Skip to main content
sharethis

รองอธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิฯ ชี้ข้อเสนอยกเลิกโทษประหารชีวิต อยู่ระหว่างการศึกษาหาความเหมาะสม ขณะที่ข้อเสนอเกี่ยวกับ ม.112 ต้องมองบริบทของประเทศ ซึ่งขณะนี้ยังไม่สามารถยอมรับข้อเสนอแนะได้

22 ธ.ค. 2558 ที่โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชั่น กรุงเทพฯ นายชาญเชาวน์ ไชยานุกิจ รองปลัดกระทรวงยุติธรรม รักษาราชการแทนปลัดกระทรวงยุติธรรม เป็นประธานเปิดการประชุมเกี่ยวกับการรายงานสถานการณ์สิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศตามกลไก Universal Periodic Review (UPR) โดยมีนางจันทร์ชม จินตยานนท์ รองอธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ ให้การต้อนรับ เพื่อเตรียมการของภาครัฐและภาคประชาสังคมเกี่ยวกับการรายงานประเทศในสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในประเทศไทย พร้อมแบ่งกลุ่มทบทวนสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในประเด็นสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง สิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม รวมถึงสิทธิของกลุ่มผู้ด้อยโอกาสด้วย 

นายชาญเชาวน์ กล่าวด้วยว่า ภาพรวมสถานการณ์สิทธิมนุษยชนของไทย ปัจจุบันมีการพูดถึงและยอมรับเรื่องนี้มากขึ้น รวมถึงมองเห็นปัญหา หากมองในเชิงพัฒนาการของช่วงระยะเวลา 5 ปีที่ผ่านมา ถือว่ามีสถานการณ์ที่ดีขึ้น ในความหมายของเรื่องสิทธิมนุษยชนในบ้านเราไม่เป็นเพียงแต่เชิงหลักการ แต่เป็นสิ่งที่สัมผัสได้ และมีการพูดคุยกันมากขึ้น 

ด้านนางจันทร์ชม รองอธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กล่าวว่า การทำรายงานสถานการณ์สิทธิมนุษยชนของประเทศไทยตาม UPR ถือเป็นการที่ให้แต่ละประเทศที่เป็นสมาชิกสหประชาชาติได้ทบทวนสถานการณ์ดังกล่าวของประเทศตัวเองเพื่อให้มีมาตรฐานเดียวกัน ซึ่งรายงานดังกล่าวจะเป็นการมองภาพรวมด้านสิทธิมนุษยชนทั้งหมด ไม่ได้มีการแยกเฉพาะเรื่องตามสนธิสัญญาที่เป็นภาคีเท่านั้น เมื่อนำเสนอรายงานแล้วจะเปิดโอกาสประเทศสมาชิกอื่นให้ข้อสังเกตที่ควรนำไปปรับปรุงแก้ไข ซึ่งจากการรายงานสถานการณ์สิทธิมนุษยชนครั้งก่อนประเทศไทยได้ข้อเสนอแนะจากประเทศอื่น 172 ข้อ แต่ประเทศไทยยอมรับข้อเสนอมาเพียง 134 ข้อ เพราะต้องคำนึงบริบทของประเทศด้วย 
 
"ข้อเสนอที่รับมาต้องสอดคล้องกับหลักกฎหมายและแนวทางปฏิบัติ หากไม่สอดคล้องก็ไม่สามารถรับมาดำเนินการได้ เช่น ข้อเสนอเรื่องการยกเลิกโทษประหารชีวิต แม้ประเทศไทยจะยังไม่ยอมรับแต่ก็ไม่ได้เพิกเฉย เพียงแต่อยู่ระหว่างการศึกษาหาความเหมาะสม หรือข้อเสนอให้เกี่ยวกับกฎหมายหมิ่นสถาบัน มาตรา 112 หรือกฎหมายความมั่นคง หากมองบริบทของประเทศขณะนี้ยังไม่สามารถยอมรับข้อเสนอแนะได้" นางจันทร์ชม กล่าว 
 
ส่วนข้อเสนอจากภาคประชาชนและภาคประชาสังคมเรื่องการถูกห้ามไม่ให้มีการแสดงออกหรืองดแสดงความคิดเห็นทางการเมืองนั้น ในรายงานที่จะเสนอต่อคณะมนตรีสิทธิมนุยชนแห่งสหประชาชาติจะต้องมีการระบุไว้ว่าเป็นข้อท้าทายทายที่ต้องมีการปรับปรุงแก้ไข โดยจะมีการชี้แจงด้วยว่าเหตุใดประเทศไทยยังจำเป็นต้องใช้กฎหมายความมั่นคงเพื่อแก้ไขปัญหาของประเทศ
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net