Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis



ในห้วงของชีวิตการศึกษา ตั้งแต่วัยระดับประถม-มัธยมศึกษา มาจนถึงระดับมหาวิทยาลัย จะมีกิจกรรมหนึ่งๆที่ทั้งนักเรียน นักศึกษาต่างคุ้นเคยกันเป็นพิเศษ จากการปลูกฝัง ผลักดัน (หรือแม้แต่การบังคับ) ของบุคลากรในสถานศึกษานั้นก็คือ ‘การอ่านหนังสือ’ ในฐานะกรรมวิธีการเสริมสร้าง เพิ่มพูนและพัฒนาศักยภาพ-ขีดความสามารถ ของตัวนักเรียนนักศึกษาในรูปแบบหนึ่ง และอาจเป็นวิธีการในระดับพื้นฐานที่สุดวิธีหนึ่งต่อการจะได้มาซึ่งองค์ความรู้ในหลายๆชุดที่อาจเกิดขึ้นจากการถ่ายทอดประสบการณ์การทดลอง หรือจากแนวความคิดของผู้อื่น ที่เคยผ่านการทำกิจกรรมหรือการปฏิบัติสิ่งใดสิ่งหนึ่งมาก่อน แล้วนำมารวบรวมไว้ภายในหน้าหนังสือ

กิจกรรมการอ่านหนังสือจึงเป็นกิจกรรมชนิดหนึ่งที่คุ้นเคยของนักเรียน นักศึกษาในสถาบันศึกษาแห่งต่างๆ รวมถึงได้รับการแนะนำ และผลักดันให้นำไปใช้เป็นวิธีการพื้นฐานของการศึกษาค้นคว้าและใฝ่หา องค์ความรู้และประสบการณ์นานาชนิดที่กระจายอยู่มากมายจากทั่วทุกสารทิศภายในโลก ด้วยการลงทุนเพียงในราคาที่ย่อมเยา สบายกระเป๋า หรือสามารถเข้าถึงได้อย่างง่ายดาย แค่เพียงการเดินทางไปสู่ห้องสมุดหรือสถานที่เก็บเอกสารสาธารณะ

แต่สิ่งที่นักเรียน นักศึกษารวมถึงบุคคลภายนอกคนอื่นๆทั่วไปอาจจะยังไม่ค่อยคุ้นเคย คือ การอ่านหนังสือในรูปแบบที่ไม่ได้มีภาษาบ้านเกิด (mother tongue) ของตนเองอยู่ภายในตัวเล่ม โดยเฉพาะเมื่อผู้อ่านต้องเข้าสู่โลกของการอ่านที่มีแต่ตัวอักษรหรืออักขระภาษาอังกฤษ (เช่นเดียวกับภาษาอื่นๆที่นอกเหนือจากภาษาไทย) ภายในหนังสือ หรือ ตำราที่มีเนื้อหาเป็นสาระ ข้อมูล หรืองานทางวิชาการ เรียกกันติดเป็นภาษาปากว่าหนังสือประเภท ‘เท็กซ์บุค’ (textbook) โดยหนังสือประเภทดังกล่าวนี้ ส่วนใหญ่จะมีลักษณะสำคัญร่วมกันคือ รวบรวมเนื้อหา สาระ และข้อมูลทางวิชาการ (academic data) เอาไว้ภายในตัวเล่ม ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องแปลกแต่อย่างใด เพราะมันคือ ‘ตำรา’

ความคิดหรือทัศนคติ รวมถึงคำถามอันดับแรกๆที่ผู้อ่านมักจะสร้างมันให้เกิดขึ้นมานั้น คือ ทำไมคนเขียนถึงต้องเขียนแล้วอ่านเข้าใจ และเข้าถึงได้อย่างยากเย็น ไม่ว่าจะศัพท์ หรือแนวคิดทางวิชาการมากมาย ที่ล้วนแล้วแต่ไม่ใช่คำ หรือประโยคที่จะได้พบเจอหรือได้ใช้ในชีวิตประจำวันสักเท่าไร แถมศัพท์หรือแนวคิดบางชุดยังมีรูปร่างลักษณะที่คล้ายคลึงกับที่เคยใช้ในชีวิตประจำวันอีก (ผู้อ่านก็เลยอาจจะต้องเหนื่อยหรือถอนหายใจมากขึ้นไปอีก) ในส่วนนี้หากผู้อ่านเป็นผู้ที่มีพื้นเพ หรือ ฐานความแข็งแรงในทักษะด้านภาษาอังกฤษที่สูงขึ้นมาในระดับหนึ่ง ก็ถือเป็นโชคลาภหรือต้นทุนชีวิตของผู้นั้นไป ส่วนผู้ที่มีแนวโน้มจะลำบากคือ คนที่มีพื้นฐานภาษาอังกฤษในระดับปานกลาง หรือต่ำกว่าเส้นระดับความปานกลางลงมา

จากมุมมองและประสบการณ์ตรงส่วนตัวจากผู้เขียน ในฐานะเป็นผู้ที่ศึกษาและแวะเวียนสัญจรอยู่รอบๆ อาณาบริเวณของสาขาวิชาสังคมศาสตร์แล้ว ไม่ว่าจะมีพื้นฐานมามากหรือน้อย สำหรับคนที่ไม่คุ้นเคยกับการอ่านงานเขียน หรือตำราทางวิชาการ ก็เหมือนต้องเริ่มต้นนับจากเลข 1 ใหม่เช่นเดียวกัน ผู้เขียนเองก็เป็นหนึ่งในผู้ที่มีพื้นฐานทางภาษาอังกฤษในระดับปานกลาง (และอาจต่ำกว่าเส้นระดับความปานกลางลงมาด้วยในหลายๆโอกาส) สำหรับประสบการณ์เมื่อครั้งเข้าสู่โลกของการอ่านตำราในภาษาอังกฤษ ก็ต้องพบกับศัพท์ และประโยคมากมายที่ไม่สามารถทำความเข้าใจได้โดยง่าย

ณ ตอนนั้นผู้เขียนต้องพบกับความยากลำบากเป็นอย่างสูง เมื่อครั้งที่ผู้เขียนเข้าเรียนในชั้นปีที่ 1 ของการศึกษาระดับมหาวิทยาลัย ในสาขาวิชาทางด้านสังคมศาสตร์ (ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ) จากใบซิละบัส และรายการหนังสือที่จำเป็นต้องใช้อ่านประกอบการเรียนรายวิชาหนึ่งๆ ซึ่งอาจารย์ที่ปรึกษา (Adviser) ของผู้เขียนเป็นผู้บรรยาย ด้วยรายการหนังสือที่ต้องใช้อ่านเวลานั้น มีแต่ชื่อของหนังสือที่ไม่เคยรู้จัก ไม่เคยได้ยินชื่อมาก่อน และเมื่อลองไปค้นดูจากภายในห้องสมุดก็พบว่า รายชื่อหนังสือเหล่านั้นเป็นหนังสือประเภท textbook ผู้เขียนจำเป็นต้องใช้เวลาในการปรับตัวเข้าหา textbook รวมถึงสำนวนการเขียนมากมายที่จัดได้ว่าแปลกตาและไม่คุ้นเคยสำหรับผู้เขียนอยู่นานแรมปี

ผู้เขียนจึงเข้าใจกับความยากลำบากนั้นเป็นอย่างดี และอยากจะขอใช้โอกาสนี้ในการเขียนแนะนำนักเรียน นักศึกษา หรือแม้แต่บุคคลอื่นๆที่สนใจ  และมีความต้องการจะเริ่มต้นอ่านตำราประเภท textbook แต่กำลังมีความลังเลหรือเป็นกังวลว่าจะไม่สามารถทำความเข้าใจกับมันได้ ในเบื้องต้นเกี่ยวกับการรับมือกับตำราประเภท textbook หรืองานเขียนที่ใช้ภาษาอังกฤษเป็นส่วนประกอบหลัก อันดับแรกที่สำคัญที่สุดเลย คือ “ทำใจ” แต่ไม่ได้หมายความว่าให้ ” ถอดใจ” การจะเริ่มต้นฝึกฝน หรือ เอาชนะอุปสรรคด้านภาษานั้นไม่ใช่เรื่องง่ายๆ ที่จะมีวิธีการหนึ่งวิธีใดในการช่วยเหลือหรือปฏิบัติจนสำเร็จได้ในเวลาเฉียบพลันและรวดเร็ว ความก้าวหน้านั้นจะปะทุขึ้นมาได้ก็ต่อเมื่อท่านผลักตัวเองให้ตกลงไปอยู่ร่วมกับความยากลำบากนั้นๆ แล้วพยายามหาหนทางรับมือกันสิ่งนั้นอย่างแข็งขัน แต่เนื่องด้วยความที่ทุกๆคนนั้นอาจมีมุมมอง หรือทัศนคติที่แตกต่างกัน ไม่ว่าจะในด้านการเรียนรู้ หรือ ‘วิธี’ ที่จะใช้ในการแก้ปัญหา หรือรับมือกับความยากลำบากเหล่านั้น

หากท่านสามารถที่จะ “ทำใจ” ได้แล้ว ผู้เขียนก็ขออนุญาตหยิบยื่นเครื่องมือ หรือเทคนิคพื้นฐาน สำหรับท่านผู้อ่านที่ต้องการจะก้าวเข้าไปรับมือกับอุปสรรคทางภาษาที่ปรากฏอยู่ภายใน textbook ดังนี้

อันดับแรกเลย คือผู้เขียนแนะนำให้ผู้สนใจจะเริ่มต้นนั้น ลองนำงานเขียนประเภทวารสารวิชาการ หรือ academic journal ที่มีเนื้อหาเกี่ยวข้องกับรายวิชา ภาควิชา หรือสาขาที่ตนเองกำลังศึกษาอยู่ก่อน (มีเป็นจำนวนมาก และสามารถเข้าถึงได้จากภายในอินเตอร์เน็ตหรือเครือข่ายของมหาวิทยาลัย และห้องสมุดต่างๆทั่วประเทศ) เพราะข้อดี และจุดเด่นหลักๆของบทความในวารสารวิชาการ (ภาษาอังกฤษ) คือ มีการจัดเนื้อหา สาระที่ค่อนข้างสั้น เพียงประมาณ 30-40 หน้า หรืองานบางชิ้นก็มีความยาวเพียง 9-10 หน้า (มีน้อยชิ้นที่จะมีเนื้อหายาวมากกว่า 100 หน้า) มีการจัดเรียงประเด็น และใจความสำคัญได้ชัดเจน และกระชับ เป็นไปตามลำดับ ตั้งแต่บทนำ เนื้อหา และสรุป ในกรณีที่เนื้อหาของบทความ/งานเขียนมีแนวโน้มจะทำให้ผู้อ่านเข้าใจได้ยาก อาจมีการเพิ่มเชิงอรรถต่อท้ายบทความ เพื่อเพิ่มโอกาสในการทำความเข้าใจแก่ผู้อ่าน (เช่นเดียวกับใน textbook เล่มเขื่องๆ) และที่สำคัญเลยคือ ภาษาและถ้อยคำภายในงานเขียนประเภท journal จะไม่ค่อยยาก ต่อให้มีคำศัพท์เทคนิค (technical term) จำนวนมาก ก็จะถูกเขียนออกมาให้เข้าใจง่าย เพราะเป้าหมายหลักของ journal คือ เป็นพื้นที่ของการนำเสนอแนวคิดและประเด็นใหม่ๆให้แก่วงวิชาการ สำหรับการนำไปประยุกต์ใช้ต่อยอดในอนาคต จึงจำเป็นที่จะต้องได้รับการปรับ หรือแก้ไขเพื่อให้คนอ่านสามารถทำความเข้าใจได้ง่ายขึ้น และลดความซับซ้อนของตัวงานลง (ซึ่งตำราประเภท textbook บางเล่ม ก็อาจถูกเขียนขึ้นโดยไม่ได้มีประเด็นใจความสำคัญอะไรมากมายเลย นอกจากเป็นเพียงการนำเสนอเจตจำนงของผู้เขียนหนังสือเล่มนั้น ในการจะเน้นย้ำต่อแนวคิดใดแนวคิดหนึ่ง หรือประโยคใดประโยคหนึ่งเพียงประโยคเดียว) ผู้เขียนใช้วิธีดังกล่าวนี้ในการเริ่มต้น ฝึกฝนทักษะการอ่านงานเขียนภาษาอังกฤษก่อนจะเริ่มขยับขยายเข้าไปลองอ่าน textbook ที่เป็นรูปเล่มจริงๆในภายหลัง

หรือไม่เช่นนั้น ในช่วงแรกๆ ท่านอาจจะหาตำราประเภท “รวมมิตร” ที่เล่มหนึ่งมีผู้เขียนหลายคนรวมกัน ตำราประเภทดังกล่าวนี้จะช่วยมีส่วนเพิ่มความเป็นไปได้ในการทำความเข้าใจให้แก่ผู้อ่าน มากกว่าตำราที่มีผู้เขียนคนเดียวทั้งเล่ม เพราะตำราประเภทรวมมิตรนี้ จะมีเนื้อหา และคำอธิบายของตัวเองต่อบท ที่สั้น กระชับ เข้าใจง่าย ทำให้ผู้อ่านที่ยังคงมีอุปสรรคทางด้านภาษาสามารถอ่านและทำความเข้าใจได้อย่างต่อเนื่องโดยไม่จำเป็นต้องใช้เวลามาก เนื่องจากหากเป็น textbook ประเภทผู้เขียนคนเดียวเขียนเองทั้งเล่ม ท่านอาจจะต้องพบกับตำราเล่มเขื่องที่ผู้เขียนคนนั้นได้อารัมภบทไว้มากกว่า 100 หน้า ผ่านคำนำและบทนำ หรือเกริ่นนำก็เป็นได้ ซึ่งเงื่อนไขเหล่านี้จะเข้ามาจำกัด หรือเหนี่ยวรั้ง ผู้อ่านที่จำเป็นต้องหยุดพักเพื่อทำความเข้าใจต่อตัวบทที่ยืดยาว จนเกิดความไม่ต่อเนื่องในการศึกษาตีความเนื้อหาก็เป็นได้

นอกจากนี้สิ่งที่ผู้เขียนอยากจะแนะนำเพิ่มเติมเกี่ยวกับการเลือก textbook คือ ผู้สนใจ หรือผู้อ่านควรจะเลือก textbook ที่มีตำรารูปแบบแปล (ซึ่งเป็นการแปลจากภาษาอื่นเข้ามาสู่ระบบของภาษาอังกฤษ) ตำราประเภทนี้จะค่อนข้างอ่านแล้วสามารถทำความเข้าใจได้ง่าย จากการถูกแปลมาจากภาษาอื่นอีกครั้งหนึ่ง เช่น แปลจากภาษาเยอรมันสู่อังกฤษ จากอิตาลีสู่อังกฤษ จากฝรั่งเศสสู่อังกฤษ คำ หรือ สำนวนที่ใช้ภายในเล่มจึงมีแนวโน้มจะถูกปรับให้เข้ามาเป็นลักษณะภาษาในระดับที่ผู้อ่านสามารถมีโอกาสทำความเข้าใจได้มากขึ้น

หากเกิดกรณีที่ textbook ฉบับแปลเล่มหนึ่งเล่มนั้นบังเอิญมีผู้แปล ออกมาหลายเวอร์ชั่น ตัวอย่างเช่น การนำเอางานของ Robert Camembert (นามสมมติ) ที่อาจเคยอยู่ในโลกวิชาการภาษาฝรั่งเศสมาแปลและปรับให้เข้าสู่โลกวิชาการภาษาอังกฤษ ซึ่งมีแนวโน้มจะมีการทำการแปลออกมาหลายโอกาส เวอร์ชั่นตีพิมพ์ปี 1960 บ้าง เวอร์ชั่นปี 1980 บ้าง หรือบางครั้งอาจย้อนไปได้ถึงฉบับแปลที่ตีพิมพ์ในปี 1860 ก็เป็นไปได้ กรณีดังกล่าวนี้แนะนำให้ท่านลองเปิดงานเขียนเหล่านั้นขึ้นมาอ่านดูก่อน ว่ามีฉบับใด มีภาษา และสำนวนที่ท่านอ่านแล้วสามารถทำความเข้าใจได้ชัดเจน และแจ่มชัดได้มากกว่ากัน โดยเปิดดูในบทที่ 2 แล้วลองอ่านไปสัก 4-5 หน้า หากท่านยังสามารถอ่านรู้เรื่อง และทำความเข้าใจกับภาษาและสำนวนของงานเขียนชิ้นนั้นๆได้  ก็สามารถนำจุดนี้มาช่วยในกระบวนการตัดสินใจก่อนจะทำการชำระเงิน (จากประสบการณ์ของผู้เขียนเองส่วนใหญ่ งานเขียนที่เป็นฉบับตีพิมพ์ออกมาใหม่ๆ มีโอกาสและความเป็นไปได้สูงที่จะมีการปรับภาษา และสำนวนจากเวอร์ชั่นหรือฉบับก่อนๆ ตัวอย่างเช่นในกรณีตำรา textbook จากยุครู้แจ้ง หรือ Enlightenment ถ้าหากมีการนำเวอร์ชั่นที่ตีพิมพ์ 2000 ออกมาวางขาย ก็มีแนวโน้มความเป็นไปได้ว่างานชิ้นนั้นอาจได้รับการปรับแก้ภาษาและสำนวนให้มีลักษณะที่เข้าใจได้ง่ายขึ้น แต่ถ้าหากท่านใดอยากจะสัมผัสกับอรรถรสในการอ่านงานเขียนประเภทออริจินอล หรือ มีกลิ่นอายของความเก่าแก่ ก็อาจจะต้องมีความอดทนกับความยากลำบากในการทำความเข้าใจงานเขียนประเภทนั้นๆ ที่แน่นอนท่านจะพบภาษาโบราณ เช่น ภาษาอังกฤษยุคกลาง หรือภาษาอังกฤษรูปแบบโบราณ ดังในบทละคร บทประพันธ์บางประเภท เช่น Beowulf ทำให้บางโอกาส ท่านผู้อ่านที่ทักษะด้านภาษายังไม่แข็งแรงมากนัก อาจจะต้องแปลจากภาษาอังกฤษเป็นภาษาอังกฤษก่อนแล้วจึงค่อยแปลเข้าสู่ภาษาไทยอีกรอบหนึ่ง)

และท้ายที่สุดในกรณีที่จำเป็นต้องสั่งซื้อ textbook จากทางเว็บไซต์หรือระบบออนไลน์ไม่ว่าจะต่างประเทศหรือในประเทศ แน่นอนว่าปัญหาที่ผู้ซื้อจะพบได้บ่อยๆคือ ไม่สามารถล่วงรู้ถึงรายละเอียดเกี่ยวกับหนังสือเล่มนั้นเลย นอกจากคำโปรย หรือคำอธิบายเพียง 4-5 บรรทัด ที่เขียนประกอบไว้ภายในเว็บไซต์หรือตามแคตตาล็อกสินค้า เป็นผลทำให้เกิดความคับข้องใจภายในระหว่างกระบวนการตัดสินใจซื้อ ในส่วนนี้ ผู้ที่สนใจจะสั่งซื้อ textbook เล่มนั้นๆ อาจสืบหาข้อมูลหรือรายละเอียดของ textbook เล่มนั้นๆผ่านไฟล์ตัวอย่าง (trial) มาอ่านเพิ่มเติมได้จาก Open-source หรือ Free-source ต่างๆ ที่มักจะมีการจัดเก็บ textbook ไว้ในรูปแบบของตัวไฟล์ (นามสกุล PDF, EPUB, TXT, DJVU ทั้งในรูปแบบฉบับย่อและในบางแห่งอาจมีฉบับเต็มเผยแพร่ไว้ให้ด้วย  ตามแต่ละเงื่อนไข และกรณีไป เพราะ textbook บางเล่ม หรือบางสำนักพิมพ์ก็มีนโยบายสำหรับการเผยแพร่หนังสือของตนในรูปแบบ Free-Source อยู่ไม่น้อย) ที่มีอยู่มากมาย กระจายอยู่ตามเว็บไซต์และ source ข้อมูลต่างๆ ที่จะสามารถช่วยเป็นส่วนหนึ่งในการตัดสินใจเลือกซื้อ textbook จากระบบออนไลน์ได้สะดวก ราบรื่นขึ้น

จากคำแนะนำที่ผู้เขียนได้อภิปรายเอาไว้ข้างต้นนี้ ผู้เขียนไม่ได้หมายความว่าสถานการณ์สมมติ หรือ ตัวอย่างที่ผู้เขียนหยิบยกเอาไว้นั้น จำเป็นจะต้องเกิดขึ้นจริงในทุกสถานที่ ทุกบริบทเสมอไป คำแนะนำนี้อาจจะใช้ได้ดีมีประสิทธิภาพมากในบางโอกาส แต่ในบางโอกาสก็อาจจะไม่มีประโยชน์ใดๆเลย หากท่านผู้อ่านจะยึดเอาแต่คำกล่าวชุดนี้ไว้ตลอดเวลาในการเลือกตำรา หรือ ฝึกหัดการอ่าน textbook เพราะสิ่งที่ผู้เขียนได้นำมาบอกกล่าวกับท่านนั้นก็เป็นเพียงความรู้ หรือ คำแนะนำที่สังเคราะห์ผ่านประสบการณ์ส่วนหนึ่งของเพียงตัวผู้เขียนเอง ซึ่งก็อาจจะไม่ได้ช่วยให้ท่านสามารถนำไปรับมือกับอุปสรรคทางภาษาอันยากลำบากเหล่านั้นได้สมบูรณ์แบบหรือระดับร้อยเปอร์เซ็นต์ ท่านอาจนำคำชี้แนะเหล่านี้ไปใช้เป็นฐานรองรับหรืออุปกรณ์ไม้ค้ำขนาดเล็กเพื่อปัดกวาดสิ่งกีดขวางบางสิ่งที่มันเหมาะสมกับเพียงการใช้งานของไม้ค้ำนั้น ท่านจะยังคงต้องอาศัยในความพยายามของตัวท่านเสริมร่วมเข้ามาด้วย เพื่อเพิ่มโอกาสในการฝึกฝนและเรียนรู้สืบต่อไป…

 

หมายเหตุ: เผยแพร่ครั้งแรกบน Facebook Wall ของผู้เขียน (27 Sep 2015)

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net