Skip to main content
sharethis
ชาวสวนยางใต้ ร้องราคายาง กก.ละ 60 บาท ลั่นเดินหน้าชน-ชุมนุมใหญ่ 12 ม.ค.นี้ เมืองคอนเริ่มแล้ว จนท.ตรึงกำลังเข้ม 'เอกนัฏ' ยันลุงกำนันไม่ทิ้งชาวสวนยาง แต่ไม่ไปขวางรัฐบาล ยุให้กม.พิเศษแก้ 'ชวน' แนะปลูกผักหวาน มังคุด สะตอ ลูกเนียง ไว้หัวสวน-ท้ายสวน

เมื่อวันที่ 7 ม.ค.ที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ ได้ออกมากล่าวถึงกรณีที่ชาวสวนยางนัดเคลื่อนไหวเพื่อให้รัฐบาลแก้ปัญหาราคายางที่ตกต่ำอย่างรุนแรงว่า ชาวสวนยางเองต้องมีการปรับปรุงตัวเองด้วย  ต้องปลูกพืชเสริม เพื่อช่วยเหลือตัวเองบ้างหรือเปล่า ที่เหลือรัฐบาลก็จะช่วย แต่ถ้าทั้งหมดยังแบกรับอยู่แบบนี้ ยางทั้งหมดที่ปลูก 5 ล้านไร่ ได้ผลผลิตกี่ล้านตัน เกินหรือไม่ มันก็เป็นแบบนี้ แล้วใครทำให้ปลูกเยอะ ถ้าปลูกอย่างพอประมาณ โดยวันนี้หลายแห่งช่วยตัวเองได้ ด้วยการปลูกสตรอว์เบอร์รีในสวนยาง ปลูกกล้วยหอมทองแทรก จะปลูกอะไรก็ปลูกกันเพื่อให้เกิดรายได้ ให้อยู่กินทดแทนราคายางที่ตกไปก่อน (อ่านรายละเอียด)

ชวนแนะ ปลูกผักหวาน  มังคุด สะตอ ลูกเนียง ไว้หัวสวน-ท้ายสวน

สำหรับแนวคิดเรื่องการปลูกพืชเสริมในสวนยางพารานั้น ไม่ใช่แนวคิดที่พึ่งมีการกล่าวถึง หากแต่ นายชวน หลีกภัย อดีตนายกรัฐมนตรี ก็เคยเสนอมาก่อนหน้าเช่นกัน เช่นให้ให้ไปปลูกจำปาดะ เป็นต้น รวมทั้งล่าสุด เมื่อวันที่ 9 ม.ค. ที่ผ่านมา ไทยรัฐออนไลน์ รายงานด้วยว่า นายชวน ได้ร่วมในพิธีเปิดโรงงานแปรรูปยางพารา ของชุมนุมสหกรณ์กองทุนยางสวนพารา สตูล จำกัด ที่หมู่ที่ 10 ต.ควนกาหลง อ.ควนกาหลง จ.สตูล และในโอกาสเดียวกันนี้ นายชวน ได้กล่าวกับประชาชนที่ร่วมในพิธีเปิด โดยกล่าวว่า การที่ราคายางพาราตกต่ำ เนื่องจากปริมาณผลิตยางพาราเพิ่มขึ้น เนื่องจาก ประเทศจีน ลาว พม่า มีการปลูกยางพารามากขึ้น สาเหตุที่มีการปลูกยางพารามากขึ้น เพราะเมื่อก่อนยางพารามีราคาสูงถึง กก.ละ 100 กว่าบาท ทำให้ทุกประเทศมีการปลูกยางพารา และขณะนี้ยังมียางพาราที่เพิ่งปลูกกำลังเติบโตยังมีอีกมาก

ดังนั้น อย่าหวังเลยว่า ราคายางฯจะมีราคาดีขึ้นภายในเร็ววันนี้ ประชาชนต้องหาทางแก้ไขปัญหาด้วยตัวเอง เช่น ถ้าทุกจังหวัดมีโรงแปรรูปยางพารา เหมือน จ.สตูล ราคายางฯก็มีโอกาสดีขึ้น นอกจากนี้ ตนเห็นด้วยกับแนวทางของ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี โดยตนเห็นว่า นอกจากปลูกยางพาราแล้วให้ปลูกผักหวาน ปลูกมังคุด ปลูกสะตอ ปลูกลูกเนียง ไว้ที่หัวสวน-ท้ายสวน อย่าง สตูลปลูกจำปาดะ เลี้ยงเป็ด ไก่ โดยไม่ต้องโค่นต้นยางพารา และจะให้รัฐบาลใช้ ม.44 มาแก้ปัญหาราคายางพารา คงเป็นไปไม่ได้ ต้องยอมรับว่าราคายางพาราตกต่ำ ประชาชนชาวใต้จะเดือดร้อน มากกว่าคนภาคอื่น เพราะคนมีภาคใต้ มีอาชีพทำสวนยางพาราเป็นหลัก ส่วนคนภาคอื่นๆ เช่น ภาคเหนือ อีสาน มีอาชีพอื่นทำด้วย และเชื่อว่า ปัญหายางพาราตกต่ำจะเป็นปัญหาอีกหลายวัน

เอกนัฏ ยันลุงกำนันไม่ทิ้งชาวสวนยาง แต่ไม่ไปขวางรัฐบาล

แวะทานขนมจีนกับผู้ใหญ่สาทิตย์ ก่อนงานแถลงข่าว Samui Festival #เรามาช่วยกัน

Posted by Suthep Thaugsuban (สุเทพ เทือกสุบรรณ) on 7 มกราคม 2016

โพสต์ที่มีผู้เข้าไปร้องเรียนปัญหาราคายางตกต่ำ พร้อมทั้งวิพากษณ์วิจารณ์บทบาทการเคลื่อนไหวเมื่อเทียบกับสมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่นายสุเทพออกมาเคลื่อนไหวเรื่องนี้เข้มข้นกว่าปัจจุบัน

ด้าน นายสุเทพ เทือกสุบรรณ หรือ ลุงกำนัน ของมวลมหาประชาชน กปปส. นั้น เมื่อวันที่ 8 ม.ค.ที่ผ่านมา ได้มีผู้เข้าไปร้องเรียนถึงปัญหาราคายางตำต่ำผ่านเฟซบุ๊กแฟนเพจ 'Suthep Thaugsuban (สุเทพ เทือกสุบรรณ)' จำนวนมาก จนล่าสุด เดลินิวส์ออนไลน์ ได้สัมภาษณ์ นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ เลขามูลนิธิมวลมหาประชาชนฯ กล่าวกับ ว่า การโพสต์ข้อความใด ๆ แล้วสื่อนำมาลง อยากจะให้ตรวจสอบ "ที่มา" ว่าคนที่เขียน มีวัตถุประสงค์อะไร เป็นขบวนการของฝ่ายตรงข้ามหรือไม่ เพราะวันนี้มีความพยายามที่จะทำให้ประชาชนเกิดความสับสน ที่ผ่านมา นายสุเทพ หรือ "ลุงกำนัน" พยายามที่จะแก้ปัญหามาโดยตลอด ไม่เคยละเลย แม้วันนี้จะไม่มีอำนาจหรือความรับผิดชอบโดยตรงก็ตาม โดยนายสุเทพรับฟังปัญหาชาวสวนยางมาตลอด และเห็นใจเป็นที่สุด ทุกวันนี้นอกจากจะนำประสบการณ์ที่เคยทำราคายางจากราคา 40 บาท ไปมีราคาสูงถึงกิโลกรัมละ 180 บาท สมัยรัฐบาลของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ แล้ว ก็ยังแนะนำไปยังรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี ผ่านช่องทางต่างๆ ที่สามารถทำได้

"เวลานี้การสื่อสารไปถึงรัฐบาลไม่ได้ทำได้ง่าย ๆ สมัยรัฐบาลอภิสิทธิ์ก็เคยประสบปัญหาราคายางตกต่ำ และถูกสบประมาทว่าไม่สามารถแก้ปัญหาได้ แต่เราก็ทำให้เห็นแล้วว่า สามารถแก้ไขปัญหาได้ แต่เสียดายที่สมัยรัฐบาลน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี ไม่เคยวางมาตรการ การออกกลไกเพื่อรักษาราคายางพาราเอาไว้ตอนที่ราคายางพารามีราคาสูง พอมาถึงรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ ก็ประสบปัญหา ทั้งปัจจัยภายนอกที่ความต้องการของโลกลดลง และราคาน้ำมันลดลง รวมทั้งปัญหาราคายางที่ตกต่ำ แต่ปัญหานี้ก็ไม่ใช่ว่าจะไม่สามารถแก้ไขได้เลย" นายเอกนัฏกล่าว
 
นายเอกนัฏ กล่าวต่อว่า นายสุเทพทำทุกอย่างที่สามารถทำได้ เพื่อช่วยแก้ไขปัญหาราคายางตกต่ำ เราไม่ได้คิดถึงประเด็นทางการเมือง แต่คำนึงถึงความเดือดร้อนของชาวสวนยาง ยินดีรับฟังผู้เดือดร้อน และยินดีเป็นกระบอกเสียงให้ภายใต้รูปแบบที่เหมาะสมและเป็นประโยชน์กับชาวสวนยางมากที่สุด โดยไม่ใช่การไปทำอะไรที่ขัดขวางการทำงานของรัฐบาล
 
รวมทั้งนายเอกนัฏ ยังแนะให้ พล.อ.ประยุทธ์ ใช้กฏหมยพิเศษออกมาแก้ปัญหาราคายางดังกล่าวด้วย
 
ชาวสวนยางใต้ ร้องราคายาง กก.ละ 60 บาท ลั่นเดินหน้าชน-ชุมนุมใหญ่ 12 ม.ค.นี้
 
ขณะที่วันนี้ (10 ม.ค.59) มติชนออนไลน์ รายงานว่า นายสุนทร รักษ์รงค์ ผู้ประสานงานแนวร่วมกู้ชีพชาวสวนยางและนายกสมาคมเกษตรกรชาวสวนยาง 16 จังหวัดภาคใต้ เปิดเผยว่า ได้ออกแถลงการณ์แนวร่วมกู้ชีพชาวสวนยาง เรื่องการแก้ไขปัญหาราคาตกต่ำ หลังการประชุมกรรมการแนวร่วมกู้ชีพชาวสวนยางกับกรรมการสมาคมเกษตรกรชาวสวนยาง 16 จังหวัดภาคใต้ โดยก่อนหน้านี้ได้ประกาศเขตภัยพิบัติชาวสวนยางทุกพื้นที่ ล่าสุด ที่ประชุมมีมติให้รัฐบาลเร่งดำเนินการสร้างความเข้มแข็งให้ชาวสวนยางอย่างเร่งด่วน ให้รัฐบาลยุติการขายยางพาราในสต๊อก 3.6 แสนตัน โดยประกาศเป็น Dead Stock และใช้มาตรา 44 เพื่อบังคับให้มีการใช้ยางในประเทศ
 
“ที่ประชุมมีมติสนับสนุนและร่วมกิจกรรมกับทุกเครือข่ายเกษตรกรชาวสวนยางและสถาบันเกษตรกรชาวสวนยางแห่งประเทศไทยที่ จ.ตรัง ในวันที่ 12 มกราคมนี้ พร้อมเรียกร้องราคายางที่กิโลกรัมละ 60 บาท หากรัฐบาลทำไม่ได้พร้อมชุมนุมใหญ่ “
 
แถลงการณ์ระบุว่า ให้การยางแห่งประเทศไทยขับเคลื่อนโดยเกษตรกรมีส่วนร่วมมากที่สุด เพื่อให้ พ.ร.บ.การยางแห่งประเทศไทยเป็นเครื่องมือและกลไกในการปฏิรูปยางพาราทั้งระบบ โดยให้มีการแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการการยางแห่งประเทศไทย หรือบอร์ดการยาง ทันทีเมื่อเปิดประชุมคณะรัฐมนตรี และสรรหาผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทยโดยเร็วที่สุด และให้ รมต.เกษตรฯทบทวนการทำงานของนายอำนวย ปะติเส ที่ปรึกษารัฐมนตรี และนางจินตนา ชัยยวรรณาการ  ผู้ช่วยรัฐมนตรี เนื่องจากไม่มีความสามารถและสร้างความแตกแยกให้กับเกษตรกรชาวสวนยาง
 
เมืองคอนเริ่มแล้ว จนท.ตรึงกำลังเข้ม
 
รวมทั้งเมื่อเวลา 13.10 น. ที่ผ่านมา มติชนออนไลน์ รายงานด้วยว่าที่บริเวณสนามหน้าศาลาประชาคม อ.ทุ่งสง จ.นครศรีธรรมราช งแต่ช่วงเช้า กลุ่มเกษตรกรชาวสวนยางรายย่อยได้ทยอยเดินทางมาเตรียมความพร้อม โดยมีการตั้งเต็นท์ทั้งสองฝั่งสนาม นำรถกระบะติดตั้งเครื่องเสียงทำเป็นเวทีปราศรัย โดยหันหลังให้ที่ว่าการอำเภอทุ่งสง มีการขึ้นป้ายไวนิลรอบเวที ท่ามกลางการรักษาความสงบเรียบร้อยของเจ้าหน้าที่ ทหาร ฝ่ายปกครอง และตำรวจ ทั้งในและนอกเครื่องแบบ
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net