Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

 

27 พฤศจิกายน 2558: นักเคลื่อนไหวต่อต้านรัฐประหารในประเทศไทยได้ใช้กลยุทธ์ไร้ความรุนแรง (non-violent tactics) เพื่อแสดงออกถึงความไม่เห็นด้วยกับรัฐประหารและการปกครองของรัฐบาลทหาร จันจิรา สมบัติพูนศิริ ได้พูดคุยเกี่ยวกับวิธีการที่นักเคลื่อนไหวเหล่านี้ได้นำมาใช้ พร้อมกับตั้งคำถามว่า การต่อต้านโดยไร้ความรุนแรงเหล่านี้ประสบความสำเร็จในการต่อสู้เพื่อเรียกร้องประชาธิปไตยหรือไม่ อย่างไร
 

การชุมนุมขนาดใหญ่เพื่อโค่นล้มรัฐบาล

วันที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2557 ประเทศไทยได้เผชิญกับการทำรัฐประหารครั้งที่ 12 โดยมีฉากหลังคือ ปัญหาความขัดแย้งระหว่างขั้วสีเสื้อที่ยืดเยื้อมากว่า 1 ทศวรรษ ระหว่างฝ่ายแรกคือกลุ่มศักดินาเก่า (หรือ ‘กลุ่มเสื้อเหลือง’) ที่ประกอบไปด้วยกลุ่มอำมาตย์ ทหาร และชนชั้นกลางในกรุงเทพ กับอีกฝ่าย คือกลุ่มที่มาจากการเลือกตั้ง และชนชั้นกลางใหม่ที่มาจากจังหวัดต่างๆ (หรือ ‘กลุ่มเสื้อแดง’) ซึ่งนำโดย ทักษิณ ชินวัตร และบุคคลทางการเมืองของเขา

ปัญหาการแบ่งขั้วทางการเมืองนั้น มีสาเหตุมาจากการเปิดกว้างทางการเมืองในช่วงหลังปี พ.ศ. 2533 (ยุค 1990s) เป็นต้นมา รวมทั้งการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่ไปสร้างอำนาจให้กับกลุ่มคนในขั้วต่างทางการเมือง จนนำไปสู่การท้าทายอุดมการณ์ของรัฐชาติ ทำให้เกิดการกัดกร่อนทางอำนาจนำของกลุ่มชนชั้นนำเก่า สิ่งเหล่านี้เป็นปัจจัยที่ไปเพิ่มความขัดแย้งที่ยืดเยื้อมาอย่างยาวนานต่อความชอบทางการปกครองของรัฐบาล ในห้วงเวลาของความขัดแย้งนี้ จึงเห็นการชุมนุมขนาดใหญ่ เพื่อต้องการโค่นล้มรัฐบาล ไม่ว่าจะจากฝ่ายเสื้อเหลืองหรือเสื้อแดง ดังที่เกิดขึ้นในปี พ.ศ. 2550, 2551, 2552, 2553 และ 2556-2557 ทั้งนี้ เป็นที่น่าสังเกตว่า ทางกลุ่มผู้ชุมนุมฝ่ายเสื้อเหลืองมักจะเรียกร้องให้ทหารเข้ามายึดอำนาจ เพื่อยุติการปกครองของรัฐบาลฝ่ายตรงข้าม ทั้งในปี พ.ศ. 2549 และ 2557 ทางฝ่ายทหารได้ตอบสนองการเรียกร้องของประชาชนกลุ่มนี้ โดยเข้ามามีบทบาทแทรกแซงทางการเมือง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในปี 2557 ฝ่ายทหารได้สร้างความชอบธรรมในการแทรกแซงทางการเมืองของตนเองด้วยการอ้างเหตุการณ์การโจมตีผู้ชุมนุมเสื้อเหลืองด้วยความรุนแรง ว่าเป็นช่วงที่ประเทศจวนจะเข้าใกล้สภาวะสงครามกลางเมือง


การเคลื่อนไหวเพื่อต่อต้านรัฐบาลทหาร: กินแซนด์วิช ชูสัญลักษณ์ 3 นิ้ว และอ่านหนังสือ “1984”

การท้าทายอำนาจรัฐบาลทหารด้วยสันติวิธียังคงดำเนินไป ท่ามกลางการปราบปรามอย่างเป็นระบบของฝ่ายรัฐ

ถึงแม้ว่าจะมีการกำหนดกฎหมายที่เข้มงวด การปราบปรามที่เป็นระบบ และการระงับการเคลื่อนไหวทางการเมืองของผู้นำฝ่ายเสื้อแดง แต่การท้าทายโดยการใช้วิธีไร้ความรุนแรงต่อรัฐบาลทหารยังคงเกิดขึ้นให้เห็นอย่างต่อเนื่องจากปัจเจกชน โดยเฉพาะ กลุ่มนักศึกษามหาวิทยาลัย ได้ทำการประท้วงในเชิงสัญลักษณ์อย่างต่อเนื่อง วิธีการแสดงออกในเชิงสัญลักษณ์ที่โดดเด่น เช่น การกินแซนด์วิชในระหว่างการชุมนุม การใช้สัญลักษณ์ชูนิ้วมือ 3 นิ้วในที่สาธารณะ ดังที่เป็นที่รู้จักจากภาพยนตร์ The Hunger Games โดยในช่วงที่ภาพยนตร์เรื่องนี้เข้าฉายในประเทศไทย นักศึกษากลุ่มหนึ่งได้จัดกิจกรรมแจกบัตรเข้าชมภาพยนตร์เรื่องนี้ฟรี ในใจกลางเมืองกรุงเทพ และร่วมกันชูสัญลักษณ์ 3 นิ้วตามแบบภาพยนตร์ The Hunger Games หน้าป้ายโฆษณาในพื้นที่สาธารณะ

นอกจากนี้ กลุ่มนักศึกษายังได้ประสานกับนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน ศิลปิน และนักเขียน ภายใต้กลุ่มที่ใช้ชื่อว่า “พลเมืองโต้กลับ” หรือ Citizen Resistant จัดกิจกรรมเลือกตั้งที่ (รัก) ลัก เพื่อรำลึกการเลือกตั้งปี 2557 ที่ถูกล้มไป ในวันวาเลนไทน์ที่ผ่านมา เป็นกิจกรรมในลักษณะการแสดงในพื้นที่สาธารณะ ทางกลุ่มได้ตั้งกล่องที่เป็นสัญลักษณ์ของหีบบัตรเลือกตั้งไว้กลางลานที่จัดกิจกรรม เจ้าหน้าที่ตำรวจนอกเครื่องแบบที่อยู่ในพื้นที่ใกล้เคียงรีบเข้ามาเก็บกล่องที่ตั้งไว้ เหมือนดังที่คาดการไว้ ซึ่งการกระทำนี้แสดงให้เห็นถึงความหวาดระแวงต่ออะไรก็ตามที่แสดงถึงสัญลักษณ์ของประชาธิปไตย หลังจากที่มีการควบคุมตัวสมาชิกแกนนำกลุ่มผู้จัดกิจกรรมนี้ ทางสมาชิกคนอื่น ๆ และผู้สนับสนุนกลุ่มพลเมืองโต้กลับก็ได้เดินเท้าไปยังสถานีตำรวจเพื่อแสดงตัว และในขณะเดียวกันก็ได้ยื่นฟ้องนายกรัฐมนตรีและกลุ่ม คสช. ในข้อหาล้มล้างการปกครอง

การแสดงการต่อต้านในเชิงสัญลักษณ์ของบุคคลทั่วไปได้จุดประกายกิจกรรมอื่น ๆ ของกลุ่มนักศึกษา ในการต่อต้านการปกครองของรัฐบาลทหาร กิจกรรมในเชิงสัญลักษณ์ต่าง ๆ ได้รวมไปถึง การถือป้ายผ้า “ไม่เอารัฐประหาร” การตะโกนว่า “น่าอับอายมากที่เมืองไทยยังมีรัฐบาลทหาร” พร้อมทั้งใส่หน้ากากที่เขียนคำว่า “ประชาชน” นอกจากนี้ยังมีกลุ่มบุคคลที่ริเริ่มการอ่านงานวรรณกรรมชิ้นเอก เรื่อง 1984 ของจอร์จ โอเวลล์ ในรถไฟฟ้า เพื่อสะท้อนให้เห็นถึงยุคของการควบคุม ปิดกั้น และการจับตาสอดส่องการเคลื่อนไหวประชาชนจากภาครัฐในประเทศไทย


เครดิตภาพจาก: prachachat.net

 

ประชาชนอ่านหนังสือ 1984 ของจอร์จ โอเวลล์ในรถไฟฟ้า เพื่อประท้วงการควบคุมตรวจสอบของภาครัฐ

นอกจากนักศึกษาแล้ว ในส่วนของชาวบ้านที่ถูกละเมิดสิทธิทางด้านทรัพยากรท้องถิ่น โดยบริษัทนายทุนยักษ์ใหญ่ ที่ร่วมมือกับหน่วยงานทหารในพื้นที่ ก็ได้ออกมาร้องทุกข์แสดงความคับข้องใจ ซึ่งสื่อมวลชนก็ได้พยายามกระจายภาพและข่าวการละเมิดสิทธิของประชาชนโดยเจ้าหน้าที่ทหาร และนอกจากนี้ ก็ยังมีนักวิชาการ นักเคลื่อนไหว และศิลปินได้ออกมาชี้ให้เห็นถึงการกระทำที่ไร้ซึ่งความชอบธรรมของรัฐบาลทหาร ผ่านบทความตามหน้าหนังสือพิมพ์ งานสัมมนา การแสดงละคร เป็นต้น เพื่อเรียกร้องให้ประชาธิปไตยกลับคืนมา


เล่ห์ลิ้นและการปราบปราม/การควบคุมของ คสช. 

โฆษณาชวนเชื่อของรัฐบาลทหารที่พยายามสร้างภาพให้นักเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตยโดยไร้ความรุนแรงกลายเป็นกลุ่มผู้สร้างปัญหา

รัฐบาลทหารชุดปัจจุบันไม่ค่อยยอมรับให้มีการวิพากษ์วิจารณ์ หรือการพยายามโค่นล้มอำนาจของตนเอง จึงได้ทำให้การแสดงความคิดเห็นในที่สาธารณะเป็นเรื่องผิดกฎหมาย และผู้กระทำความผิดอาจจะถูกดำเนินคดีภายใต้กฎอัยการศึก กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ มาตรา 112 หรือ กฎหมายมาตรา 44 ตามรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว ซึ่งกระบวนการด้านกฎหมายกลายเป็นเรื่องการทหาร (militarization of juridical process) คือ รัฐสามารถคุมขังผู้ต้องหาได้โดยพลการ ประชาชนที่ถูกดำเนินคดีภายใต้กฎหมายเหล่านี้ต้องขึ้นศาลทหาร และได้มีการจัดตั้งหน่วยงานทางทหารเพื่อสืบคดีแทนเจ้าหน้าที่ตำรวจ โดยหลังจากที่มีการทำรัฐประหาร มีประชาชนจำนวน 751 คน ได้รับหมายเรียกตัวในช่วงหลังเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2557 จนถึงเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2558 และอย่างน้อย 22 คนในจำนวนนี้ ถูกดำเนินคดีหลังจากถูกเรียกรายงานตัว และ 6 คนถูกดำเนินคดีภายใต้กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ มาตรา 112 นอกจากนี้ เจ้าหน้าที่ทหารยังได้เข้าแทรกแซงกิจกรรมที่จัดขึ้นเพื่อสาธารณะ ทั้งด้านวิชาการ การแสดง รวมไปถึงกิจกรรมฉายภาพยนตร์ ทั้งหมด 71 กิจกรรม

ทางฝ่ายรัฐบาลทหาร ก็ได้พยายามใช้เล่ห์ลิ้นในการอำพรางความความรุนแรงในการปราบปราม ด้วยการใช้คำศัพท์ต่างๆ เช่น “การปรับทัศนคติ” แทนการควบคุมตัวโดยพลการ “การสร้างความปรองดองแห่งชาติ” แทนการกำจัดการเห็นต่าง และ “การคืนความสุขให้ประชาชน” แทนการยึดอำนาจที่ไม่ชอบธรรมด้วยรัฐธรรมนูญ ซึ่งการโฆษณาชวนเชื่อเหล่านี้เป็นการมุ่งสร้างภาพให้รัฐบาลทหาร ในการเป็นผู้รักษาความสงบของชาติ ที่เข้ามาช่วยเหลือประเทศก่อนสงครามกลางเมืองก่อนสงครามกลางเมืองจะปะทุขึ้น ขณะที่พยายามชี้ว่าผู้ต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยเป็นตัวปัญหาต่อกระบวนการนำสันติสุขคืนชาตินี


 

การปฏิบัติการไร้ความรุนแรงประสบความสำเร็จหรือไม่? / ความสำเร็จของการปฏิบัติการไร้ความรุนแรง?

ประชาชนกำลังร่วมกันสร้างจินตภาพทางการเมืองใหม่ ที่ซึ่งมีสันติวิธี เสรีภาพ และการยอมรับซึ่งกันและกัน ประกอบเป็นรากฐานของวัฒนธรรมทางการเมือง

รัฐบาลทหารได้เข้ามายึดอำนาจทางการเมือง เป็นเวลากว่า 1 ปีครึ่งแล้ว และได้ให้สัญญาว่าจะคืนอำนาจอธิปไตยให้แก่ประชาชนภายในระยะเวลา 2 ปี หลังจากเสร็จสิ้นภารกิจ “นำความสุขคืนสู่ประชาชน” หลายคนได้เกิดความสงสัยว่าการเคลื่อนไหวโดยวิธีไร้ความรุนแรง ดังที่ได้กล่าวมาข้างต้นว่า ได้ก่อให้เกิดผล หรือประสบความสำเร็จบ้างหรือไม่ ซึ่งถ้าเกณฑ์การประเมินคือ การทำให้รัฐบาลทหารออกจากการยึดอำนาจนั้น คงจะบอกได้ว่า วิธีการเหล่านั้นล้มเหลวอย่างเห็นได้ชัด

แต่ถ้าหากเกณฑ์การประเมินคือ การที่เครือข่ายผู้สนับสนุนประชาธิปไตยได้พยายามรักษาความหวังที่จะเห็นสถานการณ์ที่ดีขึ้นของประเทศไทย ฉันก็จะบอกว่า ใช่ พวกเขาประสบความสำเร็จที่ได้ย้ำเตือนผู้คนในทุก ๆ  วันว่า การต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยนั้นจะยังคงดำเนินต่อไปโดยไม่ลดละ เพราะประชาธิปไตยเป็นเรื่องที่ได้มาอย่างยากเย็น โดยเฉพาะท่ามกลางสภาพโครงสร้างทางการเมืองของประเทศไทย พวกเรา – ประชาชน - กำลังสร้างจิตภาพทางการเมืองใหม่ ที่ซึ่งมีสันติวิธี เสรีภาพ และการยอมรับซึ่งกันและกัน ประกอบเป็นรากฐานของวัฒนธรรมทางการเมืองของประเทศ การเคลื่อนไหวเพื่อต่อต้านระบบการปกครองในประเทศไทยนี้ มิได้เป็นแค่การแสดงการต่อต้านรัฐบาลทหารชั่วคราวนี้เท่านั้น แต่กลับยังแสดงให้เห็นภาพของวิถีโคจรของอนาคตทางการเมืองให้กับประชาชนในรุ่นต่อ ๆ ไปอีกด้วย

 

 

ที่มา: แปลจาก insightonconflict: Thailand’s nonviolent activists and the struggle for democracy

 

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net