Skip to main content
sharethis

ถึงแม้ว่าปี 2558 ที่ผ่านมาจะมีเรื่องเลวร้ายเกิดขึ้นในโลกหลายเรื่อง แต่ก็พอมีเรื่องดีๆ เกิดขึ้นอยู่บ้าง เช่น ชัยชนะของกลุ่มเรียกร้องเรื่องโลกร้อน กลุ่มเรียกร้องการแต่งงานของคนรักเพศเดียวกัน ความก้าวหน้าในเรื่องคนคุกและนโยบายยาเสพติดและเรื่องทางการทูต โดย เมดิยา เบนยามิน ผู้ร่วมก่อตั้งกลุ่มสันติวิธี CODEPINK และองค์กรสิทธิมนุษยชนโกลบอลเอ็กซ์เชนจ์ (Global Exchange) รวมรวบ 10 เรื่องดีๆ เหล่านี้ไว้ในบทความซึ่งเผยแพร่ในเว็บไซต์วิเคราะห์นโยบายต่างประเทศ Foreign Policy in Focus (FPIF)

เบนยามินระบุว่าถึงแม้ในโลกจะมีเรื่องแย่ๆ อย่างสงครามซีเรียที่ทำให้เกิดวิกฤตผู้ลี้ภัย เรื่องการก่อการร้ายในเลบานอน ฝรั่งเศส และที่อื่นๆ รวมถึงเรื่องของความหวาดกลัวอิสลามอย่างไม่มีเหตุผล (Islamophobia) อย่างไรก็ตามมีเรื่องดีๆ ในโลกนี้อีก 10 เรื่องดังต่อไปนี้

เรื่องที่ 1 การเจรจานิวเคลียร์กับอิหร่านบรรลุผล 

เบนยามินระบุว่าถึงแม้จะมีการต่อต้านและความพยายามใช้เงินหลายล้านดอลลาร์เพื่อทำลายข้อตกลงนี้ แต่ในที่สุดการเจรจาเพื่อยับยั้งการครอบครองอาวุธนิวเคลียร์ของอิหร่านสัมฤทธิ์ผล ทำให้กลุ่มนักล็อบบี้สายคัดค้านที่มีอำนาจอย่างคณะกรรมการกิจการสาธารณะอิสราเอลอเมริกัน (American Israel Public Affairs Committee – AIPAC) กับพรรคพวกรวมถึงนายกรัฐมนตรีของอิสราเอลพ่ายแพ้ เว้นแต่ว่ามันทำให้เกิดข้อเสียอย่างหนึ่งคือการที่เงินภาษีของชาวสหรัฐฯ จะถูกส่งไปสนับสนุนกองกำลังอิสราเอลมากขึ้น

เรื่องที่ 2 ความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐอเมริกากับคิวบาดีขึ้น

จากกว่าครึ่งศตวรรษที่ผ่านมา ถือเป็นครั้งแรกที่สหรัฐฯ และคิวบาตกลงตั้งสถานเอกอัครราชทูตไว้ในอาณาเขตของแต่ละประเทศ ประธานาธิบดีบารัค โอบามา ไปเยือนคิวบาบ่อยขึ้น มีการหารือเกี่ยวกับการค้าระหว่างทั้งสองประเทศมากขึ้น แต่เบนยามินก็ระบุว่าในตอนนี้สภาคองเกรสของสหรัฐฯ ควรจะยกเลิกการคว่ำบาตร ยกเลิกการสั่งห้ามเดินทางระหว่างประเทศ และคืนฐานทัพเรือกวนตานาโมให้กับคิวบา

เรื่องที่ 3 การยกเลิกท่อส่งน้ำมันคีย์สโตน

หลังจากที่กลุ่มนักกิจกรรมระดับรากหญ้าพากันต่อต้านท่อส่งน้ำมันคีย์สโตนมาเป็นเวลาช้านานท่ามกลางการล็อบบี้ของกลุ่มบรรษัทน้ำมัน ในที่สุดประธานาบดี บารัค โอบามา ก็อยู่ข้างนักกิจกรรมและอยู่ข้างสิ่งแวดล้อมด้วยการระงับโครงการดังกล่าว เบนยามินระบุอีกว่าถึงแม้ว่าการหารือเรื่องโลกร้อนที่กรุงปารีสในปี 2558 จะไม่ได้ทำให้เกิดฉันทามติในการยับยั้งโลกร้อนอย่างจริงจัง แต่มันก็ได้สร้างความตระหนักรู้และนำพาประชาคมโลกไปในทางที่ถูกต้อง

เรื่องที่ 4 ขบวนการ "ชีวิตคนดำมีความหมาย" (Black Lives Matter) เริ่มส่งผลลัพธ์

เบนยามินระบุว่าขบวนการ "ชีวิตคนดำมีความหมาย" เป็นการเคลื่อนไหวที่ทำให้เรื่องความอยุติธรรมทางเชื้อชาติได้รับความสนใจในระดับประเทศสหรัฐฯ และทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศ โดยเริ่มต้นจากบนท้องถนนของเมืองเฟอร์กูสัน รัฐมิสซูรี จนกลายเป็นกระแสไปทั่วประเทศ มีการปลดและเอาผิดกับตำรวจที่ก่อคดี คณะกรรมการพิจารณาของฝ่ายพลเรือนมีอำนาจมากขึ้น รวมถึงมีการเปลี่ยนข้อความหรือสัญลักษณ์ที่สื่อในเชิงเหยียดเชื้อชาติในที่สาธารณะ และนักการเมืองผู้ลงท้าชิงเลือกตั้งประธานาธิบดีก้ต้องหันมาพูดเรื่องเชื้อชาติสีผิวกันอย่างจริงจัง เบนยามินแสดงความชื่นชมต่อนักกิจกรรมหนุ่มสาวคนผิวดำที่ทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงนี้

เรื่องที่ 5 ประเทศแคนาดาต้อนรับผู้ลี้ภัย 

ในขณะที่โดนัลด์ ทรัมป์ นักการเมืองสหรัฐฯ ขู่กีดกันชาวมุสลิมออกจากสหรัฐฯ นายกรัฐมนตรีแคนาดาที่มาจากการเลือกตั้ง จัสติน ทรูโด กลับแสดงให็โลกเห็นว่าประเทศหนึ่งๆ สามารถเปิดประตูและเปิดใจรับผู้ลี้ภัยชาวซีเรียได้ โดยทรูโดจัดการต้อนรับผู้ลี้ภัยด้วยดอกไม้ ของเล่น เสื้อผ้า และมิตรไมตรี อีกทั้งยังประกาศว่าพวกเขาต้องการให้โลกรู้ว่าควรจะเปิดใจรับผู้คนที่หนีออกมาจากสถานการณ์ที่เลวร้าย และเพราะว่าพวกเขาไม่ได้นิยาม "ชาวแคนาดา" ด้วยสีผิว ภาษา ศาสนา หรือภูมิหลังที่มี แต่พวกเขานิยามชาวแคนาดาจาก "คุณค่า ความปรารถนา ความหวังและความฝัน"

เรื่องที่ 6 เจเรมี คอร์บิน ได้เป็นหัวหน้าพรรคแรงงานอังกฤษ

เบนยามินระบุว่า เจเรมี คอร์บิน เป็นนักการเมืองหัวก้าวหน้าที่มีประวัติยาวนาน เขามีแนวคิดต่อต้านสงคราม ต่อต้านนโยบายรัดเข้มขัด และส่งเสริมช่วยเหลือผู้ลี้ภีย เขาได้รับการโหวตให้เป็นหัวหน้าพรรคคนใหม่ของพรรคแรงงานอังกฤษด้วยคะแนนเสียงร้อยละ 59 เขายังได้ให้สัมภาษณ์ต่อสื่อเดโมเครซีนาวว่าเขาสนับสนุนแนวทางการทูตและไม่สนับสนุนการโจมตีทางอากาศในตะวันออกกลาง

เรื่องที่ 7 การแต่งงานของคนรักเพศเดียวกันกลายเป็นเรื่องถูกกฎหมายในสหรัฐฯ

หลังจากการตัดสินของศาลฎีกาสหรัฐฯ เมื่อวันที่ 26 มิ.ย. 2558 มีผลให้การแต่งงานของคนรักเพศเดียวกันทั่วสหรัฐฯ ถือเป็นเรื่องถูกกฎหมายทั้งหมดไม่ว่าจะอยู่ในรัฐใดก็ตาม แต่ก็อาจจะมีผลสะท้อนเชิงล้าหลังออกมาบ้างเช่นในกรณีเจ้าหน้าที่ทางการของเคนทักกียังยืนกรานปฏิเสธไม่ยอมออกใบทะเบียนสมรสให้คู่รักเพศเดียวกัน แต่ความก้าวหน้านี้ก็ไม่อาจถอยกลับได้อีกแล้ว

เรื่องที่ 8 ความสำเร็จปีที่สิบของขบวนการรณรงค์คว่ำบาตรอิสราเอล

กลุ่มขบวนการรณรงค์คว่ำบาตรอิสราเอล (Boycott, Divestment, and Sanctions หรือ BDS) ซึ่งเป็นกลุ่มเชิงสันติวิธีและไม่แบ่งแยกทางศาสนานำโดยชาวปาเลสไตน์ดำเนินการโดยได้รับชัยชนะเป็นปีที่สิบ เรื่องสำคัญที่เกิดขึ้นในปีนี้คือการตัดสินใจของสหภาพยุโรปที่กำหนดให้สินค้าที่ผลิตในดินแดนที่ถูกยึดครองในสงครามปี 2510 (สงครามอาหรับ-อิสราเอล รู้จักในอีกชื่อหนึ่งคือ "สงครามหกวัน") ต้องถูกแปะป้ายว่า "ผลิตในพื้นที่ยึดครอง" (Made in Settlements) แทน "ผลิตในอิสราเอล" (Made in Israel) ซึ่งทำให้อิสราเอลไม่ได้รับผลประโยชน์ด้านภาษีดังเดิม

ชับไต ชาวิต อดีตหัวหน้าหน่วยข่าวกรองอิสราเอลยอมรับว่า BDS เป็นปัญหาท้าทายที่สำคัญยิ่งสำหรับอิสราเอล และสถานทูตอิสราเอลก็พยายามดิ้นรนต่อต้านการเคลื่อนไหวของ BDS ด้วยการส่งของขวัญเทศกาลปลายปีให้ทำเนียบขาวเป็นสินค้าที่ "ผลิตในพื้นที่ยึดครอง" ในทำนองประชดประชัน

เรื่องที่ 9 กัญชาถูกกฏหมายในหลายรัฐ-โอบามาหนุนคืนคนคุกสู่สังคม

เบนยามินระบุว่าจากที่ก่อนหน้านี้นโยบายสงครามยาเสพติดและการจับกุมกักขังคนแบบหมู่ในประเทศสหรัฐฯ ถือเป็นเรื่องหายนะ แต่ในตอนนี้กัญชากลายเป็นสิ่งที่ถูกกฎหมายในหลายรัฐ และในการเอกตั้งปี 2559 ก็อาจจะทำให้มีการพูดถึงเรื่องนี้มากขึ้นในระดับประเทศ

อีกประเด็นหนึ่งคือเรื่องการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมของสหรัฐฯ โดยประธานาธิบดีบารัค โอบามา ไปเยี่ยมนักโทษในคุกด้วยตนเองและพูดต่อต้านการจับกุมกักขังคนแบบหมู่และต้องการช่วยเหลือให้ผู้ที่เคยจำคุกมาก่อนกลับคืนสู่สังคมได้ด้วยการสั่งห้ามบรรจุช่องกรอกแบบฟอร์มสมัครงานว่าเคยมีประวัติต้องโทษจำคุกหรือไม่ (banning the box) ในงานของรัฐบาลกลาง

เรื่องที่ 10 การหาเสียงเลือกตั้งของผู้สมัคร เบอร์นี แซนเดอร์ส เสริมพลังให้กับฝ่ายหัวก้าวหน้า

เบนยามินระบุว่าพลังจากการขับเคลื่อนของแซนเดอร์สถือเป็นปรากฏการณ์โดยเฉพาะในหมู่คนหนุ่มสาวหัวก้าวหน้า ในขณะที่สื่อมัวแต่นำเสนอเรื่องของโดนัลด์ ทรัมป์ แต่ก็มีผู้คนแห่แหนไปฟังการหาเสียงของแซนเดอร์สจำนวนมากเกี่ยวกับเรื่องการปรับเปลี่ยนสถาบันธนาคารขนาดใหญ่ เสนอภาษีที่เก็บจากธุรกรรมทางการเงิน (Financial Transaction Tax) เพื่อทำให้การศึกษาฟรีในระดับวิทยาลัย เสนอระบบประกันสุขภาพแบบให้รัฐเป็นผู้จ่ายทั้งหมด (single-payer healthcare) และแนวคิดอื่นๆ ที่จะทำให้สังคมมีความยุติธรรมมากขึ้น เบนยามินระบุว่าคงเป็นเรื่องที่ดีถ้าหากว่าการเคลื่อนไหวเหล่านี้ยังคงดำเนินต่อไปถึงแม้แต่หลังการแข่งขันชิงชัยการเลือกตั้งประธานาธิบดีปี 2559 จบลง

"ในขณะที่ช่วงเทศกาลวันหยุดของสหรัฐฯ จะมีแต่เรื่องของภาพยนตร์สตาร์วอร์สกับโดนัลด์ ทรัมป์ แต่ก็ขอให้พวกเราตีระฆังรับปีใหม่ด้วยการโต้กลับความอยุติธรรมและพวกจักรวรรดิ ขอพลังจงสถิตอยู่กับนักกิจกรรมรากหญ้าผู้ที่พยายามสร้างโลกที่สงบสุขกว่านี้" เบนยามินระบุในบทความ

 

เรียบเรียงจาก

10 Good Things About the Not-So-Great Year 2015, Medea Benjamin, 30-12-2015

http://fpif.org/10-good-things-not-great-year-2015/

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net