Skip to main content
sharethis

ศูนย์ประสานประชาสังคมนราธิวาสถกพื้นที่ปลอดภัย เผย 4 รูปแบบ และ 3 องค์ประกอบความสำเร็จ และข้อเสนอที่หลากหลาย ชี้ทุกฝ่ายต้องสร้างพื้นที่ปลอดภัย แม้ยังไม่มีข้อตกลงจากกระบวนการสันติภาพ-พูดคุยสันติสุข

<--break- />

เมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 2558 ศูนย์ประสานเครือข่ายองค์กรประชาสังคมนราธิวาสร่วมกับศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ ศูนย์ความร่วมมือทรัพยากรสันติภาพ(PRC) และสถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล จัดเสวนา “พื้นที่ปลอดภัย (Safety Zone) ในมุมมองของประชาชน” ที่โรงเรียนอิมพีเรียล อ.เมือง จ.นราธิวาส เพื่อเปิดพื้นที่ให้คนนราธิวาสได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้และหาแนวทางสร้างพื้นที่ปลอดภัย โดยมีตัวแทนองค์กรภาคประชาสังคมเข้าร่วมประมาณ 50 คน

นายอัศว์มันต์ บินยูโซะ ประธานศูนย์ประสานงานเครือข่ายองค์กรภาคประชาสังคมนราธิวาส กล่าวว่าการจัดเสวนาครั้งนี้เกิดจากการเข้าร่วมวงการสร้างสันติภาพจากคนใน หรือ IPP (Insider Peace building Platform) เห็นว่าควรจัดเวทีที่นราธิวาสเพื่อรับฟังความคิดจากคนนราธิวาสด้วย

4 รูปแบบพื้นที่ปลอดภัย

ดร.โนเบิร์ต โรเปอร์ส นักวิจัยอาวุโส สถานวิจัยความขัดแย้งและความหลากหลายทางวัฒนธรรมภาคใต้ (CSCD) มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ได้นำเสนอแนวคิดเรื่องการสร้างพื้นที่ปลอดภัยในประบวนการสันติภาพว่า มี 4 รูปแบบ คือ

1.เกิดจากข้อตกลงของคู่ขัดแย้ง 2.คู่ขัดแย้งทั้งสองฝ่ายต่างก็เคารพหลัก “กฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ” หรือ International Humanitarian Law (IHL) เช่น ไม่ฆ่าตัดอวัยวะ ห้ามทรมานหรือจับเป็นตัวประกัน ห้ามวิสามัญฆาตกรรมผู้ที่ยอมจำนนแล้วหรือฆ่านอกระบบ ห้ามขัดขวางการส่งตัวผู้รับบาดเจ็บไปรักษา เป็นต้น 3.ริเริ่มแสวงหาพื้นที่สันติ (Zone of Peace) โดยภาคประชาสังคมและประชาชน (Track 2,3) และ 4.รูปแบบอื่นๆ เช่น พื้นที่สำหรับผู้ลี้ภัย พื้นที่ที่กองกำลังนานาชาติโดยสหประชาชาติ(UN)เข้าไปคุ้มครอง

3 องค์ประกอบความสำเร็จ

ดร.โนเบิร์ต ได้ยกตัวอย่างประสบการณ์ของประเทศฟิลิปปินส์ในเรื่องการสร้างพื้นปลอดภัยพบว่า มีองค์ประกอบที่จะทำให้ประสบความสำเร็จหรือล้มเหลว 3 ประการ ดังนี้

1.การสร้างพื้นที่ปลอดภัยต้องมีความระมัดระวังและต้องเตรียมความพร้อมเป็นอย่างดี จึงจะประสบความสำเร็จ

2.ต้องมีการพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นจากกลุ่มคนหลากหลายอาชีพ ยิ่งหลากหลายมากเท่าไรก็จะยิ่งเป็นประโยชน์มากยิ่งขึ้นในสร้างพื้นที่ปลอดภัย เพราะความคิดที่หลากหลายทำให้เราได้เรียนรู้ประเด็นที่หลากหลายด้วย

“บางครั้งเรื่องที่พูดอาจจะไม่สำคัญสำหรับเรา แต่อาจจะสำคัญสำหรับคนอื่น แต่เราก็ได้รับรู้ว่าเขาคิดอย่างไรหรือต้องการอะไร การแลกเปลี่ยนที่หลากหลายทำให้เราได้รับรู้ถึงความกลัวของแต่ละฝ่าย เนื่องจากแต่ละฝ่ายมีความกลัวที่แตกต่างกัน เราเอาสิ่งนี้นำมาสร้างพื้นที่ปลอดภัยได้” ดร.โนเบิร์ต กล่าว

3.การสร้างพื้นที่ปลอดภัยได้รับความร่วมมือจากทุกฝ่าย โดยเฉพาะฝ่ายขบวนการต่อสู้กับรัฐ เราต้องรู้ว่าเขาคิดอย่างไร สิ่งนี้เป็นเรื่องยากมากแต่จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องรับฟังเพื่อนำมาสร้างพื้นที่ปลอดภัย

ข้อเสนอต่อการสร้างพื้นที่ปลอดภัย

จากนั้นที่ประชุมได้แบ่งกลุ่มย่อยเพื่อแลกเปลี่ยนเรื่อง “พื้นที่ปลอดภัยในมุมมองประชาชน” ซึ่งพบว่ามีข้อเสนอที่หลากหลายดังนี้ 1.ต้องตั้งคณะกรรมการเพื่อสร้างพื้นที่ปลอดภัยจากทุกฝ่าย 2.บุคคลที่ต้องได้รับการคุ้มครอง เช่น ครู แพทย์ เด็ก สตรี เกษตรกร นายอำเภอ พระ พยาบาล ผู้ไม่มีอาวุธ

3.ถนน ตลาด โรงเรียน โรงพยาบาล วัด มัสยิด คิวรถ แหล่งท่องเที่ยว สถานประกอบธุรกิจต้องเป็นพื้นที่ปลอดภัย 4.ต้องศึกษารูปแบบและเครื่องมือในการสร้างพื้นที่ปลอดภัย 5.จัดเวทีสาธารณะในชุมชนเพื่อสานเสวนาระดับชุมชน วิเคราะห์และประเมินระดับพื้นที่เพื่อนำไปสร้างพื้นที่ปลอดภัย 6.สร้างความเข้าใจให้กับคนในชุมชนในการสร้างพื้นที่ปลอดภัย

ขั้นตอนให้ทุกฝ่ายมีส่วนร่วม

ส่วนขั้นตอนในการสร้างพื้นที่ปลอดภัย มีข้อเสนอต่างๆ ดังนี้ 1.การสร้างความเข้าใจ 2.เลือกพื้นที่ 3.เลือกบุคคลที่จะมาร่วมเป็นคณะกรรมการ 4.กำหนดระยะเวลาให้ชัดเจน 5.สร้างความเชื่อมั่นร่วมกัน 6.การแสดงพลัง เดินขบวนการรณรงค์สร้างพื้นที่ปลอดภัย 7.ศึกษาตัวอย่างพื้นที่ปลอดภัยที่ประสบความสำเร็จ

8.สร้างความตระหนักแก่ Track 2 ในการสร้างพื้นที่ปลอดภัย 9.Track 2,3 ต้องร่วมกันขับเคลื่อนการสร้างพื้นที่ปลอดภัย 10.กำหนดช่วงเวลาที่ต้องมีความปลอดภัย เช่น เวลาละหมาด ช่วงเดือนรอมฎอน ช่วงเข้าพรรษา 11.สร้างความเข้าใจหรือรณรงค์สร้างความเข้าใจในการสร้างพื้นที่ปลอดภัย

ต้องสร้างพื้นที่ปลอดภัยแม้ยังไม่มีข้อตกลงสันติภาพ

นายนัจมุดิน อูมา อดีตนักการเมืองชาวนราธิวาส สมาชิกศูนย์ประสานงานองค์กรเอกชนนราธิวาส กล่าวว่า การสร้างพื้นที่ปลอดภัยเป็นหนึ่งในข้อเสนอของคณะพูดคุยสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ในการพูดคุยสันติสุขกับกลุ่มมาราปาตานี (MARA PATANI) แต่ยังไม่มีข้อตกลงในเรื่องนี้

“อย่างไรก็ตาม การกำหนดพื้นที่ปลอดภัยเป็นเรื่องที่รัฐจำเป็นต้องสร้างบรรยากาศให้เอื้อต่อการเกิดพื้นที่ปลอดภัยด้วย เช่น การลดการมาตรการตรวจค้นบนถนน โดยเฉพาะช่วงเวลาละหมาด รัฐต้องลดกองกำลังภาคประชาชน โดยเฉพาะอาสาสมัครรักษาดินแดน”

นายนัจมุดิน กล่าวอีกว่า การสร้างบรรยากาศพื้นที่ปลอดภัยต้องนำหลักกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ หรือ International Humanitarian Law (IHL) มาใช้ คือ 1.ห้ามการฆ่า 2.ห้ามจับเป็นตัวประกัน 3.ห้ามทำให้รู้สึกเสียเกียรติและต่ำต้อย 4.ห้ามวิสามัญฆาตกรรม 5.ห้ามขัดขวางการส่งตัวผู้ป่วย 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net