Skip to main content
sharethis

สัมภาษณ์พิเศษครอบครัวนีละไพจิตรก่อนศาลฎีกากำหนดอ่านคำพิพากษาพรุ่งนี้ 29 ธันวาคม 2558 ในคดีอุ้มหายทนายสมชาย นีละไพจิตร กว่า 11 ปีที่คดีอุ้มหายหรือการบังคับสูญหายโดยรัฐของทนายสมชายยังคงยืดเยื้อและมีการผลักดันให้เกิดกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการอุ้มหายอย่างต่อเนื่อง

ปัจจุบันประเทศไทยยังไม่ได้บังคับใช้กฎหมายที่ทำให้การบังคับให้บุคคลสูญหายเป็นอาชญากรรม แต่รับรู้ในฐานะของการฆาตกรรม กล่าวคือต้องมีการพบศพหรือชิ้นส่วนของผู้ตายก่อน จึงทำให้คดีของทนายสมชายซึ่งไม่มีการพบศพหรือชิ้นส่วนใดๆ ไม่ได้รับการรับรองว่าเป็นผู้ถูกบังคับสูญหายและยังไม่มีการนำตัวผู้กระทำผิดมาดำเนินคดี

‘ประทับจิต นีละไพจิตร’ หรือแบ๋น ลูกสาวทนายสมชาย เธอและครอบครัวผลักดันกฎหมายเกี่ยวกับการอุ้มหายอย่างต่อเนื่อง เราสัมภาษณ์เธอถึงมุมมองที่มีต่อพ่อและคดีของพ่อในมิติการอุ้มหายกับความสัมพันธ์ของครอบครัว


‘ประทับจิต นีละไพจิตร’ในงานรณรงค์ปักหมุด ‘ที่นี่มีคนหาย’ ครบรอบ 11 ปี
ทนายสมชายถูกอุ้มหาย วันที่ 12 มีนาคม 2558
ที่มา : ประทับจิต นีละไพจิตร

ตอนนี้พบปัญหาอะไรเกี่ยวกับคดีบ้าง
ตอนนี้อยู่ในขั้นการพิจารณา ข้อหาที่อยู่ในชั้นศาลที่กำลังจะอ่านคำพิพากษาก็ไม่ใช่ข้อหาการบังคับสูญหาย เป็นแค่เพียงข้อหาปล้นทรัพย์และกักขังหน่วงเหนี่ยวและทำให้ขาดอิสรภาพ สำหรับเราเราคิดว่าไม่ใช่เฉพาะปัญหาของคดีนี้ แต่มันเป็นสภาพโดยรวมของปัญหาการบังคับบุคคลสูญหายของประเทศไทย เพราะเรายังไม่มีกฎหมายที่บอกว่าการบังคับบุคคลสูญหายเป็นความผิดทางอาญา โดยเฉพาะกรณีที่เจ้าหน้าที่รัฐเป็นคนทำ

คิดว่าสาเหตุอะไรทำให้ไทยยังไม่ลงสัตยาบันในอนุสัญญา ‘อุ้มหาย’
เราคิดว่าในส่วนที่ยังติดขัดอยู่ก็คือ ความกังวลใจว่าเจ้าหน้าที่จะถูกดำเนินคดีและเป็นความกลัวมากกว่า กลัวว่าการเปลี่ยนแปลงจะก่อให้เกิดผลกระทบ หากมีกฎหมายฉบับนี้ มันจะสามารถเปลี่ยนอะไรหลายอย่าง สำคัญคือจะเปลี่ยนโครงสร้างและความสัมพันธ์ทางสังคม เพราะก่อนหน้านี้ไม่เคยมีเจ้าหน้าที่รัฐคนไหนเลยที่ถูกพิจารณาคดี ถูกตัดสินคดีว่ามีความผิดในการอุ้มบุคคลสูญหาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเจ้าหน้าที่รัฐตำแหน่งสูง เรามองว่ามันน่าจะเป็นความกลัวว่าจะมีการใช้กฎหมายที่กำลังจะเกิดขึ้น กังวลว่ากินความแค่ไหนหรือทำลายความสัมพันธ์แบบเดิมที่มันเกิดขึ้นมากแค่ไหน

หลายๆ ประเทศก็ต้องการความกล้าหาญของรัฐ ต้องมีเจตจำนง มีมุมมองทางการเมืองว่าต้องการมาตรฐานแบบไหน ความสัมพันธ์แบบไหนระหว่างรัฐและประชาชน ส่วนนี้ในต่างประเทศเกิดขึ้นจากสองอย่าง คือ หนึ่ง-รัฐมีความเข้มแข็ง มีการเปลี่ยนผ่านทางการเมืองและผู้นำรุ่นใหม่ที่เป็นประชาธิปไตยก็มีความตั้งใจจริงที่จะแก้ปัญหา มีความเป็นผู้นำ  ส่วนที่สอง-คือการผลักดันจากกลุ่มญาติและคนในสังคม สำหรับในประเทศไทยอาจจะยากหน่อยสำหรับกลุ่มญาติเพราะว่าเป้าหมายของการทำให้บุคคลสูญหายนั้นทำให้เกิดความกลัวปกคลุมอยู่ทั่วไป แต่เราก็ยังพอเห็นความหวังอยู่บ้าง ถ้ามีการรวมตัวของญาติและภาคประชาสังคม

ความคาดหวังต่อการพิจารณาคดีที่ศาลฎีกาในวันที่ 29 ธันวาคม 2558
หวังว่าศาลจะสร้างมาตรฐานเล็กๆ ให้ญาติ ให้ครอบครัว จากการประเมินคิดว่าน่าจะเกิดขึ้น และยอมให้ครอบครัวเป็นโจทก์ร่วม เพื่อให้สามารถฟ้องดำเนินคดีแทนคุณสมชายได้ถึงแม้จะหาตัวคุณสมชายไม่เจอก็ตาม

จริงๆ ในส่วนตัวตั้งแต่เริ่มคดีจนปัจจุบันไม่เคยคาดหวังจะให้มีการลงโทษหรือเอาผิดเอาตายอะไรใคร สิ่งที่เราต้องการคือมาตรฐาน การบังคับบุคคลสูญหายโดยเจ้าหน้าที่รัฐเป็นอาชญากรรมเป็นเรื่องที่รับไม่ได้ อย่างในกรณีต่างประเทศ เคสบุคคลสูญหายจะไม่ยุติการสอบสวนคดีง่ายๆ ซึ่งไทยก็ควรเป็นแบบนั้นเพราะอายุความ 20 ปีของคดีอาญามันยังทำอะไรไม่ได้ และหวังว่าดีเอสไอจะไม่ยุติการสอบสวนคดีนี้เพราะคดีนี้เป็นคดีพิเศษและอยากให้ดีเอสไอรับคดีพิเศษอีกหลายๆคดีเช่น คดีการบังคับสูญหายของคุณบิลลี่ พอละจี ด้วย

หลังจากการพิจารณาคดีหวังให้เกิดบรรทัดฐานอะไรในสังคม
หนึ่ง-อยากให้การบังคับสูญหายโดยเจ้าหน้าที่รัฐเป็นความผิดทางอาญา ถึงแม้จะเป็นเจ้าหน้าที่ทหารก็ต้องขึ้นศาลพลเรือนเพราะเป็นความผิดต่อเรื่องสิทธิมนุษยชน

สอง-ก็ไม่รู้จะไปไกลได้ขนาดนั้นไหม แต่อยากให้มีการพัฒนาระบบการควบคุมตัว จับกุม คุมขัง ซึ่งต้องเคารพสิทธิของผู้ถูกจับกุม ต้องไม่มีการคุมตัวใครโดยไม่มีหมาย จะต้องไม่มีการคุมตัวใครโดยไม่แจ้งให้ครอบครัวทราบถึงสภาพที่อยู่ จะต้องไม่มีการเก็บคนไว้ 7 วันโดยที่ไม่ไห้เข้าถึงญาติและทนายความ นอกจากนั้นจะต้องให้ญาติและทนายความเข้าเยี่ยมส่วนตัวได้
ในอนุสัญญาว่าด้วยบุคคลสูญหายและในกฎหมายที่มี มันครอบคลุมการป้องกันไม่ให้เกิดคนหาย เห็นได้ว่าช่วงที่มีการเกิดเหตุการณ์บังคับหายมากที่สุดคือช่วงที่มีการควบคุมตัวโดยไม่แจ้งว่าไปอยู่ที่ไหน เพราะฉะนั้นกฎหมายฉบับนี้และอนุสัญญานี้ของต่างประเทศจะอุดตั้งแต่ต้นทางว่าหากจะป้องกันบุคคลสูญหาย คุณจะต้องไม่เก็บคนไว้โดยที่ไม่บอกครอบครัว และหวังว่าจะสามารถนำไปสู่จุดที่กฎหมายพิเศษต่างๆ หรือกฎหมายเพื่อความมั่นคงต่างๆ ต้องรองรับกติกา อย่างน้อยถ้าไม่ยกเลิกก็ต้องรับรองสิทธิของผู้ต้องสงสัยหรือผู้ที่ถูกควบคุมตัว

ในเรื่องของบุคคลที่เข้ามาเป็นพยาน จะมีส่วนคุ้มครองเขาเหล่านั้นอย่างไร
ทั้งในเรื่องกฎหมายและคุ้มครองพยาน จะมีหน่วยงานหนึ่งที่เรียกว่า กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ ในส่วนนี้เราคิดว่าเป็นความก้าวหน้ามาก เหมือนงานนี้เป็นการแสดงเจตจำนงเล็กๆ ทางการเมือง ซึ่งเกิดขึ้นจากการผลักดันของภาคประชาสังคมไทยและนานาชาติ

ตอนนี้การคุ้มครองพยานของไทยยังไม่เข้มแข็งและยังไม่ทั่วถึง โดยเฉพาะคดีที่เจ้าหน้าที่รัฐเป็นคู่กรณี คำว่า ‘ยังไม่เข้มแข็ง’หมายความว่า การช่วยเหลือคุ้มครองพยานยังเป็นการรวมศูนย์อยู่ อย่างในกรณีที่ตำรวจซึ่งเป็นหน่วยงานที่ใกล้ชิดกับประชาชนที่สุด ซึ่งส่วนมากเวลาจะคุ้มครองพยานคนก็ควรจะวิ่งไปที่ตำรวจใช่ไหม? แต่ตอนนี้ตำรวจเป็นส่วนหนึ่งของความไม่ไว้วางใจหรือว่าในบางกรณีของบุคคลสูญหายก็เป็นผู้บังคับสูญหายซะเอง

ในต่างจังหวัดก็แทบจะไม่มีตัวแทนหรือกลไกในระดับท้องถิ่นให้เข้าถึงได้ รวมทั้งไม่มีเจ้าหน้าที่ที่มีความรู้ความสามารถเพียงพอทางด้านสิทธิมนุษยชนและกฎหมาย จำเป็นต้องพัฒนาคนในส่วนนี้ เราคิดว่ารัฐบาลไม่ว่าจะรัฐบาลไหนก็ยังไม่เห็นคุณค่าของการลงทุนในแง่การพัฒนากลไกในด้านสิทธิมนุษยชน อีกหน่วยงานหนึ่งที่ไม่รู้จะหวังได้ไหม แต่เราต้องช่วยกันผลักดันคือกรรมการสิทธิ ก็คิดว่าจริงๆ น่าจะทำตัวให้เป็นกลไกที่มีความฉับไว รวดเร็ว หลักการในเรื่องการบังคับบุคคลสูญหายต้องน่าจะต้องมีความคล่องตัวเพราะการบังคับบุคคลสูญหายมันสามารถยุติหรือยับยั้งได้ง่ายๆ เลยจากการป้องกันตั้งแต่มีการจับกุม

ตอนนี้กฎหมายการคุ้มครองพยานก็ยังมีข้อถกเถียงอยู่ว่า พยานต้องหมายถึงคนที่เป็นพยาน คือให้การในศาลเท่านั้น มันก็ยังไม่ครอบคลุมมาถึงนักปกป้องสิทธิมนุษยชน ต้องเพิ่มความเข้มแข็งและอาศัยงบประมาณ ซึ่งยังไม่เห็นว่าหน่วยงานทางด้านสิทธิมนุษยชนได้รับการสนับสนุนในเรื่องเหล่านี้อย่างเพียงพอ

การถูกอุ้มหายไปของพ่อมีผลกระทบอย่างไรต่อครอบครัวบ้าง
ในด้านสภาพจิตใจก็แย่เหมือนกัน ลำบาก คือครอบครัวเปลี่ยนไปเลย ทั้งวิถีชีวิต ความหวาดระแวง ความเป็นห่วงเป็นใยกันและกันมันมีสูงขึ้น อย่างตอนก่อนที่พ่อจะหายก็มีการโทรศัพท์มาข่มขู่ หลังพ่อหายก็ดูเหมือนว่าบ้านเราก็กลายเป็นที่รับรู้ว่าอยู่ตรงไหน ดีตรงที่ว่ามันอยู่ในชุมชน แต่มันก็สร้างความหวาดระแวงขึ้นบ้างในครอบครัว การใช้ชีวิตมันก็ไม่ปกติร้อยเปอเซ็นต์เหมือนครอบครัวอื่นๆ แม้ว่ามันผ่านมาสิบปีแล้ว ดีขึ้นบ้างในเรื่องการปรับตัว แต่ในเรื่องความเป็นห่วงเป็นใยกันก็ยังมีอยู่พอสมควร

มีบางปี ในวันที่ไปฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ก็มีกระดูกวัวชิ้นใหญ่ตั้งอยู่หน้าบ้านพร้อมกับทรายเต็มไปหมด คือมันเป็นสัญลักษณ์ที่ไม่ค่อยดี เราคิดว่ามันเป็นการข่มขู่ ทุกอย่างมันก็เปลี่ยน โดยเฉพาะแม่มีความกังวลใจเรื่องความปลอดภัยของลูกๆ มากขึ้นพอสมควร

ก้าวข้ามความรู้สึกนั้นมาได้อย่างไร
ต้องอดทนนะ ก็ต้องบอกว่ามันมีหลายอย่างที่เกิดขึ้นในครอบครัวแล้วเราต้องรับสภาพความเปลี่ยนแปลงนั้น สิบปีมานี้ก็เปลี่ยนอะไรหลายๆ อย่าง  แต่ที่โชคดีที่สุดที่เปลี่ยนแปลงน้อยมากก็คือเรื่องภาระทางเศรษฐกิจในการดูแลครอบครัว เพราะว่าปกติก็ไม่ได้รวยไปกว่านี้ และไม่เคยมีหนี้สินมาก่อน ถ้าเปรียบเทียบกับครอบครัวอื่นๆ เราก็ถือว่าเราไม่มีภาระตรงนี้

ช่วยขยายความคำว่า ‘ภาระทางเศรษฐกิจ’ ที่เกิดขึ้นให้ฟังหน่อย
ด้วยกฎหมายไทยที่ทำให้เราไม่สามารถจะจัดการทรัพย์สินอะไรของพ่อได้ ซึ่งตรงนี้ครอบครัวเราไม่ได้มีผลกระทบมาก แต่ในอีกหลายๆครอบครัวที่อยู่ในชนบทจะมีปัญหาในเรื่องนี้มาก เช่น กรณีที่สามีเป็นนายกอบต.แล้วก็หายไป เงินในบัญชีที่เป็นเงินเดือนของอบต.ทั้งหมด ภรรยาไม่สามารถจะเบิกมาใช้ได้เลย เพราะสามีสูญหายไปแล้ว การดูแลครอบครัวมันจึงลำบาก เราจึงดำเนินการทางศาลแพ่งขอให้ประกาศว่าเป็นบุคคลสาบสูญ  โดยในกรณีทั่วไปต้องรอให้ครบ 5 ปีก่อนจึงจะสามารถไปดำเนินการทางแพ่งเพื่อประกาศให้เป็นบุคคลสาบสูญ อันนี้ก็เป็นผลอย่างหนึ่งในการที่เราไม่มีกฎหมายเรื่องบุคคลสูญหาย เราจึงต้องใช้มาตรฐานแบบคนหายทั่วไป ซึ่งต้องรอการพิสูจน์นาน

ดูเหมือนการอุ้มหายมีความคลางแคลงใจอะไรเกิดขึ้นที่ต่างจากการฆาตกรรมหรือคดีอาชญากรรมอื่นๆ
ในโลกวิชาการและเราเองก็เคยทำวิจัย พบว่าในต่างประเทศมีการทำวิจัยเป็นล่ำเป็นสันเลย แต่ว่าในไทยไม่มี ครอบครัวในต่างประเทศพยายามอธิบายการบังคับบุคคลหายเหล่านั้นให้สังคมฟังว่า มันไม่เหมือนการตายนะ เราเองก็พบเหมือนกันว่ามันไม่เหมือนการตาย

หนึ่งก็คือความทรมานจากการสวิงขึ้น-ลง ในวันหนึ่งมีความหวัง อีกวันก็สิ้นหวัง  อย่างช่วงแรกๆ ครอบครัวเรามันเกิดความหวังและความสิ้นหวังอยู่ตลอดเวลา วันหนึ่งเรารู้ว่าเขายังมีชีวิตอยู่ อีกวันก็รู้ว่าเขาตายไปแล้ว อันนี้ก็เป็นส่วนหนึ่งที่ต้องจัดการอารมณ์ภายในให้สามารถอยู่กับความหวังและหมดหวัง ในเวลาใกล้เคียงกันได้ มันขึ้นๆ ลงๆ อันนี้เป็นภาวะช่วงแรกทางจิตวิทยาที่ยากและหลายๆ คนจะต้องเจอ รวมทั้งครอบครัวเราด้วย

สอง ความหวังว่ายังมีชีวิตอยู่กับความผิดหวังว่าตายไปแล้ว อันนี้ก็เป็นสิ่งที่เราคิดว่ามันสวิงค่อนข้างรุนแรงแรงเหมือนกัน เท่าที่เจอในต่างประเทศมีพ่อแม่หลายคนฆ่าตัวตายเพราะความเครียดทางอารมณ์

สาม สำหรับครอบครัว เราคิดว่ามันมีความกังวลใจอีกอย่างหนึ่งคือความทางกดดันทางสังคม มุมมองที่สังคมมีต่อบุคคลสูญหาย โดยทั่วไปในสังคมโลกที่เขาเคยเป็นมาและในสังคมไทยมักสงสัยว่า เห้ย! ทำไมถึงหาย และโดยทั่วไปคนจะมองว่าที่คนหาย หายเพราะว่าไปมีปัญหากับรัฐ แล้วคนที่มีปัญหากับรัฐน่าจะไม่ใช่คนดี สำหรับครอบครัวเราก็มีบ้างในช่วงแรกๆ ที่มีการพูดว่า ‘สมชายน่าจะเป็นทนายโจร’ เพราะไปว่าความให้กับผู้ต้องหาในคดีระเบิดที่นราธิวาส ซึ่งเป็นการระเบิดใหญ่เกี่ยวเนื่องกับการแบ่งแยกดินแดน เราคิดว่าสิ่งนี้เป็นผลกระทบจากการที่สังคมมีมุมมองต่อผู้กระทำความผิด ที่ว่าผู้กระทำผิดสมควรได้รับการลงโทษโดยคิดว่า ‘หายไปก็คงไม่เป็นไร’ ครอบครัวเราก็ยังไม่เท่าไร ยังมีคนในภาคอื่นๆ ของประเทศที่เราได้ไปสัมผัสนั้นลำบากกว่ามากเพราะเขาแทบจะอยู่ในชุมชนไม่ได้เลย คนในชุมชนก็มองว่าเขาเป็นพวกโจร  เขาเป็นพวกขายยา อะไรแบบนี้ ซึ่งมันทำให้การใช้ชีวิตอยู่ในสังคมยิ่งยากเข้าไปอีก

การอุ้มหายมีเป้าหมายที่ตายตัวไหม
ส่วนมากเป้าหมายของการอุ้มจะเป็นผู้ชาย จึงทำให้ผู้หญิงและลูกเกิดความเครียด และก็ยังมีกรณีหนึ่งที่คนหายเป็นผู้หญิงจากภาคอีสาน ลูกเขาก็ต้องอยู่แบบลำบาก อันนี้เลยเป็นมุมมองที่เราคิดว่าเราต้องมีมาตรฐานร่วมกันแบบหนึ่งนะ ถ้าจะหยุดการบังคับบุคคลสูญหาย ใครก็ตามที่ถึงแม้จะดูว่าเหมือนสีเทาๆ เป็นคนไม่ดีในสายตาของเรา ไม่ว่าในเรื่องอะไรก็ตาม ควรจะต้องมีมาตรฐานให้เขา ว่าทุกคนต้องไม่ถูกทำแบบนี้ ทุกคนต้องไม่ถูกบังคับหาย ทุกคนต้องผ่านกระบวนการยุติธรรม 

อีกอย่างที่คิดว่าน่าสนใจสำหรับประเทศไทยคือความแตกต่างและความเชื่อทางด้านศาสนาและวัฒนธรรม ซึ่งส่งผลกระทบทางจิตใจ ในต่างจังหวัด ยิ่งถ้ากลุ่มผู้สูญหายเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ เขาจะมีความเชื่อว่าการตายแบบไม่ปกติ ไม่เป็นธรรมชาติ จะนำพาความโชคร้ายมาสู่ชมชนและสังคม ในหลายๆ ภูมิภาคของไทยการบังคับให้สูญหายจึงเป็นวิธีการชั้นดีที่ส่งผลให้ชุมชนแตกแยก เพราะทำให้มองกันและกันว่า หนึ่ง-เธอมีปัญหากับรัฐ สอง-เธอนำพาโชคร้ายมาสู่ชุมชน

แสดงว่าความเชื่อด้านศาสนาค่อนข้างมีบทบาทที่สำคัญต่อคดีอุ้มหาย
มันมีความซับซ้อนเมื่อเกี่ยวข้องกับมิติทางศาสนาและศีลธรรม การเฝ้ารอเพื่อจัดการในการ ‘จบ ยุติ หยุด ปิดฉากความสัมพันธ์’ เพื่อให้ชีวิตได้เริ่มใหม่ การทำพิธีศพ สวดศพ เผาศพ ละหมาดหรืออะไรก็ตาม มันช่วยในทางจิตใจให้เราจบกับคนที่หาย แต่พอไม่มีร่างกายก็เป็นหน้าที่เราที่ต้องไปดิ้นรนให้เกิดการประกอบพิธี

พิธีกรรมมันก็มีความสำคัญแค่ในแง่ทางจิตใจ มันทำให้จบกับคนหายเพื่อเริ่มต้นใหม่ได้ แต่พอไม่มีการทำพิธีกรรมหรือไม่สามารถทำได้ ความรู้สึกก็เลยขึ้นๆลงๆ มักจินตนาการไปถึงว่าใครทำเขา เขาตายในสภาพไหน เขาเจ็บมั้ย เขาคิดถึงอะไรอะไรแบบนี้ และโดยส่วนมากก็จะเจ็บปวดกับความคิดแบบนี้

ในส่วนของครอบครัวมีการจัดการเกี่ยวกับเรื่องทางศาสนาอย่างไร
โดยส่วนตัวเราอยากจะละหมาดมาก อยากทำพิธีแบบจริงจังเพื่อบอกลา เราคิดว่ามันสำคัญในแง่ความเป็นลูก พูดแล้วก็เศร้า มันก็แน่นอนว่าหลายๆ คนเวลาพ่อเสียชีวิตหรือคนในครอบครัวเสียชีวิตก็ไม่ได้บอกลา การมีพิธีกรรมจึงทำให้ได้บอกลา กรณีนี้ไม่มีศพ ไม่มีพิธีกรรม เราไม่ได้บอกลาเขา ไม่ได้ขอจบกับเขา (เสียงสั่นเครือ)

ครอบครัวเรายังตั้งใจให้ทนายสมชายยังคงสถานะของบุคคลสูญหายอยู่ ยังไม่จัดพิธีละหมาดเพราะต้องการใช้กรณีนี้ผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอะไรบางอย่าง ซึ่งเชื่อว่าน่าจะทำได้ เพื่อเป็นประโยชน์กับกรณีอื่นๆ

เราเชื่อว่าอีกหลายๆ ครอบครัว โดยเฉพาะในภาคใต้และอีสานก็ไม่ได้ทำพิธีศพเพราะการเผาก็ต้องมีศพเผา จะฝังก็ต้องมีเศษซากอะไรบางอย่างหรือศพฝัง แนวคิดนี้ก็คล้ายกับอีกหลายประเทศในเอเชีย

อะไรคือความท้าทายที่ครอบครัวต้องเจอ
มีความท้าทายมาก ในเรื่องมุมมองของสังคมที่มีต่อเหยื่อ อย่างเวลาเจอใครก็มักจะบอกว่า ‘อ้อ คนนี้ลูกสมชาย คนนี้เมียสมชาย’ คือการมีสังกัดมันทำให้ต้องเป็นของๆ คนนั้นคนนี้อยู่ตลอดเวลา แต่จริงๆ เราก็เป็นเรา และน่าสนใจมากตอนคุณอังคณาเป็นกรรมการสิทธิ การเปิดรับของสังคมเมื่อเหยื่อมาทำหน้าที่เป็นตัวแสดง จากนิ่งเงียบมาปฏิบัติ จึงเป็นความท้าทาย มันมีทั้งความคาดหวัง มีทั้งความอึดอัดใจ เพราะคนส่วนใหญ่ในสังคมไทยมักคิดว่าเหยื่อต้องเป็นตัวแทนในเรื่องของตัวเอง จริงๆ ตัวเราเองเราก็คาดหวังอะไรในระดับหนึ่ง ส่วนคนในสังคมก็คาดหวังเราด้วย ทั้งเรียกร้องให้เราทำแต่ก็มีความไม่มั่นใจ ไม่เชื่อใจเหยื่อ ซึ่งเป็นสถานการณ์ที่น่าสนใจและเป็นมิติใหม่ในโจทย์ของ10 ปีข้างหน้า

จากเหยื่อมาเป็นผู้แสดง ทำให้เกิดข้อได้เปรียบอย่างไร
ได้เปรียบในแง่แรงบันดาลใจ ในการไม่หยุดทำงานและเชื่อว่าเหยื่อในสังคมไทยน่าจะเป็นผู้นำที่ดี เพราะแต่ละคนมีข้อความที่สำคัญคือ ‘ขอให้ยุติที่กรณีเราเถอะ’ ‘ขอให้เป็นคนสุดท้ายเถอะ’ นัยยะหรือคำพูดแบบนี้มันสำคัญ ซึ่งคนในสังคมชอบตีความว่า ‘ดราม่า’ สำหรับเราเมื่อได้ยินเรื่องการจับกุมหรือการอุ้มมันเหมือนโดนดึงกลับไปที่จุดเดิม จุดที่พ่อถูกทำให้หายไปและเกิดความรู้สึกว่า การหายไปของคนๆ หนึ่งไม่ได้มีค่าเลยหรอสำหรับการยุติการบังคับหาย

สังคมไทยน่าจะเปิดโอกาสให้เหยื่อได้มีที่ทางในการทำงานเรื่องนี้ ยังมีหลายคนต้องการการสนับสนุน เช่นกรณีชุมนุม จะมีฝ่ายหนึ่งเป็นเหยื่อ คนก็เชียร์และช่วยเหลืออยู่ฝ่ายเดียว เลยเสียโอกาสในการรวมสังคม หนำซ้ำยังเกิดการสลายขั้วแยกกันไป คิดว่าคนที่เป็นเหยื่อจริงๆ น่าจะลุกขึ้นมาสลายกำแพง สลายความเข้าใจผิดเพราะถ้าเราปกป้องคุ้มครองกลุ่มคนกลุ่มเดียว มันไม่มีทางเป็นไปได้ มันต้องหามาตรฐานที่จะคุ้มครองคนทุกคนเข้าด้วยกัน

ตัวอย่างเหยื่อที่ไม่ค่อยมีคนพูดถึงอย่างพยาน เป็นอย่างไรบ้าง
เคสที่แย่ที่สุดที่คิดว่ารับไม่ได้เลย คือกรณีอับดุลเลาะห์ อาบูคารี ที่เป็นทั้งเหยื่อในการซ้อมทรมานและเป็นพยานคดีของตัวเองในคดีทนายสมชาย หนึ่ง-คือไม่มีการคุ้มครองพยานหรือมองมุมมองต่อคดีที่เกี่ยวข้องกับคดีอาญาในทางที่ดี สิ่งที่เจอคือในช่วงนั้นอับดุลเลาะห์ อาบูคารี ผิดหวังและอยู่ในความกลัวตลอดเวลาว่า การฟ้องเจ้าหน้าที่รัฐมันจะได้ผลแค่ไหน หลังจากนั้นเขาก็อยู่แบบลำบากเพราะการคุ้มครองพยานของดีเอสไอคือการให้เข้ามาอยู่ในกรุงเทพฯ ในห้องสี่เหลี่ยม ไม่ได้พบครอบครัว ไม่ได้ไปทำสวน ไม่ได้มีอาชีพอะไรเลย เขาตกอยู่ในสภาวะเครียดและหนีกลับบ้าน และถูกบังคับสูญหายในที่สุด ซึ่งในกรณีนี้อาจจะไม่เกี่ยวข้องกับเจ้าหน้าที่รัฐก็ได้ แต่ว่าดีเอสไอก็ไม่มีมาตรการที่จะลงไปดูยังสามจังหวัดชายแดนใต้ การติดตามก็เลยไม่มี ปีถัดมาภรรยาเขาถูกยิงหน้าบ้านเสียชีวิต ทิ้งลูกสองคนอยู่กับยายแก่ๆ  ซึ่งเราก็ไม่รู้ว่าเขาจะดูแลเด็กกันได้ยังไง แน่นอนว่าเด็กทั้งสองนั้นซึมเศร้า คิดถึงแม่เพราะเขาอยู่กับแม่มาตลอด เราพยายามไปเจอกับลูกของเขาทุกปี บรรยายไม่ถูกในภาพที่เห็น พ่อและแม่ซึ่งเป็นคนสองคนที่ตัวเล็กๆ และไม่เคยมีใครรู้จักพวกเขามาก่อนแต่จริงๆ แล้วคนในสังคมสามารถช่วยเขาได้ แต่ก็ไม่ทันได้ช่วย

แสดงว่านอกจากปัญหาการอุ้มหายจะส่งผลในปัจจุบันแล้ว ยังส่งผลถึงคนรุ่นต่อไปในอนาคตด้วย
ยังมีเด็กอีกมากในสังคมที่กำลังโตและรอคอยคำอธิบายจากผู้ใหญ่ว่าพ่อแม่อยู่ไหน? พ่อแม่เป็นอะไร? มันเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อนมาก และที่สำคัญคือผู้หญิงจำนวนมากที่เป็นภรรยาของคนหายมักมีความกังวลใจในเรื่องของการอธิบายเมื่อลูกโต ว่า ‘หายไปคืออะไร หายไปแปลว่าอะไร’

จากที่คุยกับนักจิตวิทยา พบว่าไม่มีทางไหนดีเท่ากับการบอกเด็กตรงๆ เด็กบางคนที่ใต้เห็นเหตุการณ์ด้วยซ้ำไป ว่ามีคนเข้ามาในบ้านตอนกลางคืนและเอาพ่อไป ส่วนหนึ่งที่ครอบครัวเรายังอยู่กันได้เพราะแม่จะคอยบอกความจริงเสมอว่าตอนนี้มันเกิดอะไรขึ้น ตั้งแต่มีการขู่ก่อนที่พ่อจะหาย เราคิดว่าไม่มีอะไรดีเท่ากับความจริง

จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงต่อชุมชนที่อยู่อาศัยอย่างไร
เขาก็ตกใจพร้อมๆ กับปรับตัว โชคดีอย่างหนึ่งคือเราอยู่ในชุมชนนี้มาตั้งแต่เด็ก คุณตาก็อยู่แถวนี้มาตั้งแต่ไหนแต่ไร คนแถวนี้รู้จักพ่อเป็นอย่างดีเพราะพ่อชอบพูดคุย คุ้นเคยและรู้จักกันมาสิบปีแล้ว เราคิดว่าเขาเข้าใจเพราะเราไม่ได้มีปัญหาหรือทำความเดือดร้อนให้กับชุมชน ไม่ได้ถึงขนาดมาให้กำลังใจถือธงเชียร์อะไรแบบนั้น แต่ว่าเขาจะไม่ตกใจเวลาที่เรามีนักข่าวหรือรถนักข่าวมาที่บ้าน โชคดีอีกอย่างที่ทุกวันนี้ลูกความพ่อยังมีน้ำจิตน้ำใจคิดถึงส่งข้าวมาให้ทุกปี เราคิดว่านี่เป็นการอดทนอดกลั้นต่อกันในชุมชน รวมทั้งโชคดีตรงที่มันค่อนข้างเคลียร์ว่าพ่อทำงานอะไร การตั้งข้อสงสัยในทางที่ไม่ดีมันก็ไม่มี

แสดงว่าชุมชนที่อยู่อาศัยก็เป็นปัจจัยที่สำคัญที่ส่งเสริมการต่อสู้ของครอบครัว
ใช่ โดยเฉพาะผู้หญิง ความเข้าใจของชุมชนมีผลสูงมาก ผู้หญิงบางคนสามีหายไปตั้งแต่แต่งงานกันได้คืนเดียว ถูกจับออกจากบ้านไป บางคนจึงตัดสินใจแต่งงานใหม่ แต่ส่วนมากผู้หญิงเหล่านี้มักย้ายกลับมาอยู่กับครอบครัวตนเองและได้รับความเข้าอกเข้าใจ แต่ประเด็นที่สำคัญคือยังมีความยากลำบากของผู้หญิงหลายคนที่ต้องแบกรับภาระเลี้ยงลูก
ความเปลี่ยนแปลงโดยรวมใน 11 ปีที่ผ่านมา มีอะไรบ้าง

สิ่งที่ไม่เคยคิดว่าจะเกิดขึ้นเลยคือ เมื่อก่อนรู้สึกเหนื่อย เหนื่อยเพราะว่าทุกปีเราต้องเป็นคนจัดการเอง แต่ว่าในปีนี้เมื่อทำงานในเชิงรณรงค์มากขึ้น ทำงานกับผู้คน ให้ความรู้ผู้คน เดินเข้าไปหาคนที่ทำงานหลากหลาย เช่นศิลปิน เพราะคิดว่ามันควรเป็นประเด็นที่ต้องอาศัยสังคม เราพบว่าเรื่องที่พูดได้ยาก เรื่องที่ไม่รู้จะทำให้ใครเข้าใจได้ยังไง หรือเรื่องความรู้สึกแบบขึ้นๆ ลงๆ และการให้สังคมตระหนักว่า ‘เฮ้ย หายไม่เหมือนตายนะ’ มันรุนแรงกว่ายังไง ตรงนี้เราคิดว่าศิลปะมันเวิร์ค
ปีนี้ที่สถาบันสิทธิฯ เป็นคนจัดคือกิจกรรม ‘ปรากฏ-การหาย’ รู้สึกดีใจที่มีคนรุ่นใหม่เข้ามาสนใจมากขึ้น นี่แหละเป็นความหวังของครอบครัว รวมทั้งครอบครัวอื่นๆ ตัวเราเองก็หายเหนื่อย

แล้ว 11 ปีที่ผ่านมา สังคมเปลี่ยนแปลงไปอย่างไรบ้าง
อย่างกรณีของคุณธเนตร (อนันตวงษ์) พอคนโวยวายกันมากๆ จากหลายเสียงทั้งในประเทศและต่างประเทศ มันก็หยุดได้และปล่อยตัว

ก่อนนี้เท่าที่ทำงานมาไม่มีใครในสังคมไทยรู้จักคำว่า ‘การบังคับบุคคลสูญหาย’ มีแค่คำว่า ‘หาย’ แต่ตอนนี้คนใช้คำ ‘บังคับหาย’ ‘บังคับให้สูญหาย’ กันมากขึ้น แสดงว่าคนตื่นตัวเรื่องนี้กันมากขึ้น ซึ่งบทบาทสื่อมวลชนนั้นสำคัญมากที่จะกระตุ้นให้คนรับรู้ว่านี้มันคือการ ‘อุ้ม’ ไม่ใช่หายไปเฉยๆ มันทำให้คนไม่กลัวที่จะรายงานหากอนาคตมีเหตุการณ์เกิดขึ้น เพราะส่วนมากเรื่องคนหายต้องเริ่มจากคนในครอบครัวไปแจ้งความหรือทำอะไรสักอย่าง

เหตุการณ์นี้มีผลอะไรต่อตนเองไหม ทั้งในด้านความฝัน การใช้ชีวิตและเป้าหมายในชีวิต
ก็นิดหน่อย เป็นเรื่องความรู้สึกผูกพันกับพ่อ ในฐานะลูกก็อยากบอกว่า ‘ไม่อยากอยู่ในสภาพนี้’ ก็เหมือนลูกทุกคนที่อยากมีพ่อเพราะในตอนนี้ เราโตขึ้นและทำงาน มีประเด็นทางสังคมมากมายที่เราอยากจะพูดคุยกับเขา

ในขณะเดียวกันก็รู้สึกขอบคุณสถานการณ์ ขอบคุณพระผู้เป็นเจ้าที่มอบสถานการณ์แบบนี้มาให้ ถ้าไม่มีสถานการณ์นี้ก็ไม่รู้เหมือนกันว่าจะเป็นยังไง เราอาจจะเป็นเด็กชนชั้นกลางต่อไป เมื่อก่อนฟังเรื่องอุ้มหายที่พ่อเล่าเกี่ยวกับภาคใต้ เรายังตั้งคำถามว่าจริงหรอ? และคิดว่าตัวเองไม่มีทางเจอสถานการณ์แบบนั้น  เราอาจจะอยากช่วยเหลือคนในสังคมก็จริง แต่ก็อาจจะช่วยเหลือในรูปแบบของการสงเคราะห์บวกกับความเข้าใจที่เป็นมายาคติหลายๆ อย่างของคนเมือง

เป็นจุดเปลี่ยนในการเรียนและทำงานด้วยไหม
มีความสนใจส่วนตัวอยู่แล้วในการเลือกเรียนรัฐศาสตร์ แต่พ่อก็ไม่ชอบให้เรียนเพราะมันดูฟุ้งๆ(หัวเราะ) ก็ไม่ได้เปลี่ยนความหวังอะไรในชีวิตมากนัก ระยะหนึ่งเคยได้ทำงานเป็นครู คิดว่าเป็นโอกาสที่ดีที่ได้เป็นส่วนหนึ่งในการนำวาทกรรมเรื่องสิทธิมนุษยชนเข้ามาสู่สังคมไทย เผลอๆ สถานการณ์นี้มันทำให้เราสามารถช่วยงานพ่อได้มากกว่าเดิมด้วย เรามักนำเรื่องราวของพ่อมาสะท้อนว่าเป็นยังไง แต่ไม่เคยพูดถึงพ่อในแง่ฮีโร่หรือแสนดีเลย

ปัญหาอย่างหนึ่งในคนรุ่นพ่อเกี่ยวกับการทำงานด้านสิทธิมนุษยชนที่เจอคือไม่มีแนวร่วมเลย ไม่มีการทำงานรณรงค์ ไม่มีการดูแลเรื่องความปลอดภัยของตัวเอง เราคิดว่าควรจะต้องทำงานรณรงค์ควบคู่กันไปเพราะแรงความคิดหรือทัศนคติคนนี่แหละที่จะช่วยเสริมงานด้านสิทธิมนุษยชนได้มากขึ้น

การทำงานด้านนี้ทำให้ครอบครัวมีจุดยืนต่อสถานการณ์ต่างๆ อย่างไร
โชคดีที่พ่อกับแม่เคยทำงานเรื่องสิทธิอยู่แล้วตั้งแต่สมัยเป็นนักศึกษา ทั้งสองคนสนใจประเด็นสังคม เขาเล่าเรื่องงานให้เราสนใจเกี่ยวกับงานของเขา คิดว่าเป็นครอบครัวที่มีอุดมการณ์เหมือนกันนะ (หัวเราะ) คือถูกสอนด้วยอุดมการณ์ พ่อให้ดูข่าวเวลากินข้าวและร่วมกันวิพากษ์วิจารณ์ เรานับถือพ่อตรงที่เขาเปิดโอกาสให้ผู้หญิงในครอบครัวแสดงความคิดเห็นในเรื่องต่างๆ

การที่ทุกคนรับรู้เรื่องของพ่อ นับถือพ่อ เลยทำให้ครอบครัวของเราไม่เปลี่ยนไปมาก เรามาถึงทุกวันนี้ได้เพราะทุกคนในครอบครัวให้การสนับสนุนจริงๆ

ความรู้สึกในวัยเด็กของประทับจิตเป็นอย่างไรบ้าง
มันก็นานแล้วเนอะ ตั้งแต่อยู่ประถมที่เริ่มรู้สึกว่าชีวิตเราไม่ปกติ เราก็ใช้ชีวิตปกติจนวันหนึ่งที่แม่พูดว่า ‘รู้มั้ยว่ามีโทรศัพท์โทรมาขู่พ่อนะ’ ตอนนั้นเรารู้สึกรำคาญใจว่า ‘เห้ย นี่เราอยู่ในกรุงเทพฯนะ ทำไมเราอยู่แบบปกติไม่ได้ ทำไมเราจะต้องแปลก ทำไมเราจะต้องอยู่ด้วยความกลัว’ จะรู้สึกอึดอัดทุกทีเวลาที่ต้องอยู่ในความกลัวและเป็นคนแบบนี้มาตั้งแต่ไหนแต่ไร
อย่างตอนที่แม่บอกเรื่องพ่อหาย ตอนแรกก็ยังมีความหวังว่าอาจจะเจอ สิ่งที่ดีคือเรารู้ว่าพ่อทำงานอะไร เวลาพ่อออกทีวีหรือไปพูดอะไรที่ไหนเขาก็จะชอบเอามาให้เราดู เขียนอะไรลงหนังสือพิมพ์เขาก็จะมาให้เราอ่าน ซึ่งเราก็ชอบอ่าน เราเลยรู้จักงานที่เป็นคดีทางสังคมของเขา

วันที่พ่อหายแม่ทำหน้าที่ได้ดีมาก แม่กำหนดท่าทีและย้ำว่าต้องยอมรับผลที่พ่อตัดสินใจ ไม่ว่าจะเป็นสิ่งที่พ่อทำหรืองานที่พ่อทำ เราถึงได้รู้สึกว่าสิ่งที่ดีที่สุดคือการอยู่กับความจริง ไม่มีอะไรทำให้เราเข้มแข็งเท่ากับการได้รับความจริง ทุกครอบครัวปรารถนาที่จะทราบชะตากรรมของบุคคลสูญหายว่าบุคคลอันเป็นที่รักของตนเองอยู่ในสภาพไหนหรือว่าตายอย่างไร ใครเป็นผู้กระทำ เพราะว่ามันไม่มีอะไรดีไปกว่าการได้รับทราบความจริงว่าเกิดอะไรขึ้นกับคนในครอบครัวของเรา
คุณพ่อในความทรงจำเป็นอย่างไร

พ่อเป็นลูกชาวนาชาวมุสลิมอยู่ที่หนองจอก เป็นคนขยันขันแข็ง ที่เขาสนใจงานด้านนี้เพราะเจอเหตุการณ์เอารัดเอาเปรียบชาวนาเรื่องที่ดิน รวมทั้งตัวทนายความเองก็เอารัดเอาเปรียบชาวนาโดยเรียกเงินแพงๆ พ่อเลยรู้สึกว่าตัวเองต้องทำอะไรสักอย่างเพื่อให้มันดีขึ้นกว่านี้ได้ ก็เลยคาดหวังว่าอยากเป็นทนายที่ช่วยคนจน

พ่อเรียนกฎหมายที่ม.รามฯ เรียนไปก็ฝึกงานไปที่สำนักงานกฎหมายณัฐ เศรษฐบุตร ฝึกตั้งแต่การเขียนคำร้อง กวาดถูสำนักงาน ถึงได้มาเริ่มทำงานจริงๆ จังๆ เขาจะบอกเราตลอดว่างานของเขาเป็นงานที่ไม่มั่นคง แม่เองก็รู้ว่างานของพ่อไม่มั่นคง เลยมีหน้าที่สำคัญคือเก็บเงิน แม่จะรู้ตัวเลยว่าพอได้เงินมาปุ๊ป ‘ต้องเก็บเงิน’

พ่อบอกเสมอว่าเขาจะทำงานบางส่วนอย่างเช่นคดีแพ่งที่ได้เงิน เพื่อเอาเงินตรงนี้มาจุนเจือครอบครัวและจะได้มีเงินทำทุนในการทำคดีที่ไม่ได้เงินซึ่งส่วนใหญ่ก็เป็นคดีอาญา เราแปลกใจนะว่าถ้ามองย้อนไปในอดีต พ่อก็เป็นคนที่มีหัวก้าวหน้าคนหนึ่ง(หัวเราะ) เขาทำงานกับคนที่เป็นจำเลยและเห็นทุกเสียงของทุกคนสำคัญ รวมทั้งคนที่สังคมมองว่าเลว แต่ในปัจจุบันมันก็ยังไม่ถึงไหนเพราะยังต้องการความเข้าใจอีกมากของสังคม

คิดว่าพ่อวาดฝันในอนาคตอย่างไร
เราคิดว่าไม่ได้ต่างจากวันนี้ที่พ่อทำ คือเขาอยากจะให้กฎหมายในเรื่องความยุติธรรม ในกระบวนการยุติธรรมนั้นแก้ปัญหา

หนึ่ง- คือสิทธิขั้นพื้นฐานของคนทั่วไป เราคิดว่าเขาพยายามยืนยันในจุดนี้ โดยเฉพาะสิทธิของผู้ต้องหา

สอง-สำหรับเราเขาพยายามจะเปลี่ยนแปลงโครงสร้างสังคมแบบ ‘เจ้าหน้าที่ไม่เคยผิด’ คืออยากให้มีมาตรฐานเกี่ยวกับการกระทำผิดของเจ้าหน้าที่รัฐ ถึงได้ตัดสินใจส่งข้อร้องเรียนเรื่องซ้อมทรมานไปให้เจ้าหน้าที่รัฐหลายๆ สำนักและนั่นจึงทำให้เขาหายไป

ที่สำคัญที่สุดในฐานะมุสลิมคนหนึ่ง เป้าหมายของพ่อคือการให้สังคมอยู่ได้โดยมีความหลากหลาย เขาพยายามดิ้นรนให้มีพ.ร.บ.ที่ดูแลเรื่องการใช้ชีวิตความเป็นอยู่ของชาวมุสลิมในประเทศไทยอีกด้วย

 

 

ย้อนรอยคดีอุ้มหายทนายสมชาย นีละไพจิตร

12 มีนาคม 2547 ทนายสมชายถูกอุ้มที่ถนนรามคำแหงเมื่อเวลาประมาณ 20.30 น.พยานคนหนึ่งเห็นทนายสมชายพูดกับชาย 5 คน หลังจากนั้นก็ไม่มีใครเจอทนายสมชายอีกเลย

เมษายน 2547 เจ้าหน้าที่ตำรวจ 5 คนถูกตั้งข้อหาปล้นและบังคับขืนใจ มีพยานชี้ตัว พ.ต.ต.เงิน ทองสุก ว่าเป็นผู้ผลักทนายสมชายเข้าไปในรถ

มกราคม 2549 ศาลชั้นต้นตัดสินว่ามี พ.ต.ต. เงิน เพียงคนเดียวที่กระทำความผิดฐานหน่วงเหนี่ยวและกักขังผู้อื่นให้เสียอิสรภาพ ซึ่งต่อมาได้รับการประกันตัว

มีนาคม 2549 ดีเอสไอค้นหาค้นหาหลักฐานในแม่น้ำแม่กลอง อ.บ้านโป่ง จังหวัดราชบุรีโดยงมค้นหาวัตถุพยานที่เป็นถังน้ำมันซึ่งเชื่อว่ามีการนำมาทิ้งหลังจากการเผาทำลายศพ แต่ก็คว้าน้ำเหลว

กันยายน 2551 พ.ต.ต. เงินหายตัวไป

ธันวาคม 2552  อับดุลเลาะห์ อาบูการีพยานและลูกความคดีถูกทรมานของทนายสมชายก็หายตัวไปด้วย

มีนาคม 2554 ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งยกฟ้องจำเลยคดีอุ้มทนายสมชายทั้งหมด เนื่องจากไม่มีหลักฐานเพียงพอ รวมทั้งมีคำสั่งว่า อังคณา  นีละไพจิตร ภรรยาทนายสมชาย ไม่สามารถเป็นโจทก์ร่วมแทนนายสมชายได้เพราะไม่สามารถยืนยันได้ว่านายสมชายถูกทำให้บาดเจ็บหรือสังหาร จนไม่สามารถทำการด้วยตัวเองได้

ธันวาคม 2556 ดีเอสไอประกาศว่าจะพิจารณาปิดคดี

พฤษภาคม 2557 ศาลฎีกาอ่านคำวินิจฉัยไม่รับหลักฐานบันทึกการใช้โทรศัพท์ที่ครอบครัวนีละ ไพจิตรยื่นเพิ่มเติมในชั้นฎีกา โดยให้เหตุผลว่า หลักฐานดังกล่าวไม่มีความน่าเชื่อถือ

ธันวาคม 2557 ดีเอสไออ้างว่าแฟ้มคดีนายสมชายหาย แต่ปรากฏภายหลังว่าข้ออ้างดังกล่าวไม่เป็นความจริง

29 ธันวาคม 2558 ศาลฎีกานัดฟังคำพิพากษาคดีการบังคับบุคคลสูญหาย ณ ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก

 

เรียบเรียงจาก 

อุ้มหายและการลอยนวลพ้นผิด: อาชญากรรมจากน้ำมือรัฐ
3 ปี การอุ้มหายสมชาย นีละไพจิตร

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net