Skip to main content
sharethis

30 ธ.ค. 2558 หลังจากที่วานนี้(29 ธ.ค.58) ป.ป.ช. มีมติให้ คำร้องตกไป กรณีการขอให้ถอดถอนและคำกล่าวหา นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี นายสุเทพ เทือกสุบรรณ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี และ พล.อ. อนุพงษ์ เผ่าจินดา เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบก กับพวก ในข้อหา ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ สั่งใช้กำลังทหาร ตำรวจ และข้าราชการพลเรือนเข้าสลายการชุมนุมของกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ในวันที่ 10 เม.ย. 53 ถึงวันที่ 19 พ.ค. 53 จนเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บจำนวนมาก(อ่านรายละเอียด)

นปช. ค้านมติ ป.ป.ช.

ธิดา ถาวรเศรษฐ ประธาน นปช. เผยแพร่คำแถลงของ นปช. คัดค้านมติ ป.ป.ช.ดังกล่าว ผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว รายละเอีนดมีดังนี้

คำแถลงแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ
กรณีที่ ป.ป.ช. มีมติให้ข้อกล่าวหากรณีนาย อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะกับพวก สลายการชุมนุมกลุ่ม นปช.ตกไป

นปช.ขอคัดค้านมติ ป.ป.ช.ดังกล่าว และยืนยันว่า นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นาย สุเทพ เทือกสุบรรณ พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา และพวก ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตนับร้อย และมีผู้ได้รับบาดเจ็บเป็นจำนวนมาก เป็นผู้ก่อให้มีการฆ่าผู้อื่นโดยเจตนาเล็งเห็นผล สมควรที่จะถูกดำเนินคดีไปจนถึงที่สุด เพื่อพิสูจน์ให้สังคมได้เห็นชัดเจนว่า “ใครกันแน่ เป็นผู้สั่งฆ่าประชาชน”

จะเกิดประโยชน์ ยิ่งกว่าการทำให้ข้อกล่าวหาตกไป ซึ่งรังแต่จะทำให้สังคมเคลือบแคลงสงสัยและตั้งข้อกล่าวหากับ ป.ป.ช. และกระบวนการยุติธรรมให้เป็นจำเลยเสียมากกว่า ว่า ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบหรือไม่?
โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเปรียบเทียบกับกรณีข้อกล่าวหาที่มีต่อ นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ พลเอก ชวลิต ยงใจยุทธ และพวก กรณี 7 ตุลาคม 2551

นอกจากการพิสูจน์ให้เกิดความชัดเจน และทำให้สังคมไว้วางใจ องค์กรอิสระและกระบวนการยุติธรรมแล้ว ยังมีเหตุผลอื่นประกอบในการคัดค้านไม่เห็นด้วยกับมติ ป.ป.ช.ในครั้งนี้คือ

การอ้างคำพิพากษาศาลว่า การชุมนุมของกลุ่มนปช.มิใช่การชุมนุมโดยสงบตามรัฐธรรมนูญ ตามนัยคำพิพากษาศาลแพ่งในคดีหมายเลขดำที่ 1433/2553

ปรากฏว่าเป็นการอ้างอิงที่ไม่ตรงกับเนื้อความในคำพิพากษาศาลดังกล่าว แต่มีลักษณะตีความเองและเกินเลยกว่าคำพิพากษาศาล

อีกทั้งคดีนี้ ศาลมีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 22 เมษายน 2553 ขณะที่การชุมนุมและการบาดเจ็บล้มตายยังคงเกิดขึ้นต่อเนื่องกันมาจนถึงวันที่ 19 พฤษภาคม 2553

ป.ป.ช.จึงนำคำพิพากษาของศาลแพ่งฉบับดังกล่าวมากล่าวอ้างในมติโดยไม่ถูกต้อง เป็นการเกินเลยไปกว่า เนื้อหา ของคำพิพากษาจริงของศาลในวันที่ 22 เมษายน 2553 ดังกล่าว และไม่ครอบคลุมสถานที่วันเวลา ที่ยาวนาน จนถึงวันที่ 19 พฤษภาคม 2553

ในด้านเนื้อหานั้น ข้อความในคำพิพากษาของศาลก็ระบุไว้ว่า “การเสียชีวิตเบื้องต้นในวันที่ 10เมษายน 2553 ยังไม่ทราบว่าเป็นการกระทำของฝ่ายใด”

แม้จะยกคำร้องคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว แต่ศาลแพ่งก็ได้เตือนจำเลย คือ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะกับพวก ในการสลายการชุมนุม หรือ ขอคืนพื้นที่ ให้ดำเนินการ เท่าที่จำเป็น ตามความเหมาะสม มีขั้นตอนตามหลักสากล จนกว่าจะมีคำพิพากษาอย่างอื่น

แต่กลายเป็นว่า ป.ป.ช.มีมติเลยเถิดว่า “การชุมนุมของนปช.มิใช่การชุมนุมโดยสงบตามรัฐธรรมนูญ และมีบุคคลที่มีอาวุธปะปนอยู่ในที่ชุมนุม” ซึ่งไม่เป็นความจริง

2.การอ้างว่า ศอฉ. มิได้ใช้กำลังผลักดันผู้ชุมนุม แต่ใช้มาตรการตั้งด่านตรวจหรือจุดสกัด ปิดล้อมภายนอกไว้โดยรอบ เพื่อให้ผู้ชุมนุมยุติไปเอง

ในความเป็นจริงนั้น มีการสั่งการให้ใช้อาวุธสงคราม ในลักษณะพลซุ่มยิง ซึ่งมีหลักฐานเป็นภาพถ่ายและคลิปวิดีโอเป็นจำนวนมาก

การจัดตั้งพลซุ่มยิงจากที่สูง ส่งผลให้ประชาชนถูกยิงที่ศีรษะ เสียชีวิตเป็นจำนวนมาก นับแต่วันที่ 10 เมษายน ถึง 19พฤษภาคม

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในวันที่ 19 พฤษภาคม 2553 ยังมีการเล็งยิงประชาชน 6 ศพในวัดปทุมวนารามอันเป็นเขตอภัยทานจากบนรางรถไฟฟ้าบีทีเอสหน้าวัดปทุมฯ
จนมีคำสั่งของศาลระบุชัดเจนว่า 6 ศพในวัดปทุมฯเป็นการตายจากการยิงของเจ้าหน้าที่ทหารบนรางรถไฟฟ้าบีทีเอส ไม่มีการต่อสู้ของชายชุดดำกับเจ้าหน้าที่ และอาวุธที่ทาง ศอฉ.กล่าวอ้างว่าเป็นของนปช.หรือคนในวัดปทุมฯก็ไม่สามารถเชื่อถือได้ ผู้ตายไม่มีเขม่าดินปืน ไม่พบการต่อสู้จากฝ่ายประชาชน

ซึ่งวารสารของกองทัพบก (เสนาธิปัตย์อันเป็นวารสารทางการของกรมยุทธศึกษากองทัพบก ในฉบับที่ 3 ประจำปีที่59 กันยายน-ธันวาคม 2553) เองยืนยันในข้อนี้ว่า
“ยุทธการกระชับวงล้อมเมื่อ 19 พฤษภาคม 2553 เป็นการปฏิบัติทางทหารเต็มรูปแบบ...คือการกระชับวงล้อมด้วยกระสุนจริง จากกำลังหน่วยรบหลักของเหล่าทหารราบ เหล่าทหารม้า และหน่วยส่งกำลังทางอากาศอย่างเช่น ร.31รอ. ในภารกิจปฏิบัติการพิเศษ อาจเรียกได้ว่า เป็นการรบในเมืองที่ใช้อาวุธยุทโธปกรณ์ทางทหารเต็มอัตราศึก ทั้งกำลัง อาวุธประจำกายที่ทันสมัย ชุดสไนเปอร์ หน่วยยานเกราะ ซึ่งการปรับกำลังและการเปลี่ยนแปลงทางยุทธวิธีที่สำคัญครั้งนี้ก็เป็นผลสะท้อนจากบทเรียนเมื่อ 10 เมษายน 2553 นั่นเอง"

“การปฏิบัติการทางยุทธวิธีที่ใช้เวลาทำงาน 9 ชั่วโมง (เวลา03.30น.-13.30น.) ถือว่าเป็นบทเรียนที่สำคัญยิ่งทางยุทธวิธีของการรบในเมือง ที่สมควรได้มีการบันทึกไว้เป็นประวัติศาสตร์หน้าหนึ่งของการรบในเมือง”
จึงไม่ใช่เป็นเพียงแค่ “การตั้งด่านให้ยุติการชุมนุมอง”ตามมติของป.ป.ช.ดังกล่าวข้างต้น

3.นอกจากนี้ แม้มีการรายงานการบาดเจ็บล้มตายตั้งแต่กลางวัน และเวลาที่ล่วงเลยมาเป็นลำดับจนถึงกลางคืน
นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะกับพวกก็มิได้รีบสั่งให้มีการยกเลิกปฏิบัติการในทันที และการขอคืนพื้นที่ในวันที่ 10 เมษายน 2553 ก็มิได้มีการกำหนดให้มีเวลายกเลิกการปฏิบัติการแต่อย่างใด

การตายของประชาชนก็เกิดขึ้นตั้งแต่ตอนบ่าย (ศพแรกที่หน้ากระทรวงศึกษาธิการถนนราชดำเนินนอก) จนถึงดึกที่สี่แยกคอกวัวถนนตะนาวและถนนดินสอ

นายอภิสิทธิ์เวชชาชีวะกับพวก ไม่มีเหตุผลใดๆที่จะยังดื้อรั้นที่จะทำการปฏิบัติการสังหารประชาชนต่อเนื่องต่อไป จนเกิดการสูญเสียทั้งสองฝ่ายในเวลาต่อมา และนำไปสู่การตายเป็นจำนวนมากหลังจากผู้ถูกกล่าวหาได้ปรับยุทธวิธีเป็นการทำสงครามกลางเมืองกับผู้ชุมนุมที่ปราศจากอาวุธดังที่ยืนยันในวารสารเสนาธิปัตย์ข้างต้น
จึงตรงข้ามโดยสิ้นเชิงกับสิ่งที่ป.ป.ช.ระบุไว้ในมติข้างต้น
4.การที่ยังคงสั่งการให้ใช้อาวุธสงครามกับประชาชนจนเป็นเหตุให้มีการสังหารประชาชน 6 ศพในวัดปทุมฯ (ปรากฏชัดตามคำสั่งศาลเรื่อง6ศพที่วัดปทุมฯ) ซึ่งเป็นเวลาที่แกนนำประกาศยุติการชุมนุมและเข้ามอบตัวไปแล้วเป็นเวลากว่าห้าชั่วโมง

โดยคำสั่งของศาลอาญาก็ยืนยันว่าประชาชนไม่ได้ใช้อาวุธโต้ตอบ ผู้ตายก็มิได้มีผู้ใดถืออาวุธ

ดังนั้น จึงเป็นคำถามว่า มติของป.ป.ช.ที่ยกข้อหากล่าวว่า “นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะกับพวก มีเจตนาเพื่อให้เกิดความเสียหายกับประชาชนผู้บริสุทธิ์หรือเป็นผู้ก่อหรือใช้ให้มีการฆ่าผู้อื่นโดยเจตนาเล็งเห็นผลเป็นความจริง ตามความหมายของ การปฏิบัติหน้าที่หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ จนเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิต และบาดเจ็บจำนวนมาก” เป็นมติที่ชอบหรือไม่?

สังคมไทยต้องการความชัดเจน เข้าสู่กระบวนการยุติธรรม อย่างเท่าเทียมกัน ใช้มาตรฐานเดียวกัน มิใช่ เอาผิด หรือละเว้น การเอาผิด โดยถือว่าเป็นพวกเดียวกันหรือไม่ใช่พวกเดียวกัน ทำให้ประชาชนหมดความเชื่อถือไว้วางใจ
การตาย สองศพ เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม2551 เพื่อขัดขวางไม่ให้ นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์เข้าทำหน้าที่ในการแถลงนโยบายต่อรัฐสภาเพื่อทำหน้าที่บริหารราชการแผ่นดินต่อไปตามรัฐธรรมนูญ เมื่อ มาเปรียบเทียบกับ การตาย ร่วม 100ศพ บาดเจ็บกว่า 2,000 คน ใช้กระสุนจริงร่วมสองแสนนัด กระสุนสไนเปอร์กว่าสองพันนัด จากการดำเนินการของนายอภิสิทธิ์เวชชาชีวะกับพวก จะเห็นการเอนเอียงเข้าข้างพวกเดียวกันอย่างชัดเจน

ประกอบกับมีคำสั่งศาลอาญาในเรื่องการตายตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 150 จำนวน 19 ศพ ได้ยืนยันว่า ผู้ตาย ตายจาก กระสุนความเร็วสูงจากอาวุธสงคราม ของเจ้าหน้าที่ที่มาปฏิบัติหน้าที่ตามคำสั่งของศอฉ. และไม่ปรากฏว่าผู้ตายมีอาวุธหรือปืน ไม่ปรากฏว่าผู้ตายยิงต่อสู้แม้แต่ศพเดียว ไม่ปรากฏว่ามีชายชุดดำที่ใช้อาวุธสงครามยิงต่อสู้กับเจ้าหน้าที่ทหารแต่ประการใด

เหตุใด มติ ของ ป.ป.ช. ต่อสองกรณีนี้ แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง โดยมิได้กังวลใจว่าจะก่อให้เกิดความไม่พอใจในหัวใจของประชาชนและสังคมโดยทั่วไป

นปช.จึงขอยืนยันการไม่เห็นด้วยกับมติ ป.ป.ช.ด้วยเหตุผลดังกล่าวข้างต้น เพราะไม่ปรารถนาจะเห็นกระบวนการยุติธรรมอันเป็นที่พึ่งสุดท้ายของประชาชนต้องถูกทำลายไป

อันที่จริงเรื่อง การนำเอาผู้ที่ “สั่งฆ่าประชาชน”มาดำเนินคดีตามกระบวนการยุติธรรมนั้น ยังไม่สิ้นสุดที่ชั้น ป.ป.ช.
ในขณะนี้อัยการสูงสุดและครอบครัวผู้เสียชีวิตได้ทำการยื่นอุทธรณ์คำพิพากษาศาลชั้นต้นที่ได้วินิจฉัยโดยมีเนื้อความว่า “ไม่ได้อยู่ในเขตอำนาจศาลอาญา และต้องไปยื่นเรื่องต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง”โดยนำความเห็นต่างของอธิบดีศาลอาญาประกอบไปด้วย ดังนั้นคดีจึงอยู่ในระหว่างการพิจารณาพิพากษาของศาลอุทธรณ์

เราจึงหวังเป็นอย่างยิ่งว่าศาลชั้นสูงจะได้อำนวยความยุติธรรมให้กับประเทศและประชาชนเพื่อนำสันติภาพและความสงบสุขกลับคืนสู่ประเทศไทย

30 ธันวาคม 2558

 

อภิสิทธิ์ ขอบคุณ ป.ป.ช.ที่เข้าใจ หลังตีตกคดีสลายแดงปี 53 ย้ำทำเพื่อให้บ้านเมืองเกิดความสงบสุข

ล่าสุดวันนี้ (30 ธ.ค.58) ไทยรัฐออนไลน์ รายงานว่า นายอภิสิทธิ์ กล่าวถึงกรณีดังกล่าว โดยยืนยันว่า ตน และนายสุเทพ รวมทั้ง พล.อ.อนุพงษ์ ปฏิบัติตามหน้าที่เพื่อต้องการให้ประเทศชาติบ้านเมืองเกิดความสงบสุข เพราะสถานการณ์ขณะนั้น อย่างที่ทราบว่าเป็นเรื่องยากที่จะทำให้สงบสุข ได้ ทั้งนี้ต้องขอขอบคุณ ป.ป.ช. ที่เข้าใจการตัดสินใจในการทำหน้าที่ เพื่อรักษาสถานการณ์บ้านเมืองในช่วงเวลานั้น
 
DSI ยันสอบอย่างเป็นธรรม ชี้คดีมีอายุความ 20 ปี
 
วันเดียวกัน กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ รายงานด้วยว่า พ.ต.อ.ไพสิฐ วงศ์เมือง อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ กล่าวถึงกรณีดังกล่าวว่า สำหรับสำนวนการสอบสวนคดีเจ้าหน้าที่รัฐและประชาชนที่เสียชีวิตจากเหตุชุมนุมทางการเมืองปี 2553 มีจำนวน 89 การสอบสวนเอาผิดคดีอาญาว่าผู้ใดเป็นผู้ทำให้เสียชีวิตจะยึดตามพยานหลักฐานซึ่งเดิมมีทั้งส่วนที่อยู่ระหว่างการสอบสวนหาพยานหลักฐานและบางส่วนศาลไต่สวนการเสียชีวิตที่มีรายละเอียดเกี่ยวกับวิถีกระสุนทั้งนี้หากญาติผู้เสียชีวิตมีพยานหลักฐานก็สามารถส่งให้ดีเอสไอสอบสวนเพิ่มเติมได้ยืนยันว่าดีเอสไอจะสอบสวนคดีอย่างเป็นธรรมโดยคณะพนักงานสอบสวนจะมีทั้งตำรวจดีเอสไอและอัยการส่วนที่มีความกังวลว่ากรณีดังกล่าวเป็นคดีที่เกี่ยวข้องกับกลุ่มขัดแย้งทางการเมืองย้ำว่าการสอบสวนคดีจะเป็นไปตามพยานหลักฐานข้อเท็จจริงเท่านั้นเพราะหากมีผู้ติดใจสงสัยพนักงานสอบสวนต้องชี้แจงได้ไม่เช่นนั้นเกิดมีปัญหาไม่ทำตามหลักฐานก็จะถูกรื้อให้สอบใหม่ไม่จบลงแค่นี้
 
ด้านพ.ต.ต.วรณัน ศรีล้ำ ผอ.ศูนย์บริหารคดีพิเศษดีเอสไอกล่าวว่าก่อนหน้านี้มีการเสียชีวิตบางส่วนที่ดีเอสไอส่งสำนวนให้ชันสูตรการเสียชีวิตแล้วซึ่งสำนวนการชันสูตรมีทั้งรายที่สามารถชี้ได้ถึงวิถีกระสุนดีเอสไอจะนำสำนวนดังกล่าวมาประกอบการพิจารณารายละเอียดเพื่อให้ทราบถึงตัวผู้กระทำเป็นรายคดีทั้งนี้คดีดังกล่าวมีอายุความ20ปี
 
'ณัฐวุฒิ' เหน็บ ป.ป.ช.ควรเห็นหัวประชาชนที่ถูกยิงบ้าง
 
กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ ยังรายงานด้วยว่า ด้านนายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ แกนนำนปช. กล่าวว่า ไม่ผิดความคาดหมายที่ป.ป.ช.มีมติยกคำร้องดังกล่าว เพราะมีกระแสข่าวมาสักระยะแล้ว แต่นึกไม่ถึงว่าการแถลงข่าวของป.ป.ช.จะมีเนื้อหาตรงกับคำอธิบายของพรรคประชาธิปัตย์ขนาดนี้ ทั้งๆ ที่กรณีดังกล่าวแตกต่างอย่างยิ่งกับคดีที่ป.ป.ช.ยื่นฟ้องนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ และพล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ จากเหตุการณ์ชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรฯ เมื่อปี 2551 ซึ่งคดีนั้นเจ้าหน้าที่ตำรวจใช้เพียงแก๊สน้ำตา เป็นเครื่องมือที่ใช้ตามหลักสากลเพื่อเปิดทางให้ครม.แถลงนโยบายต่อรัฐสภาและกลับออกมาโดยปลอดภัยในตอนเช้า ส่วนการเสียชีวิตเกิดขึ้นในช่วงค่ำ และไม่ได้มีสาเหตุจากการใช้แก๊สน้ำตาของเจ้าหน้าที่ ต่อมาอัยการสั่งไม่ฟ้อง ผ่านไปเกือบ 3 ปี ป.ป.ช.ก็หยิบมาฟ้องเองโดยมอบหมายสภาทนายความเป็นผู้ดำเนินการในสมัยรัฐบาลชุดนี้ 
 
นายณัฐวุฒิ กล่าวอีกว่า ขณะที่กรณีปี 2553 มีการใช้กำลังทหาร รถถัง อาวุธสงครามติดลำกล้องซุ่มยิงจากตึกสูง และประกาศเขตกระสุนจริง ซึ่งไม่ได้เป็นไปตามหลักสากล การอ้างว่าเจ้าหน้าที่ต้องดำเนินการกับกองกำลังติดอาวุธก็ไม่ปรากฏว่าผู้เสียชีวิตทั้ง 99 รายมีอาวุธหรือคราบเขม่าดินปืนแต่อย่างใด แม้ป.ป.ช.จะไม่เห็นหัวประชาชนที่มาชุมนุม ก็ควรเห็นหัวคนที่ถูกยิงบ้าง ประเทศที่มีคนมือเปล่าถูกยิงตายกลางเมืองหลวงนับ 100 ศพ แต่ไม่มีช่องทางแม้แต่จะเรียกร้องความยุติธรรม จะไปมองหน้าชาวโลกได้อย่างไร 
 
อภิสิทธิ์จ่ออุทธรณ์คดี ปมกลาโหมสั่งออกจากราชการ
 
ส่วนกรณีที่วานนี้(29 ธ.ค.58) ศาลแพ่งยกฟ้องคดี นายอภิสิทธิ์ ฟ้องศาลขอให้กลาโหมถอนคำสั่งปลดตนเองออกจากราชการทหาร โดยศาลแพ่งเห็นว่าคำสั่งดังกล่าวชอบแล้ว เนื่องนายอภิสิทธิ์จากขาดการตรวจเลือกทหาร แล้วใช้เอกสาร สด.9  อันเป็นเท็จยื่นสัสดี ทำให้ขาดคุณสมบัติรับราชการ (อ่านรายละเอียด) โดย นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า กล่าวว่า ทราบแค่ผลพิพากษา แต่ขณะนี้ยังไม่ได้อ่านรายละเอียดของคำพิพากษาทั้งหมด ต้องขอดูรายละเอียดในคำพิพากษาก่อน เพื่อหารือกับทีมกฎหมาย โดยหลังจากนี้ยืนยันว่า จะยื่นสู้ต่อคดีในชั้นศาลอุทธรณ์ต่อไป ส่วนที่ นายจตุพร พรหมพันธุ์ แกนนำ นปช. ระบุว่า ตนขาดคุณสมบัติของผู้ที่จะลงสมัครรับเลือกตั้งทางการเมืองแล้วนั้น ก็ขอให้ดูผลของคดี เพราะขณะนี้คดียังไม่ถึงที่สุด ซึ่งตนยืนยันจะสู้คดี โดยยื่นต่อศาลอุทธรณ์ต่อไป

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net