โฆษกรัฐบาลโต้สื่อนอก-ข่าวไทยใช้แรงงานทาสแกะกุ้งไม่ตรงข้อเท็จจริง-ตอนนี้แก้ไขแล้ว

โฆษกสำนักนายกรัฐมนตรีนำหน่วยงานที่เกี่ยวข้องชี้แจงกรณีเอพีลงข่าวไทยใช้แรงงานทาสทำประมง พล.ต.สรรเสริญ บอกเป็นข้อมูลเก่าก่อนการแก้ไขปัญหา - ผอ.ฝ่ายประชาสัมพันธ์ ศปมผ. ระบุ 2 แรงงานในข่าวเข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย จนท.กำลังสอบสวน ข่าวที่ออกมาเกิดจากการบังคับใช้ กม. จริงจังที่ จนท.-เอ็นจีโอ-สื่อมวลชนร่วมกันตรวจสอบโรงงาน

21 ธ.ค. 2558 - กรณีที่สำนักข่าวเอพี (Associated Press) เผยแพร่รายงานเมื่อ 14 ธ.ค. พาดหัวว่า "Global supermarkets selling shrimp peeled by slaves" (ซุปเปอร์มาร์เก็ตระดับโลกขายกุ้งที่แกะโดยทาส) ระบุว่า ไทยยูเนี่ยนเจ้าของแบรนด์ "Chicken of the Sea" ในสหรัฐอเมริกามีส่วนเกี่ยวข้องกับการบังคับใช้แรงงานและสภาพการทำงานที่เลวร้ายในประเทศไทยอีกครั้งหนึ่ง งานข่าวเชิงสืบสวนสอบสวนนี้เกิดขึ้นในเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา โดยที่ทีมข่าวของสำนักข่าวเอพีทำการติดตามรถบรรทุกส่งกุ้งจากโรงงานแกะเปลือกกุ้งแห่งหนึ่งไปจนถึงบริษัทส่งออกกุ้งรายใหญ่ของไทย และติดตามไปจนถึงผลิตภัณฑ์กุ้งที่วางขายทั่วโลก

ที่มาของภาพ: เว็บไซต์รัฐบาลไทย

ล่าสุด วันนี้ (21 ธ.ค.) เว็บไซต์รัฐบาลไทย รายงานว่า ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี นำคณะหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแถลงชี้แจงกรณีสื่อต่างประเทศ รายงานข่าวว่าไทยมีการใช้แรงงานทาสในอุตสาหกรรมประมง และโรงงานแกะกุ้งที่ส่งขายไปยังต่างประเทศ โดยเจ้าหน้าที่ละเลยทำให้ในต่างประเทศรณรงค์ไม่ซื้อสินค้าอาหารจากไทย โดยยืนยันว่าไม่ตรงกับข้อเท็จจริง และเชื่อว่าเป็นข้อมูลเก่าก่อนการแก้ไขปัญหาของไทย

พ.อ.วินธัย สุวารี โฆษกคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. กล่าวว่า คสช.ให้ความสำคัญกับการปราบปราบการค้ามนุษย์ และการใช้แรงงานผิดกฎหมายอย่างต่อเนื่อง จริงจัง และไม่มีการลดระดับ

นายทรงศักดิ์ สายเชื้อ อธิบดีกรมอเมริกาและแปซิฟิกใต้ กล่าวว่าหลังมีการนำเสนอข่าวกระทรวงการต่างประเทศได้แถลงข่าวชี้แจง และประสานไปยังสถานฑูตว่าไทยยึดมั่นแก้ไขปัญหา พร้อมสื่อสารไปยังสมาคมผู้นำเข้าสินค้าอาหาร ทั้งสหรัฐฯ ออสเตรเลีย และยุโรป อย่างต่อเนื่อง เพื่อเข้าใจถึงแนวทางการดำเนินการของไทย นอกจากนี้ยังชี้แจงถึงภาคเอกชน และเอ็นจีโอต่างประเทศ เพื่อเชิญเข้าร่วมตั้งคณะทำงานร่วมมือกันแก้ไขปัญหา ตลอดจนมีการชี้แจงไปยังรัฐสภา สหรัฐฯ ยุโรปและนานาชาติ รวมถึง เอ็นจีโอว่าการดำเนินการของไทยมีความคืบหน้า และพร้อมรับฟังความคิดเห็น โดยขอความร่วมมือทำงานและแก้ไขปัญหาร่วมกัน

นายธีรพล ขุนเมือง โฆษกกระทรวงแรงงาน ชี้แจงว่ากระทรวงแรงงานเดินหน้าปรับสถานะผู้ใช้แรงงานที่ผิดกฎหมายให้เข้าสู่ระบบอย่างถูกต้อง โดยการเปิดรับลงทะเบียนผู้ใช้แรงงาน 3 สัญชาติกว่า 1 ล้าน 6 แสนคน ซึ่งมีการเปิดลงทะเบียนในส่วนของแรงงานประมงถึง 2 ครั้ง ครั้งแรกมีผู้ลงทะเบียน 54,402 คน และครั้งที่ 2 กำลังดำเนินการในขณะนี้จนถึงเดือนมกราคมปี 2559 ซึ่งล่าสุดมีผู้ลงทะเบียนแล้วกว่า 9 พันคน ส่วนแรงงานในอุตสาหกรรมแปรรูปสินค้าประมงมีการเปิดให้ลงทะเบียนในปัจจุบันถึงวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2559 มีผู้ใช้แรงงานเข้าลงทะเบียนแล้วกว่า 12,000 คน ซึ่งการลงทะเบียนถือเป็นการจัดระบบเพื่อดูแลแรงงานตามหลักสิทธิมนุษยชนและตามกฎหมาย พร้อมกำหนดห้ามแรงงานอายุต่ำกว่า 18 ปีทำงานบนเรือประมง นอกจากนี้ ยังมีการจัดทำหลักฐานสัญญาจ้าง และจัดล่ามเพื่อสื่อสารในการแก้ไขปัญหาให้กับแรงงาน ซึ่งการดำเนินการทั้งหมดถือเป็นการแสดงถึงความมุ่งมั่นของไทยในการแก้ไขปัญหา อย่างไรก็ตามต้องขอความร่วมมือจากประเทศต้นทาง ในการร่วมมือแสดงความจริงใจ โดยได้เชิญฑูต 10 ประเทศ เข้าชี้แจงทำความเข้าใจแล้ว

พล.ต.ท.กรไชย คล้ายคลึง ผู้แทนสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ชี้แจงว่าการนำเสนอข่าวของสื่อต่างชาติ เกิดจากการที่เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องเข้าช่วยเหลือผู้เสียหายจากการใช้แรงงานอย่างไม่ถูกกฎหมายในจังหวัดสมุทรสาคร โดยได้ช่วยเหลือผู้ตกเป็นเหยื่อจำนวน 100 คน และอยู่ระหว่างการดำเนินคดีทั้งในส่วนของแรงงานต่างด้าวหลบหนีเข้าเมือง และการคัดแยกตามระบบ ต้องใช้เวลาในการดำเนินการ ซึ่งเบื้องต้นพบว่าเป็นแรงงานที่ไม่มีใบอนุญาต 19 คน อายุไม่เกิน 18 ปี 10 คน รวมถึงบุคคลที่เป็นข่าวอีก 2 คนขณะนี้อยู่ระหว่างการควบคุมดูแลตามหลักสิทธิมนุษยชน พร้อมทั้งดำเนินคดีกับผู้ที่เกี่ยวข้อง ยืนยัน ตำรวจให้ความสนใจดำเนินคดีในทุกด้านไม่ว่าจะเป็นกลุ่มนายทุน ผู้สนับสนุน หรือคนกลุ่มใด

พล.ร.ท.จุมพล ลุมพิกานนท์ ผู้อำนวยการฝ่ายประชาสัมพันธ์ ศูนย์บัญชาการแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย หรือ ศปมผ. กล่าวว่า แรงงาน 2 คนที่ปรากฏในข่าว เป็นกลุ่มคนที่เข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการสอบสวน และประสานกับประเทศต้นทาง ภาพที่ออกมาเป็นเพียงสถานที่พักชั่วคราว ก่อนพิจารณาดำเนินการในขั้นตอนต่อไป พร้อมขอความเป็นธรรม เพราะข่าวที่ออกมาเกิดจากการบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจังที่เจ้าหน้าที่หน่วยที่เกี่ยวข้อง รวมถึงเอ็นจีโอและสื่อมวลชน ร่วมปฏิบัติการเข้าตรวจสอบ(จู่โจม) เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายนที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม ศปมผ. ตั้งเป้าจะเข้าตรวจโรงงาน 129 แห่ง ซึ่งขณะนี้มีการตรวจไปแล้ว 101 แห่ง ยืนยันการดำเนินการทุกขั้นตอนเป็นไปตามมาตรฐานสากล

 

ไทยยูเนี่ยนประกาศยกเลิกว่าจ้างล้งภายในสิ้นปีนี้ เพื่อยกระดับมาตรฐานการปฏิบัติต่อแรงงาน

อนึ่ง ไทยยูเนี่ยนได้ประกาศเมื่อ 10 ธ.ค. ที่ผ่านมาว่า ภายวันที่ 31 ธันวาคม 2558 ทางบริษัทจะยกเลิกการว่าจ้างล้ง หรือ สถานประกอบการแปรรูปสัตว์น้ำเบื้องต้น จากภายนอกทั้งหมด โดยกระบวนการผลิตทั้งหมดเข้ามาอยู่ภายใต้การควบคุมและดูแลของไทยยูเนี่ยน การปรับปรุงนโยบายในครั้งนี้ก็เพื่อที่ทางบริษัทจะสามารถควบคุมมาตรฐานการปฏิบัติงานด้านแรงงานได้อย่างเข้มงวด

ธีรพงศ์ จันศิริ ประธานกรรมการบริหารและประธานเจ้าหน้าที่บริหารของไทยยูเนี่ยน กล่าวว่า “ผมมีความยินดีที่เราได้ดำเนินแผนการย้ายสถานประกอบการแปรรูปสัตว์น้ำเบื้องต้นของผลิตภัณฑ์กุ้งเข้ามาอยู่ภายใต้การบริหารของไทยยูเนี่ยน เพื่อให้มั่นใจว่าแรงงานนับพันจะได้รับการว่าจ้างอย่างถูกต้องตามกฎหมาย และทำงานในสถานที่ๆ ปลอดภัย นับเป็นอีกก้าวที่สำคัญในการขจัดแรงงานผิดกฎหมายไปจากอุตสาหกรรมอาหารทะเลไทยให้หมดไป เรามุ่งมั่นที่เป็นผู้นำการพัฒนาในอุตสาหกรรมของเรา และขอฝากไปยังผู้ประกอบการทุกรายให้ช่วยกันส่งเสริมการปฏิบัติต่อแรงงานที่ดีและไม่ยินยอมที่จะให้มีการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างเด็ดขาด”

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท