นักวิชาการชี้ทางแก้ปัญหาสังคมญี่ปุ่น ควรมองไกลกว่าเรื่อง 'แต่งงาน'

<--break- />

เมื่อวันที่ 25 ธ.ค. 2558 ลอรา เดลส์ อาจารย์ด้านเอเชียศึกษาจากมหาวิทยาลัยเวสเทิร์นออสเตรเลียเขียนบทความเกี่ยวกับประเทศญี่ปุ่นในประเด็นเรื่องเพศสภาพโดยชวนสำรวจเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างคู่รักญี่ปุ่นและการแต่งงานที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับทั้งสภาพทางเศรษฐกิจและแนวคิดทางวัฒนธรรม

เดลส์ระบุว่าเวลาพูดถึงเรื่องเพศในญี่ปุ่นมักจะมีแต่การพูดถึงเรื่องที่สุดโต่งไปในทางใดทางหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นความสุดโต่งเชิงการแสดงออกทางเพศ หรือความสุดโต่งในเรื่องการไม่ยุ่งเกี่ยวกับเรื่องเพศเลย แต่เดลส์ต้องการให้นักการเมืองและนักวิชาการญี่ปุ่นทำการสำรวจเรื่องเพศสภาพและเพศวิถีในญี่ปุ่นอย่างจริงจังในแง่มุมอื่นๆ บ้าง เพราะเป็นเรื่องที่มีความเกี่ยวข้องกับปัญหาประชากรและเผยให้เห็นความตึงเครียดในชีวิตประจำวันที่ชาวญี่ปุ่นทั่วไปต้องเผชิญ ทั้งหมดนี้จะส่งผลถึงทิศทางด้านการเมืองและเศรษฐกิจของญี่ปุ่นไปด้วย

ในบทความที่เขียนลงในวารสารอีสต์เอเชียฟอรัม เดลส์ระบุถึงประเด็นเรื่องการแต่งงาน การแต่งงานไม่ได้กลายเป็นบรรทัดฐานสากลของความสัมพันธ์อีกต่อไปแล้ว จากการเปรียบเทียบสถิติปี 2508 ที่มีผู้ชายอายุ 50 ที่ยังไม่ได้แต่งงานอยู่ร้อยละ 1.5 และมีผู้หญิงอายุ 50 ที่ยังไม่ได้แต่งงานอยู่ร้อยละ 2.5 ตัวเลขนี้เพิ่มสูงขึ้นอย่างมากจากการสำรวจปี 2553 โดยผู้ชายที่ไม่ได้แต่งงานเพิ่มสูงขึ้นร้อยละ 20 ส่วนผู้หญิงที่ไม่ได้แต่งงานเพิ่มสูงขึ้นร้อยละ 10 

บทความระบุต่อไปว่า นอกจากนี้คู่แต่งงานในญี่ปุ่นยังมีลูกด้วยกันน้อยลงกว่าในอดีตด้วย โดยจากการสำรวจในปี 2553 ระบุว่าคนที่แต่งงานแล้วในญี่ปุ่นมีลูกโดยเฉลี่ยราว 1.96 คนต่อคู่ มีบุคคลที่เกิดนอกสมรสเพียงร้อยละ 2.4 จากการเกิดทั้งหมด และการแต่งงานหลังมีการท้องก็เพิ่มมากขึ้น ดังนั้นสำหรับญี่ปุ่นแล้วการแต่งงานถึงสัมพันธ์กับการมีลูก เมื่อการแต่งงานลดลงการมีลูกก็จะลดลงไปด้วย

เดลส์ระบุว่าการที่ชาวญี่ปุ่นแต่งงานลดลงเป็นผลกระทบมาจากปัจจัยทางเศรษฐกิจอย่างเรื่องช่องว่างระหว่างฐานะทางสังคม ความรู้สึกไม่มั่นคงทางเศรษฐกิจ และการทำงานในระดับล่างๆ นอกจากนี้ยังมีปัจจัยเรื่องทัศนคติการมองการแต่งงานระหว่างชายกับหญิง ซึ่งมีความแตกต่างจากเดิมเมื่อเทียบกับช่วงยุคสมัยหลังสงครามโลกครั้งที่ 2

ในแง่เศรษฐกิจนั้นญี่ปุ่นประสบภาวะเศรษฐกิจถดถอยมานานกว่า 2 ทศวรรษ ทำให้รูปแบบความสัมพันธ์ที่ฝ่ายชายเป็นคนออกไปทำงานนอกบ้านใช้ไม่ได้ผลเหมือนเดิม และผู้ชายที่ทำงานในแบบลูกจ้างล่วงเวลาหรือในแบบการรับจ้างอิสระ (ฟรีสเตอร์) ก็ไม่สามารถเลี้ยงดูภรรยาได้จึงถูกกีดกันออกไปจากการแต่งงาน

เดลส์เสนอว่าควรจะแก้ปัญหาด้วยการลดช่องว่างการกีดกันคนที่ทำงานในระดับล่างจากความสามารถในการแต่งงาน มีการจัดการบทบาทการแต่งงานใหม่โดยให้ผู้หญิงมีบทบาทในการทำงานหารายได้มากขึ้น แต่ถึงแม้ว่านายกรัฐมนตรี ชินโซ อาเบะ จะมีนโยบาย 'วูเมนโนมิคส์' (womenomics) ที่ส่งเสริมการรับผู้หญิงร่วมทำงานเป็นลูกจ้างเต็มเวลามากขึ้น แต่นโยบายดังกล่าวก็ไม่ได้เล็งเห็นถึงเรื่องความไม่เท่าเทียมกันทางเพศ โดยผู้หญิงยังคงถูกใช้ให้ต้องดูแลปรนนิบัติสามีผู้ทำงานในโครงสร้างองค์กรที่เข้มงวดและไม่มีการผ่อนปรน นอกจากนี้ยังมีสภาพที่ผู้หญิงที่ต้องการแต่งงานมีครอบครัวแล้วยอมออกจากงานเพราะไม่มีสิ่งจูงใจมากพอให้ยังคงทำงานต่อไป

เดลส์ระบุในบทความว่า ผู้หญิงญี่ปุ่นที่ไม่แต่งงานก็ต้องเจอกับสภาพความยากลำบากจากที่ทำงานรวมถึงเรื่องช่องว่างรายได้ระหว่างลูกจ้างชายกับลูกจ้างหญิง ในขณะที่ผู้หญิงที่หย่าแล้วมีลูกต้องเลี้ยงดูก็มีความเสี่ยงเป็นพิเศษถึงแม้ว่าพวกเธอจะทำงานหลายชั่วโมงมากกว่าชายที่แต่งงานแล้วแต่ก็มักจะมีรายได้น้อยกว่า ส่วนผู้หญิงที่ทำงานในระดับผู้ชำนาญวิชาชีพก็มักจะมีแรงกดดันจากสังคมให้แต่งงานน้อยกว่าจึงมีแรงจูงใจน้อยกว่าที่อยากจะแต่งงาน

เดลส์วิเคราะห์ว่าการแต่งงานที่ลดลงแสดงให้เห็นว่าการกำกับจากสถาบันทางสังคมเป็นสิ่งที่ส่งผลต่อเรื่องการบีบให้คนเข้าสู่แรงงานและระดับการเจริญพันธุ์ของประชากร เดลส์จึงเสนอให้มีการมองไปไกลกว่าเรื่องการแต่งงานและไม่อยากให้มองว่าระดับประชากรในปัจจุบันของญี่ปุ่นจะทำให้สังคมญี่ปุ่นเสื่อมสลาย ในทางตรงกันข้ามมันจะกลายเป็นการเปิดทางให้เกิดความสัมพันธ์ทางครอบครัวและชุมชนรูปแบบใหม่ที่ไปไกลกว่าครอบครัวเดี่ยวที่เน้นการมีลูกแบบเดิม ขณะเดียวกันการไม่ได้แต่งงานหรือการหย่าร้างก็เปิดโอกาสให้มีการวางกรอบความคิดเกี่ยวกับเพศชายและเพศหญิงในศตวรรษที่ 21 กว้างขึ้นกว่าเดิม

บทความของเดลส์ชี้ให้เห็นว่าในสังคมญี่ปุ่นเริ่มมีความเปิดกว้างในเรื่องความหลากหลายทางเพศมากขึ้นอย่างน้อยก็ในระดับเอกชน ถึงแม้ว่ารัฐบาลอนุรักษ์นิยมของอาเบะจะไม่เปิดโอกาสให้มีการปฏิรูปกฎหมายการแต่งงานใหม่ แต่แขวงชิบุยะในกรุงโตเกียวก็มีท่าทีเปิดกว้างในเรื่องเพศสภาพมากขึ้นหลังจากที่ทางสำนักงานแขวงออกบทบัญญัติอนุญาตให้มีการรับรองความสัมพันธ์ของคู่รักเพศเดียวกันได้เป็นแห่งแรกของญี่ปุ่น นอกจากนี้บริษัทต่างๆ ก็เริ่มมีการฝึกอบรมพนักงานให้เข้าใจเรื่องความหลากหลายทางเพศและเป็นสปอนเซอร์หรือมีส่วนร่วมกับการจัดงานอย่าง 'โตเกียวเกย์ไพรด์พาเหรด' (Tokyo Gay Pride Parade) ซึ่งเป็นการเดินขบวนเพื่อแสดงออกให้มีการเปิดใจยอมรับความแตกต่างหลากหลายทางเพศสภาพและเพศวิถี ที่เรียกว่ากลุ่ม LGBTIQ (คือ เลสเบียน, เกย์, ไบเซ็กชวล, คนข้ามเพศ, ผู้มีสองเพศ, ผู้มีความแตกต่างหลากหลายทางเพศ)

เรื่องนี้ทำให้เดลส์มองว่าความสัมพันธ์แบบที่ไม่มีการแต่งงานควรได้รับการสนับสนุนทางนโยบายที่ไปไกลกว่าเรื่องการเพิ่มอัตราการเกิดแต่มีการตั้งอยู่บนหลักการความหลากหลากทางเพศ ซึ่งควรมีความใกล้เคียงกับกฎหมายพื้นฐานเพื่อสังคมที่มีความเสมอภาคทางเพศของญี่ปุ่น ในปี 2542 ในกฎหมายดังกล่าวมีการระบุเป้าหมายว่าต้องการให้เกิดสังคมที่ทั้งผู้หญิงและผู้ชายได้รับโอกาสเท่าเทียมกันในการเข้าร่วมกิจกรรมใดๆ ก็ตามที่พวกเขาอาสาในสถานะที่เท่าเทียมกันทางสังคม รวมถึงมีความรับผิดชอบร่วมกันและได้รับสิทธิหรือสวัสดิการด้านต่างๆ ทั้งด้านสังคม การเมือง เศรษฐกิจ และวัฒนธรรมอย่างเท่าเทียมกันด้วย

"การแต่งงานเป็นเพียงแค่การทำความเข้าใจชีวิตความสัมพันธ์แบบผู้ใหญ่ผ่านการมองเพียงแค่มุมเดียวเท่านั้น" เดลส์ระบุในบทความ 

"สำหรับกลุ่มคนที่ไม่เคยแต่งงาน กลุ่มผู้มีความแตกต่างหลากหลายทางเพศ คนที่ผ่านการหย่าร้าง และกลุ่มคนเป็นหม้ายในญี่ปุ่น ผู้มีความสัมพันธ์แบบไม่ได้แต่งงานหรือไม่ได้เป็นครอบครัว กลุ่มประชากรเหล่านี้ก็ชวนให้ทำความเข้าใจเพื่อศึกษาเรื่องความเป็นอยู่ที่ดีและการเป็นส่วนรวมในสังคมเช่นกัน" เดลส์ระบุในบทความ 

เดลส์ยกตัวอย่างข้อเสนอการออกนโยบายใหม่ๆ เพื่อรับกับสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปพร้อมกับรองรับผู้สูงอายุและกลุ่มคนชายขอบทางเศรษฐกิจ เช่น โครงการให้มีการเช่าบ้านร่วมกัน หรือโครงการดูแลผู้สูงอายุโดยให้กลุ่ม LGBTIQ มีส่วนร่วมและเคารพในความหลากหลายของพวกเขา

 

เรียบเรียงจาก

Moving beyond marriage in Japan, Laura Dales, East Asia Forum, 09-12-2015

http://www.eastasiaforum.org/2015/12/09/moving-beyond-marriage-in-japan/

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท