Skip to main content
sharethis

ชี้คำพิพากษาแสดงให้เห็นความกลัวที่จะอนุญาตให้มีการแสดงความคิดเห็นบนโลกออนไลน์ได้อย่างเสรี และความต้องการที่จะข่มขู่ให้สื่อหวาดกลัว เพื่อไม่ให้สื่อออกอากาศหรือสนับสนุนให้มีการแสดงความเห็นทางการเมือง

23 ธ.ค. 2558 หลังศาลฎีกา พิพากษายืนตามศาลอุทธรณ์ลงโทษ จีรนุช เปรมชัยพร ผู้อำนวยการเว็บไซต์ประชาไท จากความผิดตามมาตรา 15 พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 ให้จำคุก 8 เดือน ปรับ 20,000 บาท โทษจำคุกรอลงอาญา จากกรณีที่ปล่อยให้มีการโพสต์กระทู้ผิดกฎหมาย 1 ข้อความในเว็บบอร์ดประชาไทนาน 20 วัน

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลออกแถลงการณ์ระบุว่า กรณีดังกล่าว นับเป็นการสร้างบรรทัดฐานที่ก่อให้เกิดความหวาดกลัวต่อการแสดงออกทางความคิดเห็น โดยเฉพาะการแสดงออกบนโลกออนไลน์ คำพิพากษาดังกล่าวก่อให้เกิดบรรยากาศที่เลวร้ายที่สุดอีกครั้งหนึ่งต่อเสรีภาพในการแสดงออก

ฟิลิป ลูเธอร์ (Philip Luther) รักษาการผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายงานวิจัยของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลเผยว่า คำพิพากษาดังกล่าวแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนถึงความกลัวของทางการที่จะอนุญาตให้มีการแสดงความคิดเห็นบนโลกออนไลน์ได้อย่างเสรี และความต้องการที่จะข่มขู่ให้สื่อหวาดกลัว เพื่อไม่ให้สื่อออกอากาศหรือสนับสนุนให้มีการแสดงความเห็นทางการเมือง ความจริงแล้ว จีรนุชไม่ควรจะต้องถูกนำเข้ากระบวนการยุติธรรมเลยด้วยซ้ำ การแสดงความเห็นที่ ‘ทำให้เกิดความขุ่นเคือง’ ดังกล่าวเป็นสิ่งที่ไม่ควรถูกห้ามตั้งแต่แรก ทั้งนี้ไม่นับว่านี่เป็นการเสดงความเห็นโดยบุคคลอื่น

“คำพิพากษาคดีของจีรนุชควรถือว่าเป็นโมฆะทันที ประชาไทมีผลงานที่เข้มแข็งในการทำให้สาธารณชนสามารถเข้าถึงข้อมูลและการนำเจ้าหน้าที่มาอธิบายถึงความผิดหรือข้อผิดพลาดในการทำงานที่เกิดขึ้น ซึ่งเป็นสิ่งที่สมควรได้รับการสนับสนุน ไม่ใช่ถูกกดขี่ปราบปราม

“คำวินิจฉัยของศาลฎีกาในวันนี้ (23 ธ.ค.) ชี้ชัดว่า ทางการไทยได้ใช้กฎหมายหลายฉบับโดยมิชอบ เพื่อบังคับไม่ให้มีการแสดงความคิดเห็น และเพื่อกดดันให้เกิดบรรยากาศที่สื่อจะต้องเซ็นเซอร์ตัวเอง นับตั้งแต่รัฐประหารปี 2557 เป็นต้นมา ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตและสื่อมวลชนต้องดำเนินงานภายใต้บรรยากาศที่มีการปิดกั้นแบบรอบด้านเพิ่มมากขึ้น ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตและสื่อมวลชนเหล่านี้ต้องอยู่ภายใต้แรงกดดันจากเจ้าหน้าที่ ที่ต้องการให้พวกเขาให้ความร่วมมือในการไม่เสนอความคิดเห็นที่ทางการไม่เห็นพ้อง”

แถลงการณ์ระบุว่า จีรนุชเป็นบุคคลแรกๆ ที่ถูกตัดสินลงโทษตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ ที่ผ่านมาทางการไทยได้ใช้กฎหมายที่มีเนื้อหากำกวมนี้ คุมขังนักโทษทางความคิดที่แสดงความเห็นบนโลกออนไลน์อย่างสันติ

“พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์เป็นกฎหมายที่บกพร่องซึ่งได้กลายเป็นอาวุธอีกชิ้นหนึ่งที่ทางการใช้ในการปราบปรามเสียงที่เห็นต่างให้เงียบหายไป กฎหมายนี้ควรถูกยกเลิกทันทีหรือให้มีการแก้ไขเพื่อให้สอดคล้องกับกฎหมายและมาตรฐานสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ” ฟิลิป ลูเธอร์กล่าว

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล เรียกร้องให้ทางการไทยยุติการปราบปรามการแสดงความเห็นอย่างสันติบนโลกออนไลน์ นับตั้งแต่รัฐประหารปี 2557 บุคคลหลายสิบคนถูกฟ้องร้องดำเนินคดีเนื่องจากแสดงความเห็นเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ ในขณะที่ทางการยังข่มขู่ที่จะดำเนินคดีกับประชาชนที่คลิก ‘ไลค์’ ข้อความในเฟซบุ๊ก อย่างต่อเนื่อง
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net