Skip to main content
sharethis

เมื่อวันที่ 17 ธ.ค. ที่ผ่านมา รายงานข่าวจาก เครือข่ายองค์กรที่ทำงานด้านประชากรข้ามชาติ (Migrant working group) แจ้งว่า ที่ห้องประชุมใหญ่ บ้านเซเวียร์ ถนนราชวิถี อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ วันนี้ (17 ธ.ค.) เครือข่ายองค์กรที่ทำงานด้านประชากรข้ามชาติ จัดงานแถลงข่าวการนำเสนอสถานการณ์ และรายงานประจำปีเนื่องในวันผู้อพยพย้ายถิ่นสากล พ.ศ. 2558  Migrant Crisis Proction

โดย นายอดิศร เกิดมงคล ตัวแทนเครือข่ายองค์กรที่ทำงานด้านประชากรข้ามชาติ ได้กล่าวถึงสถานการณ์แรงงานข้ามชาติและนโยบายการจัดการแรงงานข้ามชาติในปี 2558 ว่ามีความน่าสนใจในหลายประเด็นอาทิเรื่องการจัดการจดทะเบียนแรงงานต่างด้าว โดยตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน - 30 มิถุนายน 2558 มียอดรวมจดทะเบียน  ทั้งสิ้น 1,049,326 คน ซึ่งจากข้อมูลของกระทรวงแรงงานที่ผ่านมามีแรงงานข้ามชาติที่จดทะเบียนที่ OSS และผ่านการตรวจสัญชาติก่อนที่จะมีการต่ออายุทั้งหมด 133,917 คน  โดยในจำนวนนี้จะมีแรงงานข้ามชาติและผู้ติดตามมากกว่า 4 แสนคนที่ไม่ได้ต่ออายุ ซึ่งจะทำให้เสี่ยงต่อการถูกจับกุมส่งกลับประเทศต้นทาง แสดงให้เห็นว่ามาตรการนี้เป็นการแก้ไขปัญหาแรงงานข้ามชาติในระยะสั้นซึ่งไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้อย่างแท้จริง นอกจากนี้ยังมีปัญหาเรื่องความชัดเจนในการตรวจสัญชาติแรงานข้ามชาติที่มีความสับสนในขั้นตอนการดำเนินการมีความล่าช้า ทำแรงงานไม่มีเอกสารในการแสดงตนเพื่อใช้สิทธิต่างๆได้

นายอดิศร กล่าวต่อว่า ส่วนกระบวนการพิสูจน์สัญชาติ การต่ออายุใบอนุญาตทำงานของแรงงานข้ามชาติ ยังอยู่ภายใต้วังวนการเข้ามาแสวงหาประโยชน์จากนายหน้าและเจ้าหน้าที่รัฐบางส่วน แม้รัฐบาลมาจะมีมาตรการที่เข้มงวดแต่ก็ยังมีช่องว่างใหนายหน้าเข้ามาแสวงหาประโยชน์ได้  และเรื่องที่สำคัญอีกเรื่องคือเรื่องการค้ามนุษย์แรงงานในกิจการประมงทะเลซึ่งเป็นข้อท้าทายการในการแก้ไขปัญหามาก  เพราไทยถูกจัดอันดับใน เทียร์ 3 และถูกเตือนจากอียูโดยการให้ใบเหลือง ซึ่งโดยภาพรวมในการแก้ปัญหาแรงงานข้ามชาติถือว่ารัฐสอบตกไม่ผ่านมาตรฐาน ดังนั้นต้องเร่งปรับปรุงวิธีการในการแก้ไขปัญหาระยะยาว

ด้านนายศิววงศ์ สุขทวี ตัวแทนเครือข่ายองค์กรที่ทำงานด้านประชากรข้ามชาติ กล่าวถึงสถานการณ์การค้ามนุษย์ชาวโรฮิงยาบังคลาเทศว่าในปีที่ผ่านมาว่า ยังคงมีชาวโรฮิงยาอพยพจำนวนมาก ระหว่างเดือนม.ค.ถึงมี.ค. ระหว่างเดือนมกราคมถึงมีนาคม 2558   มีชาวโรฮิงยา/บังคลาเทศเดินทางออกนอกประเทศประมาณ 25,000 คน  และตั้งแต่ปี 2556  มีการอพยพมากกว่า 100,000 คน  และในจำนวนนี้กว่า 1,100 คน ต้องเสียชีวิตกลางทะเล และการบังคับใช้กฎหมายของไทยที่ผ่านมายังเป็นปัญหา โดยเฉพาะผู้ที่ไม่มีสัญชาติไทย ทั้งผู้ล้มเหลวในการคัดแยกผู้ที่หาย ไม่ได้ให้สัมภาษณ์หรือเก็บหลักฐานผู้เสียหายไม่เหมาะสม ทำให้เกิดผลกระทบต่อการพิจารณาดำเนินคดี  อีกทั้งยังไม่สาวไปถึงขบวนการต้นตอได้  อีกทั้งไม่ให้ความสำคัญกับล่าม และไม่มีการคุ้มครองผู้ที่หาย ทำให้ไม่มีพยานในการดำเนินคดี สรุปแล้วจึงไม่สามารถฝากความหวังไว้ให้กับเจ้าหน้าที่รัฐในการแก้ปัญหาได้

ส่วนการแก้ปัญหาการส่งผู้อพยพชาวอุยกูร์ ส่งประเทศต้นทาง เห็นได้ชัดว่า ขัดต่อกฎหมายระหว่างประเทศชัดเจน เพราะผลักดันไปสู่ความไม่ปลอดภัย ไม่มีการคัดแยกผู้อพยพ ท้ายสุดผู้อพยพเหล่านี้ก็จะกลับเข้าสู่วงจรการค้ามนุษย์เหมือนเดิม ดังนั้นรัฐต้องแยกให้ชัดเจนว่า ผู้อพยพไม่ใช่อาชญากร ฉะนั้นจะปฏิบัติเหมือนอาชญากรไม่ได้

นายศิววงศ์ ยังได้กล่าวถึงกรณีการขอลี้ภัยของพล.ต.ต.ปวีณ พงศ์สิรินทร์ อดีตรองผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 8 และหัวหน้าคณะพนักงานสอบสวนคดีค้ามนุษย์โรฮิงยาในพื้นที่ภาคใต้ว่า สิ่งที่เกิดขึ้นกับพล.ต.ต.ปวีณก็เป็นสิ่งที่แสดงให้เห็นถึงแรงกดดันที่มีต่อชุดสืบสวนกว่า 6 เดือนผ่านมา ที่ไม่ได้มาจากขบวนการค้ามนุษย์เท่านั้น แม้ว่า พล.ท.มนัส คงแป้น ผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษกองทัพบก ซึ่งตกเป็นผู้ต้องหาคดีค้ามนุษย์โรฮิงยาจะถูกจับกุมพร้อมกับพวกอีกเกือบร้อยคนแล้ว แต่สภาพแวดล้อมทางกฎหมายและนโยบายของรัฐบาลไทยยังคงส่งเสริมให้ขบวนการค้ามนุษย์สามารถกลับเติบโตได้อีกครั้งในวันที่สังคมไทยไม่ได้สนใจ ติดตามตรวจสอบมากเพียงพอ

สำคัญที่เกี่ยวข้องกับการค้ามนุษย์ในพื้นที่อันดามันไม่เคยได้รับการตรวจสอบการทำงานที่ผ่านมา โดยเฉพาะกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค4 ส่วนแยก1 ที่เป็นหน่วยงานที่รับการดูแลป้องกันการลักลอบเข้ามาในประเทศทางทะเล การทำงานที่อยู่ภายใต้กองทัพ มีอำนาจเหนือพลเรือน และไม่ได้มีการตรวจสอบจากกระบวนยุติธรรมปกติทำให้เจ้าหน้าที่มีโอกาสที่จะใช้อำนาจในการหาผลประโยชน์โดยมิชอบ ผู้ต้องหาที่จับกุมได้อย่างน้อย 3 คน เป็นนายทหารของกองทัพบกที่สังกัด กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนแยก1 ในจังหวัดระนอง  ชุมพร และสตูล มีนายทหารเรือและนายตำรวจที่มาช่วยราชการ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนแยก 1 เป็นหลักฐานที่แสดงให้เห็นปัญหาภายในของ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนแยก 1 ที่ปล่อยให้เจ้าหน้าที่ที่ทุจริตสร้างเครือข่ายของตนผ่านหน่วยงานที่รับผิดชอบโดยตรงเช่นนี้ และเป็นส่วนหนึ่งของการจัดการปัญหาที่ถูกนำโดยทหารที่มีแนวคิดความมั่นคงแบบเก่าซึ่งล้มเหลวต่อการเผชิญกับปัญหาที่ซับซ้อนมากขึ้นตลอดมา

ด้านนายเสถียร ทันพรม ประธานเครือข่ายปฏิบัติการเพื่อแรงงานข้ามชาติ กล่าวว่า จากการสำรวจติดตามการได้รับบริการของแรงงานข้ามชาติและคนข้ามชาติล่าสุดเมื่อปี 2558 ที่ประกอบไปด้วยผู้ซื้อประกันสุขภาพจำนวน 1,833,905 คน แบ่งเป็นชาวพม่า  963,077 คน ชาวกัมพูชา 668,102 คน  ชาวลาว 200,764 คน และอื่น ๆ 1,908 คน ได้พบปัญหาแรงงานเหล่านี้ ไม่สามารถเข้าถึงหลักประกันสุขภาพจำนวนมาก สาเหตุมาจากการการรับรู้และเข้าถึงข้อมูล  ที่ส่วนใหญ่ไม่เข้าใจภาษาไทย รวมทั้งโรงพยาบาลเกือบทุกโรงพยาบาล ปฏิเสธที่จะไม่ขายบัตรประกันสุขภาพให้ โดยอ้างว่า ต้องเป็นแรงงานที่ขึ้นทะเบียน มีหลักฐานเอกสารการแสดงตนมายืนยัน

ทั้งนี้กรณีการขายบัตรสุขภาพของโรงพยาบาล ที่สามารถทำได้จริง โดยไม่จำกัดเรื่องเอกสาร มีตัวอย่างที่โรงพยาบาล วังจันทร์ จังหวัดระยอง ที่ยึดตามประกาศของกระทรวงสาธารณสุข เมื่อวันที่ 13 ส.ค.2556 โดยเปิดช่องให้แรงงานข้ามชาติที่ไม่มีเอกสาร สามารถซื้อบัตรประกันสุขภาพได้ โดยใช้เพียง การพิมพ์ลายนิ้วมือ ถามชื่อสกุล แล้วให้ผู้อำนวยการโรงพยาบาลรับรองเท่านั้น จึงอยากให้ทุกโรงพยาบาลยึดตามแบบโรงพยาบาล วังจันทร์ ที่อย่างน้อยแรงงานข้ามชาติก็จะสามารถเข้าถึงการพยาบาลขั้นพื้นฐานได้

นายเสถียร กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ยังพบสถานพยาบาลจำนวนไม่น้อย มีเงื่อนไขไม่ขายประกันสุขภาพให้แก่เด็กผู้ติดตาม โดยเฉพาะกลุ่มเด็กผู้ติดตามที่พ่อแม่ไม่มีเอกสาร จากการสำรวจล่าสุดเมื่อปี2558 พบผู้ติดตามหายออกจากระบบจำนวนมากถึง 40,000 – 50,000 ราย และที่น่ากังวลคือ กรณีกระทรวงสาธารณสุขได้ทำการยกเลิกสิทธิประโยชน์สำหรับเด็กแรกเกิดกรณีป่วยหลังคลอด 28 วัน ซึ่งเด็กต้องซื้อประกันสุขภาพทันทีหลังคลอด ทำให้ผู้เป็นพ่อแม่จะต้องจ่ายเงินเองค่ารักษาพยาบาล ส่วนกรณีการให้ยาต้านไวรัสกรณีผู้ติดเชื้อ HIV ให้กับแรงงานข้ามชาติ พบว่าสถานพยาบาลจำนวนไม่น้อยยังคงมีข้อจำกัดในแง่ของการให้บริการตามสิทธิประโยชน์ของประกันสุขภาพ ซึ่งพบว่าการเบิกจ่ายจากส่วนกลางยังไม่สามารถเบิกจ่ายได้เต็มจำนวน

นายเสถียร กล่าวอีกว่า วิธีแก้ปัญหาในขั้นต้น ทางรัฐบาล หรือกระทรวงสาธารณะสุขเอง ต้องหันมาดูแลเรื่องหลักประกันสุขภาพของแรงงานข้ามชาติอย่างจริงจัง เบื้องต้น ควรยกเลิกข้อจำกัดเกี่ยวกับเรื่องเอกสารเกี่ยวกับการทำบัตรสุขภาพ  โดยยึดตามประกาศของกระทรวงสาธารณสุข เมื่อวันที่ 13 ส.ค.2556 ที่เปิดช่องให้แรงงานข้ามชาติที่ไม่มีเอกสาร สามารถซื้อบัตรประกันสุขภาพได้ โดยใช้เพียง การพิมพ์ลายนิ้วมือ ถามชื่อสกุล แล้วให้ผู้อำนวยการโรงพยาบาลรับรองเท่านั้น  นอกจากนี้ ในสถานพยาบาลแต่ละแห่ง ต้องมีเจ้าหน้าที่ประจำ ที่รู้ในภาษาต่างประเทศเช่นภาษาพม่า เขมร  มาคอยให้บริการสื่อสารเป็นล่ามให้ อาจมีการจ้างคนชาตินั้น ที่รู้ในภาษาไทยมาคอยให้บริการได้ เป็นต้น เพื่อให้เกิดความเท่าเทียมในการเข้าถึงหลักประกันสุขภาพ

ด้าน น.ส.ณัฐริกาญจน์ ทองสมบูรณ์ ผู้ประสานงาน Save the children กล่าวถึงประเด็นการศึกษาและการคุ้มครองเด็กข้ามชาติว่า จากผลสำรวจล่าสุดในปี2558 เกี่ยวกับเด็กไม่มีสัญชาติที่อยู่ในประเทศไทยประมาณ 300,000 คน ซึ่งในจำนวนนี้เป็นเด็กที่ไม่ได้อยู่นะระบบการศึกษาถึง 46 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งถือว่าสูงมาก และพบเด็กข้ามชาติศึกษาในระดับที่สูงขึ้น โดยเฉพาะระดับมัธยมนั้นน้อย  ปัญหาสำคัญมาจากบางโรงเรียนของรัฐไม่รับเด็กเข้าเรียน อ้างว่าต้องขอเอกสารหลักฐานจากนักเรียนเพิ่ม เพราะกลัวว่าจะมีปัญหาเรื่องการขอรับเงินอุดหนุนรายหัว  และกังวลเรื่องผลสอบการสอบประเมินคุณภาพการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน (สอบ NT) ขณะที่โรงเรียนเอกชน แม้จะเปิดรับเด็กเข้าเรียน แต่มีข้อกังวลในเรื่องของกฎหมาย โดยเฉพาะการไม่มีหลักฐานแสดงตน รวมไปถึงเรื่องค่าใช้จ่ายที่แพงผู้ปกครองรับไม่ไหวเนื่องจากหาเช้ากินค่ำ

น.ส.ณัฐริกาญจน์ กล่าวต่อว่า ปัจจุบันในพื้นที่อ.แม่สอด มีการหาทางออกเกี่ยวกับปัญหาดังกล่าวอย่างน่าสนใจ ที่มาจากความร่วมมือของเขตพื้นที่อำเภอ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชน และผอ.รร.เอกชน เพื่อช่วยเหลือให้เด็กได้รับเงินอุดหนุนรายหัว  โดยใช้การจัดทำข้อมูลพื้นฐานของเด็กต่างด้าว แล้วส่งข้อมูลให้กับฝ่ายความมั่นคงของที่ว่าการอำเภอ เพื่อจัดทำประวัติและเลข 13 หลัก(ขึ้นต้นด้วยเลข 0)  และทางโรงเรียนเอกชนจะรายงานข้อมูลเด็กต่างด้าวที่ได้รับเลข 13 หลัก ต่อสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาเพื่อขอรับการสนับสนุนเงินรายหัว ซึ่งประสบความสำเร็จในระดับหนึ่

น.ส.วรางคณา กล่าวอีกว่า  แม้เด็กต่างด้าวจะมีทางเลือกในการเข้าเรียนศูนย์การเรียนรู้ (Learning Center)  ที่มีจำนวน 95 ศูนย์กระจายอยู่ทั่วประเทศ มีนักเรียนประมาณ 17,161 คน แต่ก็พบปัญหาและอุปสรรค เนื่องจากศูนย์เหล่านี้เป็นของกลุ่มคนข้ามชาติที่บริหารจัดการเอง จึงทำให้เข้าไม่ถึงสิทธิในหลายส่วนที่เขาควรได้รับ นอกจากนี้ยังพบปัญหาความไม่ยั่งยืนของตัวศูนย์ เนื่องจากเงินทุนสนับสนุนจากองค์กรเอกชนลดน้อยลง ปัจจุบันมีศูนย์การเรียน 19 ศูนย์ มีความเสี่ยงที่จะปิดตัวลง  ส่งผลให้เด็กไร้สัญชาติจำนวนประมาณ 5,500 คน จะได้รับผลกระทบไม่มีที่เรียน

น.ส.ณัฐริกาญจน์  กล่าวต่อว่า ข้อเสนอแนะในเรื่องการจัดการศึกษาสำหรับเด็กข้ามชาติและคนที่ไม่มีสัญชาติไทย ในกรณีเด็กที่ไม่เลขประจำตัว 13 หลัก  ทางสถานศึกษาควรจะต้องรวบรวมข้อมูลของเด็ก และประสานงานไปยังฝ่ายทะเบียนในท้องที่ เพื่อจัดทำทะเบียนประวัติสำหรับคนซึ่งไม่มีสัญชาติไทย ตาม มาตรา 38 ของพรบ.การทะเบียนราษฎร ดังเช่นแนวปฏิบัติที่เกิดขึ้นแล้วในพื้นที่อ.แม่สอด จ.ตาก  และขอให้ยกเลิกคุณสมบัติของนักเรียนที่ระบุไว้ตามข้อ 6(3) ค. ที่ระบุว่า “เป็นนักเรียนที่มีเลขประจำตัวประชาชนที่ออกโดยกระทรวงมหาดไทย” ตามระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยมาตรการการช่วยเหลือนักเรียนในโรงเรียนเอกชนเป็นเงินอุดหนุนรายหัว พ.ศ. 2558 และดำเนินการจัดสรรงบรายหัวให้แก่นักเรียนทุกคนที่เรียนอยู่จริงในโรงเรียน

ขณะที่นายบัณฑิต ธนชัยเศรษฐวุฒิ  นักวิชาการแรงงานมูลนิธิอารมณ์  พงศ์พงัน กล่าวถึงสถานการณ์แรงงานข้ามชาติในระบบประกันสังคมว่า ปัจจุบันมีจำนวนผู้ประกันตนต่างชาติในระบบประกันสังคมทั้งหมด 492,240 คน ประกอบด้วยสัญชาติเมียนมาร์ 305,181 คน กัมพูชา 90,643 คน ลาว 12,501 คน และอื่นๆ อีก 83,915 คน  ซึ่งในจำนวนนี้คิดเป็นสัดส่วนไม่ถึงครึ่งของแรงงานที่ควรได้รับสิทธิ์ประกันสังคม  อีกทั้งสิทธิประโยชน์ของประกันสังคมยังไม่สอดคล้องกับวิถีชีวิตของแรงงานข้ามชาติด้วย ทั้งเรื่องเงินชราภาพ และเงินสงเคราะห์การคลอดบุตร

โดยสาเหตุที่แรงงานข้ามชาติเข้าไม่ถึงประกันสังคม เพราะ มีปัญหาเรื่องฐานข้อมูล คือ ไม่มีฐานข้อมูลแรงงานต่างชาติที่ขึ้นทะเบียนกับประกันสังคม ที่จำแนกตามรายจังหวัดและอาชีพ  หรือขึ้นทะเบียนตามประเภทแรงงาน และได้รับอนุญาตทำงานโดยผ่านการพิสูจน์สัญชาติ และไม่มีหลักฐานข้อมูลจำนวนประเภทการใช้บริการการประสบอันตรายหรือการเจ็บป่วย  นอกจากนี้ยังมีการเลือกปฏิบัติ โดยคนไทยมองว่าแรงงานข้ามชาติอาจนำโรคร้ายมาสู่สังคมไทย  ไม่มองว่าเขาก็เป็นมนุษย์ มีศักด์ศรี ซึ่งหากแก้ปัญหาเรื่องนี้ได้จะทำให้เกิดการแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน และทำให้แรงงานข้ามชาติเข้าถึงระบบประกันสังคมมากขึ้น  นอกจากนี้แล้วที่สำคัญยังมีปัญหาเรื่องประสิทธิภาพการบังคับใช้กฎหมายและการบูรณาการของเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง อาทิ การตรวจสอบข้อมูล การส่งเงินสบทบของนายจ้าง และการใช้ระบบตรวจสุขภาพที่ซับซ้อน  และที่เป็นปัญหาหนักคือนายจ้างหรือผู้ประกอบการไม่ค่อยแจ้งแรงงานข้ามชาติให้มาขึ้นทะเบียนประกันสังคม หรือคิดว่าเป็นเรื่องสมัครใจ จึงไม่นำแรงงานไปขึ้นทะเบียนรับสิทธิประกันสังคม  หรือนายจ้างบางคนมีการใช้แรงงานหนัก ส่งผลให้แรงงานหลบหนีจึงไม่ได้ติดตามมาขึ้นทะเบียน และ

ที่แย่ที่สุด คือแรงงานข้ามชาติบางคนถูกนายหน้าสวมสิทธิทับนายแจ้ง ซึ่งเมื่อเกิดปัญหาการเจ็บป่วยก็หาคนรับผิดชอบลำบากมาก เนื่องจาก ไม่ใช่นายจ้างที่แท้จริง  ขณะที่ตัวแรงงานข้ามชาติเอง ก็ขาดความรู้ความใจในสิทธิประกันสังคม ทั้งในเรื่องภาษา และการเข้าถึงข้อมูล  หรือบางคนมีได้รับใบอนุญาตทำงานล่าช้า หรือต้องรอการพิสูจน์สัญญาติ หรือถูกนายจ้างยึดบัตรทำงานไว้ ทำให้ไม่ได้รับสิทธิอย่างที่ควรจะเป็น ดังนั้นสิ่งสำคัญคือวันนี้แรงงานต้องรู้จักเรียนรู้ที่จะเรียกร้องสิทธิของตนเอง ส่วนภาครัฐก็ต้องสนับสนุน ช่วยเหลือ และเร่งประชาสัมพันธ์สื่อสารด้วยภาษาของแรรงงาน ถึงการเข้าถึงสิทธิและการรับบริการ เป็นต้น

นายบัณฑิต กล่าวต่อว่า  เรื่องที่เป็นห่วงในขณะนี้  คือรัฐมีความพยายามปรับปรุงระบบประกันสังคมให้แยกเฉพาะสำหรับแรงงานข้ามชาติ โดยกำหนดให้นายจ้างซื้อประกันชีวิตให้ลูกจ้างแทนการเข้าสู่ระบบประกันสังคม  และให้เหตุผลว่าเพื่อความสะดวกในการบริหารจัดการ เนื่องจากแรงงานข้ามชาติเข้ามาทำงานไม่กี่ปีก็ต้องเดินทางกลับประเทศต้นทาง อีกทั้งรัฐยังไม่ต้องร่วมจ่ายเงินสมทบ มีเพียงฝ่ายนายจ้างและลูกจ้างเท่านั้นที่ต้องจ่ายเงินสมทบ แต่ทั้งนี้จะไม่ได้สิทธิประโยชน์กรณีคลอดบุตร สงเคราะห์บุตร และว่างงาน

“เรื่องนี้รัฐควรทบทวน เนื่องจากคนทำงานที่มีรายได้ทุกคนในประเทศไทย ควรได้รับสิทธิที่เท่าเทียม เป็นธรรม มิเช่นนั้นอาจถูกมองว่าไทยเลือกปฏิบัติ  โดยเฉพาะทุกวันนี้ประเทศไทยถูกจัดอันดับการค้ามนุษย์อยู่ในอันดับเทียร์ 3 อยู่แล้ว จึงไม่อยากให้เรื่องการจำกัดสิทธินี้ ทำให้สถานการณ์ของประเทศแย่ลงไปอีก  นอกจากนี้หากมีการบริหารกองทุนผิดพลาด หรือเก็บเงินสะสมไม่ได้ตามเป้า ก็เป็นไปได้ว่ารัฐจะต้องมาแบกรับภาระ และนำภาษีของประชาชนมาร่วมจ่ายเงินอีก ซึ่งจะเกิดปัญหาตามมาอย่างมาก” นายบัณฑิตกล่าว

น.ส.ศุกาญจน์ตา สุขไผ่ตา ผู้แทนมูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา  กล่าวถึงสิทธิแรงงานข้ามชาติในการเข้าถึงเงินทดแทนและผู้หญิงทำงานในบ้านว่า  นับตั้งแต่ปี 2549-ปัจจุบัน มูลนิธิฯได้รับเรื่องร้องเรียน กรณีแรงงานข้ามชาติถูกละเมิดสิทธิในหลายกรณีเฉลี่ยเดือนละ 10 เรื่อง  อาทิการไม่ได้รับเงินค่าจ้างที่ควรจะเป็นไปตามกฎหมาย หรือเมื่อเจ็บป่วยจากการทำงาน แต่ไม่สามารถเข้าถึงเงินทดแทนที่ดูแลโดยสำนักงานประกันสังคมได้ เป็นต้น โดยในส่วนของเงินกองทุนทดแทนตามพรบ.เงินทดแทนนั้น มีเจตนารมณ์ชัดเจนว่า ให้ลูกจ้างสามารถเข้าถึงการเยียวยาความเสียหายได้อย่างรวดเร็ว ไม่ว่าจะเป็นสัญชาติไทยหรือเป็นแรงงานข้ามชาติ

น.ส.ศุกาญจน์ตา กล่าวอีกว่า แม้ที่ผ่านมาสำนักงานประกันสังคม ได้พยายามออกแนวปฎิบัติเพิ่มเติมเงื่อนไขด้านเอกสารการทำงานและสถานการณ์เข้าเมือง จึงทำให้แรงงานข้ามชาติที่ประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยจากการทำงาน ได้รับเงินทดแทน โดยสำนักงานประกันสังคมออกคำสั่งให้นายจ้างเป็นผู้จ่ายเงินทดแทน  และเกิดการเจรจาต่อรองทำให้ลูกจ้างไม่สามารถรับเงินทดแทนตามคำสั่งของสำนักงานประกันสังคม หรือบางรายไม่สามารถเข้าถึงการเยียวยาเนื่องจากไม่สามารถติดตามนายจ้างได้ และการออกคำสั่งดังกล่าว เป็นการเลือกปฏิบัติต่อแรงงานข้ามชาติ เป็นเหตุให้ตัวแทนแรงงานข้ามชาติ ต้องยื่นฟ้องสำนักงานประกันสังคมต่อศาลปกครอง เมื่อเดือนมกราคม 2553 ใช้ระยะเวลาในการต่อสู้ในชั้นศาลเป็นระยะเวลากว่า 5 ปี กระทั่งวันที่ 9 กันยายน 2558 ศาลปกครองสูงสุด ได้ยืนยันสิทธิของแรงงานจะไม่ถูกเลือกปฏิบัติด้วยเหตุความแตกต่างด้านสถานะบุคคลและเอกสารแสดงตน และการที่นายจ้างไม่จ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนเงินทดแทน ไม่ใช่เงื่อนไขที่สำนักงานประกันสังคมจะปฏิเสธไม่จ่ายเงินจากกองทุนให้แก่แรงงานข้ามชาติที่ประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยจากการทำงาน”น.ส.ศุกาญจน์ตากล่าว

น.ส.ศุกาญจน์ตา กล่าวต่อว่า ดังนั้น ทางมูลนิธิฯจึงขอเรียกร้องให้สำนักงานประกันสังคมจ่ายเงินทดแทนแก่แรงงานข้ามชาติทุกรายจากกองทุนเงินทดแทน หากมีข้อเท็จจริงของลูกจ้างเป็นไปตามพรบ.เงินทดแทน และให้ดำเนินการทางกฎหมายอย่างจริงจังต่อนายจ้างที่ไม่ปฏิบัติตามกฎหมายที่กำหนดให้นายจ้างต้องจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุน พร้อมทั้งกำหนดให้นายจ้างเพิ่มมาตรการในการรักษาความปลอดภัยในที่ทำงานในประเภทกิจการที่มีการร้องเรียนจากลูกจ้างว่าประสบอันตรายจากการทำงานสูงสุด ได้แก่ กิจการก่อสร้าง และการผลิตที่ลูกจ้างต้องทำงานร่วมกับเครื่องจักรกล

น.ส.ศุกาญจน์ตา กล่าวอีกว่า  กรณีการเข้าถึงความยุติธรรมของลูกจ้างทำงานบ้านก็ถือเป็นเรื่องสำคัญ จากการประเมินของกระทรวงแรงงานนั้น ลูกจ้างทำงานบ้านในประเทศไทยมีอยู่ประมาณ 300,000 คน โดยมีลูกจ้างทำงานบ้านจากประเทศเพื่อนบ้าน ได้แก่ลาว กัมพูชา และเมียนมาร์ ขึ้นทะเบียนประมาณ 45,000 คน ทางมูลนิธิฯ พบว่าโอกาสเข้าถึงความคุ้มครองนั้นยังมีข้อจำกัดกว่าแรงงานในกิจการอื่นๆ โดยเฉพาะพรบ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 ที่ให้การคุ้มครองแรงงานเป็นบางส่วน การเข้าไม่ถึงระบบการคุ้มครองด้านสวัสดิการ เช่น สิทธิในพรบ.เงินทดแทน เนื่องจากคำนิยามของ คำว่า “ลูกจ้าง” ตามพรบ.เงินทดแทน มิได้รวมถึงลูกจ้างทำงานเกี่ยวกับงานบ้านอันมิได้มีการประกอบธุรกิจรวมอยู่ด้วยผู้ตรวจแรงงานของกระทรวงแรงงานยังไม่มีนโยบายเข้าตรวจสถานที่ทำงานของลูกจ้างทำงานบ้าน 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net