Skip to main content
sharethis

นักวิชาการสถาปัตยกรรม ชี้ผ่านมารัฐดำเนินนโยบายที่อยู่อาศัยในเมือง เอื้อชนชั้นกลาง ปล่อยกลไกตลาดทำงาน คนจนเมืองกลายเป็นผู้รับเคราะห์ แนะรัฐต้องรสร้างทางเลือกให้คนจน

26 ธ.ค. 2558 เครือข่ายวิชาการเพื่อพัฒนาพื้นที่ริมคลอง รายงานว่า ผศ.ดร.อภิวัฒน์ รัตนวราหะ อาจารย์ภาควิชาการวางแผนภาคและเมือง คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้เขียนหนังสือ ‘ปริทัศน์สถานภาพความรู้ เศรษฐกิจที่ดินของประเทศไทย’ อธิบายว่า ปัญหาการเข้าถึงที่ดินของคนจนในเมือง สะท้อนการเปลี่ยนแปลงของนโยบายของรัฐในเรื่องที่ดินกับที่อยู่อาศัยในเมือง โดยเมื่อก่อนรัฐค่อนข้างจะเป็นตัวหลักในการจัดหาที่ดิน และที่อยู่อาศัยให้กับคนที่ด้อยโอกาส

อภิวัฒน์ กล่าวเชิงตั้งข้อสังเกตว่า คนด้อยโอกาสอาจจะไม่ใช่คนจนจริง เพราะคนจนเมื่อก่อนอยู่ในชนบทเป็นหลัก นโยบายที่ดินสำหรับคนจนสมัยก่อนจะไปพร้อมกับนโยบายที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ดังนั้น ที่ดินสมัยก่อนเวลาพูดถึงที่ดินในเมืองและที่อยู่อาศัยจึงรู้สึกว่าเป็นนโยบายสำหรับชนชั้นกลาง สิ่งที่ปรากฏชัดเจนคือ ที่อยู่อาศัยและที่ดินในเมืองถูกปล่อยให้เป็นหน้าที่ของกลไกตลาดในการจัดสรร ซึ่งคนที่แบกรับภาระคือ คนจนเมือง

“คนจนในเมืองก็ต้องเป็นคนรับเคราะห์ ตลาดจัดสรรให้เท่าไหร่ก็แค่นั้น ส่วนคนที่หาไม่ได้ตามกลไกตลาดก็ต้องดิ้นรนไป ที่พูดแบบนี้ไม่ได้หมายความว่ากลไกตลาดเลวร้าย อันที่จริงกลไกตลาดช่วยให้เกิดการสร้างที่อยู่อาศัยจำนวนมากได้ดีกว่ารัฐ และช่วยคนจนได้ในระดับหนึ่ง แต่ต้องเป็นคนจนที่สามารถสร้างเนื้อสร้างตัวและมีกำลังซื้อในระดับหนึ่ง” อภิวัฒน์ กล่าว

อภิวัฒน์  เห็นว่า ปัญหาของกลไกตลาดอยู่ที่ การผลักให้ราคาที่ดินสูงมากขึ้น ที่อยู่อาศัยในราคาที่พอเอื้อมถึง จึงต้องขยับออกไปไกลจากตัวเมือง และแหล่งงาน ดังนั้นกลไกตลาดจึงทำให้คนเหล่านี้ไม่สามารถอยู่ใกล้ที่ทำงานได้ เพราะรัฐไม่ได้คิดไว้ก่อนว่าคนเหล่านี้ต้องอยู่ในเมือง จึงไม่มีที่ดินของรัฐในเมืองที่จะพัฒนาได้ สุดท้าย คนจนเมือง กลายเป็นเหยื่อของกลไกตลาด

“ตรงนี้เป็นหน้าที่ของรัฐที่จะต้องทำอะไรสักอย่างให้คนแหล่งงานได้ยังไม่รวมถึงคนที่อยู่ในชุมชนแออัดที่คุณภาพที่อยู่อาศัยและสิ่งแวดล้อมไม่ดีที่ยังไม่ได้รับการพัฒนา ซึ่งยังมีอยู่หลายแห่ง แต่รัฐและกลไกตลาดก็ไม่สามารถจัดการได้” อภิวัฒน์ กล่าว

ติดตามความเคลื่อนไหวได้ที่ เฟซบุ๊ก Khon-Kool-Klong

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net