Skip to main content
sharethis

15 ธ.ค.2558 คณะกรรมการสิทธิสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ส่งใบแจ้งข่าวระบุว่า นายวัส ติงสมิตร ประธาน กสม. ให้สัมภาษณ์ในงานวันสิทธิมนุษยชนสากล 10 ธันวาคมประจำปี 2558  ถึงกรณีการควบคุมตัวผู้ถูกจับและขังว่าจากเหตุการณ์จับกุมตัวนายฐนกร ศิริไพบูลย์ และนายธเนตร อนันตวงษ์ ใน 2 ประเด็นคือ

1. การควบคุมหรือคุมขังผู้ถูกควบคุมหรือขังสมควรเปิดเผยสถานที่ที่ถูกควบคุมหรือขัง และแจ้งแก่ญาติของผู้ถูกควบคุมหรือขังโดยไม่ชักช้า เพื่อให้ญาติสามารถเข้าเยี่ยมได้ตามเวลาที่เหมาะสม ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุธศักราช 2557 ข้อ 4 กติการะหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการหายสาบสูญโดยถูกบังคับ (ICPED) ที่ประเทศไทยได้ลงนามไว้แล้ว                                      

2. กรณีผู้ถูกควบคุมตัวอยู่ระหว่างการรักษาพยาบาล ต้องมีหลักประกันว่าบุคคลนั้นจะได้รับการรักษาโรคอย่างต่อเนื่องตามแผนการรักษาของแพทย์จนกว่าจะหายเป็นปกติ

“กสม.ใคร่ขอวิงวอนให้องค์กรที่เกี่ยวข้องดำเนินการให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และพันธกรณีระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชน เพื่อให้เกิดความเข้าใจและเพื่อเป็นการป้องกันมิให้ความขัดแย้งในสังคมไทยขยายออกไป ทั้งนี้ กสม. จะติดตามสถานการณ์ดังกล่าวอย่างใกล้ชิดและต่อเนื่องต่อไป” ท้ายใบแจ้งข่าวของ กสม.ระบุ

ด้านนางอังคณา นีละไพจิตร กรรมการสิทธิมนุษยชน ให้สัมภาษณ์ประชาไทในหลายประเด็น ต่อคำถามที่ว่าหากรัฐยืนยันปฏิเสธเรื่องการเข้าเยี่ยมจะทำอย่างไรได้บ้าง อังคณาระบุว่า กสม. มีข้อเสนอให้รัฐบาลลงนามในพิธีสารเลือกรับว่าด้วยการทรมาน ซึ่งจะทำให้ กสม. สามารถเข้าไปเยี่ยมในขณะควบคุมตัวได้ทุกแห่ง แต่ประเทศไทยยังไม่ได้ทำการลงนามในพิธีสารนี้ อย่างไรก็ตาม กสม.เห็นว่าการเข้าเยี่ยมนั้นเป็นสิทธิของญาติและทนายความ เราจึงขอให้เคารพสิทธิในการเข้าไปเยี่ยม ถ้ากรณีที่ญาติและทนายไม่ได้เข้าไปเยี่ยมก็ขอให้ กสม. ได้เข้าไปเยี่ยม

เมื่อถามว่าจะสามารถบังคับใช้กติการะหว่างประเทศที่ไทยได้ลงนามไว้แล้วเช่น ICCPR หรือ ICPED ได้อย่างไร อังคณาตอบว่า คงไม่สามารถบังคับได้ แต่จะทำให้ภาพพจน์ของสถานการณ์สิทธิมนุษยชนไทยจะถูกเพ่งเล็ง และในเดือนพฤษภาคมปีหน้า ประเทศไทยจะเข้าสู่กระบวนการตรวจสอบสิทธิมนุษยชน ด้วยระบบ UPR (Universal Periodic Review) ซึ่งถ้าเป็นอย่างนั้นก็เชื่อว่าเราคงถูกผลักจากนานาประเทศในเวทีสิทธิมนุษยชน

อังคณายังกล่าวอีกว่า หากว่าญาติได้รับอนุญาตให้เข้าไปเยี่ยมแล้วพบว่าผู้ถูกควบคุมตัว ถูกซ้อม ทรมาน เจ็บป่วย ก็สามารถมาร้อง กสม.เพื่อให้เข้าไปตรวจสอบได้ ซึ่งปัจจุบันมีคนร้องมาแล้วทั้ง 2 กรณีซึ่งทางคณะกรรมการจะแบ่งงานกันในวันที่ 22 ธ.ค.นี้ว่ากรณีใดจะให้คณะอนุกรรมการชุดใดติดตาม แต่ไม่ว่าจะอย่างไรก็ต้องนำเสนอสู่คณะกรรมการชุดใหญ่เพื่อพิจารณาข้อเสนอแนะเชิงนโยบายด้วย ในเบื้องต้นเรื่องการควบคุมตัวน่าจะอยู่ในส่วนของอนุกรรมการด้านยุติธรรมซึ่งมี ชาติชาย สุทธิกลม เป็นประธาน

เธอให้ข้อมูลด้วยว่า ตอนนี้คณะกรรมการชุดใหญ่มีความเห็นว่าควรจะต้องแยก สิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง เป็นอนุกรรมการพลเมือง และอนุกรรมการสิทธิการเมือง ตัวเธอเองนั้นอยู่ในอนุกรรมการพลเมือง ซึ่งครอบคลุมปัญหาเรื่องการซ้อมทรมาน การจับกุม การชุมนุมที่ไม่ได้เป็นการชุมนุมทางการเมือง แรงงานข้ามชาติ ผู้อพยพลี้ภัย  

“เหตุผลในการแยกอนุการเมืองและอนุพลเมือง เพื่อแบ่งเบาภาระในการทำหน้าที่ อย่างไรก็ตาม ส่วนตัวได้ให้ความเห็นไปแล้วความเป็นพลเมืองและการเมืองไม่สามารถแยกจากกันได้ แต่ส่วนใหญ่กรรมการก็เห็นว่าจะเป็นการแบ่งเบาภาระงานและจะทำงานเร็วขึ้น" อังคณากล่าว

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net