Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis


มีความคิดความเชื่อเกี่ยวกับเรื่องเพศอย่างน้อย 5 รายการที่ทำให้คุณไปไม่ถูกเมื่อมาเจอกับ  “ความหลากหลายทางเพศ”   5  ความเชื่อนั้นมีอะไรบ้าง  เราไปศึกษากัน


1. Binary Sex  โลกนี้มีเพียงสองขั้วระหว่างชายกับหญิง

เป็นความเชื่อที่ว่าโลกนี้มีคู่ตรงข้ามระหว่างชายกับหญิงเท่านั้น  ภาษาอังกฤษเรียกว่า  Binary Sex  ภาษาไทยเรียกว่าการมองโลกแบบ  "ทวิภาวะ"   หรืออีกชื่อหนึ่งคือ  Dualism  คือการมองโลกแบบมีคู่ตรงข้ามกันเสมอ  เช่น  มีขาวกับดำ  ซ้ายกับขวา  มืดกับสว่าง

การมองโลกลักษณะนี้จะคล้าย ๆ กับตอนที่  "เจ้าชายสิทธัตถะ"  มองเห็นก่อนจะบรรลุธรรม  เจ้าชายสิทธัตถะมองเห็นทุกข์  แล้วตั้งคำถามแบบ  "ทวิภาวะ"  ว่าโลกนี้มีมืดก็ต้องมีสว่าง  มีกลางวันก็ต้องมีกลางคืน  มีทุกข์ก็ต้องมีทางออกจากทุกข์  โดยที่การมองโลกแบบขั้วตรงข้ามทำให้มองไม่เห็นตรงกลางว่ามีพื้นที่สีเทา ๆ ปนอยู่ หรือมองไม่เห็นว่าระหว่างมืดกับสว่างก็มีความโพล้เพล้แทรกตัวอยู่

แต่หลังจากที่เจ้าชายสิทธัตถะใช้เวลา  6  ปีค้นหาสัจธรรมจนตรัสรู้ธรรมเป็นพระพุทธเจ้าท่านก็ไม่เห็นคู่ตรงข้ามนั้นอีกเลย  เพราะการตรัสรู้ได้ทำลายความเป็นคู่ตรงข้ามให้หมดไปทำให้เห็น  “ทางสายกลาง”  ขึ้นมาแทน  เมื่อความทุกข์สิ้นสูญไปก็ไม่จำเป็นต้องมีทางออกไปสู่การพ้นทุกข์  ไม่มีทุกข์ก็ไม่มีทางออกไปสู่ความพ้นทุกข์  ไม่มีคู่ตรงข้ามให้ต้องคำนึงถึง  นั่นคือท่านได้พบกับ  “ความว่าง”  ในที่สุด
         
ที่มาของคำถามและความไม่เข้าใจว่าทำไมคนจึงรักเพศเดียวกัน  ทำไมคนบางคนจึงรักได้ทั้งหญิงและชาย  ก็เพราะเรามีความคุ้นชินอยู่กับ  "ทวิภาวะ"  ที่อยู่ในหัวเรามาตลอดว่าชายต้องคู่กับหญิง  หญิงต้องคู่กับชาย  สังคมก็สอนเรามาแค่นั้น  ทำให้เรามองไม่เห็นภาพความจริงอื่น ๆ 

การมองเห็นแบบ  "ทวิภาวะ"  ไม่ใช่เรื่องผิดเพียงแต่  “ทวิภาวะ”  ทำให้เรามองเห็นโลกได้ไม่ตรงกับความเป็นจริง  หากวันใดเราสามารถมองพ้นไปจาก  “ทวิภาวะ”  ได้ วันนั้นเราจะเห็นรูปแบบอื่น ๆ ของความรักได้ชัดเจนยิ่งขึ้น  เราจะเห็นว่าใครจะรักกับใครก็ไม่ใช่เรื่องผิด  มันเป็นเรื่องของคนสองคนรักกันแค่นั้นเอง


2. แนวคิดเรื่องครอบครัว Family

แนวคิดเรื่องครอบครัวมีฐานความเชื่อที่ว่าครอบครัวที่สมบูรณ์ต้องมีชายกับหญิงเป็นสามีภริยากัน  แล้วให้กำเนิดบุตรออกมากลายเป็น  พ่อ + แม่ + ลูก  แล้วสร้างบทบาทพ่อ + แม่ + ลูกขึ้นมา  โดยที่แนวคิดนี้ไม่ได้คำนึงว่าถ้าพ่อแม่เป็นหมันไม่มีลูกจะถือเป็นครอบครัวที่สมบูรณ์ได้หรือไม่

การตั้งหลักไว้ว่าครอบครัวต้องมี  พ่อ + แม่ + ลูก  ทำให้เราไม่อาจมองเห็นความเป็นครอบครัวในมิติอื่น ๆ เช่น แม่กับลูกอยู่กันสองคนก็เป็นครอบครัวได้  พ่อกับลูกอยู่กันสองคนก็เป็นครอบครัวได้  ยายกับหลานอยู่กันสองคนก็เป็นครอบครัวได้  ลุงกับหลานอยู่กันสองคนก็เป็นครอบครัวได้  หรือหากพ่อแม่เสียชีวิตหมดเหลือเพียงพี่กับน้องก็เป็นครอบครัวได้  จะเห็นได้ว่าความสัมพันธ์ดังกล่าวที่ยกตัวอย่างมาทั้งหมดนั้นไม่มีความสัมพันธ์ทางเพศเข้ามาเกี่ยวข้องเลย 

คำถามก็คือจำเป็นหรือไม่ที่ความเป็นครอบครัวต้องมีเรื่องเพศสัมพันธ์เข้ามาเกี่ยวข้อง ?


ภาพครอบครัวแบบ พ่อ+พ่อ+ลูก จากภาพยนตร์เรื่อง Fathers


ถ้าเราเข้าใจอย่างนี้แล้วแม้คนเพศเดียวกันอยู่ด้วยกันก็สามารถเป็นครอบครัวได้  หรือคนเพศเดียวกันอยากจะมีลูกไม่ว่าจะด้วยวิธีการใด ๆ (อาจจะอุ้มบุญหรือขอมาเลี้ยง) ก็ถือเป็นครอบครัวที่สมบูรณ์ได้เช่นกัน  หรือเพื่อนสองคนใช้ชีวิตอยู่ด้วยกันโดยไม่ได้มีเรื่องเพศเข้ามาเกี่ยวข้องก็ถือว่าเป็นครอบครัวได้เหมือนกัน  สามี-ภริยาที่ตกลงใจไม่มีบุตรก็ถือเป็นครอบครัวที่สมบูรณ์ 

ความสมบูรณ์ของครอบครัวไม่ได้อยู่ที่จำนวนสมาชิกที่ต้องเป็น  พ่อ+แม่+ลูก  หรือความเป็นเพศที่ต้องมีแค่ชายกับหญิง  แต่ความสมบูรณ์อยู่ที่ความสัมพันธ์อันดีระหว่างสมาชิกในครอบครัว  ความเข้าใจระหว่างกัน  รักใคร่กลมเกลียวกัน  มีปัญหาหันหน้าปรึกษากันต่างหาก


3. ผิดธรรมชาติ Natural - Unnatural

มีความเชื่อว่าการแปลงเพศเป็นเรื่องผิดธรรมชาติ  การรักเพศเดียวกันเป็นเรื่องผิดธรรมชาติ  จนเป็นที่มาของสำนวน “ฟ้าผ่า” บ้าง “ขึดบ้านขึดเมือง” บ้าง  บางศาสนาก็อ้างว่าเป็นที่มาของภัยพิบัติทางธรรมชาติ  ธรรมชาติจะลงโทษบ้าง

คำถามที่น่าสนใจก็คือ  อะไรคือสิ่งที่เรียกว่าธรรมชาติ  เรื่องเพศมีสิ่งที่เรียกว่าผิดธรรมชาติได้ด้วยหรือ  บางทีธรรมชาติอาจจะไม่รู้ตัวมันเองด้วยซ้ำว่าอะไรคือถูกต้องตามธรรมชาติอะไรคือผิดธรรมชาติ  แท้จริงแล้วไม่ได้มีสิ่งที่เรียกว่าผิดธรรมชาติ ถ้าจะมีก็คงมีเพียงความหมายเดียวนั่นคือธรรมชาติเป็นสิ่งที่มนุษย์นิยามกันขึ้นมาเอง  มนุษย์สร้างความหมายกันขึ้นมาเองว่าสิ่งนี้ถูกต้องตามธรรมชาติสิ่งนี้ผิดธรรมชาติ  โดยที่ตัวธรรมชาติก็ไม่ได้นิยามตัวมันเองว่าอะไรถูกอะไรผิด  มีแต่มนุษย์ไปนิยามมันขึ้นมาเอง

 (ภาพประกอบโดย  Mario – Kung)

เรื่องของความรักจึงไม่มีสิ่งที่เรียกว่าผิดธรรมชาติ  สิ่งที่ผิดธรรมชาติคือการ  “คลุมถุงชน”  หรือการบังคับจิตใจกันต่างหาก  การที่เราไปบังคับใครให้ชอบให้รักในสิ่งที่เขาหรือเธอไม่ได้ชอบไม่ได้รักนั่นแหละเป็นสิ่งที่ผิดธรรมชาติอย่างใหญ่หลวง  เราไม่ควรไปบังคับใครหรือไปนิยามใครว่าต้องรักเพศนั้นต้องชอบเพศนี้  เราไม่ควรไปบังคับใครว่าต้องเป็นเพศนั้นต้องเป็นเพศนี้  ทุกคนมีอิสระในการเลือกว่าจะเป็นเพศใด  มีอิสระที่จะชอบเพศไหน  มีอิสระที่จะแต่งตัวแสดงออกตามเพศในแบบที่ตนชอบ  และทุกคนมีสิทธิ์ที่จะเปลี่ยนเพศไปสู่เพศที่ตนเองอยากเป็น 

การบังคับควบคุมคนอื่นให้เป็นไปในแบบที่เราต้องการนั่นแหละคือสิ่งที่เรียกว่า  “ผิดธรรมชาติ”


4. ความเชื่อทางศาสนาและระบบศีลธรรมแบบชายหญิง 

    “เป็นบาป เป็นกรรม และห้ามบวช” 
   Religion and Morality on Binary Sex System:
   Sinful Karma and Forbidding to get Ordination

ความเชื่อทางศาสนาก็เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่ทำให้คนยึดติดและแกะออกได้ยาก  บางศาสนาบอกว่ารักเพศเดียวกันเป็นบาปต้องจับเอามาประจานต่อหน้าสาธารณชนและลงโทษด้วยการเอาหินปาให้ตายหรือไม่ก็จับโยนลงมาจากตึก  บางศาสนาก็บอกว่าเป็นกรรมจากชาติที่แล้ว  แต่ถ้าชายรักหญิง  หญิงรักชาย  ไม่ถือว่าเป็นบาปและไม่ถือว่าเป็นกรรม

หลายศาสนาไม่ยอมให้ผู้หญิงและเพศอื่น ๆ เข้าไปเป็นนักบวช  หญิงข้ามเพศและชายข้ามเพศจึงถูกห้ามบวช  การแปลงเพศก็ถูกบอกว่าเป็นบาปเป็นกรรม  ทั้งนี้เพราะคำสอนศาสนามีมุมมองเรื่องเพศแบบ  Binary Sex แยกเพศชายเพศหญิงออกเป็นสองขั้วอย่างชัดเจน  ศาสนามองไม่ออกว่าระหว่างกลางก็มีเพศอื่น ๆ รวมอยู่ด้วยจึงไม่เปิดพื้นที่ให้

คนที่ทำงานประเด็นเรื่องความรุนแรงทราบดีว่านี่เป็นความรุนแรงจากศาสนาที่มีต่อคนที่มีเพศวิถีและเพศสภาพที่แตกต่าง  แท้จริงแล้วคำสอนศาสนาคือสิ่งที่ถูกเขียนขึ้นมาโดยมนุษย์  มนุษย์จะเขียนให้ดีให้ร้ายอย่างไรก็ได้ 

ที่สำคัญก็คือคัมภีร์ศาสนาต่าง ๆ บนโลกนี้ถูกเขียนขึ้นโดยชายที่รักต่างเพศ  ดังนั้น คนที่มีโอกาสเข้าถึงคำสอนและมีโอกาสเข้าไปเป็นนักบวชได้อย่างสะดวกจึงเป็นเพศชาย  ในขณะที่เนื้อหาคำสอน  ระบบศีลธรรม  การครองเรือนถูกเขียนและออกแบบขึ้นมาเพื่อให้ชายกับหญิงได้เป็นสามีภรรยากัน  โดยปราศจากพื้นที่ให้กับเพศเดียวกันได้ครองรักรวมไปถึงคนข้ามเพศ  คำสอนศาสนาจึงกีดกันผู้หญิงและเพศหลากหลายดังที่เห็นและเป็นอยู่โดยบอกว่า ‘ชายรักกับชาย’ เป็นบาป  ‘หญิงรักกับหญิง’ เป็นกรรมซึ่งถือว่าเป็นความรุนแรงอย่างหนึ่ง บางศาสนาก็บอกว่าการรักเพศเดียวกันทำให้เกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติซึ่งเป็นคำกล่าวที่ไม่มีเหตุผล

เราจึงพบว่าผู้หญิง  คนข้ามเพศ  คนรักเพศเดียวกัน  มีโอกาสเข้าถึงคำสอนศาสนาได้ยากกว่าเมื่อเทียบกับเพศชาย และถ้าเป็นเพศชายที่ชอบเพศเดียวกันและเปิดตัวกับสังคมโอกาสที่จะเข้าถึงคำสอนก็จะยากยิ่งขึ้น

บาทหลวงคริสท็อฟ คารัมซา (Krzysztof Charamsa / ซ้ายมือ) หลังจากเปิดตัวว่าเป็นเกย์พร้อมคู่รัก
ก็ถูกสำนักวาติกันไล่ออกจากความเป็นบาทหลวง ตุลาคม 2558

ที่มา : http://www.smh.com.au/world/vatican-sacks-gay-priest-after-he-announces-he-has-a-partner

สำหรับคนทั่วไปเมื่อเข้ามาศึกษาศาสนาอาจจะเชื่อคำสอนอย่างง่ายดายโดยปราศจากการตระหนักรู้ว่าความคิดความเชื่อเช่นนั้นเป็นความรุนแรงอย่างหนึ่งที่มีต่อคนที่แตกต่าง

ดังนั้นการเข้าไปเป็นนักบวชไม่ว่าจะเป็นศาสนาใดก็ตาม  แท้จริงแล้วทุกเพศรวมถึงคนข้ามเพศพวกเขาสามารถเข้าไปเป็นนักบวชในศาสนาได้  การที่เราบอกว่าคนเหล่านี้ปฏิบัติธรรมไม่ได้  เข้าไปเป็นบาทหลวงไม่ได้เข้าไปเป็นพระสงฆ์ไม่ได้  เข้าไปบวชแล้วจะทำให้ศาสนาเสื่อมเสียเป็นเพียงความจริงในระดับหนึ่งเท่านั้น  ความจริงอีกด้านหนึ่งก็คือเพศชายที่เข้าไปเป็นนักบวชต่างก็ทำความเสียหายให้กับศาสนาไม่แพ้กัน 

จึงเป็นเรื่องเสียเวลาที่เราจะมากล่าวโทษกันว่าเพศใดทำความเสียหายมากกว่ากัน  ปัญหาไม่ได้อยู่ที่ความเป็นเพศใดเพศหนึ่งแต่ปัญหาอยู่ที่มุมมองและวิธีการจัดการ   ถ้าเรามองว่าความต้องการทางเพศเป็นสิ่งที่มนุษย์ต้านทานได้ยากไม่ว่าจะเป็นเพศใด  เราก็จะเข้าใจในความเป็นมนุษย์มากขึ้นและจัดการต่อกันด้วยความเมตตา  ใครทำผิดพลาดก็ให้เปลี่ยนสถานะโดยไม่ต้องมีการประณามเพราะวินัยมีทางออกไว้ให้แล้วว่าใครทำผิดก็ให้ลาสิกขา  ไม่ได้หมายความว่าต้องกีดกันมิให้บวชโดยที่ยังมิได้ทำอะไรผิด 

การมีความสัมพันธ์ระหว่างเพศเดียวกันก็ไม่ได้เป็นบาปเป็นกรรม  ที่เป็นบาปเป็นกรรมก็เพราะคนเขียนคัมภีร์เป็นคนรักต่างเพศจึงเขียนคัมภีร์ขึ้นมาเพื่อปิดกั้นความแตกต่าง

ด้วยคำสอนที่มีรากมาจากชายเป็นใหญ่และถูกอิทธิพลของความเชื่อแบบ  Binary Sex  ที่มีอยู่ในคำสอน  จึงทำให้คนจำนวนไม่น้อยยึดติดในคำสอนที่สร้างความรุนแรงให้กับคนที่มีเพศวิถีที่แตกต่าง  ประเด็นเรื่องความเชื่อในศาสนาจึงเป็นหัวข้อที่ท้าทายว่าท่านจะเลือกก้าวข้ามไปสู่การมองเรื่องเพศเพื่อหลุดพ้นหรือจะยังคงยืนอยู่ฝั่งที่สนับสนุนความรุนแรง


5. เชื่อแบบยึดมั่นว่าใครเป็นเพศใดก็ต้องเป็นเพศนั้น Gender Box

เมื่อเร็ว ๆ นี้มีนักร้องที่ทราบกันโดยสาธารณะท่านหนึ่งว่าเป็นเกย์มีบุตรกับสุภาพสตรีและออกมายอมรับกับสื่อโดยไม่บิดเบือน  เรื่องนี้สร้างความสงสัยอย่างมากว่าเกย์มีลูกได้ด้วยหรือ  ทำให้เกิดความเข้าใจใหม่ ๆ เกี่ยวกับเรื่องเพศว่า  “สิ่งที่เราเห็นไม่ได้เป็นอย่างที่เราคิด”  ดังนั้นอย่าจับคนใส่  “กล่องเพศ”

อาร์ต KPN นักร้องเกย์ ออกมาเปิดใจยอมรับว่ามีลูก เหตุเกิดเมื่อปีที่แล้ว (2557) 
ภาพจาก  http://women.kapook.com/view90061.html

คนที่นิยามตนเองว่าเป็นเกย์ไม่ได้หมายความว่าเขาจะมีลูกไม่ได้  คนที่นิยามตนเองว่าเป็นชายข้ามเพศ (Transman)  ก็สามารถอุ้มท้องมีลูกได้อย่างที่เคยเป็นข่าว  ผู้หญิงที่ดูห้าว ๆ แมน ๆ  ก็ตั้งครรภ์มีลูกได้ กะเทยชอบผู้หญิงก็ได้ ไม่ได้แปลว่ากะเทยต้องชอบผู้ชายได้อย่างเดียว  หรือกะเทยที่ชอบได้ทั้งชายและหญิงก็มี


 โทมัส เทรซ บีทตี้ 41 ปี (Thomas Trace Beatie) ชายข้ามเพศชาวฮาวายตั้งท้องเมื่อปี 2550
    ภาพและข้อมูลจาก http://www.oddee.com

การออกมานิยามตัวตนว่าเป็น  LGBTI*  ของคนในสังคมเวลานี้เป็นการประกาศอัตลักษณ์และเพศวิถีให้คนในสังคมเข้าใจในระดับหนึ่งว่าพวกเขามีเพศวิถีแบบไหน  มีอัตลักษณ์ทางเพศแบบใด  โดยที่แต่ละคนก็อาจมีรายละเอียดที่แตกต่างกันไปไม่ได้เหมือนกันหมดทุกคน

เพศจึงตรงกับสิ่งที่พุทธศาสนาเรียกว่า “อนัตตา”  จับต้องให้คงที่ไม่ได้  ไม่เป็นไปตามความคาดหวัง  เพศของมนุษย์จึงเป็นสิ่งที่เราจะจับเอามากำกับควบคุมให้อยู่นิ่ง ๆ ไม่ได้และไม่ได้เป็นไปตามความหมายที่มีอยู่  คำนิยามว่า  ผู้ชาย  ผู้หญิง  เกย์  เลสเบี้ยน  ไบเซ็กช่วล  คนข้ามเพศ  เป็นเพียงการนิยามให้เข้าใจในความเป็นเปลือกนอกเท่านั้นเอง  แท้จริงแล้วความเป็นเพศไม่ได้มีชื่อเรียก  เรามาตั้งชื่อให้เกิดคำจำกัดความในความแตกต่าง  เพศจึงเป็นเรื่องที่เราสมมติกันขึ้นมา

การเข้าไปยึดติดกับคำนิยามมากจนเกินไปว่าเป็นผู้ชายต้องเป็นแบบนั้น  เป็นผู้หญิงต้องเป็นแบบนี้  เป็นเกย์  เป็นหญิงรักหญิง  เป็นกะเทย  เป็นคนข้ามเพศต้องเป็นแบบนั้นต้องเป็นแบบนี้ก็ทำให้เกิดความเข้าใจผิดตามมา  เพราะไม่รู้ตามความเป็นจริงว่า  “สรรพสิ่งทุกอย่างเป็นเพียงสิ่งปรุงแต่งและเป็นเพียงสิ่งสมมติ”

ลองตรวจสอบดูว่าความเชื่อทั้ง 5 นี้ มีความเชื่อใดที่ยังคงมีอิทธิพลต่อมุมมองในเรื่องเพศของท่านบ้าง.

 

หมายเหตุ:

1. อ่านบทความประกอบเพิ่มเติมเรื่อง อย่าจับคนใส่กล่อง 

2. LGBTI ย่อมาจาก

L = Lesbian หมายถึง หญิงรักหญิง
G = Gay หมายถึง เกย์
B = Bisexual หมายถึง คนที่รัก/ชอบได้ทั้งชายและหญิง
T = Transgender หมายถึง คนข้ามเพศ กะเทย ชายข้ามเพศ
I = Intersex คนสองเพศ
 

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net