Skip to main content
sharethis

สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย สรุปรายงานสถานการณ์สื่อไทยประจำปี 2558 ยกเป็นปีแห่งความอึมครึม อึดอัด และหวาดระแวง เผชิญหน้ากับสถานการณ์ถอยหลังเข้าคลองตามเส้นทางปฏิรูปสื่อ เผยรัฐจ้องควบคุมส่งอำนาจให้ตำรวจคุมสื่อสิ่งพิมพ์

30 ธ.ค. 2558 นายมานพ ทิพย์โอสถ โฆษกสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์ฯ ได้ออกรายงานสถานการณ์สื่อมวลชนประจำปี 2558 เพื่อเผยแพร่ต่อสาธารณะ ความยาวจำนวน 4 หน้า มีเนื้อหาสรุปถึงสถานการณ์โดยรวมของสื่อมวลชนไทยทุกแขนง โดยเป็นการรวบจากเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในรอบปี และมีผลกระทบในด้านต่างๆ ต่อสื่อมวลชนไทย ซึ่งสรุปภาพรวมได้ว่าเป็นปีแห่งความ “อึมครึม อืดอัด และหวาดระแวง” และเผชิญหน้ากับการถอยหลังเข้าคลองตามเส้นทางปฏิรูปสื่อของภาครัฐ

นายมานพ กล่าวว่า รายงานดังกล่าวได้สรุปบทบาทการตรวจสอบการทำงานของภาครัฐทั้งรัฐบาล โดยนายกรัฐมนตรีที่มีแนวคิดและการวิพากษ์วิจารณ์สื่อมวลชในหลายโอกาส รวมถึงการทำหน้าที่ของเจ้าที่ของรัฐและองค์กรอิสระที่ทำหน้าที่กำกับดูแลสื่อที่มีผลโดยตรงในด้านการแสดงออกซึ่งความคิดเห็นของสื่อมวลชน การเรียกบุคคล องค์กรสื่อมวลชนเข้าพบ การตักเตือนด้วยวาจา ลายลักษณ์อักษร และการลงโทษทางปกครอง

โฆษกสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์ฯ กล่าวว่า นอกจากนี้ สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์ฯ ยังได้สรุปเหตุการณ์ความเคลื่อนไหวในการปฏิรูปสื่อมวลชนที่สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์ฯ เห็นว่าภาครัฐมีแนวคิดในการเข้ามากำกับกับดูแลสื่อทุกประเภทอย่างเข้มข้น โดยสื่อสิ่งพิมพ์ที่ต้องเผชิญกับแนวโน้มที่น่าเป็นห่วง เพราะมีแนวคิดให้ พ.ร.บ.จดแจ้งการพิมพ์กลับไปอยู่ภายใต้การดูแลของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และให้อำนาจตักเตือนหรือปิดกิจการได้ 

 

000000


รายงานสถานการณ์สื่อมวลชนประจำปี 2558


สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย

สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทยสรุปรายงานสถานการณ์ประจำปี 2558 ของสื่อมวลชนไทย ยกเป็นปีแห่งความอึมครึม อึดอัด และหวาดระแวง เผชิญหน้ากับสถานการณ์ของการปฏิรูปสื่อที่ยังน่าเป็นห่วง ท่ามกลางความคิดของฝ่ายรัฐที่จ้องควบคุมสื่ออย่างเข้มข้น

ตลอดปี 2558 สื่อมวลชนไทยต้องทำงานในสถานการณ์ “อึมครึม อึดอัด และหวาดระแวง” ภายใต้ข้อจำกัดในการแสดงออก ตามคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เผชิญหน้ากับการถูกกดดันในการทำหน้าที่ตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐรูปแบบต่างๆ ประกอบกับท่าทีของผู้นำรัฐบาลที่มีทัศนคติเชิงลบต่อสื่อมวลชน ใช้ถ้อยคำรุนแรงในการตอบโต้การทำหน้าที่ของสื่อมวลชนอย่างต่อเนื่อง ขณะเดียวกันสถานการณ์การปฏิรูปสื่อก็ยังไม่เกิดความชัดเจนเพียงพอที่จะเป็นความหวังให้กับวงการสื่อมวลชนและสังคมไทยได้

สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทยได้ประมวลภาพรวมสถานการณ์สื่อมวลชนไทยในรอบปีที่ผ่านมา ในด้านต่างๆ ที่เกิดขึ้นและมีผลกระทบต่อสิทธิเสรีภาพของสื่อมวลชนไทย ดังนี้

การทำหน้าที่ภายใต้คำสั่ง คสช.
ตลอดปีที่ผ่านมาคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้ใช้อำนาจตามคำสั่งและประกาศที่ออกตามกฎอัยการศึก โดยเฉพาะคำสั่งที่ 97, 103 และคำสั่งตามมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557 เรียกสื่อมวลชนแขนงต่างๆ เข้าพบหลายครั้ง โดยให้เหตุผลว่าเพื่อทำความเข้าใจและขอความร่วมมือให้ปฏิบัติตามคำสั่ง คสช. อย่างเคร่งครัด อาทิ

- วันที่ 11 มิถุนายน 2558 พล.ท.สุชาติ ผ่องพุฒิ เจ้ากรมการทหารสื่อสาร เรียกบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ 8 ฉบับ
- วันที่ 25 สิงหาคม พล.ท.สุชาติ และ พล.ต.ท.ประวุฒิ ถาวรศิริ ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ในฐานะโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เรียกประชุมบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ 18 ฉบับ นอกจากนี้ ยังเรียกสื่อมวลชนเป็นรายบุคคล เข้าพบอีกหลายครั้ง เช่น นำตัวนายประวิตร โรจนพฤกษ์ ผู้สื่อข่าวอาวุโสหนังสือพิมพ์เดอะ เนชั่น ไปควบคุมตัวตั้งแต่วันที่ 13 – 15 กันยายน 2558
- วันที่ 4 ตุลาคม 2558 เรียกตัวนายศักดา แซ่เอียว หรือ เซีย นักเขียนการ์ตูน หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ เข้าพบที่กองบัญชาการกองทัพบก เพื่อทำการพูดคุยโดยไม่มีการควบคุมตัว
- วันที่ 27 ตุลาคม 2558 เรียกผู้สื่อข่าวเว็บไซต์ประชาไทและบรรณาธิการเข้าพบที่กรมการทหารสื่อสาร พร้อมกับเชิญนายกสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทยและคณะกรรมการบริหารจำนวนหนึ่งเข้าร่วมสังเกตการณ์
การเรียกสื่อมวลชนเข้ารายงานตัวตลอดปี 2558 ได้สะท้อนให้เห็นว่ารัฐบาลได้ติดตาม ควบคุมการแสดงออกซึ่งความคิดเห็นของสื่อมวลชนและประชาชนอย่างใกล้ชิด และบางครั้งบางกรณีก็ไม่อาจชี้แจงหรือทำความกระจ่างให้สาธารณชนได้รับทราบถึงสาเหตุในการเรียกตัว
การกระทำดังกล่าวย่อมส่งให้เกิดภาวะ “อึมครึม อึดอัด และหวาดระแวง” ไปทั่วทุกกลุ่มของสังคม

กสท.กับการใช้อำนาจกำกับสื่อวิทยุโทรทัศน์
ในรอบปี 2558 คณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ (กสท.) ยังได้ใช้อำนาจตามประกาศ คสช. ในการดำเนินการกับสถานีโทรทัศน์และรายการโทรทัศน์เป็นจำนวนมาก เช่น การสั่งปิดสถานีโทรทัศน์ดาวเทียมพีซทีวี การเข้าตรวจสอบสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส และการปิดสถานีโทรทัศน์ฟ้าให้ทีวีของฝ่ายความมั่นคง อาทิ

- วันที่ 23 มีนาคม 2558 กสท. มีมติปรับสถานีโทรทัศน์ช่องทีนิวส์ จำนวน  50,000 บาท ขอให้งดออกอากาศ และให้ขออภัยการพาดพิงบุคคลที่สามภายในสามวัน หลังออกอากาศรายการเปิดประเด็นร้อน ตอน กระชากหน้ากากบรรพตล้มเจ้าและสัมพันธ์ที่แนบกับระบอบทักษิณ โดยอาศัยอำนาจตามประกาศของ คสช. ฉบับที่ 97/2557, 103/2557 และมาตรา 37 ของ กสทช.
- เตือนเป็นลายลักษณ์อักษรรายการมองไกล สถานีโทรทัศน์ช่องพีซทีวี ฐานละเมิดข้อตกลงร่วมกัน
- วันที่ 30 มีนาคม 2558 สั่งพักใช้ใบอนุญาตสถานีโทรทัศน์ช่อง 24 ทีวี และช่องพีซทีวีเป็นเวลา 7 วัน
- วันที่ 18 สิงหาคม 2558 เตือนเป็นลายลักษณ์อักษรรายการคุยมันส์ทันข่าว ช่อง NEWS 1
- วันที่ 24 สิงหาคม 2558 เตือนเป็นลายลักษณ์อักษรรายการเส้นผมบังภูเขา รายการแฉกระจาย ช่อง 1 TV เตือนเป็นลายลักษณ์อักษรรายการ Tonight Thailand ช่อง Voice TV
- วันที่ 14 กันยายน 2558 ตักเตือนเป็นลายลักษณ์อักษร ช่องฟ้าวันใหม่
- วันที่ 9 พฤศจิกายน 2558 เชิญสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอสไปตักเตือนด้วยวาจาหลังออกอากาศรายงานวิเคราะห์ความเคลื่อนไหวขบวนการประชาธิปไตยใหม่ เป็นต้น

บทบาทนายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่มีต่อสื่อมวลชน
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช. ได้ใช้ถ้อยคำที่รุนแรงต่อการทำหน้าที่ของสื่อมวลชนมากกว่า 10 ครั้งในรอบปีที่ผ่านมา ขณะเดียวกันรัฐมนตรีในรัฐบาลยังได้ใช้วิธีการเช่นเดียวกันในการตอบคำถามสื่อมวลชนหลายครั้ง เช่น สื่อต้องปฏิรูป หนังสือพิมพ์บางฉบับเป็นบ้า ด่าหมดทุกรัฐบาล (จากการแถลงผลงานรอบ 3 เดือน เมื่อ 25 ธันวาคม 2558) ช่างภาพ กองบรรณาธิการ จิตใจต่ำ คัดเลือกรูปภาพผู้นำที่ไม่ดีมาลง (ให้สัมภาษณ์หลังประชุมหัวหน้าส่วนราชการ เมื่อ 29 มกราคม 2558) องค์กรสื่อต้องตรวจสอบกันเอง คอลัมนิสต์อย่าเขียนวิจารณ์อย่างเดียว จะประหารชีวิตสื่อที่ไม่มีจรรยาบรรณ (ให้สัมภาษณ์ก่อนไปบรูไน เมื่อ 25 มีนาคม 2558) เป็นต้น

นอกจากนี้ พล.อ.ประยุทธ์ ยังได้แสดงออกหลายครั้งและหลายโอกาสในทำนองกล่าวหาสื่อมวลชนโดยทั่วไปว่าเป็นผู้ไม่หวังดี ไม่เป็นส่วนหนึ่งของการสร้างความปรองดองขึ้นในชาติ อันเป็นข้อกล่าวหาที่เลื่อนลอย เพราะการทำหน้าที่ของสื่อมวลชนเป็นการสะท้อนมุมมองของทุกกลุ่มความขัดแย้งในสังคม เพื่อนำไปสู่การแก้ไขปัญหาร่วมกันของคนในชาติอย่างสันติวิธี อีกทั้งการทำหน้าที่รายงานปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในสังคมก็เป็นหน้าที่โดยปกติของสื่อมวลชน ที่มิได้อยู่ภายใต้เงื่อนไขของอำนาจใดๆ

การปฏิรูปสื่อแนวโน้มที่ยังน่าห่วง
การปฏิรูปสื่อสารมวลชนถูกบรรจุไว้เป็น 1 ใน 11 ด้านของการปฏิรูปประเทศ ที่ระบุไว้ในมาตรา 27 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557 โดยตลอดปีที่ผ่านมา องค์กรวิชาชีพสื่อมวลชนได้เรียกร้องให้ปฏิรูปสื่อ โดยยึดหลักการสำคัญคือ การปฏิบัติหน้าที่ของสื่อมวลชนทุกแขนงจะต้องเป็นไปอย่างอิสระ ปราศจากการครอบงำโดยอำนาจรัฐ อำนาจทุน ยึดหลักการกำกับดูแลร่วมกันขององค์กรวิชาชีพ โดยไม่มีกฎหมายอื่นเข้ามาแทรกแซง หากสื่อมวลชนกระทำการขัดกับบทบัญญัติของกฎหมายใดให้ใช้กฎหมายนั้นดำเนินคดี

คณะกรรมาธิการการปฏิรูปสื่อสารมวลชนและเทคโนโลยีสารสนเทศ สภาปฏิรูปแห่งชาติ ได้เสนอร่าง พ.ร.บ.การคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ ส่งเสริมจริยธรรมและมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน พ.ศ. .... ไปยังคณะรัฐมนตรี เพื่อจัดตั้งองค์กรวิชาชีพสื่อมวลชนแห่งชาติขึ้น แต่ยังมิได้พิจารณา สภาปฏิรูปแห่งชาติก็สิ้นสุดวาระลงก่อน โดยไม่ผ่านความเห็นชอบบทบัญญัติรัฐธรรมนูญที่ว่าด้วยการจัดตั้งองค์กรวิชาชีพสื่อมวลชน ข้อเสนอนี้จึงตกไป

อย่างไรก็ตาม ยังคงมีแนวคิดในการใช้กฏหมายกำกับดูแลสื่อ อีกทั้งการให้อำนาจตำรวจกลับมาควบคุม บังคับสื่อ ในหลักการเช่นเดียวกับ พ.ร.บ.การพิมพ์ พ.ศ.2484 ซึ่งยกเลิกไปแล้ว โดยกรรมาธิการบางคนในคณะกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านการสื่อสารมวลชน สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ และคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านสื่อออนไลน์ ด้านสื่อสิ่งพิมพ์ และด้านสื่อกระจายเสียงวิทยุ โทรทัศน์และโทรคมนาคม ได้เสนอหลักการสำคัญให้การกำกับดูแลสื่อทุกประเภทอยู่ภายใต้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ซึ่งสะท้อนแนวคิดในเชิงอำนาจนิยมที่ขัดต่อหลักการพื้นฐานของระบอบประชาธิปไตยที่รับรองสิทธิในการแสดงความคิดเห็นของบุคคลและสื่อมวลชน

ขณะเดียวกันก็มีความพยายามที่จะเสนอให้หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติใช้อำนาจตามมาตรา 44 เพื่อคืนอำนาจให้ตำรวจในการกำกับดูแลสื่อ คณะกรรมาธิการชุดดังกล่าวยังมีแนวคิดเชิญตัวแทนบริษัทเอกชนผู้ให้บริการเสิร์ช อินจิน และผู้ให้บริการสื่อสังคมออนไลน์ไปให้ข้อมูลและหารือถึงแนวทางการดำเนินการร่วมกันที่รัฐสภาในต้นปี 2559 ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวของภาครัฐได้ถูกจับตามองจากสังคมและนานาชาติเพราะเกี่ยวเนื่องกับประเด็นที่อ่อนไหวต่อสิทธิความเป็นส่วนตัวของประชาชนเป็นอย่างมาก

จากสถานการณ์รอบด้านในปี 2558 จึงเห็นได้ว่าสถานการณ์สื่อมวลชนของไทยอยู่ในสภาวะที่ไม่มีความชัดเจนหรืออึมครึม ทั้งในเนื้อหาเพื่อสนองตอบต่อประชาชน เพราะตกอยู่ภายใต้ข้อจำกัดของคำสั่งและประกาศต่างๆ ของภาครัฐ ตลอดจนภาวะการเซ็นเซอร์ตัวเองของสื่อมวลชน เพื่อหลีกเลี่ยงผลกระทบจากการปฏิบัติหน้าที่ สิ่งเหล่านี้ย่อมส่งผลเสียต่อการทำหน้าที่ในการสืบเสาะค้นหาข้อเท็จจริงให้ข่าวสารต่างๆ เกิดความกระจ่าง เพื่อผลประโยชน์โดยรวมของประเทศ ไม่ใช่ผลประโยชน์ของกลุ่มบุคคลหรือผู้มีอำนาจในการบริหารประเทศ สภาพเช่นนี้ทำให้เกิดความอึดอัด เพราะไม่อาจใช้พื้นที่ของสื่อมวลชนให้ทุกกลุ่มได้แสดงความคิดเห็นอันจะเป็น ประโยชน์ต่อการสร้างความปรองดองภายในชาติ ผ่านการพูดคุยเจรจาและหาทางออกร่วมกันอย่างสันติ ทั้งสถานการณ์ทุกด้านยังส่งผลให้เกิดความหวาดระแวงในแวดวงสื่อมวลชนทุกแขนง จึงถือได้ว่าปี 2558 ที่ผ่านไป เป็นปีแห่งความ “อึมครึม อึดอัด และหวาดระแวง”

สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย
30  ธันวาคม  2558

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net