Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis


ภาพ:  Benjamas Por Boonyarit

สิบสองปีไฟใต้ ความขัดแย้งรุนแรงที่ปะทุขึ้นรอบใหม่ ที่หลายคนเข้าใจว่า เริ่มขึ้นเมื่อต้นปี 2547 หากทว่าแต่ที่จริงแล้วก่อนหน้านั้นมีตั้งแต่เดือนธันวาคมใน ปี2544 เลยทีเดียวที่มีการโจมตีกองกำลังของเจ้าหน้าที่ด้านความมั่นคง โดยกลุ่มนักรบไม่ทราบฝ่าย ซึ่งเป็นการจู่โจมด้วยวิธีที่แยบคายเป็นอย่างยิ่ง รวมถึงการโจมตีป้อมตำรวจเป็นชุดในห้วงเวลานั้น ในวันที่ 24 ธันวาคม 2544 เกิดเหตุโจมตีหลายจุด ซึ่งส่งผลให้มีเจ้าหน้าที่เสียชีวิตจำนวน 6 นาย  และในวันที่ 28 เมษายน 2546 เกิดเหตุบุกโจมตีฐานของหน่วยนาวิกโยธินที่จังหวัดนราธิวาสและยะลา ทำให้เจ้าหน้าที่เสียชีวิต 5 นาย แต่รัฐบาลไทย(ในขณะนั้น)ไม่ได้ให้ความสนใจกับเหตุการณ์ดังกล่าวโดยระบุว่าเป็นการกระทำของโจรหรือกลุ่มผลประโยชน์ในท้องถิ่น ทำให้เหตุการณ์ไม่ได้รับความสนใจจากสื่อมวลชนสักเท่าไร

แอนโธนี่ เดวิส (Anthony Davis) นักวิเคราะห์ด้านความมั่นคง เคยเสนอว่าเหตุการณ์เหล่านี้แสดงให้เห็นการปรากฏตัวขึ้นใหม่ของขบวนการนักรบปาตานี ซึ่งในด้านหนึ่งก็เป็นการรวมตัวใหม่และจัดองค์กรใหม่ภายใต้การนำของบีอาร์เอ็น (BRN) หลังจากที่กลุ่มพูโลถูกทลาย จากการจับกุมแกนนำคนสำคัญ ๆ ได้ที่ประเทศมาเลเซียในปี 2540  แต่ไม่ว่าใครหรือกลุ่มใดจะเป็นผู้นำขบวนการ ข้อเสนอของเดวิสนั้นถูกต้องที่ว่าความรุนแรงอันน่าสับสนอลหม่าน ที่เกิดขึ้นในปี 2547 นั้นมีที่มาอันยาวไกลยิ่งนัก

ในปี 2550 ซึ่งเป็นปีที่มีความรุนแรงที่พุ่งขึ้นสูงมาก มีสถิติของผู้ที่ถูกคร่าชีวิตใน 3 จังหวัดชายแดนใต้เฉลี่ย 6-7 คนต่อวันเลยทีเดียว ซึ่งนักวิชาการวิเคราะห์เหตุไฟใต้มีความรุนแรงเหมือนเข้าสู่ภาวะสงครามแล้ว โดยในปีนี้เองที่นักวิจัยมึนกับการวิเคราะห์ข้อมูลที่ซับซ้อนขึ้นกว่าเดิม เพราะความรุนแรงในจังหวัดชายแดนใต้สวนกระแสโลก และในกลางปีเดียวกันยังมีการลุกฮือของนักศึกษาปัญญาชนปาตานีกับประชาชนเรือนหมื่น ชุมนุมเรียกร้องความเป็นธรรม ณ มัสยิดกลางประจำจังหวัดปัตตานีอีกด้วย

หลังจากสิบปีของการลองผิดลองถูกในการแก้ปัญหาของภาครัฐ ก็เริ่มมีทิศทางที่มุ่งสู่การแก้ไขปัญหาในแนวแนวทางสันติวิธีมากขึ้น เช่น   มีการปรับตัวทางนโยบายสันติภาพของรัฐด้วยการ ออก “นโยบายการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ พ.ศ.2555-2557” โดย สมช. นโยบายดังกล่าวประกาศชัดเจน ว่าจะต้องมุ่งสร้างสภาวะแวดล้อม ที่เอื้อต่อการพูดคุยในการ แสวงหาทางออกจากความขัดแย้ง และให้หลักประกันในการเข้ามา มีส่วนร่วมของผู้เกี่ยวข้องและผู้มีส่วนได้เสียในกระบวนการ เสริมสร้างสันติภาพ อันเป็นที่มาของการพูดคุยสันติภาพ ครั้งประวัติศาสตร์ ระหว่างรัฐไทยกับบีอาร์เอ็น (BRN) ที่ประเทศมาเลเซีย ในปี 2556 

ด้านฝ่ายทหาร มีการเดินนโยบายสันติภาพ ผ่าน กอ.รมน.ภาค4 ส่วนหน้า ที่ได้ประกาศนโยบาย “สานใจสู่สันติ” ซึ่งเน้นการเปิดโอกาส ให้ผู้มีความเห็นต่างจากรัฐได้มีช่องทางสามารถแสดงความคิดเห็น และมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหา โดยเฉพาะโครงการพาคนกลับบ้านที่กำลังถูกสังคมกังขาว่าแก้ปัญหาถูกจุดหรือไม่  แต่ทั้งนี้ก็ยังสวนทางกับปฏิบัติการปิดล้อม ตรวจค้น จับกุมผู้ต้องหาคดีความมั่นคง ส่วนหนึ่งก็เพื่อติดตามหาปืนที่ถูกปล้นไป โดยตลอด 12 ปีมีการปิดล้อมตรวจค้นทั้งสิ้นเกือบ 8 หมื่นครั้ง กว่า 1 แสน 3 หมื่นเป้าหมาย ถือเป็นปฏิบัติการทางการทหาร ที่จะหลีกเลี่ยงถึงการละเมิดสิทธิมนุษยชนต่อประชาชนผู้บริสุทธิ์ได้ยากยิ่ง

ส่วน ศอ.บต. มีนโยบายเปิดพื้นที่อำนวยความสะดวกในเรื่องการ “พูดคุยสันติภาพ” ซึ่งมีบทบาทการเมืองนำการทหารสูงมากในยุคของ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง แต่ภายใต้การบริหารงานของ นายภาณุ อุทัยรัตน์ เลขาธิการ ศอ.บต.คนปัจจุบัน บทบาทเหล่านั้นแทบจะไม่มีให้เห็นอีกเลย

อีกด้านของภาคประชาสังคมและนักวิชาการ มีความพยายามสร้างพื้นที่กลางเพื่อ สันติภาพตามแนวทางที่เรียกว่า “กระบวนการสันติภาพปาตานี” และ แนวทางการสร้าง “พื้นที่กลางสร้างสันติภาพจากคนใน” หรือ “Insider Peace builders Platform, IPP” ซึ่งดำเนินการมาตั้งแต่ปี 54 และการรณรงค์“พื้นที่ปลอดภัย” ในแวดวงของนักประชาสังคมต่างๆ หลากหลายรูปแบบ หนึ่งในบทความที่เขียนโดยนาย ตูแวดานียา ตูแวแมแง สามารถอธิบายได้เห็นภาพในเรื่องพื้นที่ปลอดภัยที่มีการถกเถียงกันนั้น ได้ปรากฏต่อหน้าพื้นที่สื่อสาธารณะอย่างเป็นทางการหลังจากที่คณะพูดคุยสันติสุขซึ่งนำโดย พล.อ.อักษรา เกิดผล ได้มีข้อเสนอ 3 ข้อ ไปยังกลุ่มมาราปาตานี ซึ่งหนึ่งใน 3 ข้อนั้นก็มีเรื่อง “พื้นที่ปลอดภัย” อีก 2 ข้อเป็นเรื่องของความยุติธรรมและการพัฒนา ซึ่งในรูปธรรมจริงๆยังไม่สามารถที่จะจับต้องได้ว่า อะไรคือหลักประกันว่าในพื้นที่ชายแดนใต้/ปาตานีแห่งนี้ สามารถประกาศเป็นพื้นที่ปลอดภัยได้อย่างเป็นรูปธรรมจริงๆ

อนึ่ง สิ่งที่น่าสนใจที่เชื่อว่าหลายคนต้องติดตาม นโยบายการพูดคุยสันติสุขของรัฐบาลไทยภายใต้การนำของรัฐบาลทหาร (คสช.) ภายหลังจากที่ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้ขึ้นมาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ได้เพียงไม่กี่วัน (จากการรัฐประหาร)  ประกาศเดินหน้าพูดคุยสันติสุขกับผู้ที่มีความคิดเห็นต่างจากรัฐ ที่มีการรวมตัวเป็นกลุ่มที่มีชื่อว่า มาราปาตานี และแล้ว ถึงวันนี้ ก็ยังไม่สามารถที่จะชี้ให้ชัดว่า กระบวนการพูดคุยสันติสุขจะเดินหน้า หยุดนิ่ง หรือถอยหลัง แต่ก็ต้องขึ้นอยู่กับรัฐบาลไทยในฐานะผู้ขับเคลื่อนเช่นกัน

ในส่วนของ แอนโธนี่ เดวิส (Anthony Davis) ก็ยังยืนยันว่า แหล่งข่าวที่ตนสัมภาษณ์ คือ “ยูซุฟ” เป็นฝ่ายประชาสัมพันธ์และข้อมูลข่าวสารของ BRN ว่า ในมาราปาตานีไม่ใช่ตัวจริงที่ได้รับฉันทานุมัติจาก DPP (สภาองค์กรนำ) หลังจากปรากฏการณ์ดังกล่าวนั้น ส่งผลสะเทือนคนในวงการสันติภาพเป็นอย่างมาก ภายหลังจากนั้น การพูดคุยในภาคเปิดของทั้งสองฝ่ายก็ไม่ได้มีให้เห็นอีกเลยในตลอดปี 2558

4  มกราคม 2559 ครบรอบ สิบสองปีไฟใต้ เหตุการณ์ความไม่สงบ หรือ เหตุการณ์ความรุนแรง ก็สุดแล้วแต่ที่จะเรียก โดยภาพรวมแล้ว  พล.อ.อักษรา เกิดผล หัวหน้าคณะพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ ก็ได้แถลงข่าวถึงกระบวนการพูดคุยสันติสุขว่า ยังดำเนินการตามเจตนารมณ์ ที่จะนำสันติสุขคืนมาโดยเร็ว โดยล่าสุด อยู่ระหว่างการจัดทำบันทึกข้อตกลงร่วมด้านธุรการ การสนับสนุน และการกำหนดพื้นที่ปลอดภัยนั้น ยังคงเป็นชุดความคิดที่คณะพูดคุยฯ เตรียมเสนอเข้าสู่กระบวนการพูดคุยฯ อย่างเป็นทางการต่อไป และในปี 2559 คาดว่าแนวโน้มสถานการณ์น่าจะมีการพัฒนาการที่มีความก้าวหน้าโดยลำดับ จนอยู่ในระดับที่ไม่น่ากังวล แต่เชื่อว่าของขวัญปีใหม่ชิ้นสำคัญจากรัฐบาลปีนี้ ที่ได้ให้กับคนชายแดนใต้/ปาตานี คือคำแถลงผลงานด้านความมั่นคงในรอบ 1 ปีของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม ในปี 2559 ถ้าเป็นไปได้ เราอาจยุติในเรื่องของการสู้รบใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ 

โดยภาพรวมของความขัดแย้งในจังหวัดชายแดนใต้/ปาตานี แม้จะกินเวลามาแล้วถึง 12 ปีเต็ม แม้สถานการณ์เศรษฐกิจจะย่ำแย่อย่างไร แต่การเฝ้ารอสันติภาพด้วยความหวังของประชาชนในพื้นที่แห่งนี้ ก็ยังคงเฝ้ารอว่าจะได้เห็นตามที่รัฐบาลได้ประกาศว่าปี 2559 สันติสุขจะคืนมา อย่าได้มีอีกเลยกับคำถามที่ว่า “ครบรอบไฟใต้ แล้วไงต่อ ?” ในปีถัดๆไป


อ้างอิง

-Tearing Apart the Land :  Islam and Legitimacy in SOUTH Thailand
By Duncan McCargo / Translated by Nuttaya Wan-arroonwong / Edited by Romdon Panjor
-บทความวิเคราะห์สถานการณ์ยุทธศาสตร์และความมั่นคงของประเทศรายสัปดาห์ ฉบับที่ 15/57  (ศูนย์ศึกษายุทธศาสตร์ สถาบันวิชาการป้องกันประเทศ)
-สัมมนา ในหัวข้อเรื่อง “มุมมองของนักวิชาการและสื่อสารมวลชนต่อปัญหาความรุนแรงในจังหวัดชายแดนใต้” ผศ.ปิยะ กิจถาวร
-ไฟใต้สวนกระแสโลก นักวิจัยมึนวิเคราะห์ยาก  โดย อารีด้า สาเม๊าะ  โรงเรียนนักข่าวชายแดนใต้ (DSJ)

 

เผยแพร่ครั้งแรกที่ Wartani

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net