Skip to main content
sharethis
นายหน้าหลอกชาวบุรีรัมย์ไปทำงานต่างประเทศเบี้ยวไม่มาไกล่เกลี่ยตามนัด
 
(17 ธ.ค.) ญาติและแรงงานชาว อ.ลำปลายมาศ จ.บุรีรัมย์ จำนวน 10 ครอบครัวที่ถูกนายหน้าหลอกไปทำงานประเทศอิสราเอล แต่ไม่ได้เดินทางไปจริงตามที่กล่าวอ้าง และทำให้ต้องสูญเสียเงินคนละ 300,000-400,000 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้นเกือบ 4 ล้านบาท เมื่อปี 2556 ที่ผ่านมา ได้เดินทางไปยังศูนย์ดำรงธรรม อ.ลำปลายมาศ เพื่อทำการเจรจาไกล่เกลี่ยกับนายหน้าที่หลอกจะพาไปทำงานต่างประเทศให้ชดใช้เงินที่หลอกลวงไปคืน แต่เมื่อถึงเวลานัดหมายนายหน้าทั้ง 3 คนซึ่งมีภูมิลำเนาอยู่ในพื้นที่ อ.ลำปลายมาศ กลับไม่ได้เดินทางมาตามที่เจ้าหน้าที่ออกหนังสือนัดหมายคู่กรณีทั้งสองให้มาไกล่เกลี่ยข้อพิพาท
       
การเบี้ยวนัดครั้งนี้ ทางนายหน้าไม่แจ้งเหตุผลให้ทางเจ้าหน้าที่และคู่กรณีทราบ สร้างความไม่พอใจให้แก่แรงงานผู้เสียหายเป็นอย่างมาก เพราะหลังจากถูกหลอกตั้งแต่ปี 2556 ที่ผ่านมาจนถึงขณะนี้เป็นเวลากว่า 2 ปีแล้ว ทำให้ต้องแบกรับภาระหนี้สินทั้งในและนอกระบบที่กู้ยืมมาจ่ายให้กับกลุ่มนายหน้าดังกล่าว เพราะหวังว่าจะได้เดินทางไปทำงานประเทศอิสราเอลจริง ซึ่งระหว่างที่ผู้เสียหายนั่งรอไกล่เกลี่ยก็ได้พยายามโทรศัพท์ติดต่อไปยังกลุ่มนายหน้าดังกล่าว นางชุติกาญจน์ พงศ์สวัสดิ์แก้ว หนึ่งในนายหน้าได้รับสายแต่กลับอ้างว่าไม่ได้รับหนังสือนัดหมายให้มาไกล่เกลี่ยแต่อย่างใด แต่แรงงานไม่เชื่อเพราะที่ผ่านมาก็พยายามหลบเลี่ยงและบ่ายเบี่ยงมาโดยตลอด โดยญาติและแรงงานยืนยันว่าหากไม่มีการมาไกล่เกลี่ยชดใช้เงินคืน ก็จะเดินหน้าร้องเรียนจนถึงที่สุด โดยจะไปยื่นร้องที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เพื่อให้เร่งรัดคดีเอาผิดต่อกลุ่มนายหน้าดังกล่าวด้วย
       
ด้านนายจรณินท์ สว่างสุข พร้อมด้วยนางบันดิด แก้วโพธิ์ และน.ส.ประจักษ์ ชัยชนะ ญาติและแรงงานที่ถูกหลอก บอกว่าไม่พอใจและเสียความรู้สึกเป็นอย่างมากที่เดินทางมารอไกล่เกลี่ยกับกลุ่มนายหน้า แต่คู่กรณีกลับไม่มาตามที่เจ้าหน้าที่ออกหนังสือนัดหมาย ทั้งที่ถูกหลอกสูญเสียเงินไปเป็นเวลานานกว่า 2 ปีแล้ว
       
สำหรับเรื่องคดีนั้นทางจัดหางานจังหวัดเป็นตัวแทนเข้าแจ้งความร้องทุกข์ไว้กับเจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.ลำปลายมาศ ก็ไม่มีความคืบหน้า และเมื่อไปสอบถามก็ได้รับคำตอบว่าให้รอกำลังดำเนินการอยู่เท่านั้น แต่ก็ไม่รู้ว่าถึงขั้นตอนไหนแล้ว ทั้งไม่รู้ว่าจะได้เงินที่ถูกหลอกไปคืนหรือไม่ เพราะทุกคนต่างก็เดือดร้อนต้องแบกรับภาระหนี้สินที่กู้ยืมมาคนละหลายแสนบาท และยังไม่รู้ว่าจะหาเงินที่ไหนไปใช้หนี้ จึงอยากวิงวอนให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้เร่งหาแนวทางช่วยเหลือแรงงานที่ถูกหลอกด้วย แต่หากยังไม่มีความคืบหน้าก็จะพากันไปร้องขอความช่วยเหลือที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติต่อไป 
 
 
รมว.แรงงาน เตรียมประสานเอกชน "เปิด" หลักสูตรดูแลผู้สูงอายุ สร้างงานสร้างอาชีพทั้งในและนอกประเทศ
 
พลเอก ศิริชัย ดิษฐกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า ตามที่นายกรัฐมนตรีได้มีข้อสั่งการให้ศึกษารายละเอียดดำเนินการเกี่ยวกับพัฒนาการประกอบอาชีพสาขาดูแลผู้สูงอายุ เพื่อพิจารณาส่งเสริมให้มีการฝึกอบรม และพัฒนากำลังแรงงานในสาขานี้ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ให้กรมพัฒนาฝีมือแรงงานเร่งดำเนินการและเห็นผลโดยเร็ว โดยประสานกับภาคเอกชนเปิดหลักสูตรฝึกอบรม และให้กรมการจัดหางานสนับสนุนในเรื่องของข้อมูลความต้องการในสาขาอาชีพนี้ทั้งในประเทศและต่างประเทศ รวมถึงสำนักประสานความร่วมมือระหว่างประเทศต้องสนับสนุนข้อมูลเพื่อที่จะนำเอามาวางแผนในการดำเนินการ พร้อมทั้งวางแผนในการดำเนินการให้ครบวงจร
 
 
คสช.เริ่มปฎิบัติการณ์ ตรวจจับผู้ประกอบการใช้แรงงานผิดกฎหมาย
 
พ.อ.วินธัย สุวารี โฆษก คสช. กล่าวว่า ขณะนี้ กองกำลังรักษาความสงบเรียบร้อย (กกล.รส.) ร่วมกับตำรวจและฝ่ายปกครอง ได้เริ่มเปิดปฏิบัติการเข้าตรวจสอบพื้นที่เป้าหมายผู้ประกอบการสินค้าประมง ที่อาจกระทำผิดตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน ทั่วประเทศตั้งแต่เมื่อวานนี้
 
ทั้งนี้หลังจากที่ได้รับข้อมูลเพิ่มเติมว่ายังมีผู้ประกอบการบางราย ไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย โดยเฉพาะเมื่อวันที่ 9 พ.ย. ที่ผ่านมา กรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือ ดีเอสไอ ร่วมกับ เจ้าหน้าที่ 3 ฝ่าย ได้เข้าตรวจโรงงานแกะกุ้งในพื้นที่มหาชัย อ.เมือง จ.สมุทรสาคร พบว่ามีผู้กระทำความผิดจำนวน 4 คน หลบหนีได้ 1 คน ฐานช่วยเหลือซ่อนเร้นให้พักอาศัยแก่บุคคลเข้าเมืองผิดกฎหมาย และเป็นนายจ้างรับบุคคลต่างด้าวเข้าทำงานโดยไม่ได้รับอนุญาต ตามความผิดของ พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน
 
พร้อมกันนี้ พ.อ.วินธัย กล่าวว่า คณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. โดยกกล.รส.จะเพิ่มความเข้มงวดในการตรวจตรามากยิ่งขึ้น หลังจากพบพฤติกรรมของผู้ประกอบการบางรายเริ่มเปลี่ยนแปลงไม่เชื่อฟัง และไม่ให้ความร่วมมือกับทางราชการเหมือนช่วงที่ผ่านมา ซึ่ง คสช.จำเป็นต้องดำเนินการอย่างจริงจังเพื่อไม่ให้ผู้ประกอบการที่อาจเหลืออยู่ส่วนน้อยมาก ที่ยังไม่ให้ความร่วมมือ ไปมีผลต่อภาพลักษณ์การแก้ปัญหาในภาพรวม เพราะข้อมูลล่าสุดต่อการแก้ปัญหาฯ ในปัจจุบันอยู่ในเกณฑ์ที่ดีขึ้นอย่างมาก เมื่อเทียบกับอดีต ในหลายๆปีที่ผ่านมา
 
 
30 องค์กร ขรก.-สหภาพพยาบาล บุกสภาร้องรัฐ แก้เงินเดือนเหลื่อมล้ำ
 
เมื่อวันที่ 18 ธ.ค.58 ที่รัฐสภา นางทัศนีย์ บัวคำ ประธานสมาพันธ์เครือข่ายสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อมไทย พร้อมด้วยองค์กรเครือข่ายข้าราชการพลเรือนไทยรวม 30 องค์กร ยื่นหนังสือต่อ นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) คนที่ 1 เพื่อให้แก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำเพดานเงินเดือนข้าราชการพลเรือน
 
นางทัศนีย์ กล่าวว่า ในกลุ่มข้าราชการที่มีคุณวุฒิสูงกว่าหรือมีปริญญา แต่มีเพดานเงินเดือนเต็มขั้นที่ต่ำกว่าข้าราชการที่มีวุฒิการศึกษาไม่จบปริญญา ทำให้เกิดปัญหาส่งผลกระทบบานปลายกลายเป็นความขัดแย้งช่วงชิงตำแหน่งและผลประโยชน์ จึงขอสนับสนุนการตรา พ.ร.บ. เพื่อแก้ไขปัญหาโครงสร้างค่าตอบแทน เงินเดือนของข้าราชการทุกประเภทให้ได้รับความเป็นธรรม และขอเรียกร้องไปยังรัฐบาลให้แต่งตั้งคณะกรรมการอิสระว่าด้วยค่าตอบแทนภาครัฐและแต่งตั้งคณะทำงานเครือข่ายข้าราชการพลเรือนไทย ปรับเปลี่ยนพนักงานราชการเป็นข้าราชการและจัดระบบเงินเดือนและสวัสดิการลูกจ้างภาครัฐทุกประเภทให้ได้รับความเป็นธรรม รวมทั้งขอให้ คสช.อาศัยอำนาจตามมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญชั่วคราวช่วยแก้ไขปัญหาด้วย
 
 
10 เดือนต่างชาติขอ 'BOI' 5 พันล้านดอลลาร์
 
น.ส.อัจฉรินทร์ พัฒนพันธ์ชัย รอง เลขาธิการ คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยว่า ในช่วง 10 เดือนแรก ของปีนี้ หรือนับตั้งแต่เดือนม.ค.-ต.ค. 2558 มีผู้ประกอบการต่างชาติเข้ามาขอรับ การส่งเสริมการลงทุนทั้งสิ้น 828 โครงการ เป็นจำนวนเงินกว่า 5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยการลงทุนจากจีนมีจำนวนทั้งสิ้น 45 โครงการ มูลค่าเงินลงทุนรวม 330 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยอยู่ในลำดับที่ 3 ของประเทศที่เข้ามาลงทุนในไทย รองจากประเทศญี่ปุ่น และประเทศกลุ่มอาเซียน เมื่อเทียบปี 2557 จีนอยู่ในอันดับ 5
 
ทั้งนี้ อุตสาหกรรมที่ผู้ประกอบการต่างชาติยื่นขอรับการส่งเสริมการลงทุนมากที่สุด ได้แก่ การผลิตยางล้อรถยนต์ กิจการผลิตเครื่องจักรและชิ้นส่วนโลหะ กิจการผลิตไฟฟ้าจากขยะ กิจการผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้า เป็นต้น
 
"ในส่วนของจีนทางบีโอไอ ให้ความสำคัญกับ การลงทุนระหว่างไทยและจีนอย่างต่อเนื่อง เห็นได้ จากการที่บีโอไอ เปิดสำนักงานในจีนถึง 3 แห่ง ทั้งที่ ปักกิ่ง กว่างโจว และเซี่ยงไฮ้ ซึ่งที่ผ่านมาสามารถกระตุ้นให้บริษัทขนาดใหญ่ของจีนตัดสินใจเข้ามาลงทุนในประเทศไทย" น.ส.อัจฉรินทร์ กล่าว
 
อย่างไรก็ตาม ยังมีกิจการที่เป็นเป้าหมายที่บีโอไอตั้งเป้าที่จะกระตุ้นให้เกิดการลงทุนจากจีนมายังไทยอีกมาก เช่น กิจการกลุ่มเครื่องจักรและอุปกรณ์ เครื่องมือทางการแพทย์และชิ้นส่วน รถไฟและรถไฟฟ้าและอุปกรณ์ขนส่งระบบราง กิจการเทคโนโลยีชีวภาพ รวมถึงกิจการซอฟต์แวร์ และอุตสาหกรรมอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยมั่นใจว่าความสัมพันธ์อันดีระหว่างไทยและจีน รวมถึงความชัดเจนของนโยบายรัฐบาลในโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจในด้านต่างๆ จะก่อให้เกิดความร่วมมือในด้านการค้าการลงทุนร่วมกันเพิ่มขึ้นต่อไป บีโอไอ ยังมีแผนที่จะดึงดูดการลงทุนจากจีนที่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์การลงทุนของไทยในกลุ่มกิจการสำนักงานใหญ่ ข้ามประเทศ (International Headquarters: IHQ) โดยใช้ประโยชน์จากไทยที่เป็นศูนย์กลางของอาเซียน
 
 
กรมการจัดหางานเผยคนหางานยังนิยมไปทำงานไต้หวันและระงับการเดินทางไปเกาหลีใต้มากที่สุด 188 คน
 
กรมการจัดหางาน เผยสถิติคนหางานเดินทางไปทำงานต่างประเทศผ่านด่านตรวจคนหางานสุวรรณภูมิเดือนพฤศจิกายน จำนวน 7,122 คน โดยส่วนใหญ่ไปทำงานไต้หวันและระงับการเดินทาง ของผู้ที่มีพฤติการณ์จะลักลอบไปทำงานในต่างประเทศ และให้การยอมรับว่าจะไปทำงานในต่างประเทศรวม 232 คน โดยระงับการเดินทางไปเกาหลีใต้มากที่สุด 188 คน
 
นายอารักษ์ พรหมณี อธิบดีกรมการจัดหางาน เปิดเผยว่า ปัจจุบันมีกระบวนการหลอกลวงคนหางานไปทำงานต่างประเทศในรูปแบบที่หลากหลายมากขึ้นโดยเฉพาะทางโซเซียลเน็ตเวิร์คโดยอ้างตำแหน่งงานที่มีรายได้ดี และเป็นการเดินทางไปทำงานอย่างถูกต้องตามกฎหมาย ผ่านกรมการจัดหางานพร้อมทั้งแจ้งให้ใช้วีซ่าท่องเที่ยวเดินทางไปทำงานก่อนแล้วจะดำเนินการขอวีซ่าทำงานให้ภายหลัง แต่เมื่อเดินทางไปแล้วกลับไม่มีงานทำ ถูกลอยแพ ต้องอยู่อย่างหลบซ่อน และถูกจับกุมเนื่องจากลักลอบเข้าไปทำงานอย่างผิดกฎหมาย เป็นต้น ซึ่งจากสถิติคนหางานเดินทางไปทำงานในต่างประเทศผ่านด่านตรวจคนหางานสุวรรณภูมิประจำเดือนพฤศจิกายน 2558 พบว่ามีคนงานไทยไปทำงานและฝึกงานในต่างประเทศ รวมทั้งสิ้น จำนวน 7,122 คน นิยมเดินทางไปทำงานประเทศในเอเชียมากที่สุด จำนวน 4,572 คน โดยส่วนใหญ่เดินทางไปไต้หวัน จำนวน 2,394 คน รองลงมาญี่ปุ่น จำนวน 734 คน เกาหลีใต้ จำนวน 564 คน สิงคโปร์ จำนวน 177 คน และอินเดีย จำนวน 170 คน รองลงมาเป็นประเทศในตะวันออกกลาง จำนวน 1,617 คน ประเทศในยุโรป 355 คน ประเทศในทวีปอเมริกาเหนือ จำนวน 216 คน ประเทศในแอฟริกา จำนวน 183 คน ประเทศในทวีปออสเตรเลียและหมู่เกาะในมหาสมุทรแปซิฟิก จำนวน 156 คน และประเทศในทวีปอเมริกาใต้ จำนวน 23 คน โดยคนหางานถูกระงับการเดินทางไปต่างประเทศจำนวน 232 โดยจะเดินทางไปเกาหลีใต้มากที่สุดจำนวน 188 คน รองลงมาได้แก่บาห์เรน โอมาน ซูดาน อินโดนีเซีย รัสเซีย สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ปาปัวนิวกินี และญี่ปุ่น
 
อธิบดีกรมการจัดหางาน กล่าวเพิ่มเติมว่า คนหางานควรศึกษากฎระเบียบ ข้อบังคับต่าง ๆ เกี่ยวกับการจ้างงานของประเทศที่จะเดินทางไปทำงานให้รอบคอบเพราะหากเกิดปัญหาจะได้รับความคุ้มครองและสิทธิประโยชน์ตามกฎหมาย โดยสามารถสอบถามข้อมูลหรือแจ้งเรื่องร้องเรียน/ ร้องทุกข์ได้ที่สำนักงานจัดหางานจังหวัดทุกจังหวัด สำนักจัดหางานกรุงเทพเขตพื้นที่ 1 – 10 หรือที่กองตรวจและคุ้มครองคนหางาน กรมการจัดหางาน โทร. 0-2134-4276 หรือสายด่วนกรมการจัดหางาน โทร. 1694
 
(กระทรวงแรงงาน, 18/12/2558)
 
ตร.เกาหลีจับส่งไทย สาวแสบตุ๋นเหยื่ออยากทำงานเมืองนอก ก่อคดีหลอกลวงเพียบ
 
(19 ธ.ค.) เมื่อเวลา 02.30 น. พ.ต.ท.อานันท์ วิชเศรษฐสมิต สว.กก.1 บก.ปคม พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ กก.1 บก.ปคม. และเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมือง กก.สส.ปป. บก.ตม.2 ร่วมกันควบคุมตัว น.ส.เมธิญา เจนประชากร อายุ 25 ปี อยู่บ้านเลขที่ 46 ม.3 ต.ห้วยลาน อ.ดอกคำใต้ จ.พะเยา ผู้ต้องหาหลอกลวงคนไทยไปทำงานต่างประเทศเป็นจำนวนมาก โดยผู้เสียหายหลายรายไม่สามารถไปทำงานต่างประเทศตามที่ตกลงกันได้ ตามหมายจับศาลอาญาที่ 1538/2558 ลง 7 ก.ค.58 กก.1 บก.ปคม. ในข้อหาหลอกลวงผู้อื่นว่าสามารถหางานหรือส่งไปฝึกงานในต่างประเทศได้ และโดยการหลอกลวงดังว่านั้นได้ไปซึ่งเงินหรือทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดจากผู้ถูกหลอกลวง ณ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ
       
พ.ต.ท.อานันท์ วิชเศรษฐสมิต สว.กก.1 บก.ปคม.เปิดเผยว่า จากการสืบสวนทราบว่า น.ส.เมธิญาได้หลบหนีไปอยู่ประเทศเกาหลีใต้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จึงมีการประสานไปยังเกาหลีใต้ว่า ทางการไทยต้องการตัว น.ส.เมธิญากลับมาดำเนินคดีในประเทศไทย ภายหลัง น.ส.เมธิญาถูกตำรวจเกาหลีใต้ จับกุมในข้อหา อยู่เกินกำหนด หรือ over stay จึงแจ้งกลับมายัง กก.1 บก.ปคม. ว่าทางการเกาหลีใต้ จะผลักดันกลับประเทศไทย ในวันที่ 18 ธ.ค. 58 โดยจะส่งตัวขึ้นเครื่องบินของสายการบินไทย เที่ยวบินที่ TG657 เวลา 21.25 น. ออกจากสนามบินอินชอน ประเทศเกาหลีใต้ ถึงสนามบินสุวรรณภูมิ ประเทศไทย ในวันที่ 19 ธ.ค. 58 เวลา 01.20 น. และได้ควบคุมตัวไปสอบปากคำเพิ่มเติมและทำบันทึกจับกุม ที่ กก.1 บก.ปคม.พร้อมประสานไปยังท้องที่อื่นที่ น.ส.เมธิญาเคยกระทำความผิดไว้ เพื่อให้มาทำการอายัดตัวไปดำเนินคดีตามกฏหมายต่อไป
       
ทั้งนี้ จากการตรวจสอบเบื้องต้นพบว่า น.ส.เมธิญาเคยหลอกหลวงหญิงไทยไปทำงานต่างประเทศมาแล้วจำนวนมาก โดยผู้เสียหายหลายรายไม่สามารถไปทำงานต่างประเทศตามที่ตกลงกันได้ โดยเสียค่าใช้รายละ 30,000-35,000 บาท โดยมีผู้เสียหายประมาณ 40 รายเข้าร้องทุกข์ที่มูลนิธิปวีณาหงสกุลเพื่อเด็กและสตรี เมื่อวันที่ 16 มิ.ย. 58 ที่ผ่านมา รวมถึงยังมีหมายจับในข้อหาฉ้อโกง จากจังหวัดอื่นๆ อีก และยังตรวจพบว่า น.ส.เมธิญามีพฤติกรรมหลอกลวงขายสินค้าแบรนด์เนมให้แก่คนไทยในต่างประเทศอีกด้วย 
 
 
โฆษก กต. แจงกรณี “อียู” จี้ไทยแก้ปัญหาแรงงานทาสในอุตสาหกรรมประมง ระบุรบ.ไทยมีนโยบายเข้ม เผยอียูเตรียมนำคณะเยือนไทยอีกครั้งในเดือน ม.ค.59
 
20 ธ.ค.58 นายเสข วรรณเมธี อธิบดีกรมสารนิเทศและโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีสหภาพยุโรป(อียู)ออกมาเตือนไทยอีกครั้งเพื่อให้เร่งแก้ไขปัญหาแรงงานทาสในอุตสาหกรรมอาหารทะเลอย่างจริงจังว่า ตลอดเวลาที่ผ่านมาไทยได้ทำงานร่วมกับอียูอย่างใกล้ชิดในการแก้ปัญหาการประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม(ไอยูยู) ทั้งนี้อียูทราบดีว่ารัฐบาลไทยมีนโยบายต่อต้านการค้ามนุษย์อย่างจริงจัง และรับทราบถึงผลการดำเนินการที่เป็นรูปธรรมของไทยในเรื่องดังกล่าว ขณะที่หน่วยงานต่างๆ กำลังเร่งตรวจสอบการค้ามนุษย์และการใช้แรงงานผิดกฎหมายในเรือประมงและโรงงานแปรรูปสัตว์น้ำอย่างเข้มข้น รวมทั้งได้เร่งรัดการดำเนินคดีเพื่อให้ลงโทษผู้กระทำผิดได้โดยเร็ว จึงทำให้มีผลที่เป็นรูปธรรมมากขึ้นในการบังคับใช้กฎหมายและการดำเนินคดีในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งได้มีการจับกุมและดำเนินคดีผู้ต้องหาคดีค้ามนุษย์ในภาคประมงไปแล้วหลายราย
 
นายเสข กล่าวอีกว่า ในเดือนม.ค. 2559 อียูจะนำคณะมาเยือนไทยอีกครั้ง ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการหารือและความร่วมมืออย่างสร้างสรรค์ระหว่างไทยและอียูเพื่อแก้ปัญหาไอยูยู และพัฒนาระบบการบริหารจัดการประมงของไทย โดยจะมีการหารือกันถึงความคืบหน้าล่าสุดและแผนการดำเนินการขั้นต่อไป เพื่อแก้ปัญหาและสร้างความยั่งยืนให้ทรัพยากรประมง ซึ่งความร่วมมือที่ใกล้ชิดและเป็นประโยชน์นี้จะช่วยให้การปฏิรูปภาคประมงประสบผลสำเร็จ
 
“ประเด็นค้ามนุษย์ในอุตสาหกรรมประมงเป็นอีกเรื่องหนึ่งที่อียูให้ความสำคัญ การเดินทางเยือนไทยของอียูคราวนี้ก็จะเป็นโอกาสดีที่ไทยจะได้ชี้แจงความก้าวหน้าในการแก้ไขปัญหาทั้งในด้านการปราบปรามและดำเนินคดีกับผู้กระทำผิด ตลอดจนการปรับปรุงกฎระเบียบที่เกี่ยวกับแรงงานต่างด้าวเพื่อให้แรงงานภาคประมงเข้ามาอยู่ในระบบและได้รับการคุ้มครองทางกฎหมายด้วย” โฆษกกระทรวงการต่างประเทศกล่าว
 
ผู้สื่อข่าวถามถึงความคืบหน้าของการพิจารณาต่ออายุใบเหลืองให้กับไทย นายเสขกล่าวว่า ไทยยังไม่ได้รับแจ้งว่า อียูจะะตัดสินใจเรื่องดังกล่าวเมื่อใด แต่อียูยินดีที่ไทยมีความมุ่งมั่น จริงจัง และมีความคืบหน้าในการแก้ปัญหาในทิศทางที่ถูกต้อง อย่างไรก็ดีอียูจะตัดสินอย่างไรไม่สำคัญเท่ากับการที่ทุกภาคของไทยส่วนเร่งทำงานเพื่อแก้ปัญหาเพื่อให้บรรลุเป้าหมายของการประมงที่ยั่งยืนและได้มาตรฐานสากล ซึ่งถือว่ามีความสำคัญสูงสุดเพราะขณะนี้เรากำลังดำเนินการต่างๆ เพื่อผลประโยชน์ของประเทศไทยเอง
 
 
สปส.ยืนยันคืนเงินมาตรา 40 ให้ผู้ประกันตนทุกคนครบตามจำนวน โอนเงินคืนงวดแรกแล้วกว่า 10 ล้านบาท เปิดให้แจ้งความจำนงถึง 23 มี.ค.นี้
 
เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม(สปส.) นายโกวิท สัจจวิเศษ บอกว่า ตามที่สปส.ได้รับแจ้งความจำนงของผู้ประกันตนมาตรา 40 ทางเลือกที่ 3 ,4 และ 5 ซึ่งมีสิทธิรับเงินกรณีชราภาพ เพื่อขอรับเงินคืนหรือย้ายไปกองทุนการออมแห่งชาติ(กอช.)นั้น ขณะนี้มีผู้ประกันตนทยอยมาแจ้งความจำนงกับสำนักงานประกันสังคมทุกแห่งแล้ว 2 แสนคนจากทั้งหมดกว่า 9 แสนคน ซึ่งมีทั้งผู้ที่ขอลาออก หรือขอโอนย้ายไปกอช.โดยแจ้งความจำนงได้ตั้งแต่บัดนี้จนถึงวันที่ 23 มี.ค. 2559 โดยสปส.จะทยอยโอนเงินคืนให้ผู้ประกันตนทุกเดือน ล่าสุดได้โอนเงินคืนไปแล้วกว่า 10 ล้านบาท ขอยืนยันว่าผู้ประกันตนจะได้รับเงินสมทบคืนทุกคนครบทุกบาททุกสตางค์ แต่เจ้าหน้าที่สปส.มีน้อยจึงต้องทยอยดำเนินการ
 
 
โวยแรงงานข้ามชาติต่อประกันสังคมไม่ได้ เหตุถูกยกเลิกหลักฐาน หวั่นกระทบคุมโรค
 
นายเสถียร ทันพรม ประธานเครือข่ายปฏิบัติการเพื่อแรงงานข้ามชาติ กล่าวถึงปัญหาการเข้าถึงการรักษาพยาบาลของแรงงานข้ามชาติ ว่า ในส่วนของแรงงานข้ามชาติที่ทำงานในกิจการนั้น จะสามารถเข้าสู่ระบบประกันสังคมได้ ซึ่งตรงนี้เป็นไปตามหลักการสากลเพื่อคุ้มครองสิทธิ์ของแรงงานข้ามชาติ แต่ที่ผ่านมาในส่วนของประเทศไทยมีปัญหาแรงงานข้ามชาติเข้าสู่ประกันสังคมน้อย เนื่องจากติดปัญหาข้อจำกัดต้องใช้เอกสารหลักฐาน 2 ฉบับ คือ 1. ใบผ่านเข้าเมือง หรือพาสปอร์ต และ 2. หลักฐานการจ้างงาน ทำให้แรงงานข้ามชาติที่เข้าสู่ระบบนี้ได้จะจำกัดเฉพาะกลุ่มที่มาทำงานตามข้อตกลงระหว่างประเทศ โดยมีนายหน้าที่ผู้พามาเท่านั้น
       
 นายเสถียร กล่าวว่า จากข้อจำกัดข้างต้นนี้ได้มีการปรับเปลี่ยนโดยคณะรักษาความมั่นคงแห่งชาติ (คสช.) ที่ผ่านมา ที่เปิดโอกาสให้แรงงานข้ามชาติเข้าสู่ระบบ โดยมีประกาศของสำนักงานประกันสังคม (สปส.) ที่เปิดให้แรงงานข้ามชาติเข้าสู่ประกันสังคมเพิ่มขึ้น โดยไม่ต้องใช้เอกสารหลักฐาน 2 ฉบับข้างต้น แต่สามารถใช้หลักฐานเป็นใบสีชมพูในการเข้าสู่ระบบได้ ทำให้แรงงานข้ามชาติที่เข้าเมืองมาผิดกฎหมายก็ให้มาขึ้นทะเบียนได้ รวมถึงแรงงานที่ได้รับการผ่อนผันให้อยู่ในเมืองไทยชั่วคราวรอการส่งกลับมีหลักประกันสุขภาพ แต่ต้องต่ออายุแบบปีต่อปี ซึ่งนับเป็นเรื่องที่ดี เพราะทำให้แรงงานเหล่านี้มีหลักประกันคุ้มครอง
       
แต่ในช่วงเดือนเมษายน ถึงพฤษภาคม ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นช่วงการต่ออายุและขึ้นทะเบียนแรงงานต่างด้าว ปรากฏว่า สปส. ได้กลับไปใช้หลักเกณฑ์เดิมที่ไม่เป็นไปตามประกาศ คสช. ข้างต้น โดยให้แรงงานต่างด้าวที่ต้องการเข้าสู่ระบบต้องใช้เอกสาร ทั้งพาสปอร์ต และใบจ้างงาน ทำให้แรงงานข้ามชาติบางคนที่เคยเข้าสู่ระบบไม่สามารถต่ออายุในระบบประกันสังคมได้ กลายเป็นปัญหาเดิม ทั้งนี้ การที่แรงงานข้ามชาติเข้าสู่ระบบประกันสังคมจะได้รับการคุ้มครองใน 7 สิทธิประโยชน์ ไม่ได้ครอบคลุมเฉพาะด้านการรักษาพยาบาลเท่านั้น จึงต่างกับการซื้อบัตรประกันสุขภาพของกระทรวงสาธารณสุข (สธ.)
       
“ปัญหาที่เกิดขึ้นข้างต้นไม่ได้ส่งผลต่อเฉพาะตัวแรงงานข้ามชาติเท่านั้น แต่ยังกระทบต่องานส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค เนื่องจากทำให้มีแรงงานข้ามชาติจำนวนหนึ่งหายไปจากระบบที่อาจส่งผลต่อการควบคุมโรคในประเทศได้ เนื่องจากบางคนอยู่ในระหว่างรับยาวัณโรคต่อเนื่อง และบางคนต้องรับยาต้านไวรัสเอชไอวี จึงอยากให้ สปส. แก้ไขเพื่อให้แรงงานข้ามชาติเข้าสู่ระบบประกันสังคมได้” นายเสถียร กล่าว
 
 
นายกรัฐมนตรี สั่งกระทรวงศึกษาธิการ จับมือกระทรวงแรงงาน ภาคเอกชน วางแผนผลิตกำลังแรงงานระยะ 5 ปี เน้นด้านอาชีวศึกษา รองรับโรงงานใหม่เปิดใหม่ 3 พันแห่ง
 
นายกรัฐมนตรี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา กล่าวตอนหนึ่งในการแถลงงานรัฐบาลในรอบหนึ่งปีว่า ขณะนี้ประเทศไทยมีปัญหาขาดแคลนแรงงานทำให้ต้องนำเข้าแรงงานต่างด้าว และแรงงานฝีมือบางส่วนก็ไปทำงานต่างประเทศ ขณะที่เด็กไทยนิยมเรียนระดับปริญญาตรีมากกว่าอาชีวศึกษา ซึ่งมหาวิทยาลัยต่างๆได้เปิดหลักสูตรในสาขาที่เหมือนกัน โดยเฉพาะด้านการบริหารจัดการนิยมเปิดกันมากดังนั้นอยากให้กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงแรงงาน หน่วยงานที่เกี่ยวข้องและภาคเอกชนสำรวจความต้องการแรงงานทั้งระดับปริญญาตรีและช่างฝีมือให้ชัดเจน และวางแผนผลิตกำลังแรงงานในช่วง 5 ปีข้างหน้า โดยเฉพาะตอนนี้จะมีการเปิดโรงงานใหม่ถึง 3 พันแห่ง และมีโครงการรัฐ เช่น รถไฟฟ้า จึงอยากให้เรื่องการผลิตแรงงานช่างฝีมือทางด้านอาชีวศึกษาเน้นในสาขาที่ประเทศไทยมีความต้องการ รวมทั้งต้องหาให้วิธีการให้เด็กได้ฝึกงานและเมื่อเรียนจบแล้วเข้าทำงานได้จริง
 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net