตอร์ ฯลฯ เพื่อเรียกร้องและแสดงความไม่พอใจต่อรัฐบาลและผู้มีอำนาจที่ทำการละเมิดสิทธิมนุษยชน ที่ผ่านมาโครงการนี้ทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงทางด้านสิทธิมนุษยชนในหลายด้าน เช่น การปล่อยตัวนักกิจกรรม และการสอบสวนหลายสิบกรณีที่ถูกควบคุมตัวโดยพลการและไม่เป็นธรรม ซึ่งรวมถึงการทรมานและปฏิบัติมิชอบด้านสิทธิมนุษยชนอีกด้วย

ในงาน มีกิจกรรมหลักคือการร่วมลงชื่อช่วย ‘นักโทษทางความคิด’ ทั้งสามคน ผู้ซึ่งต้องติดคุกอย่างไม่ยุติธรรม ได้แก่ ‘เพียว เพียว อ่อง’ ‘ซูนาร์’ และ ‘เยซีเนีย อาร์เมนตา’ โดยการลงชื่อนั้น ผู้เข้าร่วมกิจกรรมจะได้รับโปสการ์ดเมื่อเขียนข้อความเสร็จ โปสการ์ดเหล่านี้จะถูกรวบรวมส่งกลับไปยังประเทศต้นทางเพื่อแสดงความไม่พอใจและผลักดันให้ยุติการละเมิดสิทธิมนุษยชน นอกจากนั้นยังมีกิจกรรมการเขียนข้อความลงโปสการ์ดเพื่อส่งหาผู้ต้องขังโดยตรงอีกด้วย

โปสการ์ดร่วมลงชื่อเพื่อปล่อยตัวเพียว เพียว อ่อง

‘เพียว เพียว อ่อง’ หนึ่งในผู้นำสหภาพนักศึกษาในเมียนมาร์ เธอถูกจับพร้อมเพื่อนนักศึกษากว่า 70 คน หลังประท้วงอย่างสงบเพื่อต่อต้าน พ.ร.บ.การศึกษาฉบับใหม่ที่กดขี่เสรีภาพทางวิชาการ ในวันที่ 10 มีนาคม 2558 และถูกตั้งข้อหาอาญาหลายข้อหาและถูกจำคุกตั้งแต่วันนั้นเป็นต้นมา เธอและเพื่อนไม่สามารถติดต่อทนายได้และหลายคนต้องเสี่ยงโทษจำคุกสูงสุดถึง 9 ปี

ข้อเรียกร้องที่มีต่อรัฐบาลเมียนมาร์ คือ การปล่อยตัวเพียว เพียว อ่องและเพื่อนที่ประท้วงอย่างสงบทันทีโดยไม่มีเงื่อนไขและต้องรับรองว่าระหว่างรอการปล่อยตัวนั้น เธอและเพื่อนจะไม่ถูกทรมานหรือปฏิบัติอย่างโหดร้าย สามารถติดต่อครอบครัวและทนายได้ รวมถึงได้รับการรักษาพยาบาลหากจำเป็น

โปสการ์ดร่วมลงชื่อเพื่อปล่อยตัวซูนาร์

‘ซูนาร์’ นักวาดการ์ตูนล้อเลียนการเมืองชาวมาเลเซีย ผู้ทวีตข้อความวิจารณ์กระบวนการยุติธรรมของประเทศหลังศาลตัดสินจำคุกนายอันวาร์ อิบราฮิม ผู้นำพรรคฝ่ายค้านเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2558

เขาถูกตั้ง 9 ข้อหา ตามพ.ร.บ.ปลุกระดม ซึ่งเป็นกฎหมายล้าหลังที่ใช้ในการปราบปรามและกักขังผู้วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล ตั้งแต่ปี 2552 เขาตกเป็นเป้าหมายของรัฐบาล ตั้งแต่การบุกค้นสำนักงาน ยึดและสั่งห้ามจำหน่ายการ์ตูน คำขู่ปิดสำนักพิมพ์และการนำตัวผู้ช่วยทั้ง 3 คนไปโรงพัก ฯลฯ

การลงชื่อจะเป็นการเรียกร้องนายกรัฐมนตรีนาจิบ ราชัก ให้ยกเลิกข้องกล่าวหาทันที พร้อมรับประกันว่าซูนาร์และทีมงานจะไม่ถูกจำกัดสิทธิหรือทุกคามในทุกรูปแบบ รวมทั้งเสนอให้ยกเลิกพ.ร.บ.ว่าด้วยการปลุกระดมและกฏหมายอื่นๆ ที่จำกัดสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกและปฏิบัติตามมาตรฐานสิทธิมนุษยชนสากลด้วย

‘เยซีเนีย อาร์เมนตา’ แม่ลูกสองชาวแม็กซิกัน ซึ่งถูกตำรวจนอกเครื่องแบบลักพาตัวในปี 2555 พร้อมกล่าวหาว่าเธอมีส่วนรู้เห็นในเหตุฆาตกรรมสามีตนเอง

เธอถูกทรมานอย่างทารุณ ทุบตี ข่มขืน นานกว่า 15 ชั่วโมงรวมทั้งตำรวจกลุ่มดังกล่าวยังขู่ที่จะจับตัวลูกทั้งสองของเธอมาข่มขืนและฆ่า เธอจึงต้องยอมเซ็นชื่อลงในเอกสารรับสารภาพว่าเกี่ยวข้องกับเหตุฆาตกรรมดังกล่าว ทั้งที่ยังถูกปิดตาและไม่ได้อ่านเนื้อหาในเอกสารแม้แต่คำเดียว และด้วยหลักฐานการเซ็นคำรับสารภาพนั้นทำให้เธอถูกตั้งข้อหาฆาตกรรมและถูกขังกว่า3 ปีแล้ว โดยข้อเรียกร้องที่มีต่ออัยการสูงสุดรัฐซีนาลัวของแม็กซิโกคือ ยกเลิกข้อกล่าวหาและปล่อยตัวเธอจากเรือนจำ อีกทั้งเร่งสอบสวนแบบเป็นกลางเกี่ยวกับการทรมานโดยทันทีและลงโทษผู้ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องดังกล่าว

พรเพ็ญ คงขจรเกียรติ กรรมการ AI กล่าวว่า รูปแบบของการเขียนรณรงค์โดยใช้โปสการ์ดให้ผู้ต้องขังเป็นอัตลักษณ์หลักของ AI โดยเชื่อว่าผู้ต้องขังต้องการเพียงพื้นที่ในการแสดงออกอย่างบริสุทธ์ เพื่อให้สังคมรู้สึกว่าพวกเขายังมีตัวตนอยู่และมีคนรับรู้ ดังนั้นการเขียนโปสการ์ดไปหาผู้ต้องขังจึงทำให้สังคมรอบตัวเขาได้รับรู้ ไม่ว่าจะเป็นตัวผู้ออกกฎหมาย ไปรษณีย์ บุรุษไปรษณีย์หรือผู้คุมว่าคนๆ นั้นเป็นนักโทษทางความคิด และถูกกดขี่เนื่องมาจากกฎหมายที่ไม่เป็นธรรม

พรเพ็ญกล่าวว่าการคัดเลือกเคสตัวอย่าง เป็นการคัดเลือกกรณีที่อาจจะเกิดขึ้นได้ในกลุ่มประเทศนั้นๆ อย่างการนำกรณีมานำเสนอในไทยก็นำเอากรณีที่มีลักษณะของการกดขี่ จำกัดสิทธิเสรีภาพที่คล้ายคลึงกันมานำเสนอ

สำหรับประเทศไทย ได้มีการรับกรณีของ ‘สมยศ พฤกษาเกษมสุข’ นักกิจกรรมด้านแรงงานที่ถูกควบคุมตัวด้วยมาตรา 112 และได้รับการรับรองว่าเป็นนักโทษทางความคิด ซึ่งหมายถึงผู้ที่ใช้สิทธิเสรีภาพทางการแสดงออกโดยไม่ใช้ความรุนแรงใดๆ แต่กลับถูกควบคุมตัว ถูกดำเนินคดี จึงมีการเริ่มเขียนจดหมาย ส่งโปสการ์ดเป็นระยะๆ จากสมาชิกของ AI

“หลายๆ ครั้งที่ได้รับจดหมายจากคนข้างใน เราจะรู้สึกดีใจว่าเค้าก็คิดถึงเรา นั่นก็ยิ่งต้องเพิ่มพลัง เพิ่มสิ่งที่เราจะต้องทำมากขึ้น เพราะเราอยู่ข้างนอก เรามีเสรีภาพ แต่คนข้างในไม่มีเสรีภาพทางด้านร่างกาย แต่ด้วยความคิดก็ยังมีอิสระ การเขียนจดหมายก็เลยทำให้เขารู้สึกว่ายังมีตัวตนอยู่ในสังคม” พรเพ็ญแลกเปลี่ยน

พรเพ็ญแลกเปลี่ยนเกี่ยวกับความคาดหวังต่อสื่อว่า สื่อมีบทบาทอย่างมากต่อการทำงานด้านสิทธิมนุษยชน เพราะแม้ว่าประชาชนจะมีความรู้ มีการศึกษา แต่ว่าการละเมิดสิทธิมนุษยชนมักเกิดกับคนที่ไม่มีโอกาสทางสังคม ไม่มีปากมีเสียง ดังนั้น สื่อต้องเป็นเครื่องมือที่สามารถถ่ายทอดจากคนเล็กคนน้อย คนเสียงไม่ดังหรือคนที่มีแค่เพียงเสียงเดียว ให้สะท้อนออกสู้สังคมวงกว้างได้รับรู้เข้าใจและศึกษาเพิ่มเติม ให้รู้ว่าสถานการณ์จริงๆ เป็นอย่างไร และสื่อยังต้องให้ข้อความที่ถูกต้องด้วยเพราะในหลายเรื่องมีความซับซ้อน ความหมายของคำว่า ‘นักโทษทางความคิด’ ‘ผู้ต้องหา’ ‘ผู้ต้องสงสัย’ฯลฯ ในหลายบริบทและเป็นกระบอกเสียงในการแสดงให้เห็นความสำคัญของการคุ้มครองและปกป้องเพื่อช่วยให้สิทธิมนุษยชนเกิดขึ้นและเป็นจริงในประเทศไทยได้ 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท