Skip to main content
sharethis

เผยแกนนำชาวสวนยาง 17 จว.ใต้ นัดวางแนวเคลื่อน 5 ม.ค.นี้ พบสตูลตัดใจโค่นต้นยางขายไม้ พ่อค้ารับซื้อคาดราคายางอาจแตะที่ 5 โล 100 ปัจจุบันชาวสวนตรังโวย ยางพารา 4 โล 100 แล้ว ระบุเดือดร้อนหนัก ลุงวัย 60 รับวิกฤตสุดของตนตั้งแต่รับจ้างกรีดยางพารามาตลอดชีวิต

4 ม.ค. 2559 เดลินิวส์ รายงานว่า นายอุทัย สอนหลักทรัพย์ ประธานสภาเกษตรกรชาวสวนยางแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า แกนนำเกษตรกรสวนยาง 17 จังหวัดภาคใต้ จะประชุมนัดแรกในวันที่ 5 ม.ค.นี้ โดยนัดรวมตัวที่สถาบันเกษตรกรหลายจังหวัด เช่น จ.ตรัง กระบี่ สุราษฎร์ธานี เพื่อวางแนวทางเคลื่อนไหวเรียกร้องให้รัฐบาลเร่งแก้ไขปัญหาราคายางตกต่ำที่สุดในรอบ 100 ปี แม้ขณะนี้เป็นช่วงปิดกรีดยาง แต่ราคายางแผ่นยังตกลงทุกวันเหลือ 30 กว่าบาทต่อกิโลกรัม น้ำยางดิบ ยางก้นถ้วย 25 บาทต่อกิโลกรัม หากไม่เร่งช่วยเหลือจะอยู่กันไม่รอด ตอนนี้ผูกคอตายไป 2 รายแล้ว คาดว่าช่วงเปิดกรีดเดือน เม.ย. -พ.ค. ราคาอาจลงมากไปกว่านี้ เพราะยางในโกดังรัฐบาลมีกว่า 4 แสนตัน ไม่ระบายออกไปเป็นตัวกดตลาดไว้ โดยจะสรุปข้อเสนอเพื่อให้รัฐบาลออกมาตรการเร่งด่วนแก้ปัญหาในวันที่ 12 ม.ค. ที่ จ.ตรัง ก่อนที่เกษตรกรสวนยางจะจมน้ำตายกันหมดทั้งประเทศ ในเบื้องต้นจะเสนอให้นายกรัฐมนตรี ใช้มาตรา 44 ประกาศชดเชยราคาให้กิโลกรัมละ 50-60 บาท ซึ่งเป็นราคาที่เกษตรกรอยู่ได้ในช่วงนี้
 
ตัดใจโค้นต้นยางขายไม้ - คาดอาจแตะที่ 5 โล 100
 
สำหรับสภาพปัญหาของชาวสวนยางนั้น วันเดียวกัน MGR Online รายงานว่า ชาวสวนยางพาราของชาวบ้านในพื้นที่ หมู่ที่ 4 ต.ละงู อ.ละงู จ.สตูล หลายรายตัดสินใจขายไม้ยางพาราภายในสวน เพื่อลดภาระการดูแลบำรุงรักษา และเพื่อต้องการเงินก้อน มากกว่ามาคอยเก็บเงินค่ากรีดน้ำยางพาราที่มีแนวโน้มลดลงเรื่อยๆ โดยล่าสุด ราคาอยู่ที่กิโลกรัมละ 23-25 บาท
       
นายชัยโชค ฟุ้งเฟื่อง อายุ 44 ปี พ่อค้ารับซื้อไม้ยางพารา ยอมรับว่า ช่วงนี้มีชาวสวนยางพาราติดต่อขายสวน เพื่อขอรับเงินก้อนมากกว่ามาคอยรับเงินจากการกรีดน้ำยางพาราขายในแต่ละเช้าที่มีแนวโน้มลดลงเรื่อยๆ ที่อาจไปแตะที่กิโลกรัมละ 20 บาทได้ โดยลูกค้าชาวสวนยางพาราส่วนใหญ่มีบุตรที่กำลังเรียนต่อ มีภาระหนี้สินที่ต้องชำระ ทั้งบ้าน ทั้งรถ ลูกค้าชาวสวนที่บอกขายส่วนใหญ่ไม่อยากแบกรับภาระหนี้ ค่าปุ๋ยในการบำรุงรักษา จึงเลือกที่จะขายไม้ยางพารามากกว่า 
 
สำนักข่าว INN รายงานด้วยว่า นายชัยโชค ยังกล่าวว่า ชาวสวนยางพารา เจอปัญหาที่มาตั้งแต่ปีที่แล้ว และตนเองก็ได้รับการติดต่อจากเจ้าของสวนยางพารา เพื่อต้องการขาย บางรายตีราคาสูง แต่เราจะรับซื้อและดูคุณภาพต้นยางพาราว่าอยู่ไร่ละเท่าไร บางรายไม้สวยงาม ราคาก็จะอยู่ประมาณ ไร่ละ 5,000 - 20,000 บาท โดยเฉพาะเดือนธันวาคม ปีที่ผ่านมา และมาปีใหม่นี้มีติดต่อเข้าเกือบ 30 ราย
 
ลุงวัย 60 รับวิกฤตสุดของตนตั้งแต่รับจ้างกรีดยางพารามาตลอดชีวิต
 
MGR Online รายงานถึงสภาพปัญหาของแรงงานรับจ้างกรีดยางด้วย โดยยกกรณี บาเกด เด็นหลี อายุ 60 ปี อยู่บ้านเลขที่ 199 หมู่ที่ 1 ต.เจ๊ะบิลง อ.เมือง จ.สตูล รับจ้างกรีดยางพารามาเกือบตลอดชีวิต เขายอมรับว่า ช่วงนี้เป็นช่วงที่วิกฤตสุดของพวกตนที่รับจ้างกรีดยางพารา แม้ราคาจะตกต่ำเพียงใดก็ต้องก้มหน้าทำต่อไป โดยได้เล่าว่าจะต้องตื่นตั้งแต่ตี 1 เพื่อออกมากรีดยาง ร่วมกับเพื่อน 2 คน ในสวนยางพารา 20 ไร่ กว่าจะเสร็จก็ 9-10 โมงเช้า ทั้งเก็บ และขายน้ำยาง
 
ชาวสวนตรังโวย ยางพารา4กก.100บ. เดือดร้อนหนัก
 
วันเดียวกัน(4 ม.ค.59) กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ รายงานสภาพปัญหาชาวสวนยางที่ จ.ตรัง โดยยกกรณี นางสาวอารีย์ สีนา อายุ 36 ปี ชาวอ.เมือง จ.ตรัง เธอกล่าวว่า ขณะนี้ครอบครัวได้รับความเดือดร้อนอย่างหนักจากราคายางพาราตกต่ำ โดยกรีดยางพาราวันละ 10 ไร่ มีรายได้ 2 คนกับสามีจากการรับจ้างกรีดยางเหลือแค่วันละประมาณ 300 บาทเท่านั้น เดิมราคาที่กก.ละ 50 บาท ก็ว่าเดือดร้อนมากแล้ว แต่มาตอนนี้ยางพาราเหลือกก.ละ 25 บาท ยิ่งเดือดร้อนหนัก ประหยัดจนไม่รู้ประหยัดกันอย่างไรแล้ว มีรายได้ไม่เพียงพอกับรายจ่าย ต้องดิ้นรนออกทำงานพิเศษในช่วงกลางคืนทั้ง 2 คน โดยสามีรับจ้างเป็นยามรักษาความปลอดภัยกับบริษัทแห่งหนึ่ง ส่วนตนเองรับจ้างเป็นแม่บ้านของโรงแรมแห่งหนึ่งในช่วงบ่าย ทั้ง 2 คน ได้นอนพักผ่อนแค่วันละประมาณ 2 ชม.เท่านั้น เพราะต้องทำงานพิเศษ เพื่อให้มีรายได้มาจุนเจือครอบครัวเลี้ยงดูลูกที่อยู่ในวัยเรียน
 
ทั้งนี้  จึงอยากวอนขอให้รัฐบาลเร่งให้ความช่วยเหลือราคายางพาราที่กก.ละ 60 บาท ก็น่าจะพออยู่ได้ พร้อมยืนยันว่ามาถึงเวลานี้เดือดร้อนกันสุดๆหากมีการประท้วงเรียกร้องให้รัฐบาลช่วยเหลือราคายางก็พร้อมจะออกไปร่วมชุมนุมด้วย ไม่กลัวการถูกจับอีกแล้ว เพราะเดือดร้อนหนักจริงๆ
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net