เยอรมนีวางแผงหนังสือ 'ฮิตเลอร์' ได้อีกครั้งพร้อมหมายเหตุวิจารณ์ 'โฆษณาชวนเชื่อ'

หลังจากที่หมดลิขสิทธิ์และกลายเป็นสมบัติสาธารณะหนังสือ 'การต่อสู้ของข้าพเจ้า' หรือ 'ไมน์คัมพฟ์' (Mein Kampf) ซึ่งเคยถูกมองเป็นหนังสืออันตรายของอดอล์ฟ ฮิตเลอร์ มีการตีพิมพ์จำหน่ายแล้วโดยเสริมหมายเหตุประกอบในเชิงวิพากษ์จากนักประวัติศาสตร์เพื่อเตือนถึงการโฆษณาชวนเชื่อของเผด็จการไปในตัว

Mein Kampf dust jacket
By Unknown author of dust jacket; Adolf Hitler author of volume [Public domain, Public domain or Public domain], via Wikimedia Commons

 

9 ม.ค. 2559 สำนักข่าวอัลจาซีรารายงานว่าหนังสือเรื่อง 'การต่อสู้ของข้าพเจ้า' หรือ 'ไมน์คัมพฟ์' (Mein Kampf) วางจำหน่ายได้อีกครั้งในเยอรมนีเมื่อวันที่ 8 ม.ค. ที่ผ่านมา หลังจากที่มีการระงับการวางจำหน่ายโดยเจ้าของลิขสิทธิ์เมื่อสิ้นสงครามโลกครั้งที่ 2

กฎหมายลิขสิทธิ์ของยุโรประบุว่า ลิขสิทธิ์จะหมดอายุใน 70 ปี นับจากการเสียชีวิตของผู้สร้างผลงานนั้นๆ ซึ่งจะทำให้ผลงานนั้นๆ กลายเป็นสมบัติสาธารณะ ทำให้ผู้ถือลิขสิทธิ์นเยอรมนีไม่สามารถระงับการตีพิมพ์เผยแพร่หนังสือเล่มนี้ด้วยเหตุผลเรื่องลิขสิทธิ์ได้อีก

อย่างไรก็ตามหนังสือไมน์คัมฟฟ์ฉบับใหม่ที่จัดพิมพ์โดยทีมงานนักวิชาการ 6 คนจากสถาบันประวัติศาสตร์ร่วมสมัยในเมืองมิวนิกจะมีการเพิ่มเติมหมายเหตุประกอบในเชิงวิพากษ์จากนักประวัติศาสตร์จำนวน 3,700 หมายเหตุเพื่อเตือนและสร้างความเข้าใจว่าเนื้อหาส่วนใดเป็นโฆษณาชวนเชื่อของฮิตเลอร์ ทำให้หนังสือไมน์คัมฟฟ์ฉบับพิมพ์ใหม่ มีความหนาเพิ่มขึ้นเป็น 1,984 หน้า และจะมีการตีพิมพ์ 4,000 เล่ม

อย่างไรก็ตาม การตีพิมพ์หนังสือเล่มนี้ซึ่งถูกมองว่าเป็นหนังสืออันตรายที่เขียนโดยจอมเผด็จการในอดีตที่เคยโฆษณาชวนเชื่อในเชิงเหยียดเชื้อชาติและมีการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ในสงครามโลกครั้งที่ 2 ทำให้บางส่วนต่อต้านการตีพิมพ์หนังสือเล่มนี้อีกครั้ง แต่ทางกลุ่มนักวิชาการนำโดยคริสเตียน ฮาร์ตมานน์ กล่าวว่าหนังสือในฉบับที่มีคำอธิบายในเชิงวิพากษ์ประกอบจะช่วยให้เรียนรู้ประวัติศาสตร์ความโหดร้ายในอดีตได้ โดยกล่าวเปรียบเทียบว่าพวกเขาเป็นเหมือน "คนกู้ทุ่นระเบิด" ที่จะทำให้สิ่งตกค้างทางประวัติศาสตร์สมัยนาซีหมดประโยชน์ไป

ฮาร์ตมานน์กล่าวอีกว่าหนังสือเล่มนี้ตีพิมพ์ผ่านมาเป็นเวลา 90 ปีแล้ว และเป็นหนังสือที่ไม่สามารถส่งอิทธิพลใดๆ ต่อผู้อ่านได้อีก และเชื่อว่าการที่พวกเขาเสริมบทวิพากษ์ลงในหนังสือจะส่งผลดีต่อโลกในระดับสากลได้

ความคิดเห็นของประชาชนยุคนาซีครองเมืองต่อหนังสือไมน์คัมพฟ์

อย่างไรก็ตาม อัลจาซีราได้นำเสนอมุมมองอีกด้านจากประชาชนที่เคยมีชีวิตอยู่ในช่วงเผด็จการนาซีที่มีการยัดเยียดอุดมการณ์ ความคิด วิธีการแสดงออก และแม้แต่หนังสือไมน์คัมพฟ์ ให้กับประชาชน เช่น ลอตตี ฟรานเซน ซึ่งปัจจุบันอายุ 100 ปีเล่าว่าเธอเคยได้รับหนังสือเล่มนี้เป็นของขวัญแต่งงานและมีชาวเยอรมนีในยุคนั้นจำนวนมากที่ได้รับไมน์คัมพฟ์เป็นของขวัญวันแต่งงานเช่นกัน

ฟรานเซนเล่าอีกว่าในยุคสมัยนั้นมีแต่บรรยากาศของความหวาดกลัวหน่วยพิเศษของนาซี ถึงแม้เธอจะมองว่าหนังสือไมน์คัมพฟ์ของฮิตเลอร์เป็นเรื่องไร้สาระแต่ก็แสดงออกไม่ได้ในยุคสมัยนาซี นอกจากฟรานเซนแล้วคนอื่นๆ ก็ถูกยัดเยียดหนังสือเล่มนี้เช่นกัน ไม่ว่าจะในที่ทำงาน ในงานแต่งงาน ในทุกๆ ที่ รวมถึงมีกรณีที่แม่ของเธอต้องกล้ำกลืนฝืนทนแสดงท่าทีเคารพต่อพวกนาซีในร้านอาหารทั้งที่กำลังทานอาหารอยู่ ฟรานเซนยังเล่าถึงสภาพความเลวร้ายของสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่ไม่เพียงแค่คู่แต่งงานใหม่ต้องพลัดพรากกับสามีเพราะพวกเขาถูกเกณฑ์ไปรบเท่านั้น แต่ยังมีสภาพความเป็นอยู่ที่แร้นแค้นและต้องคอยรองรับผู้ลี้ภัยสงครามด้วย

ฟรานเซนเล่าต่อไปว่านอกจากนี้ยังมีการเข้ามายึดครองของทหารอเมริกัน ที่ทำให้เกิดบรรยากาศความหวาดกลัวไปในอีกแบบหนึ่งคือพวกเขาต้องพยายามซ่อนภาพของทหารเยอรมันและซ่อนหนังสือไมน์คัมพฟ์ไม่เช่นนั้นจะถูกเผาบ้านทิ้ง โดยที่พวกเธอยังถูกทหารสหรัฐฯ มองอย่างเหมารวมว่าคนเยอรมันเป็นพวกนาซีไปเสียหมด และเมื่อคิดเหมารวมเช่นนี้ก็ทำให้ทหารอเมริกันปฏิบัติต่อประชาชนอย่างพวกเธออย่างเลวร้าย

ประวัติศาสตร์ที่เคยถูกลบเลือน

หนังสือเล่มนี้ยังถูกต่อต้านจากชาวยิว เช่น ลีออน ฟุชแวงเกอร์ นักเขียนนิยายและบทละครชาวยิว-เยอรมัน ผู้อพยพไปอยู่ฝรั่งเศสหลังนาซีเผาหนังสือและยึดบ้านเขา ส่งจดหมายถึงหนังสือพิมพ์ผู้อพยพว่าหนังสือไมน์คัมพฟ์ที่มาจากถ้อยคำของเผด็จการนาซีล้วนเป็นถ้อยคำที่ "สร้างความเสื่อมเสียต่อจิตวิญญาณของภาษาเยอรมัน"

แต่ทาง เอ็ดเวิร์ด อาร์โนลด์ ผู้ช่วยศาตราจารย์และอาจารย์สอนวิชายุโรปศึกษาในวิทยาลัยทรินิตีกล่าวว่าไมน์คัมพฟ์เป็นหนังสือที่มีความสำคัญในการช่วยให้สามารถเข้าใจเรื่องอันตรายจากแนวคิดทางการเมืองที่ไร้เหตุผลได้ และ "การเขียนที่ใช้ภาษาแย่ๆ" ของฮิตเลอร์ก็เป็นสิ่งสะท้อนการเมืองแบบตัวเขาเอง

อัลจาซีรารายงานว่าหลังจากที่สงครามโลกครั้งที่ 2 จบลง ประวัติศาสตร์ตรงส่วนนี้ก็ถูกลบเลือนไป เด็กๆ ไม่ได้เรียนรู้เกี่ยวฮิตเลอร์ในโรงเรียนและแทบไม่มีการพูดถึงสงครามโลกรวมถึงหนังสือไมน์คัมพฟ์ด้วย จากที่ก่อนหน้านี้ในช่วงสงครามเคยเป็นหนังสือที่ถูกจำหน่ายออกไป 12.5 ล้านเล่ม

ถึงแม้จะยังไม่ทราบว่าหนังสือไมน์คัมพฟ์ฉบับใหม่จะจำหน่ายออกไปได้มากเพียงใด แต่เมื่อสองปีที่ผ่านมาไมน์คัมพฟ์ฉบับอีบุ๊กติดอันดับหนังสือขายดีในหมวดโฆษณาชวนเชื่อและหมวดแนวคิดนาซีกับฟาสซิสม์ และในสหรัฐฯ ก็มีไมน์คัมพฟ์ฉบับ 99 เซนต์ ที่ขายดีในหมวดโฆษณาชวนเชื่อและจิตวิทยาการเมือง

แต่ชาวเยอรมันที่เคยผ่านสงครามอย่างฟรานเซนก็บอกว่าเธอขอผ่านไม่ซื้อหนังสือเล่มนี้ไม่ว่าจะมีหมายเหตุประกอบหรือไม่ก็ตามเธอบอกว่ามันเป็นหนังสือที่ "ไม่มีค่าพอจะเสี่ยงถูกกระดาษบาดนิ้ว"

 

เรียบเรียงจาก

'Mein Kampf' on sale again in Germany, Aljazeera, 09-01-2016,
http://www.aljazeera.com/indepth/features/2016/01/hitler-manifesto-mein-kampf-bookstores-160106122555653.html

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท