ความอำมหิตของกระทรวงแรงงานยุคใต้ท็อปบูท: บทเรียนของ พ.ร.บ.ชุมนุม มองผ่านสหภาพแรงงานซันโคโกเซ

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

“พี่ป่านๆ ตอนนี้ผมอยู่โรงพัก สรุปว่าผมต้องแจ้งเรื่อง พ.ร.บ.ชุมนุมไหมครับ”

เสียงของประธานสหภาพแรงงานผลิตภัณฑ์ยานยนต์ไทยส่งผ่านมาทางโทรศัพท์ด้วยความร้อนรน เนื่องจากตำรวจในพื้นที่ตั้งโรงงานที่มีการชุมนุมของสมาชิกสหภาพแรงงานตาม พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 เองก็สับสนว่ากรณีแบบนี้ ทางตำรวจต้องรับแจ้งหรือไม่ อย่างไร และจะรับอย่างไร

เพราะในวรรคหนึ่งของมาตรา 3 พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ 2558 ได้กำหนดข้อยกเว้นไว้ว่า การชุมนุมใดบ้างที่ไม่เกี่ยวข้องกับการบังคับใช้ตามกฎหมายฉบับนี้ คือ “การชุมนุมภายในสถานศึกษา การชุมนุมหรือการประชุมตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย การประชุมสัมมนาทางวิชาการของสถานศึกษาหรือหน่วยงานที่มีวัตถุประสงค์ทางวิชาการ”

แต่สถานการณ์ที่เกิดขึ้นนี้ไม่ใช่การชุมนุมทางการเมืองหรือเรียกร้องต่อสาธารณะแต่อย่างใด อีกทั้งสหภาพแรงงานเองก็จะมีการชุมนุมในเย็นวันนี้แล้ว เพื่อชี้แจงสถานการณ์ที่เกิดขึ้นให้สมาชิกสหภาพแรงงานทราบความคืบหน้าต่างๆ ที่มีการเจรจาระหว่างนายจ้างกับลูกจ้างไปเมื่อในช่วงเช้า ตามธรรมเนียมปฏิบัติที่เป็นมาโดยตลอดยามที่มีการยื่นข้อเรียกร้องของสหภาพแรงงานต่อบริษัทฯในช่วงปลายปีของทุกๆ ปี ซึ่งแน่นอนไม่สามารถใช้สถานที่ภายในโรงงานได้อยู่แล้ว ที่ผ่านมาถ้าไม่เป็นบริเวณหน้าโรงงานก็สถานที่ใกล้เคียงแถบนั้น แบบนี้จะเข้าข่ายการชุมนุมสาธารณะหรือไม่

เพราะในกฎหมายได้ระบุไว้ว่า ต้องแจ้งล่วงหน้าก่อนการชุมนุม 24 ชั่วโมง และถ้ามีการชุมนุมไปแล้วต้องขอผ่อนผันต่อผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดเพียงเท่านั้น แต่ที่ตั้งโรงงานแห่งนี้กลับอยู่ในตัวอำเภอหนึ่งของจังหวัดสมุทรสาคร ก็จะไม่สามารถแจ้งตำรวจในพื้นที่ได้อีก

เหล่านี้คือความสับสนที่เกิดขึ้นในระดับพื้นที่ และไม่มีใครให้คำตอบที่ชัดเจนได้

นับตั้งแต่ พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ 2558 ได้บังคับใช้มาตั้งแต่วันที่ 13 สิงหาคม 2558 เป็นต้นมา ได้สร้างความสับสนให้กับกลุ่มแรงงานในระบบในภาคอุตสาหกรรมต่างๆ จำนวนไม่น้อยว่า การชุมนุมที่เป็นผลมาจากความขัดแย้งด้านแรงงานระหว่างนายจ้างกับลูกจ้างที่ไม่สามารถยุติได้ หรือที่เรียกว่าการพิพาทแรงงาน ตาม พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 นั้น อยู่ในการบังคับใช้ของ พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะฯหรือไม่ อย่างไร เพราะเมื่อถามเจ้าหน้าที่ตำรวจก็จะบอกเหมือนกันไม่ผิดเพี้ยนแม้แต่สถานีตำรวจแห่งเดียวว่าให้แจ้งไว้ก่อน

แต่เมื่อพิจารณาสาระสำคัญต่างๆ ในกฎหมายฉบับนี้ ตั้งแต่นิยามความหมายที่ระบุว่าการชุมนุมสาธารณะต้องประกอบไปด้วย 4 องค์ประกอบนี้ คือ มีการเดินขบวนหรือเคลื่อนย้ายผู้ชุมนุม, แสดงออกต่อประชาชนทั่วไปบุคคลอื่นสามารถร่วมชุมนุมได้, แสดงความคิดเห็นในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง, เรียกร้องสนับสนุนคัดค้าน

อีกทั้งการชุมนุมสาธารณะต้องกระทำลงใน “ที่สาธารณะ” ซึ่งที่เอกชนและที่นิคมอุตสาหกรรม ไม่อยู่ในบังคับไม่ถือเป็นที่สาธารณะ ตาม พ.ร.บ.ฉบับนี้ เพียงเท่านี้ก็จะเห็นแล้วว่าการชุมนุมที่เป็นผลมาจากการพิพาทแรงงานตาม พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ 2518 ย่อมไม่เข้าข่ายความหมายเรื่องการชุมนุมสาธารณะ

แน่นอนแม้ความหมายของคำว่า “ที่สาธารณะ” จะหมายรวมถึงที่ดินทุกชนิดของแผ่นดิน ป้อมและโรงทหาร สำนักราชการบ้านเมือง สถานที่เช่าของหน่วยงานราชการสำหรับใช้ปฏิบัติราชการ ทางเดินรถ/เรือ-ทางบก/ทางน้ำ ทางเดินรถระบบราง

แต่เมื่อกลไกในการแก้ไขความขัดแย้งด้านแรงงาน คือ สำนักแรงงานสัมพันธ์ กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กับ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ซึ่งเป็นผู้ที่กฎหมายแรงงานสัมพันธ์ระบุอำนาจหน้าที่ในการดำเนินการไว้เพียง 2 ทางเลือกเท่านั้น ก็ย่อมไม่มีเหตุผลอื่นใดที่แรงงานจะไม่เดินทางมาที่กระทรวงแรงงาน เมื่อปัญหาข้อพิพาทแรงงานยังไม่ยุติ และไม่สามารถเจรจาต่อรองได้ในระดับจังหวัดที่สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดได้ดำเนินการเต็มที่ตามที่กฎหมายกำหนดไว้แล้ว

แค่เพียงขอบเขตการบังคับใช้ก็สร้างความมึนงงให้กับทั้งเจ้าหน้าที่ตำรวจผู้รับแจ้ง และสหภาพแรงงาน ผู้ได้รับผลกระทบจากความขัดแย้งด้านแรงงานว่าจะต้องดำเนินการอย่างไร
 

6 มกราคม 2559 เวลา 19.00 น. ณ กระทรวงแรงงาน กรุงเทพฯ คือ บทสรุปสำคัญของ พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ 2558 กับ พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ 2518 ที่นำไปสู่สถานการณ์การละเมิดสิทธิแรงงานมากยิ่งขึ้น เมื่อผู้บังคับใช้กฎหมายเห็นแต่ “บทบัญญัติ” แต่ไม่เห็น “หัวคน” จนนำไปสู่การถูกละเมิดจากการใช้อำนาจของผู้ปกครองโดยขาดความยุติธรรม
 
แม้มีการส่งสัญญาณจากนายสุวิทย์ สุมาลา รองปลัดกระทรวงแรงงาน ในช่วงการเจรจาระหว่างเวลา 10.30 -12.20 น. ณ ห้องประชุมชั้น 2 สำนักแรงงานสัมพันธ์ กระทรวงแรงงาน กรุงเทพฯ ระหว่างสหภาพแรงงานซันโคโกเซประเทศไทย กับ กระทรวงแรงงาน ว่า “ทางกระทรวงแรงงานไม่สามารถอนุญาตให้สหภาพแรงงานฯสามารถอยู่ค้างคืนที่บริเวณใต้ถุนกระทรวงแรงงานได้ เนื่องจากกระทำผิด พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ 2558 ที่ห้ามชุมนุมในสถานที่ราชการ จึงแจ้งให้ออกไปชุมนุมที่บริเวณภายนอกกระทรวงแรงงานแทน”

แต่เพราะความบริสุทธิ์ใจและเชื่อมั่นว่าการชุมนุมนี้เป็นไปเพื่อให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน พลเอกศิริชัย ดิษฐกุล อดีตปลัดกระทรวงกลาโหม ลงมาแก้ไขปัญหาเพียงเท่านั้น ตามที่บทบัญญัติในมาตรา 35 ใน พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ 2518 ได้กำหนดไว้ว่า

“ในกรณีที่รัฐมนตรีเห็นว่าการปิดงานหรือการนัดหยุดงานนั้นอาจทำให้เกิดความเสียหายแก่เศรษฐกิจของประเทศ หรืออาจก่อให้เกิดความเดือดร้อนแก่ประชาชน หรืออาจเป็นภัยต่อความมั่นคงของประเทศ หรืออาจขัดต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชน ให้รัฐมนตรีมีอำนาจ ดังต่อไปนี้
(1) สั่งให้นายจ้างซึ่งปิดงานรับลูกจ้างกลับเข้าทำงาน และจ่ายค่าจ้างตามอัตราที่เคยจ่ายให้แก่ลูกจ้างนั้น
(2) สั่งให้ลูกจ้างซึ่งนัดหยุดงานกลับเข้าทำงานตามปกติ
(3) จัดให้บุคคลเข้าทำงานแทนลูกจ้างซึ่งมิได้ทำงานเพราะการปิดงานหรือการนัดหยุดงาน นายจ้างต้องยอมให้บุคคลเหล่านั้นเข้าทำงาน และห้ามมิให้ลูกจ้างขัดขวางให้นายจ้างจ่ายค่าจ้างแก่บุคคลเหล่านั้นตามอัตราที่เคยจ่ายให้แก่ลูกจ้าง
(4) สั่งให้คณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ดำเนินการชี้ขาดข้อพิพาทแรงงาน”

การตัดสินใจที่จะยังคงอยู่ ณ ใต้ถุนกระทรวงแรงงานหลังเวลาทำการราชการ จึงดำเนินต่อไปเพื่อให้ได้ข้อยุติ เพราะแม้ว่าจะเคลื่อนย้ายออกไปชุมนุม ณ สถานที่อื่นนอกรั้วกระทรวงแรงงาน ก็ไม่มีหลักประกันใดๆ ที่จะคุ้มกันความปลอดภัยให้สมาชิกสหภาพแรงงานกว่า 600 คน ที่มาชุมนุมร่วมกัน ณ ที่แห่งนี้ ที่มีทั้งแรงงานหญิงตั้งครรภ์กว่า 10 คน และแรงงานที่ป่วยมาชุมนุมร่วมอยู่ด้วย

หลายคนอาจสงสัยว่าทำไมสหภาพแรงงานแห่งนี้ต้องมาชุมนุมกัน

นี้จำเป็นต้องย้อนไปตั้งแต่วันที่ 20 ธันวาคม 2558 ที่นายจ้างบริษัทบริษัทซันโคโกเซ เทคโนโลยีประเทศไทย จำกัด บริษัทสัญชาติญี่ปุ่น 100 % ตั้งอยู่เลขที่ 64/20 หมู่ 4 นิคมอุตสาหกรรมอีสเทิร์นซีบอร์ด ต.ปลวกแดง อ.ปลวกแดง จ.ระยอง ซึ่งเป็นบริษัทผลิตอุปกรณ์ชิ้นส่วนรถยนต์ที่เป็นพลาสติกได้แก่ กันชน สปอยล์เลอร์ และชิ้นส่วนตกแต่งภายในรถยนต์ ส่งงานให้ลูกค้าที่ผลิตรถยนต์รายใหญ่ของประเทศไทย เช่น โตโยต้า, ฮอนด้า, มิตซูบิชิ , เจเนรัลมอเตอร์, นิสสัน, ฮีโน่ , ซูซูกิ, อีซูซุ, ฟอร์ด, มาสด้า, มิโนะรุ, ทากาตะ, เดนโซ่, เอ็นเอชเค ฯลฯ มี Mr.Yoshiaki Shibata เป็นผู้มีอำนาจสูงสุดในการตัดสินใจ

บริษัทฯได้มีคำสั่งปิดงานสมาชิกสหภาพแรงงานซันโคโกเซ ประเทศไทย ตาม พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 จำนวน 663 คน และนำไปสู่การสั่งห้ามเข้าทำงานในโรงงานและงดจ่ายค่าจ้างตั้งแต่วันนั้นเป็นต้นมา

การปิดงานตามความหมาย พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ 2518 หมายถึง การที่นายจ้างปฏิเสธไม่ให้ลูกจ้างเข้าทำงานในสถานประกอบการชั่วคราว เนื่องจากมีปัญหาข้อพิพาทแรงงานที่ยังตกลงกันไม่ได้ เป็นมาตรการที่นายจ้างกดดันให้ลูกจ้างได้รับความเดือดร้อนในระหว่างปิดงาน เนื่องจากไม่มีรายได้ เพราะลูกจ้างไม่สามารถเข้าทำงานได้ ก็จะไม่ได้รับค่าจ้าง เป็นวิธีการกดดันลูกจ้างให้ยอมตามข้อเรียกร้องที่นายจ้างกำหนด ดังนั้น คนที่ได้รับความเดือดร้อน คือ ลูกจ้างที่ถูกปิดงานทุกคน อีกทั้งยังไม่ได้รับสิทธิแรงงานตามกฎหมายต่างๆ ที่เกี่ยวข้องในระหว่างปิดงานนี้ด้วย เช่น ประกันสังคม, คุ้มครองแรงงาน, กองทุนเงินทดแทน

สถานการณ์ที่เกิดขึ้นจึงทำให้ลูกจ้างได้รับความเดือดร้อนอย่างมาก และได้มีการชุมนุมที่บริเวณด้านหน้าบริษัทฯซึ่งตั้งอยู่ที่นิคมอุตสาหกรรมอีสเทิร์นซีบอร์ด จังหวัดระยอง เพื่อให้มีการเจรจาเปลี่ยนแปลงคำสั่งดังกล่าว อย่างไรก็ตามไม่เป็นผลแต่อย่างใด อีกทั้งบริษัทฯยังได้ประสานงานกับทางนิคมฯเพื่อขอใช้อำนาจศาลในการสั่งให้ลูกจ้างย้ายสถานที่ชุมนุมออกจากบริเวณดังกล่าวเมื่อวันที่ 25 ธันวาคม 2558 เป็นต้นมา

ที่ผ่านมาก่อนหน้านั้นได้มีความพยายามอย่างยิ่งยวดในการเจรจาระหว่างสหภาพแรงงานกับนายจ้างกว่า 15 ครั้งให้ได้ข้อยุติลงตั้งแต่เดือนกันยายน 2558 เป็นต้นมาจนปัจจุบัน แต่นายจ้างก็บิดพลิ้วการเจรจา/ไม่ยอมเจรจา แม้จะมีเจ้าหน้าที่กระทรวงแรงงานจากส่วนกลาง นำโดยรองปลัดกระทรวงแรงงานสุวิทย์ สุมาลา ลงไปเจรจาเองก็ตาม

อีกทั้งมีมาตรการกดดันลูกจ้างที่เป็นสมาชิกสหภาพแรงงานในรูปต่างๆ ร่วมด้วย เช่น การนำแรงงานเหมาค่าแรงและแรงงานข้ามชาติเข้ามาทำงาน, การสั่งให้ลูกจ้างล้างห้องน้ำ, การเปิดโครงการสมัครใจลาออกด้วยข้ออ้างเรื่องการขาดทุนแต่ก็มีการให้ลูกจ้างทำงานล่วงเวลา (OT) ควบคู่กันไป, การทำงานท่ามกลางความไม่ปลอดภัยในสภาพแวดล้อมในโรงงาน เป็นต้น [1]

จากสถานการณ์ดังกล่าวจึงสร้างความวิตกกังวลใจต่อลูกจ้างมากยิ่งขึ้นว่าอาจนำไปสู่การเลิกจ้างสมาชิกสหภาพแรงงานทั้งหมด มากกว่าการเจรจาข้อพิพาทแรงงานตามที่กฎหมายแรงงานสัมพันธ์ได้วางหลักการไว้แล้ว จึงทำให้สมาชิกสหภาพแรงงานได้ตัดสินใจเดินทางมาที่กระทรวงแรงงานเพื่อขอความช่วยเหลือในการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นดังกล่าวนี้ตั้งแต่เวลา 05.00 น. ของวันที่ 6 มกราคม 2559

นับตั้งแต่เกิดเหตุการณ์รัฐประหารตั้งแต่วันที่ 22 พฤษภาคม 2557 เป็นต้นมา ไม่เคยมีแรงงานกลุ่มใดๆ มาชุมนุมค้างคืนในบริเวณกระทรวงแรงงาน

ถ้าจำไม่ผิดครั้งสุดท้ายคือการชุมนุมของสมาชิกสหภาพแรงงานสยามโภชนาการจำนวน 480 กว่าคนเมื่อปลายเดือนกุมภาพันธ์ 2557 และยุติลงในวันที่ 6 มีนาคม 2557 เมื่อนายเฉลิม อยู่บำรุง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานในขณะนั้นได้ตัดสินใจใช้มาตรา 35 พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ฯ เป็นเครื่องมือในการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น

และนี่จึงสร้างความกังวลใจให้กับกระทรวงแรงงานอย่างมากในการรับมือกับปัญหาดังกล่าวที่ไม่เคยเกิดขึ้นในยุคที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานเป็นทหาร อีกทั้งก็มีการบังคับใช้ พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะฯร่วมด้วย ดังนั้นทำให้ในช่วงระหว่างเวลา 10.00-12.20 น. จึงมีการประชุมร่วมกันระหว่างกระทรวงแรงงานกับสหภาพแรงงานซันโคโกเซฯ

ตัวแทนจากกระทรวงแรงงาน นำหารือโดยนายสุวิทย์ สุมาลา รองปลัดกระทรวงแรงงาน (ทำหน้าที่อภิปรายและชี้แจงคำตอบเป็นส่วนใหญ่), นายแพทย์สุรเดช วลีอิทธิกุล รองปลัดกระทรวงแรงงาน, นายสมหวัง หมอยาดี ผู้อำนวยการกลุ่มงานประนอมข้อพิพาทแรงงานและข้อขัดแย้ง

ตัวแทนจากสหภาพแรงงานฯ นำโดยนายชาลี ลอยสูง รองประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย, นายเสมา สืบตระกูล สหพันธ์แรงงานยานยนต์แห่งประเทศไทย, นายไพฑูรย์ บางหลง ประธานกลุ่มสหภาพแรงงานภาคตะวันออกพื้นที่อมตะนคร, นายอมรเดช ศรีเมือง ประธานสหภาพแรงงานฯ และสมาชิกกว่า 20 คน

กระบวนการประชุมเริ่มต้นด้วยตัวแทนฝ่ายสหภาพแรงงานได้ฉายภาพความทุกข์พร้อมน้ำตาที่เกิดขึ้นให้ทางเจ้าหน้าที่รัฐทราบสถานการณ์ หลังจากนั้นทางกระทรวงแรงงานได้ตอบข้อซักถามต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง รวม 5 ประเด็น ได้แก่

(1) นายจ้างมีความไม่ไว้วางใจสมาชิกสหภาพแรงงานว่าถ้ามีการเจรจาไปและยังคงเปิดให้สมาชิกสหภาพแรงงานทำงานในสถานประกอบการร่วมด้วย อาจมีความเสี่ยงต่อกระบวนการผลิต นายจ้างอ้างว่าที่ผ่านมามีครั้งหนึ่งที่ลูกจ้างจำนวนกว่า 400 คน ได้มีการลาป่วยพร้อมกันและส่งผลกระทบต่อยอดการผลิตที่ต้องส่งให้ลูกค้า จึงทำให้ต้องใช้มาตรการปิดงานตามที่กฎหมายแรงงานสัมพันธ์ได้กำหนดไว้ และมีการนำพนักงานเหมาค่าแรงเข้ามาทำงานแทน เพื่อให้กระบวนการผลิตดำเนินไปได้ต่อไปอย่างต่อเนื่อง

(2) นายจ้างอ้างว่าไม่ว่าจะอย่างไรก็ตามสามารถจ่ายโบนัสให้ลูกจ้างได้เพียง 0.6 เดือนเท่านั้น แม้ว่าทางกระทรวงแรงงานหรือสหภาพแรงงานฯเองจะให้ข้อมูลเปรียบเทียบถึงจำนวนโบนัสที่เคยจ่ายในปีที่ผ่านมา รวมถึงตัวเลขงบดุลต่างๆ แต่ทางนายจ้างก็ยังยืนยันตามเดิมและไม่มีการเปลี่ยนแปลงตัวเลขแต่อย่างใด ทั้งนี้นายจ้างได้อ้างเรื่องการมุ่งการแข่งขันกับสถานประกอบการอื่นๆ เพื่อให้บริษัทฯสามารถอยู่รอดได้ในอนาคต จึงจำเป็นต้องลดขนาดองค์กรลง และมีการนำลูกจ้างรับเหมาค่าแรงเข้าทำงานแทนที่พนักงานประจำ เพื่อลดต้นทุนการผลิตไม่ให้ขาดทุน

(3) สำหรับในกรณีที่ทางสหภาพแรงงานฯได้ทำหนังสือถึงสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดระยอง เพื่อให้เข้ามาตรวจสอบกรณีการละเมิดสิทธิแรงงานตามมาตรา 11/1 พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 ตามการนัดหมายจะมีการเข้าตรวจสอบในวันที่ 7 มกราคม 2559 อย่างไรก็ตามทางรองปลัดกระทรวงแรงงาน สุวิทย์ สุมาลา ได้แจ้งให้ระงับไว้ก่อน โดยให้เหตุผลว่าจะส่งผลต่อบรรยากาศที่ไม่ดีในการเจรจามากขึ้น และเห็นว่าการที่บริษัทฯได้นำแรงงานเหมาค่าแรงเข้ามาทำงานเป็นสิ่งที่สามารถกระทำได้ ไม่ผิดกฎหมายแต่อย่างใด หน้าที่กระทรวงแรงงาน คือ พิจารณาว่าบริษัทจัดสวัสดิการได้ถูกต้องตามที่กฎหมายกำหนดไว้หรือไม่เพียงเท่านั้น แต่ไม่สามารถห้ามการใช้แรงงานเหมาค่าแรงได้

(4) ทางกระทรวงแรงงานได้นัดตัวแทนนายจ้างเข้ามาหารือในวันนี้เวลา 16.30 น. แต่สุดท้ายอำนาจการตัดสินใจอยู่ที่การเจรจาระหว่างนายจ้างกับลูกจ้าง ไม่ใช่ภาครัฐที่จะจัดการได้แต่อย่างใด อีกทั้งอำนาจทั้งหมดอยู่ที่การตัดสินใจของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานเป็นสำคัญเพียงเท่านั้น
 
(5) กระทรวงแรงงานไม่สามารถอนุญาตให้สหภาพแรงงานฯสามารถอยู่ค้างคืนที่บริเวณใต้ถุนกระทรวงแรงงานได้ เนื่องจากกระทำผิด พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ 2558 ที่ห้ามชุมนุมในสถานที่ราชการ จึงแจ้งให้ออกไปชุมนุมที่บริเวณภายนอกกระทรวงแรงงานแทน อีกทั้งยังได้แจ้งว่าเมื่อเกิดเหตุการณ์อะไรขึ้นและส่งผลเสียหายต่อทรัพย์สินภายในกระทรวงในเวลาวิกาล ทางสหภาพแรงงานฯต้องรับผิดชอบต่อสิ่งที่เกิดขึ้นดังกล่าวนั้น


 

ต่อมาในช่วงเวลา 16.30-18.30 น. ได้มีการเจรจาครั้งที่ 2 เกิดขึ้น 3 ฝ่าย คือ นายจ้าง, ลูกจ้าง และเจ้าหน้าที่รัฐ ที่กระทรวงแรงงาน ดูราวกับว่าบรรยากาศการเจรจาที่มีผู้บริหารระดับสูงเป็นกลไกกลางกำลังดำเนินไปด้วยดี แต่นั้นเองนายจ้างยังคงยืนกรานตามเดิมเรื่องการจ่ายโบนัสเพียง 0.6 เดือนเท่านั้น ส่วนประเด็นอื่นๆ ไม่มีการเจรจาใดๆ ทั้งสิ้นถ้าไม่ยอมรับเงื่อนไขดังกล่าวนี้ก่อน ทำให้การเจรจาจึงต้องยุติลง และทางนายแพทย์สุรเดช วลีอิทธิกุล รองปลัดกระทรวงแรงงาน ได้ย้ำกับฝ่ายลูกจ้างอีกครั้งเรื่อง “ให้ออกจากใต้ถุนกระทรวงแรงงานไปชุมนุมที่อื่น หรือให้ยุติการชุมนุมเพื่อแยกย้ายกลับบ้านต่อไป”

บรรยากาศใต้ถุนกระทรวงแรงงาน ณ ช่วงเวลานั้น เต็มไปด้วยตำรวจกว่า 200 คน, รถตำรวจที่เปิดไฟด้านบนตลอดเวลา, รถที่มีกรงกักขัง เข้ามาอยู่บริเวณลานน้ำพุ ที่สมาชิกสหภาพแรงงานได้ชุมนุมอยู่ ซึ่งได้สร้างความหวาดกลัวและวิตกกังวลให้กับสมาชิกสหภาพแรงงานอย่างมาก

มีตำรวจกลุ่มหนึ่งได้มาเจรจาให้ยุติการชุมนุม ซึ่งระหว่างพูดคุยกันตำรวจได้แจ้งว่า ทางปลัดกระทรวงแรงงานเป็นผู้แจ้งความให้เอาผิดผู้ชุมนุม ระหว่างนั้นแรงงานบางคนคงเครียดและกลัวเพราะไม่เคยมีประสบการณ์เผชิญภาวะเฉพาะหน้าแบบนี้ ก็เลยมีการโต้เถียงกัน ทำให้ตำรวจบางคนเดินฝ่าเข้ามาในวงที่คนงานนั่งและกระชากตัวออกไป บรรยากาศยิ่งตึงเครียดมากขึ้น

คณะทำงานที่ยังเหลืออยู่นำโดยนายเสมา สืบตระกูล, นายไพฑูรย์ บางหลง, นางสาวเสน่ห์ หงส์ทอง, นายพรพิชิต ปุริสาร, นายจิระพัฒน์ คงสุข, นางมงคล ยางงาม, นางสาวอัยยลักษณ์ เหล็กสุข, นายโสภณ ทองโสภา จากกลุ่มสหภาพแรงงานภาคตะวันออก องค์กรสมาชิกในคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย ได้พยายามอธิบายว่า “ขอให้ทางนายชาลี ลอยสูง และนายอมรเดช ศรีเมือง ลงมาก่อนว่าได้ข้อสรุปอย่างไร จะหารือตามนั้น” ทำให้ยุติการเจรจา และนางสาวเสน่ห์ หงส์ทอง และนายโสภณ ทองโสภา ได้ไปเสียค่าปรับที่สถานีตำรวจในพื้นที่เรื่องการใช้เครื่องขยายเสียงในสถานที่ราชการยามวิกาล

ขณะเดียวกันในเวลา 19.00-22.30 น. ก็ได้มีตำรวจประมาณ 20 คน เข้าควบคุมตัวนายชาลี ลอยสูง รองประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) พร้อมด้วยนายอมรเดช ศรีเมือง ประธานสหภาพแรงงานฯที่บริเวณชั้น 6 กระทรวงแรงงาน ซึ่งในห้องควบคุมตัวดังกล่าวนั้นมีนายแพทย์สุรเดช วลีอิทธิกุล รองปลัดกระทรวงแรงงาน อยู่ด้วย ช่วงเริ่มต้นของการควบคุมตัวนายตำรวจชั้นผู้ใหญ่คนหนึ่งใช้ท่าทีที่ก้าวร้าวดุดันข่มขู่ตะคอกบุคคลทั้ง 2 พร้อมทั้งยึดโทรศัพท์ระหว่างควบคุมตัว อ้างเรื่องการยึดสถานที่ราชการในยามวิกาล

เวลา 21.40 น. สถานการณ์เริ่มตึงเครียดขึ้นอีกครั้งหนึ่ง เมื่อทางเจ้าหน้าที่ตำรวจได้เจรจากับนางสาววิไลวรรณ แซ่เตีย ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย, นายสาวิทย์ แก้วหวาน ประธานสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.), นายลาเร่ อยู่เป็นสุข ประธานสหพันธ์แรงงานยานยนต์ เพื่อให้ยุติการชุมนุม มิฉะนั้นจะใช้กำลังขั้นเด็ดขาดเข้าควบคุม

แต่ทางผู้ใช้แรงงานเจรจาว่า “การให้คนงานกลับบ้าน จ.ระยองเวลานี้อันตรายมาก เพราะกว่าจะเดินทางไปถึง และไม่มีหลักประกันใดๆ ในความปลอดภัย มีคนท้อง คนป่วย อีกทั้งการใช้วิธีการนี้ไม่นำไปสู่การแก้ไขปัญหาแต่อย่างไร เพราะข้อเสนอสำคัญของคนงาน คือ รัฐมนตรีแรงงานต้องใช้อำนาจในการสั่งให้นายจ้างรับคนงานกลับเข้าทำงานและจ่ายค่าจ้าง เพราะคนงานไม่ได้รับค่าจ้างมาตั้งแต่วันที่ 20 ธันวาคม 2558 แล้ว การให้คนงานกลับไปก็ไม่ได้มีหลักประกันใดๆ ในการทำให้คนงานไม่ถูกละเมิดสิทธิอย่างที่เป็นมา”

จวบจนเวลา 22.30 น. บุคคลทั้งคู่ที่ถูกควบคุมตัวจึงลงมาด้านล่างพร้อมเจ้าหน้าที่ตำรวจประกบตัวกว่า 10 คน และประธานสหภาพแรงงานฯได้ชี้แจงว่า “ไม่มีอะไรเกิดขึ้น ได้กินข้าว ไม่มีการข่มขู่หรือจับกุมใดๆ และขอให้คนงานกลับบ้านคืนนี้ทั้งหมดทุกคนโดยทางเจ้าหน้าที่ตำรวจจะจัดรถส่งกลับที่ระยอง และทางกระทรวงแรงงานจะมีเวทีเจรจาอีกครั้งในวันที่ 8 มกราคม 2558” [2]

แม้ว่า พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ 2518 จะเป็นเครื่องมือสำคัญในการเป็นกลไกการเจรจาต่อรองเพื่อระงับความขัดแย้งระหว่างนายจ้างกับลูกจ้างที่เกี่ยวข้องกับสภาพการจ้างในภาคอุตสาหกรรมต่างๆ แต่วันนี้กลไกดังกล่าวได้ถูกทำลายลงเพราะ พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ 2558 ที่ขาดความใส่ใจในการตระหนักถึงกลไกที่กฎหมายอีกฉบับหนึ่งได้กำหนดไว้ ทั้งๆ ที่การเจรจาต่อรองด้านแรงงาน เป็นการเจรจาต่อรองที่มีลักษณะเฉพาะ เป็นไปเพื่อแก้ไขข้อขัดแย้งระหว่าง “ลูกจ้าง” กับ “นายจ้าง” ในสถานประกอบการเดียวกันเพียงเท่านั้น เพื่อทำให้ความขัดแย้งที่จะขยายได้คลี่คลายลงด้วยกลไกดังกล่าว

เมื่อรัฐไทยได้พยายามกดค่าจ้างของลูกจ้างให้ต่ำที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ชีวิตคนงานจึงหล่อเลี้ยงด้วยการทำงานล่วงเวลาและการเป็นแรงงานที่ดีตามกฎเกณฑ์ที่โรงงานกำหนด ด้วยความปรารถนาที่จะได้รับเงินโบนัสเต็มเม็ดเต็มหน่วยในช่วงปลายปีที่เป็นผลมาจากการทุ่มเทกำลังมาตลอดทั้งปี การเรียกร้องจึงเกิดขึ้นเมื่อผลตอบแทนที่ได้กับสิ่งที่คืนกลับผกผัน แต่วันนี้กลไกดังกล่าวได้ตีบตันลงแล้ว เมื่อสิทธิพื้นฐานสำคัญของแรงงาน คือ สิทธิในการรวมตัวและเจรจาต่อรองร่วม ไม่ได้รับการคุ้มครองและปกป้องจากกระทรวงแรงงานอีกต่อไป นี้จึงนำมาสู่ความเสี่ยงต่อสถานการณ์การละเมิดสิทธิแรงงานโดยชอบธรรมจากฝ่ายนายจ้าง โดยมีกระทรวงแรงงานทำหน้าที่สนับสนุน-เอาใจ-เอื้อประโยชน์นายทุนอย่างเต็มรูปแบบ

01.30 น. ของค่ำคืน 6 มกราคม 2559 หรือเริ่มต้นเช้าวันใหม่ที่ 7 มกราคม 2559 ทุกอย่างสงบราบเรียบราวกับก่อนหน้านั้นไม่มีเหตุการณ์ใดๆ เกิดขึ้น ณ พื้นที่แห่งนี้ ฉันแหงนหน้ามองป้ายตราสัญลักษณ์กระทรวงแรงงาน พลันรูปเทพบดีทั้ง 3 องค์ ที่เหาะลอยเปล่งรัศมีอยู่เหนือลายเมฆภายในวงกลมเดียวกัน ก็เปลี่ยนเป็นรูป "ท็อปบูท" ที่กำลังเหยียบหัวฉันอยู่อย่างยากจะเผยอ

 

 

[1] รายละเอียดเพิ่มเติมทั้งหมดในเรื่องนี้อ่านได้ที่นี่ เอกสารฉบับเผยแพร่ทางการ สรุปสถานการณ์ที่เกิดขึ้น กรณีสหภาพแรงงานซันโคโกเซ ประเทศไทย (1 กันยายน – 31 ธันวาคม 2558) จัดทำโดย: ฝ่ายวิชาการ คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) อ่านได้ที่นี่ http://thanaiphorn.com/files/sankogosei_edb_paan31-12-58.pdf
[2] จริงๆ แล้ววันที่ 8 มกราคม 2559 คือวันที่ทางสำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดระยองได้กำหนดไว้ตั้งแต่ต้นแล้ว จากการเจรจาตามข้อพิพาทแรงงานครั้งที่ 15 เมื่อวันที่ 29 ธันวาคม 2558 ที่ยังไม่ได้ข้อยุติ ซึ่งไม่เกี่ยวกับกับการมาที่กระทรวงแรงงานเพื่อขอให้รัฐมนตรีฯใช้อำนาจตามมาตรา 35 ใน พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ 2518 แต่อย่างใด

หมายเหตุ:
ชื่อบทความเดิม: บทเรียนของ พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ มองผ่านสหภาพแรงงานซันโคโกเซ: ความอำมหิตของกระทรวงแรงงานยุคใต้ท็อปบูท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท