Skip to main content
sharethis

ความขัดแย้งอิหร่าน-ซาอุฯ กำลังทวีคูณ จนบางคนมองว่าเป็นประเด็นระหว่างมุสลิมสองนิกาย แต่ ฮามิด ดาบาชี นักวิชาการอิหร่านศึกษา ชวนชมพิพิธภัณฑ์อิสลามในกาตาร์ สะท้อนอีกมุมของอิสลามที่มีความเป็นสากลนิยมและความอดกลั้นต่อความต่าง พร้อมยืนยันซาอุ-อิหร่านไม่ใช่ความขัดแย้งระหว่างนิกาย


ภาพจาก OsamaSaeedScot (CC BY-NC 2.0) 


5 ม.ค. 2559 ในตอนนี้มีประเด็นที่ทั่วโลกกำลังจับตามองคือกรณีความบาดหมางระหว่างอิหร่านและซาอุดิอาระเบีย โดยทางการซาอุฯ ประกาศตัดสัมพันธ์ทางการทูตกับอิหร่านหลังจากที่มีเหตุผู้ประท้วงบุกโจมตีสถานเอกอัครราชทูตซาอุฯ ในอิหร่าน ซึ่งการประท้วงดังกล่าวนี้ก็มาจากความไม่พอใจที่ทางการซาอุฯ สั่งประหารชีวิตอิหม่าม ชีค นิมร์ อัลนิมร์ ผู้วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลซาอุฯ กรณีกดขี่ชนกลุ่มน้อย

ถึงแม้ว่าเรื่องนี้จะดูเหมือนเป็นความขัดแย้งระหว่างนิกาย หรือบ้างก็อาจจะมองว่าเป็นความขัดแย้งระหว่างชนชาติอาหรับกับเปอร์เซีย แต่ฮามิด ดาบาชี ศาตราจารย์ด้านอิหร่านศึกษาและวรรณกรรมเปรียบเทียบศูนย์ฮากอบ เกวอร์กเกียน มหาวิทยาลัยโคลัมเบีย ชวนให้มองความสัมพันธ์ของชาวมุสลิมในอีกมุมมองหนึ่ง โดยระบุถึงพิพิธภัณฑ์ศิลปะอิสลามในกรุงโดฮา ประเทศกาตาร์ ซึ่งตั้งอยู่ระหว่างกลางประเทศอิหร่านกับซาอุฯ แต่ก็สื่ออารมณ์ราวกับ "อยู่บนดาวคนละดวง"

พิพิธภัณฑ์ดังกล่าวมีผู้ออกแบบอาคารคือ ไอ. เอ็ม. เพ หรือ เลียะหมิงเป่ย สถาปนิกชาวอเมริกันเชื้อสายจีน ซึ่งดาบาชีมองว่าเป็นสถาปัตยกรรมที่สร้างด้วยภูมิปัญญา ความนอบน้อม ความเคารพในสภาพแวดล้อมของท้องถิ่น และถึงแม้ว่าจะเป็นผลงานที่แสดงความเคารพต่อสถาปัตยกรรมอิสลามแต่ก็ไม่มีลักษณะเอาสิ่งต่างๆ มาผสมปนเปกันอย่างสับสนวุ่นวายไร้รสนิยม แต่เป็นการสร้างภูมิทัศน์ให้ดูสุขุม การุณ และอดกลั้น

ดาบาชิระบุถึงประสบการณ์ที่เขาไปเยือนพิพิธภัณฑ์เมื่อไม่นานมานี้ว่าถือเป็นประสบการณ์ที่น่าอัศจรรย์ทำให้เห็นภาพของอารยธรรมมุสลิมในมุมมองที่ต่างกันออกไปด้วยการนำเสนอผ่านศิลปะ ซึ่งมีความแตกต่างอย่างมากจากภาพความขัดแย้งระหว่างนิกายในปัจจุบันที่ดาบาชิมองว่าเป็นเพราะความบาดหมางระหว่างประเทศซาอุฯ กับอิหร่านปะทุขึ้นเท่านั้น สำหรับดาบาชิแล้วการมองความขัดแย้งระหว่างซาอุฯ กับอิหร่าน ว่าเป็นความขัดแย้งระหว่างนิกายถือเป็นเรื่องหลงผิด

ดาบาชิระบุถึงผลงานในพิพิธภัณฑ์ว่าไม่มีลักษณะของความลำเอียงหรือการแบ่งแยกนิกายอยู่เลย มีงานจากที่ต่างๆ ในโลกทั้ง อินเดีย ตุรกี อียิปต์ ซีเรีย รวมถึงประเทศแถบเอเชียกลาง ประเทศแถบลิแวนต์ แถบแอฟริกาเหนือ และที่อื่นๆ จากโลกอาหรับตั้งอยู่ร่วมกัน อีกทั้งเหล่าภัณฑารักษ์ที่ดูแลผลงานเหล่านี้ก็ทำนุบำรุงศิลปะอิสลามด้วยคติแบบสากลนิยม (cosmopolitan) โดยไม่ลำเอียงว่าเป็นผลงานที่มาจากพื้นถิ่นใด

"เช่นเดียวกับนักเทววิทยาชาวคริสต์ ชาวมุสลิม ชาวยิว หรือชาวฮินดู การที่ตัวผมเองรำพึงถึงพิพิธภัณฑ์นี้ไม่ใช่การจงใจละเลยเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น แต่เป็นความพยายามขัดขวางเปลวเพลิงแห่งความเกลียดชังและความรุนแรง การแบ่งแยกนิกาย และแนวคิดคลั่งชาติ" ดาบาชิระบุในบทความ

"การยกระดับความบาดหมางและเกลียดชังระหว่างอิหร่านกับซาอุฯ ไม่ได้เกี่ยวข้องใดๆ เลยกับการแบ่งแยกระหว่างนิกายซุนนีและชีอะฮ์ในแง่ของเทววิทยาอิสลาม และยิ่งเกี่ยวข้องน้อยกว่านั้นในแง่ชะตากรรมที่ชาวอิหร่านและชาวอาหรับประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคต้องประสบ มันเป็นแค่เปลวเพลิงแห่งความโกรธแค้นระหว่างสองรัฐที่ตัดสินใจห้ำหั่นกันโดยไม่เลือกวิธีการเท่านั้น" ดาบาชิระบุในบทความ

 

เรียบเรียงจาก

Iran and Saudi Arabia: The art of Islamic tolerance, Aljazeera, 04-01-2016
http://www.aljazeera.com/indepth/opinion/2016/01/iran-saudi-arabia-art-islamic-tolerance-160104070844610.html

ข้อมูลเพิ่มเติมจาก
https://en.wikipedia.org/wiki/Nimr_al-Nimr

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net