Skip to main content
sharethis
เช็คกระแสไลค์เป็นล้านสาธุเป็นแสน ภาพเปลวเพลิงเทียบสมเด็จพระสังฆราช ต้นตอโพสต์แก้แล้วเป็น 'เผาเกจิดังทางภาคเหนือ' คาดเป็นสถานที่ถวายดอกไม้จันทน์ เชียงราย ขณะที่พบเผาพระเกจิดัง ต้องมีภาพเปลวไฟรูปทรงต่างๆ เป็นกระแส
 

21 ธ.ค. 2558 จากกรณีกระแสสาธุรัวๆ ในโซเชียลเน็ตเวิร์ก หลังผู้ใช้เฟซบุ๊กบัญชีชื่อ 'บอย กาญ' โพสต์ข้อความในลักษณะสาธารณะพร้อมภาพสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก เมื่อวันที่ 19 ธ.ค.ที่ผ่านมา เทียบกับภาพเปลวไฟที่เกิดจากการเผาซึ่งมีลักษณะรูปทรงคล้ายกัน โดย   'บอย กาญ' อธิบายประกอบภาพว่า "ท่านยืนให้พร อนุโมทนา สาธุ พร้อมๆ กันน๊า" 

ล่าสุด(21 ธ.ค.58 เวลา 14.00 น.) โพสต์ดังกล่าวมีผู้กดถูกใจกว่า 1.6 ล้าน และคอมเม้นด้วยข้อความ "สาธุ" กว่า 2 แสน และแชร์ไปกว่า 5 หมื่น

ที่มา :  'บอย กาญ

ผู้สื่อข่าวประชาไทตรวจสอบเพิ่มเติม พบภาพที่ถูกนำมาเทียบกับท่ายืนของสมเด็จพระสังฆราชนั้นมีการเผยแพร่มาก่อนหน้า เมือ่วันที่ 17 ธ.ค.ที่ผ่านมา โดยผู้ใช้เฟซบุ๊กชื่อ 'Tharinee Muangmusit' โพสต์ภาพชุดพร้อมข้อความในลักษณะสาธารณะ โดยในช่วงแรก(ก่อนแก้ไข) ระบุว่า "เผาศพสมเด็จพระสังฆราชฯ โปรดสังเกตปลายเปลวไฟรูปสุดท้ายค่ะ....สาธุ ๆ ๆ" ก่อนที่จะมีการแก้ไขเมื่อวันที่ 18 ธ.ค. เวลา 12:08 น. ว่า "แก้ไขค่ะ...ภาพนี้ เผาเกจิดังท่านหนึ่งที่ แถวภาคเหนือนะคะ..."

ทั้งนี้ภาพชุดของ Tharinee มี 1 ภาพที่มีรูปทรงเปลวไฟคลายกับคนยืนและคล้ายกับภาพที่  'บอย กาญ' นำมาโพสต์เทียบกับท่ายืนของสมเด็จพระสังฆราชฯ จะเกิดการแสไลค์และสาธุเป็นล้านเป็นแสนดังกล่าว 

โพสต์ของ 'Tharinee Muangmusit' ครั้งแรกก่อนแก้ไข

รายละเอียดประวัติการแก้ไขโพสต์ของ 'Tharinee Muangmusit

โพสต์ของ 'Tharinee Muangmusit'  หลังการแก้ไขเมื่อ 18 ธ.ค. เวลา 12:08 น. ที่ผ่านมา สังเหตุภาพล่างขวามือซึ่งมีลักษณะภาพที่  'บอย กาญ' นำมาเทียบกับท่ายืนของสมเด็จพระสังฆราชฯ (ดูภาพเมื่อขยายใหญ่ด้านล่าง)

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพสมเด็จพระสังฆราชฯ นั้น ใช้ พระเมรุวัดเทพศิรินทราวาส อย่างไรก็ตามมีการประกอบพิธีตามต่างจังหวัดด้วย เช่น เชียงราย ราชบุรี พระนครศรีอยุธยา กำแพงเพชร เป็นต้น 

โดยเฉพาะที่เชียงราย ซึ่งจัดขึ้นที่พุทธมณฑลสมโภช 750 ปี บ้านต้นง้าว ม.2 ต.บัวสลี อ.แม่ลาว จ.เชียงราย จากการเปรียบเทียบภาพข่าวที่นำเสนอใน MGR Online เมื่อวันที่ 16 ธ.ค.ที่ผ่านมา พบว่ามีลักษณะคล้ายกับภาพการเผาที่ถูกนำมาใช้เทียบกับท่ายืนของสมเด็จพระสังฆราชฯ จึงคาดว่าเป็นสถานที่เดียวกัน

ภาพพิธีถวายดอกไม้จันทน์พระศพพระสังฆราชฯ จากรายงานข่าวของ MGR Online ที่พุทธมณฑลสมโภช 750 ปี บ้านต้นง้าว ม.2 ต.บัวสลี อ.แม่ลาว จ.เชียงราย

พบเผาพระเกจิดัง ต้องมีภาพเปลวไฟรูปทรงต่างๆ เป็นกระแส

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมด้วยว่า พิธีเผาศพพระที่มีชื่อเสียง มักมีภาพเปลวไฟที่มีรูปทรงต่างๆ ที่เปิดให้จินตนาการเทียบเคียงกับลักษณะของผู้ถูกเผานั้น จนเป็นกระแสไลค์ แชร์ และสาธุรัวๆ เหมือนกัน เช่น  หลวงตามหาบัว จินตนาการเป็นภาพอุ้มบาตรในเปลวไฟ (ดู kapook.com) หลวงปู่จาม เปลวเพลิงเป็นพระพุทธรูป (ดู isannews.com) และพระอาจารย์หมอบัณฑิต สุปัณฑิโต เจ้าอาวาสวัดป่าตอสีเสียด เปลวไฟพุ่งคล้ายรูปพระบิณฑบาต(ดู khanpak.com) เป็นต้น

ดู kapook.com

ดู isannews.com

 

ดู khanpak.com

คำอธิบายเกี่ยวกับ 'เปลวไฟ' เบื้องต้น ก่องกัญจน์ ภัทรากาญจน์ เขียนลงในหนังสือ "วิทยาศาสตร์ในชีวิตประจำวัน" ตีพิมพ์โดย สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ ปี 2530 ระบุว่า เปลวไฟประกอบด้วยอนุภาคของก๊าซที่กำลังลุกไหม้ ขี้ผึ้งในแท่งเทียนไขต้องระเหยเป็นไอเสียก่อนจึงจะเกิดการลุกไหม้ได้ เศษไม้ต้องถูกเผาเสียก่อนเพื่อให้ก๊าซที่ติดไฟได้หลุดออกไปเสียก่อน แล้วตัวเองจึงจะติดไฟได้ น้ำมันเบนซินที่ติดไฟง่ายเนื่องจากระเหยเป็นไอได้ดี สารที่สามารถระเหยเป็นก๊าซได้ง่ายนี้เรียกว่า สารระเหยง่าย (volatile) ถ่านหิน ถ่านโค้ก (coke = ถ่านหินที่เผาจนหมดควัน) และถ่านไม้เหล่านี้เยื่อสุกไหม้จะให้เปลวไฟน้อย ทั้งนี้ เพราะถ่านเหล่านี้ประกอบด้วยสารที่ระเหยได้เป็นจำนวนเล็กน้อยเกือบจะเป็นคาร์บอนที่บริสุทธิ์ไม่มีสารที่สามารถระเหยได้เลย 

นอกจากนี้การเปลี่ยนรูปร่างของเปลวไฟยังขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อมบริเวณนั้น เช่น ลม ดูการทดลองการเกิดทอร์นาโดไฟ โดยใช้พัดลม

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net