สมาคมครูเยอรมนีหวังนำหนังสือ 'ฮิตเลอร์' สอนสร้าง 'ภูมิคุ้มกัน' แนวคิดหัวรุนแรง

'การต่อสู้ของข้าพเจ้า' หรือ 'ไมน์คัมพฟ์' (Mein Kampf) หนังสือที่ถูกมองว่ามีเนื้อหาอันตรายเขียนโดยจอมเผด็จการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์อย่างฮิตเลอร์และไม่มีการพิมพ์เพิ่มในเยอรมนีหลังจากที่ตัวเขาเสียชีวิต แต่หนังสือเล่มนี้กำลังจะหมดลิขสิทธิ์ภายในปีหน้า ทำให้ครูในเยอรมนีอยากนำหนังสือเล่มนี้มาสอนเด็กให้มี 'ภูมิคุ้มกัน' จากโฆษณาชวนเชื่อ

21 ธ.ค. 2558 สมาคมครูเยอรมนีเปิดเผยว่าพวกเขาต้องการให้มีการตีพิมพ์หนังสือเรื่อง 'การต่อสู้ของข้าพเจ้า' (Mein Kampf) ในฉบับที่มีหมายเหตุประกอบ และมีการนำไปสอนในชั้นเรียนไฮสคูลระดับปลาย โดยเชื่อว่าเป็นเสมือน "การสร้างภูมิคุ้มกัน" ไม่ให้วัยรุ่นหันไปสู่แนวทางหัวรุนแรงทางการเมือง

'การต่อสู้ของข้าพเจ้า' หรือ 'ไมน์คัมพฟ์' เป็นหนังสือที่เขียนโดยผู้นำนาซี อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ ซึ่งมีเนื้อหาโจมตีและเหยียดเชื้อชาติชาวยิว หนังสือเล่มนี้ไม่มีการพิมพ์เพิ่มอีกเลยในเยอรมนีนับตั้งแต่สิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่สองเป็นต้นมา อย่างไรก็ตามมีแผนการนำหนังสือเล่มนี้กลับมาตีพิมพ์เผยแพร่อีกครั้งในปีหน้าโดยเป็นฉบับที่มีหมายเหตุและการวิจารณ์ประกอบ

สำนักข่าวเดอะการ์เดียนระบุว่าเจ้าของลิขสิทธิ์หนังสือเล่มนี้คือรัฐบาวาเรีย ที่ถือลิขสิทธิ์มานานกว่า 70 ปี โดยปฏิเสธไม่ยอมตีพิมพ์ใหม่อีกครั้ง แต่อายุลิขสิทธิ์ของพวกเขาก็กำลังจะหมดลงภายในปี 2558 นี้แล้ว อย่างไรก็ตาม ทางการเยอรมนีมีแผนการดำเนินคดีกับผู้จัดพิมพ์ที่นำหนังสือเล่มนี้มาพิมพ์ใหม่ในฉบับที่ไม่มีการดัดแปลงแก้ไขโดยอ้างว่าเป็นการยุยงให้เกิดความเกลียดชังทางเชื้อชาติ

สถาบันประวัติศาสตร์ร่วมสมัยของมิวนิกมีแผนการตีพิมพ์ 'การต่อสู้ของข้าพเจ้า' ในฉบับที่มีหมายเหตุและการวิจารณ์ประกอบภายในเดือน ม.ค. 2559 ซึ่งมีการเพิ่มเติมหมายเหตุอธิบายบริบททางประวัติศาสตร์ไว้ในเล่มจำนวนมาก

สมาคมครูระบุว่าควรมีการนำหนังสือฉบับตีพิมพ์ใหม่นี้ไปสอนให้กับนักเรียนอายุ 16 ปีขึ้นไป โดยถึงแม้ว่าเนื้อหาดั้งเดิมในหนังสือจะทำให้นักเรียนได้เห็นเนื้อหาแบบโฆษณาชวนเชื่อ แต่ประธานสมาคมครูเยอรมนี โจเซฟ เคราส์ ก็เปิดเผยว่าควรมีการบรรจุแม้กระทั่งเนื้อหาที่เป็นใบปลิวโฆษณาชวนเชื่อไว้ในหลักสูตรการเรียนการสอนด้วยและควรให้ครูที่มีความชำนาญด้านการเมืองและประวัติศาสตร์สอนในเรื่องนี้เพื่อเป็นการสร้างภูมิคุ้มกันให้กับเยาวชนไม่ให้ไปสู่แนวทางหัวรุนแรงทางการเมือง

แต่ ชาร์ล็อต คโนบล็อค ผู้นำชุมชนชาวยิวที่มีชื่อเสียงในเยอรมนีก็ต่อต้านความคิดนี้โดยบอกว่าการปล่อยให้มีข้อความใส่ร้ายต่อต้านชาวยิวในเครื่องมือการสอนถือเป็นเรื่องขาดความรับผิดชอบ

ทางด้าน เอิร์นส์ ดีเตอร์ รอสส์มานน์ โฆษกด้านนโยบายการศึกษาจากพรรคการเมืองฝ่ายซ้ายกลางพรรคสังคมนิยมประชาธิปไตยกล่าวสนับสนุนความคิดของสมาคมครูว่า ถึงแม้หนังสือ 'การต่อสู้ของข้าพเจ้า' จะเป็นหนังสือที่เลวร้ายแต่ก็ควรจะมีการเปิดโปงโฉมหน้าของประวัติศาสตร์ให้เห็นว่าในยุคสมัยนั้นมีการโฆษณาชวนเชื่อเหยียดเชื้อชาติ ลดทอนความเป็นคนอย่างไร และควรให้ครูอธิบายเพิ่มเติมอย่างเหมาะสมให้เห็นถึงกระบวนการโฆษณาชวนเชื่อดังกล่าวนี้

รอสส์มานน์กล่าวอีกว่าในช่วงเวลาที่แนวคิดกลุ่มฝ่ายขวากำลังได้รับความนิยมมากขึ้นอย่างตอนนี้ควรมีการสอนให้เห็นถึงคุณค่าความเป็นมนุษย์และหลักการประชาธิปไตย โดยการให้มีการวิเคราะห์วิจารณ์หนังสือที่เขียนโดยอดีตจอมเผด็จการผู้ไม่เห็นคุณค่าความเป็นมนุษย์ การทำเช่นนี้จะยิ่งเพิ่มความเข้มแข็งให้กับโลกที่เปิดกว้างและเสรี ช่วยคุ้มกันทางจิตใจไม่ให้ผู้คนหลงเข้าสู่หนทางอันตราย

 

เรียบเรียงจาก

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท