Skip to main content
sharethis

เครือข่ายคนรุ่นใหม่เพื่อการเปลี่ยนแปลงสังคม ชวนลงชื่อผ่าน Change.org เรียกร้องบริบัททุ่งคำ (เหมืองแร่เมืองเลย) ถอนฟ้องเยาวชนนักข่าวพลเมือง หลังรายงานผลกระทบในพื้นที่ ด้าน กสม. ออกแถลงการหนุนการแสดงความเห็นโดยบริสุทธิ์ใจของเด็ก

เมื่อวันที่ 23 ธ.ค. 2558 เครือข่ายคนรุ่นใหม่เพื่อการเปลี่ยนแปลงสังคม ได้จัดทำแคมเปญรณรงค์ในเว็บไซต์ Change.org โดยเรียกร้องให้บริษัททุ่งคำ จำกัด (เหมืองแร่ทองคำ จังหวัดเลย) และผู้ถือหุ้นถอนฟ้องคดีหมิ่นประมาทโดยการโฆษณา ต่อ น.ส.เอ (ขอสงวนชื่อ-สกุล เนื่องจากเป็นเยาวชน) นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 ซึ่งรายงานผลกระทบในพื้นที่ผ่านรายการนักข่าวพลเมือง ของสถานีโทรทัศน์TPBS ที่ออกอากาศเมื่อวันที่ 1 ก.ย. 2558

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า การฟ้องร้องคดีหมิ่นประมาทโดยการโฆษณา ซึ่งบริษัททุ่งคำ จำกัด เป็นโจทก์ฟ้องร้องเยาวชนครั้งนี้ สืบเนื่องมาจากการที่ น.ส.เอ ได้เข้าร่วมค่ายเยาวชนฮักบ้านเจ้าของ ตอนนักสืบลำน้ำฮวย แท้ๆ แน๊ว ซึ่งจัดขึ้นเมื่อวันที่ 28-30 ส.ค. 2558 ที่วัดโนนสว่าง ต.เขาหลวง อ.วังสะพุง จ.เลย เมื่อค่ายจบลงต่อมาในวันที่ 6 ก.ย. 2558 ได้มีการเรียกตัว น.ส.เอ (ขอสงวนชื่อ-สกุล เนื่องจากเป็นเยาวชน) ไปพบกับบ้านผู้ใหญ่บ้านภูทับฟ้าพัฒนา ตัวแทนของบริษัท ทุ่งคำ จำกัด 3 คน และรองนายก อบต.เขาหลวง เนื่องจากเธอได้รายงานข่าวผลกระทบในพื้นที่ ผ่านรายการนักข่าวพลเมือง

ในการเรียกตัวเข้าไปพูดคุยครั้งนั้น เธอถูกสอถามว่าถูกบังคับให้รายงานข่าวหรือไม่ และตัวของบริษัทได้แนะนำให้เธอไปแจ้งความลงบันทึกประจำวันไว้ก่อน เพื่อที่จะไม่ต้องถึงฟ้องร้องดำเนินคดี เนื่องจากสิ่งรายงานข่าวออกไปนั้น

"เหมืองไม่ได้มีนโยบายทำร้ายเด็ก ไม่ต้องการเอาเด็กเข้าคุก เพราะเด็กนั้นไม่เกี่ยวอยู่แล้ว เพียงต้องการกันไว้เป็นพยาน หากหนูไปแจ้งความลงบันทึกประจำวันไว้ หนูจะไม่เกี่ยว แต่คนพวกนี้ที่มาทำค่ายฯ จะถูกฟ้องทั้งหมด" ตัวแทนบริษัทกล่าว

กระนั้น น.ส.เอ เลือกที่จะไม่เข้าแจ้งความตามคำแนะนำของตัวแทนบริษัท โดยเธอเห็นว่า เธอไม่ได้ทำอะไรผิด

ต่อมาในวันที่ 13 ธ.ค. 2558 ผู้สื่อข่าวได้รับรายงานว่า มีหนังสือจากสถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนจังหวัดเลย ส่งถึง น.ส.เอ และบิดา มารดา หรือผู้ปกครอง เรื่องขอเชิญ น.ส.เอ และบิดา มารดา หรือผู้ปกครอง มาให้ถ้อยคำต่อพนักงานคุมประพฤติ โดยได้ส่งหนังสือแนบมาด้วยคือ หนังสือของอนุญาตฟ้องเด็กและเยาวขนคดีอาญา ลงวันที่ 27 พ.ย. 2558

ทั้งนี้ หนังสือฉบับดังกล่าว ระบุว่า ด้วยทนายความและที่ปรึกษากฎหมายผู้ได้รับมอบอำนาจ ได้มีหนังสือขออนุญาตฟ้องเด็กหรือเยาวชน คดีอาญา ในข้อหา หมิ่นประมาทโดยการโฆษณา ด้วยเอกสาร และโทรทัศน์ ซึ่งตามพระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีวิจารณาคดีเยาวชนและครอบ ครัว พ.ศ. 2553 มาตรา 99 วางหลักว่า ห้ามมิให้ผู้เสียหายฟ้องคดีอาญาซึ่งมีข้อหาว่าเด็กหรือเยาวชนกระทำความผิด ต่อศาลเยาวชนและครอบครัว เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากผู้อำนวยการสถานพินิจที่เด็กหรือเยาวชนอยู่ในเขต อำนาจ นั้น

สถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนจังหวัดเลยจึงขอเชิญน.ส.เอ และบิดา มารดา หรือผู้ปกครอง มาให้ถ้อยคำเกี่ยวกับรายละเอียดเกี่ยวกับพฤติการณ์ในคดี ในวันจันทร์ที่ 21 ธันวาคม 2558 เวลา 09.00 นาฬิกา ณ ฝ่ายคดี สถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนจังหวัดเลย เพื่อจักดำเนินการสืบสวน และสอบสวนข้อกล่าวหานั้นว่ามีมูลสมควรอนุญาตให้ผู้เสียหายฟ้องหรือไม่

ต่อกรณีดังกล่าว คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ  ได้ออกแถลงการณ์เมื่อวันที่ 23 ธ.ค. 2558 เรื่อง กรณีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นโดยบริสุทธิ์ใจของเด็ก โดยใจความของแถลงการณ์ได้แสดงถึงความกังวลต่อการดำเนินคดีอาญาแก่เด็ก ที่มีสาเหตุมาจากการใช้เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นโดยหากปรากฏว่าเป็นการ แสดงความคิดเห็นอย่างเปิดเผยด้วยความบริสุทธิ์ใจ และมีจิตสำนึกที่รักชุมชนสังคม ดูแลและปกป้องชุมชนของตนเองในฐานะพลเมือง

ทั้งนี้เนื้อความในแถลงการณ์ได้มีการขอให้บริษัท ทุ่งคำ จำกัด ทบทวนการดำเนินคดีอาญาแก่เด็ก โดยให้คำนึงถึงประโยชน์สูงสุดของเด็กเป็นสำคัญ

แถลงการณ์คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ 
เรื่อง กรณีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นโดยบริสุทธิ์ใจของเด็ก

ตามที่ปรากฏข่าวผ่านสื่อมวลชน กรณีเด็กชั้นมัธยมศึกษาปีที่ นำเสนอการออกค่ายของกลุ่มเยาวชนฮักบ้านเกิดเจ้าของ ตอน นักสืบลำน้ำฮวยแท้ๆ แน๊ว ซึ่งรายงานผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชนในฐานะนักข่าวพลเมือง ออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส จนเป็นเหตุให้บริษัททุ่งคำ จำกัด ผู้ประกอบกิจการเหมืองแร่ทองคำ ซึ่งได้รับประทานบัตรทำเหมืองทองคำ อำเภอวังสะพุง จังหวัดเลย อันอยู่ในเขตปฏิรูปที่ดิน ดำเนินคดีอาญาแก่เด็กในความผิดฐานหมิ่นประมาทนั้น

คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ซึ่งมีอำนาจหน้าที่ในการส่งเสริมและคุ้มครองเพื่อให้เกิดการเคารพสิทธิมนุษย ชน รู้สึกกังวลเป็นอย่างยิ่งต่อการดำเนินคดีอาญาแก่เด็ก ที่มีสาเหตุมาจากการใช้เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นโดยหากปรากฏว่าเป็นการ แสดงความคิดเห็นอย่างเปิดเผยด้วยความบริสุทธิ์ใจ และมีจิตสำนึกที่รักชุมชนสังคม ดูแลและปกป้องชุมชนของตนเองในฐานะพลเมือง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการที่เด็กมีความห่วงใยในผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และทรัพยากรในชุมชนของตน ถือเป็นสิ่งดีและควรสนับสนุน อย่างไรก็ดี การเข้าถึงข้อมูลข่าวสารอาจไม่รอบด้าน เพียงพอ และครอบคลุมทุกมิติในการนำเสนอข่าว ประกอบกับข้อจำกัดทางวัยวุฒิและคุณวุฒิของเด็ก ดังนั้น เพื่อให้สังคมไทยเป็นสังคมที่เคารพสิทธิมนุษยชน กสม. มีความเห็นดังต่อไปนี้ 

1. ขอให้องค์กรหรือหน่วยงานที่มีอำนาจหน้าที่สร้างความเข้าใจต่อสังคม กรณีใช้สิทธิในการมีส่วนร่วม และเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นอย่างเปิดเผยและเป็นอิสระของเด็กต้องได้รับ ความคุ้มครอง ทั้งตามหลักรัฐธรรมนูญ พระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก พ.ศ. 2556 และอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก (Convention on the Rights of the Child-CRC) ซึ่งประเทศไทยเข้าเป็นภาคีแล้ว อันมีสาระสำคัญและให้หลักประกันว่า“รัฐภาคีจะต้องให้หลักประกันแก่เด็กซึ่ง สามารถมีความคิดเห็นเป็นของตัวเอง มีสิทธิที่จะแสดงความคิดเห็นโดยเสรีในทุกๆ เรื่องที่มีผลกระทบต่อเด็ก ทั้งนี้ ความคิดเห็นดังกล่าวของเด็กจะได้รับการพิจารณาตามสมควรแก่อายุและวุฒิภาวะ ของเด็กนั้น”... “เด็กมีสิทธิที่จะมีเสรีภาพในการแสดงออก สิทธินี้จะรวมเสรีภาพที่จะแสวงหา ได้รับ หรือถ่ายทอดข้อมูลข่าวสาร และความคิดทุกลักษณะโดยไม่ถูกจำกัดโดยเขตแดน...” แม้จะมีข้อจำกัดการใช้สิทธิบางประการในการใช้สิทธิ

2. ขอให้หน่วยงานภาครัฐและเอกชนนำหลักการสิทธิมนุษยชนสำหรับธุรกิจตามกรอบงาน ขององค์การสหประชาชาติในการคุ้มครอง เคารพ และเยียวยา เพื่อกำหนดให้องค์กรธุรกิจมีนโยบายและกระบวนการที่เหมาะสมกับขนาดและสภาพแวด ล้อมขององค์กรธุรกิจ และนำไปเป็นแนวทางในการดำเนินการใดๆ ทั้งนี้ เป็นไปตามความรับผิดชอบของภาคธุรกิจในการเคารพหลักสิทธิมนุษยชน 

3. ขอให้บริษัททุ่งคำ จำกัด ทบทวนการดำเนินคดีอาญาแก่เด็ก โดยให้คำนึงถึงประโยชน์สูงสุดของเด็กเป็นสำคัญ ทั้งนี้ กสม. เห็นว่า การดำเนินคดีอาญาแก่เด็ก จะไม่เกิดประโยชน์ใดแก่สังคม และทุกภาคส่วน แต่กลับจะส่งผลกระทบต่อการแสดงความคิดเห็นอย่างเปิดเผยและเป็นไปด้วยความ บริสุทธิ์ใจของเด็ก ทั้งยังอาจส่งผลต่อการศึกษาและพัฒนาการของเด็กโดยเฉพาะทางจิตใจ ดังนั้น ทุกฝ่ายจึงควรหาทางออกร่วมกัน โดยคำนึงถึงประโยชน์สูงสุดของเด็กเป็นสำคัญ 

อนึ่ง คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ใคร่ขอเรียนว่า หากผู้ใดพบเห็นหรือถูกละเมิดสิทธิมนุษยชน ขอให้ร้องเรียนไปยังสายด่วน 1377 เพื่อจะได้ดำเนินการพิจารณาตรวจสอบข้อเท็จจริง และนำไปสู่การสร้างสังคมสันติสุข ที่มีความเสมอภาค เท่าเทียมและเคารพสิทธิมนุษยชนต่อไป

คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ
23 ธันวาคม 2558

 

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net