Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

 

เป็นเรื่องน่าสังเกตว่าผู้ฝักใฝ่กลุ่มกปปส.และรัฐบาลทหารมักยกย่องรัสเซียซึ่งเป็นมหาอำนาจที่เริ่มจรัสแสงทางการต่างประเทศและการทหาร (ยกเว้นด้านเศรษฐกิจ) ขึ้นมาอีกครั้ง แต่เราสามารถอธิบายพฤติกรรมเช่นนี้ได้ว่าเพราะรัสเซียนั้นคล้ายคลึงกับจีนคือนอกจากจะเป็นคู่ขัดแย้งกับสหรัฐอเมริกาแล้ว ทั้ง 2 ประเทศยังเสนอตนเป็นทางเลือกใหม่สำหรับประเทศโลกที่ 3 โดยเฉพาะรัฐบาลเผด็จการของไทยที่ต้องพบแรงกดดันทางการเมืองจากสหรัฐ ฯ เช่นเดียวกับความเกลียดชังของคนเหล่านั้นต่ออุดมการณ์ประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชนแบบปากว่าตาขยิบของพญาอินทรี ตามมุมมองของคนไทยจำนวนไม่น้อย (ซึ่งผู้เขียนสังเกตได้จากเว็บไซต์พันทิป)  รัสเซียตกเป็นเหยื่อของจักรวรรดินิยมอเมริกันที่ต้องการเขมือบรัสเซียผ่านระบบตลาดเสรีและกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ในช่วงทศวรรษที่ 90 ขณะรัสเซียกำลังเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง เศรษฐกิจและสังคมอย่างมหาศาล ภายหลังการล่มสลายของสหภาพโซเวียต (รัสเซียเคยเป็นส่วนหนึ่งของสหภาพโซเวียตและเป็นรัฐแกนหลักของประเทศดังจะเห็นได้ว่าผู้นำสูงสุด ยกเว้นสตาลินเป็นคนเชื้อสายรัสเซียและมุ่งเน้นการทำให้ประเทศมีความเป็นรัสเซีย)  ด้วยมุมมองดังกล่าว ปูตินมักได้รับการยกย่องในฐานะเอกบุรุษที่นำชาติรัสเซียกลับมายิ่งใหญ่อีกครั้งในศตวรรษที่ 21  ดังนั้นประธานาธิบดีคนแรกของรัสเซีย คือบอริส เยลต์ซินต้องเป็นแพะรับบาปอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ อันเป็นสาเหตุที่ว่าทำไมคนจำนวนมากจึงมักมองข้ามความสำคัญของเยลต์ซิน

ทั้งที่ตามความเป็นจริงในยุคของเยลต์ซิน สหรัฐฯ ให้การช่วยเหลือแก่รัสเซียอย่างมากไม่ว่าทางการเงินและการทหารด้วยวัตถุประสงค์อื่นนอกจากข้อกล่าวหาดังกล่าว (สมมติว่าจริง)  นั่นคือสหรัฐฯ ต้องการให้รัสเซียเกิดเสถียรภาพทางการเมืองเพื่อที่ประเทศจะไม่แตกเป็นเสี่ยงๆ หรือเกิดความวุ่นวายซึ่งจะนำประเทศไปสู่การปกครองแบบเผด็จการเหมือนกับสหภาพโซเวียตอีกครั้ง เช่นเดียวกันความพยายามของฝ่ายตะวันตกในการป้องกันไม่ให้อาวุธติดหัวรบนิวเคลียร์ซึ่งยังมีอยู่มากมายในรัสเซียต้องตกอยู่ภายใต้การควบคุมของพวกผู้ก่อการร้าย  ดังนั้นการช่วยเหลือของสหรัฐฯ ที่ได้รับการเชื้อเชิญจากเยลต์ซินน่าจะเป็นปัจจัยสำคัญอีกอย่างหนึ่งที่ช่วยให้รัสเซียได้ลืมตาอ้าปากในอีก 1 ทศวรรษต่อมา แม้จะเต็มไปด้วยการฉ้อราษฎร์บังหลวงอย่างสูง แต่บุญคุณเช่นนี้ของสหรัฐฯ ก็ถูกทำให้ดูหมดค่าไปเพราะกระแสต่อต้านอเมริกันซึ่งพุ่งขึ้นตามบทบาทของกลุ่มชาตินิยมแบบสุดขั้วจากในหรือต่างประเทศของรัสเซีย

นอกจากนี้เรายังสามารถกล่าวได้อีกว่าหากไม่มีเยลต์ซินแล้วย่อมไม่เกิดปูติน ดังเช่นเยลต์ซินเลือกปูตินขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรีในปี 1999 ทั้งที่ปูตินเป็นเพียงนักการเมืองปลายแถวซึ่งมีคุณสมบัติเป็นเพียงอดีตเจ้าหน้าที่หน่วยเคจีบีที่รับผิดชอบเรื่องความมั่นคงเป็นหลัก อันถือได้ว่าเป็นการเสี่ยงอย่างยิ่งเพราะการเป็นนายกรัฐมนตรีต้องอาศัยทักษะและความรู้ด้านอื่นๆ เช่นด้านเศรษฐกิจและสังคมด้วย กระนั้นเหตุผลของเยลต์ซินต่อเรื่องนี้ในช่วงที่เขากำลังอ่อนแอเพราะอาการเจ็บป่วยและโรคพิษสุราเรื้อรังอันน่าจะใกล้เคียงกับความจริงมากที่สุดคือปูตินเป็นคนที่สนใจเรื่องความมั่นคงและความยิ่งใหญ่ของรัสเซียมากกว่าเรื่องประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชนซึ่งเป็นนิสัยแบบเดียวกับเยลต์ซิน (หรือบางทฤษฎีก็บอกว่าเพราะแรงกดดันของคนรอบข้างของเยลต์ซิน)  นอกจากนี้เยลต์ซินได้รับการประณามจากนักรัฐศาสตร์ว่าเป็นเผด็จการแบบคืบคลาน (Creeping Authoritarianism) นั่นคือเป็นนักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งแบบประชาธิปไตยแต่ก็ค่อยๆ รวบอำนาจเข้าตัวเองจนกลายเป็นเผด็จการในที่สุด โดยปูตินก็ได้อาศัยเยลต์ซินเป็นต้นแบบจนประสบความสำเร็จ ดังจะเห็นได้จากการที่ปูตินได้ประโยชน์อย่างมากมายจากรัฐธรรมนูญฉบับปี 1993 ที่ถูกผลักดันโดยเยลต์ซิน อันจะให้อำนาจอย่างมากมายแก่ประธานาธิบดี (และยิ่งมากขึ้นจากการแก้ไขรัฐธรรมนูญในปี 2008 ที่เพิ่มระยะเวลาการดำรงตำแหน่งของประธานาธิบดีจากวาระละ 4 ปีเป็น 6 ปี)  

นอกจากนี้เยลต์ซินยังเป็นภาพล้มเหลวที่ปูตินใช้เป็นบทเรียนในการเข้าไปครอบงำหรือควบคุมสื่อมวลชนรวมไปถึงการออกกฎหมายและการใช้กำลังจัดการกับกลุ่มผู้ประท้วงอย่างมีประสิทธิภาพ อันเป็นผลให้สังคมรัสเซียดูมีความมั่นคงและเป็นปึกแผ่นมากกว่าในยุคของเยลต์ซิน[1] ทั้งที่สภาพของการเมืองกับสังคมรัสเซียในยุคของคนทั้ง 2 ต่างประสบปัญหาไม่แตกต่างกันมากนัก   ดังนั้นจึงไม่น่าประหลาดใจว่าคะแนนความนิยมของปูตินจะอยู่ในระดับสูงแม้ว่าประเทศจะประสบปัญหาด้านเศรษฐกิจรวมไปถึงความสัมพันธ์ระหว่างรัสเซียกับประเทศต่างๆ ในด้านเลวร้าย ซึ่งไม่ได้เกิดขึ้นมากนักในยุคของเยลต์ซิน ด้วยปัจจัยเหล่านี้จึงเป็นเรื่องน่าสนใจต่อชีวิตและบทบาททางการเมืองของบอริส เยลต์ซินอยู่ไม่น้อย  

บทความนี้ผู้เขียนแปลจาก เว็บไซต์ bbc.co.uk (คนเขียนบทความไม่ปรากฏนาม) เพื่อเป็นการรำลึกถึงการจากไปของบอริส  เยลต์ซิน อดีตประธานาธิบดีของสหพันธรัฐรัสเซีย เมื่อวันที่ 23 เมษายน ปี 2007 ส่วนเชิงอรรถด้านล่างเป็นของผู้เขียนเอง

บอริส เยลต์ซินจะต้องถูกโยงใยอย่างแยกไม่ออกในการสร้างสรรค์ประชาธิปไตยในรัสเซีย เมื่อเผชิญหน้ากับรถถังภายนอกรัฐสภาของรัสเซีย เขาได้แสดงให้เห็นว่าเสียงสวรรค์ของประชาชนสามารถเอาชนะพวกเผด็จการอำนาจนิยมได้

ด้วยความกล้าหาญและวินัยอันเคร่งครัดเช่นนั้นทำให้เขามีชื่อเสียงไปในระดับชาติและยังได้รับความสนใจจากนานาชาติ มันนำไปสู่การล่มสลายของลัทธิคอมมิวนิสต์ อุดมการณ์ที่สร้างเขาขึ้นมาและเป็นสิ่งแรกที่ทำให้เขาก้าวขึ้นมามีอำนาจในระดับชาติ

แต่การอยู่ในตำแหน่งของเขาได้ส่งเสริมรูปแบบ "ตะวันตกแบบเถื่อนๆ " ของระบบทุนนิยมซึ่งช่วยให้นักธุรกิจกลุ่มเล็ก ๆ โกยเงินจำนวนมหาศาลเข้ากระเป๋าอย่างรวดเร็ว


ผู้นำที่เก่งในการปรับตัว

บอริส เยลต์ซินหรือ Boris Nikolayevich Yeltsin เกิดในตระกูลชาวนาแถบเทือกเขาอูราลในปี 1931 เขาก็ได้เติบโตในพรรคคอมมิวนิสต์ไปตามลำดับขั้น

เขาได้กลายเป็นเลขาธิการพรรคประจำเมืองสเวอร์ดลอฟส์ เมืองลับ ๆ ที่เกี่ยวข้องอย่างมากกับการผลิตอาวุธสำหรับป้องกันประเทศ

ในปี 1985 มิกคาอิล กอร์บาชอฟเรียกเยลต์ซินให้เข้ามารับตำแหน่งในกรุงมอสโคว์เพื่อกำจัดการ     ฉ้อราษฎร์บังหลวงให้หมดไปจากโครงสร้างของพรรคที่ตายซาก

เมื่อเสนอตัวเองในฐานะผู้นำที่เก่งในการปรับตัวเข้ากับสถานการณ์มากกว่าจะเป็นข้าราชการไกลปืนเที่ยง ความกระตือรือร้นในการปฏิรูปของเยลต์ซินได้ทำให้พวกคนเก่าคนแก่ของพรรคไม่พอใจ

ในที่สุดเมื่อถูกโจมตีแม้แต่โดยกอร์บาชอฟเอง เยลต์ซินก็ออกจากคณะกรรมการบริหารพรรคการเมือง ในปี 1988 และออกจากพรรคคอมมิวนิสต์ในอีก 2 ปีต่อมา

ในฐานะคนนอกคอกของพรรค เยลต์ซินยังคงได้รับความนิยมจากประชาชน ในปี 1991 เขาได้กลายเป็นประธานาธิบดีคนแรกของรัสเซียที่ได้รับการเลือกตั้ง ซึ่งเป็นตำแหน่งหัวโขนที่ขึ้นกับการดำรงอยู่ของสหภาพโซเวียต


การล่มสลายของสหภาพโซเวียต

ในเดือนสิงหาคมของปีเดียวกันนั้น พวกอนุรักษ์นิยมหัวรุนแรงพยายามก่อรัฐประหาร เยลต์ซินได้นำพวกหัวเสรีนิยมเข้าประท้วงและนำกอร์บาชอฟกลับมาสู่ตำแหน่งเดิมอีกครั้ง กระนั้นเขาก็เอารัฐประหารครั้งนี้มาทำลายชื่อเสียงของกอร์บาชอฟและพวกก่อการ

เขาสั่งห้ามพรรคคอมมิวนิสต์ซึ่งยังคงเป็นกุญแจสำคัญของรัฐโซเวียตไม่ให้มีบทบาททางการเมือง ในตอนสิ้นปี สหภาพโซเวียตก็แตกเป็นเสี่ยงๆ บอริส เยลต์ซินได้กลายเป็นประธานาธิบดีของรัสเซีย

ภายใน 2 ปีนั้น รัฐสภาของรัสเซียถูกยึดอีกครั้ง แต่ครั้งนี้รถถังถูกบัญชาการโดยประธานาธิบดี     เยลต์ซิน

เขาเรียกร้องให้มีการเลือกตั้งใหม่และพยายามจะกำจัดฝ่ายตรงกันข้ามออกไป คนเหล่านั้นต่อต้านและวางสิ่งกีดขวางป้องกันตัวเองไว้ในรัฐสภา อีกทั้งยังพยายามจะยึดสถานีโทรทัศน์ของรัฐ

เมื่อกองทัพที่ภักดีต่อเยลต์ซินได้ถล่มรัฐสภา ฝ่ายขบถยอมแพ้ แต่รัฐสภาใหม่ก็แสดงให้เห็นว่าช่างวุ่นวายไม่ต่างอะไรกับรัฐสภาก่อนหน้านี้เลย


ความต้องการให้ตะวันตกเข้ามาลงทุน

พวกชาตินิยมแบบสุดขั้วกลายเป็นพลังใหม่อันยิ่งใหญ่ในรัฐสภาและพวกเขาก็มุ่งโจมตีมาที่รัฐบาลและกิจกรรมทางการเมืองของประธานาธิบดี

การเปิดเสรีทางเศรษฐกิจผงาดขึ้นมาจากการล่มสลายของระบบเก่า แต่นี่หมายถึงตลาดหุ้นและภาวะเงินเฟ้อทุกหนแห่ง คนเพียงกลุ่มเล็กๆ ได้ร่ำรวยอย่างน่าอัศจรรย์ใจ แต่คนจำนวนมากทุกข์เข็ญ อีกทั้งประเทศอยู่ในภาวะเสียขวัญอย่างหนักเพราะคุ้นเคยกับระบบที่รัฐชี้นำ

ในระดับเวทีโลก เยลต์ซินต้องการให้รัสเซียได้รับความเคารพในฐานะเป็นมหาอำนาจของโลก แต่เขายังต้องการการลงทุนจากตะวันตกอีกด้วย    

เหนือสิ่งอื่นใด สหรัฐฯ เห็นว่าเขาเป็นความหวังที่ดีที่สุดในการทำประเทศให้มีเสถียรภาพจึงให้การสนับสนุนอย่างแข็งขัน[2]

เศรษฐกิจได้กลับมาถูกทางอย่างช้าๆ ตลาดใหม่ได้เปิดรับสินค้ายอดนิยมในราคาที่ซื้อหากันได้ แต่ความนิยมของเยลต์ซินที่เคยมีมาอย่างยิ่งใหญ่ก็จางหายไป


ช่องว่างทางสังคม

ปี 1994 รัสเซียต้องเต็มไปด้วยการนองเลือดและความวุ่นวาย กองทัพของรัสเซียล้มเหลวในความพยายามจะปราบพวกขบถในสาธารณรัฐเชเชนที่อยู่ทางตอนใต้

การต่อสู้กันอย่างชุลมุนได้ทำให้พื้นที่ซึ่งมีประชากรหนาแน่นต้องพังพินาศ และพลเรือนจำนวนมากเสียชีวิต ชาวรัสเซียหัวเสรีนิยมบอกว่ามันเป็นสิ่งไร้มนุษยธรรม แต่พวกชาตินิยมบอกว่ามันเป็นเรื่องไร้ประสิทธิภาพ

อาชญากรรมและการฉ้อราษฎรบังหลวงในรัสเซียกลายเป็นเรื่องดาษดื่น พร้อมกับการลอบสังหารที่เกิดจากการว่าจ้างถือได้ว่าเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นทุกวี่ทุกวัน

ด้วยช่องว่างทางสังคมนี้ พรรคคอมมิวนิสต์ได้ถูกฟื้นฟูขึ้นมาใหม่ พร้อมกับคำสัญญาอันเป็นส่วนผสมอันชวนเคลิ้มของความเจริญในอดีตและพลังขับเคลื่อนแบบใหม่

เมื่อการเลือกตั้งประธานาธิบดีใกล้เข้ามาในปี 1996 บอริส เยลต์ซินได้เริ่มต้นกู้ชีพทางการเมืองให้กับตัวเองได้อย่างน่าอัศจรรย์ใจ เขาเชิญพวกขบถเชชเนียให้เข้ามาในพระราชวังเครมลิน เพื่อสิ้นสุดสงคราม เขาได้เริ่มการรณรงค์หาเสียงที่เปี่ยมด้วยพลังเหนือสิ่งอื่นใด เขาดูมีสุขภาพดีและทรงอำนาจ

ผลสำหรับการเลือกตั้งคือชัยชนะสำหรับเยลต์ซิน การเปลี่ยนแปลงของเขาได้สร้างผู้ชนะเช่นเดียวกับผู้แพ้ และประชาชนผู้ลงคะแนนเสียงส่วนใหญ่ปฏิเสธการกลับไปสู่อดีตของลัทธิคอมมิวนิสต์


จักรพรรดิง่อย

ในเดือนพฤศจิกายน 1996 เยลต์ซินเข้ารับการผ่าตัดเพื่อทำบายพาสหัวใจถึง 5 ส่วนจนประสบความสำเร็จที่โรงพยาบาลกลางในกรุงมอสโคว์ 2 เดือนต่อมา เขาล้มป่วยอีกครั้ง พร้อมด้วยอาการปอดบวมขั้นร้ายแรง

เขาไม่เคยมีสุขภาพดีเหมือนเดิมอีกเลย สุขภาพของเขาขึ้นๆ ลงๆ ไปตลอดชีวิต ทำให้เขาต้องห่างหายไปจากสายตาของสาธารณชนเป็นอาทิตย์ ๆ

บัดนี้ในฐานะจักรพรรดิง่อย ราชสำนักของเขาเต็มไปด้วยการการวางแผนและการสมรู้ร่วมคิด เมื่อบรรดามุ้งต่างๆ ต่อสู้กันเพื่อแย่งชิงอำนาจ

ประธานาธิบดีเยลต์ซินเป็นนักการเมืองที่หุนหันพลันแล่นและมีพฤติกรรมที่คาดเดาได้ยาก (เขายังดูเพี้ยนๆและบางครั้งมีอากัปกิริยาของคนเมาสุรา)  แต่รัฐบาลหลายต่อหลายชุดที่เปลี่ยนโฉมหน้ากันอย่างรวดเร็วได้ทำให้ใครหลายคนถามว่า สัญชาตญาณทางการเมืองอันเป็นตำนานของเขาได้ทอดทิ้งเขาไปแล้วหรือ

เยลต์ซินไล่นายกรัฐมนตรีออกไปคนหนึ่งในปี 1998 และอีก 1  คน ภายหลังจากที่ประเทศพบกับหายนะทางการเงินอันใหญ่หลวง[3]  และยังไล่ออกอีก 2  คนในปี 1999[4]

วลาดีมีร์ ปูติน อดีตหัวหน้าสายลับเคจีบี ผู้เข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในเดือนสิงหาคม ปี 1999 และได้ก้าวขึ้นเป็นประธานาธิบดีของรัสเซีย ในเวลา 4 เดือนหลังจากนั้น ได้ส่งกองทัพเข้าสู่สาธารณรัฐเชเชนอีกครั้งอย่างรวดเร็ว     

ประชาชนหลายพันคนต้องเสียชีวิตและไร้ที่อยู่อาศัย เมื่อกองทัพเข้ามาล้างแค้น หลังจากที่พวกเขาเห็นว่าต้องพ่ายแพ้อย่างน่าละอายใจในปี 1996 และนำอำนาจของกรุงมอสโคว์กลับมาปกครองสาธารณรัฐที่ประกาศแยกตัวอีกครั้ง[5]

อีกครั้งหนึ่งที่โลกภายนอกต้องตกตะลึงกับความรุนแรงของการกระทำอันป่าเถื่อนของรัสเซีย   

หากตัดเรื่องสาธารณรัฐเชเชนไปแล้ว ลักษณะอันโดดเด่นที่สุดในช่วงที่เยลต์ซินปกครองประเทศอยู่ คือการช่วยให้ประเทศค่อนข้างสงบสุข[6]

เขาได้นำประเทศของตนผ่านยุคการเปลี่ยนแปลงอันแสนวุ่นวายด้วยการนองเลือดที่น้อยกว่าที่ใครหลายคนเคยกลัวมาก่อน และรัสเซียยุคใหม่คือมรดกของเขา  

 

เชิงอรรถ


[1] ส่วนด้านเศรษฐกิจนั้น เป็นเรื่องจริงที่ว่าเราไม่สามารถปฏิเสธความสามารถของปูตินและทีมงานในการจัดการกับเศรษฐกิจของรัสเซียเช่นการให้รัฐเข้ามาจัดการกับองค์กรทางเศรษฐกิจ มากกว่าจะปล่อยตามแบบตลาดเสรีเหมือนกับยุคของเยลต์ซิน แต่เราต้องยอมรับว่าสาเหตุสำคัญอื่นๆ ที่ช่วยให้เศรษฐกิจของรัสเซียฟื้นตัวหรือเข้มแข็งขึ้น ก็ยังเกิดจากการที่รัสเซียลดค่าเงินรูเบิลอันเป็นเหตุให้การแข่งขันในด้านการส่งออกของรัสเซียในตลาดโลกดีขึ้น เช่นเดียวกับราคาของสินค้าที่รัสเซียผลิตเช่นราคาของน้ำมันและก๊าซธรรมชาติเพิ่มสูงขึ้น

[2] เยลต์ซินได้รับการสนับสนุนจากประธานาธิบดีสหรัฐฯ คือบิล คลินตันอย่างมาก ความสัมพันธ์ระหว่างเยลต์ซินและ  คลินตันถือได้ว่าประสบความสำเร็จที่สุดในบรรดาคู่ผู้นำโซเวียต/รัสเซียกับสหรัฐอเมริกาจนถึงปัจจุบัน แต่บางครั้งก็ส่งผลเสียต่อภาพพจน์ของคลินตันอย่างเช่นตอนที่รัสเซียถล่มสาธารณรัฐเชเชนอย่างโหดเหี้ยม คลินตันพยายามจะหลีกเลี่ยงการประณามหรือวิจารณ์เยลต์ซินให้มากที่สุดโดยอ้างว่าเป็นเรื่องภายในของรัสเซีย อย่างไรก็ตามช่วงสงครามระหว่างรัสเซียกับเชเชนในครั้งที่ 2 คือปี 1999 ภายใต้อำนาจของนายกรัฐมนตรีปูติน คลินตันดูเหมือนจะเน้นนโยบายเชิงรุกและสร้างแรงกดดันรัสเซียมากขึ้น

[3] วิกฤตการณ์การเงินปี 1998 เป็นผลมาจากวิกฤตการณ์ต้มยำกุ้งในเอเชียที่มีจุดกำเนิดมาจากไทยแลนด์ของเราทำให้รัฐบาลรัสเซียต้องลดค่าเงินรูเบิลและหยุดพักการชำระหนี้แก่ต่างประเทศ

[4] ในระบบประธานาธิบดีกึ่งรัฐสภาซึ่งรัสเซียได้รับอิทธิพลจากฝรั่งเศส ประธานาธิบดีสามารถแต่งตั้งและปลดนายกรัฐมนตรีได้ตามความสะดวกแต่การแต่งตั้งต้องได้รับการรับรองจากดูมาหรือสภาผู้แทนราษฎรด้วย อนึ่งในยุคของเยลต์ซินนั้นมีนายกรัฐมนตรีถึง 6 คน

[5] ในปัจจุบันประมุขของสาธารณรัฐเชเชนคือรามซัน คาดีย์รอฟได้รับการสนับสนุนหรือการเชิด เหมือนหุ่นจากกรุงมอสโคว์อันสะท้อนถึงความถดถอยของแนวคิดสหพันธรัฐของรัสเซีย

[6] ทั้งนี้ต้องกล่าวถึงกรณีจรวดแบล็ค แบรนต์ซึ่งเกิดขึ้นในปี 1995 ที่ทางนอร์เวย์ได้ส่งจรวดขึ้นไปสำรวจชั้นบรรยากาศ ถึงแม้ว่ารัฐบาลจะได้แจ้งให้ประเทศต่างๆ ทราบแล้วล่วงหน้า แต่ไปไม่ถึงหูของเจ้าหน้าที่ของรัสเซียซึ่งสงสัยว่าเป็นขีปนาวุธติดหัวรบนิวเคลียร์ของสหรัฐฯ จึงได้ส่งเรื่องไปยังเยลต์ซิน ซึ่งได้ “กระตุ้น” กระเป๋านิวเคลียร์ (Nuclear suitcase) อันเป็นการพร้อมบัญชาการให้ทางรัสเซียตอบโต้ด้วยอาวุธนิวเคลียร์ โดยมีเวลาตัดสินใจเพียง 10 นาที แต่เหตุการณ์ก็คลี่คลายไปด้วยดีเมื่อจรวดตกทะเลไป เป็นเรื่องจริงที่ว่าเยลต์ซินสงสัยว่าสหรัฐฯจะโจมตีเขา แม้จะมีความสัมพันธ์อันดีกับคลินตันก็ตาม แต่ถ้าเขาบุ่มบ่ามสั่งโจมตีไปล่วงหน้าแล้ว โลกก็จะเข้าสู่สงครามโลกครั้งที่ 3 จึงเป็นไปได้ว่าชาวโลกตกเป็นหนี้บุญคุณของเยลต์ซินอย่างมหาศาล แม้เราจะมองในด้านร้ายเช่นว่าเกิดจากความลังเลใจ หรือขาดความเด็ดขาดหรือความกลัวความตายของเขา เราก็ยังไม่สามารถปฏิเสธบทบาทของเยลต์ซินต่อชะตากรรมของชาวโลกได้

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net