‘ปรากฏ-การหาย’ ทบทวน-จับตาคดีทนายสมชาย ก่อนศาลฎีกาพิพากษา 29 ธ.ค.

1

ภาพจาก https://www.facebook.com/events/1660608917545118/

19 ธ.ค.2558 สถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดลร่วมกับมูลนิธิยุติธรรมเพื่อสันติภาพ จัดกิจกรรม ‘ปรากฏ- การหาย’ ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อทบทวนคำพิพากษาและเรื่องราวระหว่างบรรทัดในช่วงการพิจารณาคดีทนายสมชาย นีละไพจิตร ซึ่งเป็นคดีแรกของการบังคับสูญหาย โดยในวันที่ 29 ธ.ค.นี้ศาลฎีกามีกำหนดอ่านคำพิพากษาคดีนี้ซึ่งเจ้าหน้าที่ตำรวจ 5 นายตกเป็นจำเลยในความผิดร่วมกันปล้นทรัพย์และความผิดต่อเสรีภาพ

กิจกรรมหลักในงานนี้แบ่งเป็นการอ่านบทละครสั้น ‘ปรากฏ-การหาย’ และเสวนา ‘บันทึกนอกบรรทัด : นับถอยหลัง10 วันก่อนนัดฟังคำพิพากษา ศาลฎีกาคดีทนายสมชาย นีละไพจิตร’

งานศุกร์ รัตนเสถียร เริ่มต้นด้วยคำถามว่า ‘เรามาถึงจุดนี้ได้อย่างไร? เมื่อมองถึงสิ่งที่ไม่เป็นธรรมในช่วงที่ผ่านมา ทุกครั้งที่ฟังเรื่องนี้จะเห็นความกลัว ความกล้าและความหวังที่เหมือนจะใหม่ แต่ก็นำเรากลับไปสู่อดีต ทำให้นึกถึงครอบครัวทนายสมชายว่าจะอยู่อย่างไรในช่วง 11 ปีที่ผ่านมา แม้ทุกครั้งที่เราฟังมักจะเห็นแง่มุมต่างๆ ทำให้รู้จักครอบครัวนีละไพจิตรมากขึ้นซึ่งสร้างความสะเทือนใจไปพร้อมๆ กับความหวัง แต่ครั้งนี้จะเป็นครั้งแรกที่จะนำเรื่องเล่าของแต่ละคนมาเล่ามาประกอบร่วมกัน ปรากฏ-การหาย สะท้อนว่าไม่ใช่แค่การหาย แต่มีการปรากฏขึ้นมาด้วย

การอ่านบทละครสั้น ‘ปรากฏ-การหาย’

ในช่วงกิจกรรมอ่านบทละครสั้น ‘ปรากฏ-การหาย’ นำเสนอโดยเล่าผ่านนักแสดง 3 คน - ภรรยาของทนายสมชายและพยานอีก 2 คน - ถึงจุดเริ่มต้นตั้งแต่วันที่ทนายสมชายถูกอุ้มหายไป การต่อสู้ของครอบครัวนีละไพจิตรและเพื่อนๆ รวมทั้งความกล้าหาญของพยาน นอกจากสะท้อนถึงการหายไปแล้วก็ยังสะท้อนมุมมองที่ ‘ปรากฏ’ ของความหวังใหม่ๆ ขึ้นมาอีกด้วย

ทนายสมชาย นีละไพจิตร เป็นทนายความสิทธิมนุษยชนที่ให้ความช่วยเหลือคนในจังหวัดชายแดนใต้มากว่า 20 ปี จากข้อมูลที่เปิดเผยในศาล สมชายถูกลักพาตัวโดยเจ้าหน้าที่ตำรวจจากกองบังคับการปราบปรามกลุ่มหนึ่ง เนื่องจากเขาได้รายงานและร้องเรียนเรื่องการซ้อมทรมานผู้ต้องหาคดีชายแดนใต้โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เดือนเมษายน 2547 เจ้าหน้าที่ตำรวจ 5 นายถูกจับกุมฐานเกี่ยวข้องกับการหายตัวไปของทนายสมชาย ส่งผลให้ศาลชั้นต้นพิพากษาให้เจ้าหน้าที่ตำรวจ 1ใน 5 คน ต้องโทษจำคุกเป็นเวลา 3 ปี เพราะมีพยานจำหน้าได้ว่าเป็นคนผลักทนายสมชายขึ้นรถ ต่อมาศาลอุทธรณ์ยกฟ้องจำเลยซึ่งเป็นตำรวจทั้งสิ้น 5 คน เหตุเพราะกฎหมายไทยไม่มีฐานความผิดกรณีการบังคับบุคคลให้สูญหาย จึงไม่มีการตั้งข้อหาดังกล่าว คงตั้งข้อหาเพียงปล้นทรัพย์ ใช้กำลังข่มขืนใจหรือใช้กำลังประทุษร้าย และกักขังหน่วงเหนี่ยว ในขณะที่คดีอุ้มหายของสมชายแม้กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) จะรับเป็นคดีพิเศษแต่ก็ไม่มีความคืบหน้า รวมทั้งพยานที่มีก็ถูกคุกคามและข่มขู่ต่างๆ นานาจนทำให้พยานบางคนกลับคำให้การ

คดีนี้ดำเนินมาเป็นเวลากว่า 11 ปี มีข้อมูลว่า ดีเอสไอพยายามที่จะยุติการสืบสวนคดีนี้และคดีคนหายอื่นๆ ด้วยข้อจำกัดในการไม่มีกฎหมายเรื่องการบังคับสูญหายในไทย ทำให้ไม่สามารถตั้งข้อหาต่อผู้กระทำผิดได้ แต่ด้วยการต่อสู้ของครอบครัวทนายสมชาย ทำให้วันที่ 9 มกราคม 2555 ประเทศไทยจึงได้ลงนามในอนุสัญญาว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการสูญหายและได้มีเจตจำนงในการให้สัตยาบันอนุสัญญาฉบับนี้ ทำให้ไทยมีภาระผูกพันในการปรับปรุงกฎหมายเพื่อให้การบังคับสูญหายเป็นความผิดอาญาและเป็นอาชญากรรมต่อเนื่อง และมีมาตรการที่จำเป็นในการให้เหยื่อสามารถเข้าถึงสิทธิในการรับทราบความจริงและเข้าถึงความยุติธรรมได้

งามศุกร์ รัตนเสถียร

“จากคนที่มีชีวิตอยู่อย่างปกติ แต่ถูกทำให้หายตัวไป มันมีเรื่องเล่าที่ซ้อนอยู่อีกมาก เรื่องคนหาย ไม่ใช่แค่คนหนึ่งคนหายไป แต่เสียงพวกเราในบางครั้งก็อาจจะหายไปด้วย” งามศุกร์กล่าว

กรณีของครอบครัวนีละไพจิตร เป็นตัวอย่างของการต่อสู้เพื่อคืนความเป็นธรรมให้กับครอบครัวคดีอุ้มหายทั้งในปัจจุบันและในอนาคต รวมถึงกรณีการหายไปของ ‘บิลลี่’ ด้วย

บิลลี่ หรือนายพอละจี รักจงเจริญ แกนนำชาวบ้านกะเหรี่ยงบ้านบางกลอยและสมาชิก อบต.ห้วยแม่เพรียง อ.แก่งกระจาน เป็นพยานคนสำคัญในคดีที่ชาวบ้านโป่งลึก-บางกลอย ยื่นฟ้องกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืชในข้อหารื้อทำลาย เผาบ้านเรือนและทรัพย์สินของชาวกระเหรื่ยงกว่า 20 ครอบครัว บ้านพักและยุ้งฉางถูกเผาไปกว่า 100 หลัง ต่อมาวันที่ 17 เมษายน 2557 บิลลี่หายตัวไปขณะเดินทางจากหมู่บ้านไปยังอำเภอแก่งกระจาน

“การบังคับสูญหายเป็นโศกนาฏกรรมและบาดแผลทางจิตใจอันแสนสาหัสสำหรับครอบครัวและมิตรสหายที่อยู่เบื้องหลัง ความกลัวและอดไม่ได้ที่จะมีความหวังอยู่บ้างที่จะได้พบคนที่ตนรัก มีแต่ความอาลัย คิดถึง บางทีรู้ทั้งรู้ แต่ก็หาหลักฐานที่ชัดเจนพอที่จะเอาผิดต่อผู้ก่อกรรมไม่ได้ รู้สึกอึดอัดขัดข้องกับความไร้ประสิทธิผลของกระบวนการยุติธรรม” ข้อความส่วนหนึ่งในบทความพิเศษ ‘เมื่อคนอันเป็นที่รักถูกบังคับให้สูญหาย’ โดย โคทม อารียา

วงเสวนา”บันทึกนอกบรรทัด : นับถอยหลัง10 วันก่อนนัดฟังคำพิพากษา ศาลฎีกาคดีทนายสมชาย นีละไพจิตร”

ในวงเสวนา ‘บันทึกนอกบรรทัด : นับถอยหลัง10 วันก่อนนัดฟังคำพิพากษา ศาลฎีกาคดีทนายสมชาย นีละไพจิตร’ มีวัตถุประสงค์ 2 ข้อในการจัดเสวนาคือ (1)เพื่อให้ทุกคนจับตามองคดีของทนายสมชายที่กำลังจะถึงที่สุดในวันที่ 29 ธ.ค.นี้ (2)เพื่อให้เป็นบทเรียนของสังคมเกี่ยวกับกระบวนการยุติธรรมในคดีนี้

วงเสวนามีผู้ร่วมเสวนา ได้แก่ Sam Zafiri ผู้อำนวยการ International Commission of Jurists ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก(ซีไอเจ) ,นรีลักษณ์ แพไชยภูมิ ผู้แทนจากกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม, เบญจรัตน์ แซ่ฉั่ว อาจารย์จากสถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา ม.มหิดลและยิ่งชีพ อัชฌานนท์ โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน(iLaw)

Sam Zarifiผู้อำนวยการภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก,ซีไอเจ

Sam Zarifi กล่าวว่า คดีนี้เป็นคดีหนึ่งที่มีความก้าวหน้าที่สุด จากความพยายามผลักดันอย่างต่อเนื่องของครอบครัว และยังทำให้เกิดการพิจารณากฎหมายใหม่ๆ เป็นครั้งแรกของประเทศไทย การพิจารณาคดีที่ศาลฎีกาจะดำเนินการในอาทิตย์หน้าจึงมีความสำคัญและน่าจับตาอย่างมาก เพราะเป็นการแสดงบทบาทท่าทีและความคืบหน้าของกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการอุ้มหาย สิ่งที่น่ากลัวในคดีนี้คือการที่ญาติและเพื่อนๆ ของเหยื่อ ไม่ได้รับรู้รายละเอียดอะไรเลยและไม่สามารถเป็นโจทก์ร่วมฟ้องได้ การตัดสินในศาลชั้นต้นก็พบว่า ความผิดที่เกิดขึ้นไม่ได้เกี่ยวข้องโดยตรงกับการอุ้มหาย แต่เป็นเรื่องของการลักทรัพย์ ซึ่งส่งผลให้ครอบครัวไม่สามารถทำธุรกรรมใดๆ ที่เกี่ยวข้องกับทรัพย์สินของสมชายได้เพราะไม่มีหลักฐานในการแสดงการมอบอำนาจ ไม่มีหลักฐานว่าเขาเป็นบุคคลอุ้มหาย อย่างในกรณีล่าสุดดีเอสไอแจ้งว่าแฟ้มคดีหาย ซึ่งจากการกดดันของนานาชาติที่มีต่อคดี จึงทำให้แฟ้มคดีนั้นกลับมาอย่างรวดเร็ว แต่ไม่รู้ว่าข้ออ้างลักษณะนี้จะถูกนำกลับมาใช้อีกเมื่อไร

Sam ยังกล่าวต่ออีกว่า ครั้งนี้ไม่ใช่จุดสิ้นสุดหรือจุดสุดท้าย แม้ว่าจะเป็นขั้นตอนของศาลฎีกา แต่มันคือการเริ่มต้นต่อสู้อีกครั้งหนึ่งเพื่อเป็นมาตรฐานของกระบวนการยุติธรรมที่เกี่ยวข้องกับคดีนี้และเพื่อทุกคนในอนาคต

เบญจรัตน์ แซ่ฉั่ว อาจารย์จากสถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา ม.มหิดล กล่าวว่า เรื่องอุ้มหายเป็นเรื่องที่อาจจะเกิดขึ้นกับทุกคนได้ โดยเฉพาะสถานการณ์การเมืองแบบปัจจุบันที่ปืนและอำนาจกฎหมายพิเศษของฝ่ายรัฐถูกนำมาใช้ปราบปรามคนที่ตั้งคำถามกับอำนาจรัฐอย่างเข้มข้นและโดยพลการ เรามักจะคุ้ยเคยกับการอุ้มหายเมื่อกรณีนั้นๆ เป็นกรณีสาธารณะ อย่างเช่นคดีของทนายสมชาย แต่ก็ยังมีกรณีคนหายอื่นๆ อีก เช่น จากการชุมนุมซึ่งยังไม่รู้ชะตากรรม ปัญหาที่เกิดขึ้นคือไม่มีการแสวงหาความจริงอย่างเต็มที่และเอาตัวผู้กระทำผิดเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม เราปล่อยให้มีภาวะที่รัฐใช้อำนาจพรากชีวิตประชาชนไปตามอำเภอใจ ซึ่งนั่นเป็นสิ่งที่ผิด

“แค่กดไลค์ กดแชร์ ทำอะไรที่ท้าทายอำนาจรัฐ คุณก็อาจจะถูกอุ้มหายไปได้ เรามาถึงจุดที่ยอมให้ทหารเดินไปบนท้องถนนและเคาะประตูบ้านคนที่เคลื่อนไหวทางการเมืองได้อย่างไร” เบญจรัตน์กล่าว

นรีลักษณ์ แพไชยภูมิ ผู้แทนจากกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรมกล่าวถึงอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการหายสาบสูญโดยถูกบังคับ ซึ่งประเทศไทยได้ลงนามแล้วและกำลังดำเนินเรื่องในการเสนอเข้าเป็นภาคีให้สมบูรณ์ เพื่อเป็นหลักประกัน และมีบทกำหนดโทษในคดีอุ้มหายอีกด้วย จุดมุ่งหมายจากการเข้าร่วมเป็นภาคีมีดังนี้ (1) ทำให้เกิดการปฏิบัติของบุคคลกรภายในประเทศ  (2) ส่งเสริมให้มีการปฏิบัติและความเข้าใจต่ออนุสัญญาโดยเน้นไปที่เจ้าหน้าที่รัฐรวมทั้งภาคส่วนอื่นๆ (3) เผยแพร่อนุสัญญาอย่างกว้างขวาง ทำเป็นสื่อประชาสัมพันธ์ต่างๆ (4) หลังจากการเข้าร่วม ให้มีการติดตามและรายงานผลไปยังสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ทุกระยะ เพื่อรายงานพัฒนาการและปัญหาอุปสรรคที่พบ ซึ่งเธอคิดว่านี่จะเป็นกลไลที่ช่วยให้รัฐทำงานอย่างระมัดระวังมากขึ้น

นรีลักษณ์กล่าวถึงผลลัพธ์ของการเข้าร่วมเป็นภาคีว่าถ้าหากลงนามในอนุสัญญาไปแล้วก็เหมือนเป็นการหมั้น และเมื่อเข้าเป็นภาคีก็จะเปรียบเสมือนการแต่งงาน ซึ่งมีแผนเสนอการเข้าร่วมเป็นภาคีพร้อมกับกฎหมายภายในเดือนมกราคม 2559 การไม่ทำตามสัตยาบันไม่ได้มีผลให้สามารถทำให้ถูกดำเนินคดี เพราะไม่ใช่กฎหมายอาญา แต่สิ่งแรกจะเกิดปรากฏการณ์ ‘Naming Shaming’ เสี่ยงที่จะโดนประณามหยามเหยียด

ยิ่งชีพ อัชฌานนท์ iLaw

ยิ่งชีพ อัชฌานนท์ กล่าวว่า สิ่งหนึ่งเราทำได้ก็คือ เข้าร่วมสังเกตการณ์คดี เป็นการไปปรากฏตัวในศาลเพื่อดูการพิจารณาคดี เพื่อให้ทุกคนในศาลตระหนักว่ามีคนกำลังจับจ้องเขาอยู่และดำเนินการไปตามที่หลักการกำหนดไว้โดยไม่มีการลัดขั้นตอน ตัวพยานเองก็จะรู้สึกว่ามีคนดูอยู่ อย่างเช่นคดีของจีรนุช เปรมชัยพร ผอ.ประชาไทก็เป็นคดีใหญ่ที่มีคนสนใจเยอะจากทั้งในประเทศและต่างประเทศ เรื่องต่อมาคือ เป็นการสังเกตการณ์คดีเพื่อนำมาเล่าต่อ เปิดรับสิ่งที่เกิดขึ้น การเข้าไปสังเกตการณ์ช่วยทำให้เกิดความรู้สึกร่วมจริงๆ และสามารถนำมาถ่ายถอดให้กับคนอื่นๆ ได้อย่างเข้าใจมากขึ้น 

อังคณา นีละไพจิตร

อังคณา นีละไพจิตร ภรรยาของทนายสมชาย กล่าวถึงความคาดหวังต่อการให้สัตยาบันว่า อย่างน้อยที่สุดการลงสัตยาบันก็ช่วยทำให้เหยื่อและภาคประชาสังคมสามารถตรวจสอบการทำงานของรัฐในเรื่องการบังคับใช้กฎหมายได้ ประเทศไทยในฐานะรัฐภาคีก็จะต้องส่งรายงานเรื่องการบังคับสูญหายไปยังยูเอ็น  ซึ่งขณะนี้มีการนำเรื่องเข้าพิจารณาเข้า ครม.ตั้งแต่เมษายน 2558 เมื่อลงสัตยาบันแล้วในกรณีที่กฎหมายนั้นๆ เป็นคุณหรือเป็นประโยชน์จะสามารถมีข้อบังคับใช้ย้อนหลังได้ และที่สำคัญคือการบังคับสูญหายจะไม่มีอายุความ อายุความจะมีเมื่อเราทราบที่อยู่และชะตากรรมของผู้สูญหาย เช่นพบชิ้นส่วนที่พิสูจน์ได้ว่าเขาเสียชีวิตแล้ว

อังคณาให้ข้อมูลอ้างถึงวันที่ 11 ตุลาคม 2554 ที่ไทยได้เสนอรายงานการตรวจสอบสถานการณ์สิทธิมนุษยชนที่สหประชาชาติ ตอนนั้นหัวหน้าคณะผู้แทนไทยได้ประกาศตอนสิ้นสุดการทบทวนสถานการณ์สิทธิฯ ว่าประเทศไทยจะลงนามในอนุสัญญาว่าด้วยการบังคับสูญหาย และ 9 มกราคม 2555 ประเทศไทยก็ได้ลงนาม เธอจึงหวังว่าวันที่ 11 พฤษภาคม 2559 ซึ่งเป็นวันที่ประเทศไทยจะต้องเข้าสู่กระบวนการทบทวนสถานการณ์สิทธิฯ รอบที่สอง หัวหน้าคณะผู้แทนไทยจะสามารถประกาศได้อย่างสง่าผ่าเผยว่า ประเทศไทยจะให้สัตยาบันอนุสัญญาว่าด้วยการบังคับสูญหาย

อังคณาแลกเปลี่ยนต่อว่า กฎหมายในการบังคับสูญหายมีประโยชน์มากที่สุดในเรื่องสิทธิของเหยื่อในการรับทราบความจริง และไม่ใช่ของเหยื่ออย่างเดียว ในอนุสัญญายังพูดถึงชุมชนและสังคมที่เขาอยู่ด้วย จริงอยู่แม้การรับทราบความจริงบางครั้งเป็นเรื่องสะเทือนใจ แต่ก็มีความจำเป็นที่จะต้องเปิดเผย

“เราเริ่มจากความเป็นครอบครัว จากความเป็นโศกนาฏกรรมส่วนตัว แต่วันนี้มันข้ามเรื่องความเป็นส่วนตัว สู่การสร้างความตระหนักของสังคม การหายไปของสมชายหรือคนหายใดๆ มันไม่ได้เป็นเรื่องส่วนตัว ยังมีอีกหลายๆ เผชิญชะตากรรมเดียวกันและหลายคนที่ยังต้องเจอความยากลำบากที่มากกว่าครอบครัวคนหายด้วยซ้ำไป” อังคณากล่าว

“พยานที่เป็นลูกความของทนายสมชาย 5 คน คนหนึ่งถูกอุ้มหายไปขณะอยู่ในการคุ้มครองพยาน หลังจากนั้นปีหนึ่งภรรยาของเขาอายุ 25 ถูกยิงตาย ทิ้งลูกเล็กๆ 2 คนให้อยู่กับยายอายุ 80 พยานอีก 2 คนตอนนี้ไม่ใครรู้ชะตากรรมเพราะกลัวกับการที่จะต้องอยู่ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งยังคงมีเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องปฏิบัติหน้าที่อยู่ อีกคนอยู่ในเรือนจำและคนสุดท้ายดูแลแม่ชราอยู่ที่บ้าน ดังนั้นคนหายไปคนหนึ่งและการหาความยุติธรรมให้คนๆ หนึ่ง ทำให้เกิดความสะเทือนใจและโศกนาฏกรรมกับคนอีกมากมาย เราไม่รู้เลยว่าเราจะคุ้มครองคนที่เข้ามาช่วยเหลือให้ได้รับความเป็นธรรมได้อย่างไร” อังคณาแลกเปลี่ยน

อังคณากล่าวว่าสัปดาห์นี้เป็นสัปดาห์ของการบังคับสูญหาย โดยเริ่มกิจกรรมตั้งแต่วันที่ 14,15,17 และ 19 ธันวาคม ในวันที่14 มีจัดการแถลงข่าวและพูดคุยกันในเรื่องครบรอบ 3 ปีที่สมบัด สมพอน หายไปและมีเจ้าหน้าที่หน่วยงานความมั่นคงเข้าร่วมเป็นจำนวนมาก คนแน่นตั้งแต่ชั้นล่างถึงชั้นบน ในวันที่ 17 พูดเรื่องอาเซียน เรื่องสิทธิมนุษยชนและเรื่องคนหาย ก็มีเจ้าหน้าที่หน่วยงานความมั่นคงมาเช่นกัน วันที่19 พูดเรื่องประเทศไทย เจ้าหน้าที่รัฐไทย สิทธิมนุษยชนของไทย กลับกลายเป็นว่าไม่มีเจ้าหน้าที่ที่มานั่งฟังและโดยส่วนตัว เธอรู้สึกเสียดายเป็นอย่างมาก

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท