Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis



 

(ไนโรบี, 19 ธันวาคม 2015) การประชุมรัฐมนตรีครั้งที่ 10 (MC10) ขององค์การการค้าโลก (WTO) ที่กรุงไนโรบี ประเทศเคนยา ได้บทสรุปหลังจากต้องเพิ่มวันประชุมไปอีก 1 วัน จากเดิมที่ต้องจบวันที่ 18 ธันวาคม แต่พวกเราจากกลุ่มประชาสังคมและตัวแทนขบวนการชาวนาสากล (ลาเวียคัมเปซินา LVC) ที่ไปติดตามการประชุมต้องงุนงงก็คือ การประชุมนี้ประสบความสำเร็จได้อย่างไร ทั้งๆ ที่ประเทศสมาชิกหลักๆ มีความเห็นแตกต่างสุดขั้วในประเด็นสำคัญๆ การประชุมที่เกือบจะล่มแล้วนี้กลับไปต่อได้อย่างไร และทำไมประเทศต่างๆ ถูกปิดปากเงียบและถูกบังคับให้ยอมรับข้อตกลงแย่ๆ และกระทบต่ออธิปไตยของตน

ประชุมแบบไม่หยุดตลอด 24 ชั่วโมงของวันที่ 19 ธันวาคม ได้ทำให้เกิดคำประกาศไนโรบี (หรือที่เรียกกันว่า Nairobi Package) ที่สุดท้ายก็สรุปและรับรองกันจนได้ แม้ว่าประเทศอินเดีย ประเทศกำลังพัฒนาอื่นๆ และประเทศพัฒนาน้อยที่สุด (LDCs) แสดงความผิดหวังออกมาชัดเจน และไม่เห็นด้วยกับประเด็นสำคัญๆ หลายประเด็นที่เจรจากัน ในตัวคำประกาศเองก็ระบุไว้ด้วยว่ายังมีสมาชิกที่เห็นต่างออกไป

เมื่อเริ่มการประชุม มีแต่ประเด็นด้านการเกษตรเท่านั้น ส่วนเรื่องอื่นๆ เช่น GATS (ความตกลงทั่วไปว่าด้วยภาษีศุลกากรและการค้า), NAMA (การเข้าถึงตลาดของสินค้ามิใช่สินค้าเกษตร) หรือ TRIPS (ตกลงว่าด้วยสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาที่เกี่ยวกับการค้า) ถูกพักเอาไว้ก่อน

สิ่งที่เราพบจากประสบการณ์ของเราตลอดช่วง 20 ปี ของ WTO ก็คือ สุดท้ายแล้ว มติต่างๆ ก็จะเอื้อประโยชน์ให้กับสหรัฐอเมริกา โดยที่ประเทศโลกที่สามต้องเสียผลประโยชน์ ในที่สุด การประชุมครั้งนี้ก็เช่นกัน นั่นคือ สหรัฐอเมริกาได้ทุกอย่างที่อยากได้ไป และไม่เหลืออะไรให้ประเทศกำลังพัฒนา ประเทศพัฒนาน้อยที่สุด และชาวแอฟริกันเลย

สหรัฐอเมริกาและบรรษัทยักษ์ใหญ่ได้ทุกสิ่งที่ตนต้องการ เช่น การไม่มีมติถาวรเรื่องการสำรองอาหารภาครัฐ การไม่มีมติเรื่องกลไกคุ้มครองพิเศษสำหรับประเทศกำลังพัฒนา การยืดเวลายุติการอุดหนุนสินค้าเกษตรเพื่อการส่งออก การยืดเวลาการจ่ายหนี้สินเชื่อเพื่อการส่งออก การไม่รับรองการเจรจาการพัฒนารอบโดฮา และที่สำคัญที่สุด การเตรียมเปิดทางให้กับประเด็นใหม่ (ที่เรียกว่าประเด็นสิงคโปร์ (ประเด็นที่ประเทศสิงคโปร์เสนอเข้า WTO เมื่อปี 1996 ได้แก่ การค้าและการลงทุน นโยบายการค้าและการแข่งขัน ความโปร่งใสของการจัดซื้อภาครัฐและการอำนวยความสะดวกด้านการค้า)) เห็นได้ชัดว่า WTO ไม่ได้ช่วยอะไรคนยากคนจนเลย แต่เอื้อประโยชน์ให้กับคนรวยเท่านั้น

ประเทศกำลังพัฒนาบางประเทศรู้สึกยินดีการประชุมครั้งนี้ เพราะได้ข้อตกลงเรื่องการยุติการอุดหนุนสินค้าเกษตรเพื่อการส่งออก แต่ที่จริงแล้ว เรื่องนี้ย้อนไปได้จนถึงคำประกาศการประชุมรัฐมนตรีที่ฮ่องกงเมื่อปี 2005 ที่ว่าประเทศพัฒนาแล้วต้องยุติการอุดหนุนดังกล่าวภายในเดือนธันวาคม 2013 และที่ไนโรบี พวกเขาก็ประสบความสำเร็จในการยืดพันธะผูกพันที่จะยุติการอุดหนุนดังกล่าวไปจนปี 2020 เท่ากับยืดไปอีก 7 ปี แต่การยกเว้นนี้ ไม่ครอบคลุมถึง “สินค้าผ่านกระบวนการและผลิตภัณฑ์จากนม ของสมาชิกที่ไม่ได้แจ้งการอุดหนุนเพื่อการส่งออกสำหรับสินค้าดังกล่าว หรือ สำหรับกลุ่มประเภทสินค้า ในการรายงานเรื่องการสนับสนุนสินค้าส่งออกครั้งล่าสุด แก่คณะกรรมการด้านการเกษตร” ที่จริงแล้ว สินค้าที่เข้าไปเจาะตลาดประเทศกำลังพัฒนา เข้ายึดครองชั้นวางสินค้าในซุปเปอร์มาร์เก็ต และสร้างความพินาศให้กับอุตสาหกรรมอาหารท้องถิ่น ก็คือสินค้าผ่านกระบวนการและผลิตภัณฑ์จากนมจากสหรัฐอเมริกาและสหภาพยุโรปนั่นเอง

ดังนั้น ชาวนาจากขบวนการชาวนาโลก ลาเวียคัมเปซินา (LVC) จากหลายประเทศทั่วโลก จึงได้เดินขบวนประท้วง WTO บนท้องถนนของกรุงไนโรบีทุกวัน และเรียกร้องว่า “การเกษตรไม่ใช่การค้า” “การเกษตรคือชีวิตของเรา” “ชีวิตเราไม่ได้มีไว้ขาย” “WTO ต้องล้มไป” และ “ไล่ WTO ไปให้พ้นการเกษตร”


สรุปความสูญเสียของประเทศกำลังพัฒนาและภาคการเกษตร

1. ไม่มีการตัดสินใจเรื่องแนวทางแก้ไขถาวรต่อโครงการสำรองอาหารภาครัฐ เดิมมติคณะกรรมการทั่วไปในปี 2014 บอกว่าชาติสมาชิก WTO ต้องตกลงกันเรื่องแนวทางแก้ไขแบบถาวรให้ได้ภายในวันที่ 31 ธันวาคม 2015 แต่ในการประชุม MC10 ที่ประชุมเพิกเฉยต่อเรื่องนี้ ละเลยทั้งเรื่องสิทธิด้านอาหารของคนจนและการสนับสนุนด้านราคาแก่ชาวนาจำนวนมาก ทั้งที่หลายประเทศมีโครงการเพื่อมั่นคงด้านอาหาร เช่นอินเดีย และประเทศแอฟริกาอื่นๆ เช่นตูนีเซีย แซมเบีย ซิมบับเว โมร็อกโค อียิปต์ และเคนยา เป็นต้น

2. ไม่มีการตัดสินใจขั้นที่สุดเรื่องกลไกคุ้มครองพิเศษ (SSM) เรื่องนี้เป็นข้อเรียกร้องหลักของกลุ่มประเทศ G33 เพื่อปกป้องผู้ผลิตอาหารของตนจากการที่สินค้านำเข้าจะไหลเข้ามามากขึ้น แต่ประเด็นนี้ก็ถูกเมินเฉยเช่นกัน แม้ว่าประเทศพัฒนาแล้วสามารถเข้าถึงกลไกคล้ายคลึงกัน เช่น มาตรการคุ้มครองภาคเกษตรแบบพิเศษ (Special Agriculture Safeguard measures –SSG) การกำหนดเพดานภาษีขาเข้าขั้นสูง (Tariff Peaks) ระบบโควตาอัตราภาษีศุลกากร (Tariff Rate Quotas-TRQs) มาตรการกีดกันทางการค้าที่มิใช่ภาษี (Non-Tariff Barriers-NTBs) แต่ประเทศอย่างสหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป แคนาดา และออสเตรเลีย กลับขัดขวางเรื่องกลไกคุ้มครองขั้นพื้นฐานสำหรับประเทศกำลังพัฒนา

3. การอุดหนุนสินค้าเกษตร นับตั้งแต่การเจรจาที่โดฮา นี่เป็นครั้งแรกที่ไม่มีการอภิปรายเรื่องการตัดการอุดหนุนสินค้าภาคเกษตรที่บิดเบือนการค้าเลย และทั้งที่เป็นเรื่องที่เอื้อประโยชน์ต่อประเทศพัฒนาแล้วอย่างเบ็ดเสร็จ กลับไม่มีประเทศในแอฟริกา ประเทศกลุ่มพัฒนาน้อยที่สุด และประเทศกำลังพัฒนาอื่นๆ ออกมาคัดค้านการครอบงำของสหรัฐอเมริกาอย่างเปิดเผย แม้ว่ามีประเทศกำลังพัฒนาสองสามประเทศแสดงความอึดอัดต่อร่างคำประกาศไนโรบีก็ตาม

การประชุมระดับรัฐมนตรีครั้งที่ 10 (MC10) ของ WTO ครั้งนี้ ทำให้เห็นชัดเจนว่า ประเทศกำลังพัฒนาต้องร่วมมือกันที่จะละทิ้งองค์การการค้าโลก และขุดหลุมฝังมันไว้ตลอดกาล

 

 

หมายเหตุ:  สรุปย่อจากบทความ “Developing Countries returns Empty Handed from WTO’s Nairobi Ministerial” โดยอัฟซาร์ จาฟรี จากองค์กร Focus on the Global South

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net