ภาคประชาชนค้านประยุทธ์ใช้ม.44 ปลด 7 บอร์ด สสส. จับสัญญาณ 15 ม.ค.จ่อเคลื่อนใหญ่

ภาคประชาชนแถลงค้านประยุทธ์ใช้ม.44 ปลด 7 บอร์ด สสส. ชี้ไม่ชอบธรรม เนื่องจากไม่พบทุจริต จับสัญญาณ 15 ม.ค.จ่อเคลื่อนใหญ่ เผยกรณีการระงับการจ่ายงบ กระทบกว่า 10,000 คน ขู่หากโครงการยังถูกแช่แข็ง จ่อฟ้องศาลปกครอง

จากเมื่อวันที่ 5 ม.ค. ที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช. ได้ อาศัยอำนาจตามม.44 ของรัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) พ.ค. 2557 ออกคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ที่ 1/2559 เรื่อง ประกาศรายชื่อเจ้าหน้าที่ของรัฐที่อยู่ระหว่างการถูกตรวจสอบเพิ่มเติม ครั้งที่ 3 โดยในจำนวนนั้น  ได้สั้งให้ 7 กรรมการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) พ้นจากการเป็นกรรมการและการดำรงตำแหน่งในกองทุนดังกล่าว และให้ผู้มีอำนาจหน้าที่ดำเนินการแต่งตั้งกรรมการใหม่ตามกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้อง (อ่านรายละเอียด)

ล่าสุดวันนี้ (11 ม.ค. 59) เนชั่นทันข่าว รายงานว่า ที่สภาคริสตจักรแห่งประเทศไทย ถนนราชเทวี กรุงเทพฯ ขบวนการส่งเสริมสุขภาพภาคประชาชน (Thai Health Movement)  ร่วมกับภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้องรวม 20 องค์กร ร่วมกันแถลงข่าวหัวข้อ “กรณีการปลดบอร์ดกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และชะตากรรมกว่า 2,000 ชีวิต องค์กรภาคประชาชน หลัง สสส.ถูกแช่แข็งร่วม 3 เดือน รวมถึงยังถูกกรมสรรพากรไล่บี้ภาษีหนัก
 
โดยทั้งหมดได้ ร่วมกันแสดงจุดยืน และอ่านแถลงการณ์ 5 ข้อ โดยนายธีระ วัชระปราณี ผู้จัดการเครือข่ายองค์กรงดเหล้า เป็นตัวแทนอ่านแถลงการณ์ ว่า 1.ขบวนการส่งเสริมสุขภาพภาคประชาชนเห็นว่าการปลดบอร์ด สสส.ทั้ง 7 คน เป็นไปโดยไม่ชอบธรรม เนื่องจากไม่พบทุจริต อีกทั้งการดำรงตำแหน่งก็มีคุณสมบัติเป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด ซึ่งนายกรัฐมนตรีอ้างว่าเพื่อไม่ให้ขัดขวางการตรวจสอบ ดังนั้นเมื่อการตรวจสอบเสร็จสิ้นลง พบว่ากรรมการที่ถูกปลดออกไม่ได้ดำเนินการใดๆที่บกพร่องต่อหน้าที่ รัฐบาลต้องคืนความเป็นให้กับคณะกรรมการทุกท่าน ที่ได้รับผลกระทบโดยเร็ว อย่างไรก็ตามขบวนการฯมีข้อเสนอ ให้ยกเลิกการสั่งที่ให้คณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ พ้นจากการเป็นกรรมการและดำรงตำแหน่งใน สสส.และกลับเข้ามาปฏิบัติงานได้หลังการตรวจสอบเสร็จสิ้นลงโดยเร็ว ขณะนี้สัดส่วนของคณะกรรมการ เหลือกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิเพียง 2 คน และกรรมการสัดส่วนจากภาครัฐ 11 คน ดังนั้นหากกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิไม่ประสงค์จะดำรงตำแหน่งต่อ กระบวนการสรรหา แต่งตั้ง ซึ่งขาดการถ่วงดุลจากผู้ทรงคุณวุฒิ อาจได้คุณสมบัติไม่เป็นไปตามกฎหมาย จึงขอเรียกร้องให้คณะรัฐมนตรีที่มีอำนาจ ดำเนินการเพื่อให้ได้คุณสมบัติตามพ.ร.บ.กองทุน สสส.ปี 2544 ซึ่งขบวนการฯจะติดตามความคืบหน้าการประชุมของคณะกรรมการ สสส.ในวันที่ 15 ม.ค. นี้ อย่างใกล้ชิด หากพบเป็นไปโดยมิชอบ หรือไม่มีความคืบหน้า จะเคลื่อนไหวใหญ่ทั่วประเทศ และจะแถลงต่อไป 
 
2. กรณีการระงับการจ่ายงบประมาณดำเนินการ 1,953 ล้านบาท และไม่อนุมัติโครงการที่มีงบฯเกิน 5 ล้านบาท จำนวน 515 โครงการ มีผู้ปฏิบัติงานได้รับผลกระทบประมาณ 5,200 คน ในจำนวนนี้มีมากกว่า 3,400 คน ขาดงบฯดำเนินการ และค่าตอบแทน ซึ่งงบฯสนับสนุนในโครงการต่างๆจะเกี่ยวข้องกับผู้ปฏิบัติงานในโครงการย่อย รวมถึงอาสาสมัครไม่เต็มเวลาที่ร่วมงานกับ สสส.เป็นจำนวนมาก ส่งผลกระทบไปทุกระดับคาดว่าน่าจะเกิน 10,000 คน และประชาชนหลายภาคส่วนขาดโอกาสที่จะได้ประโยชน์จากกิจกรรม ดังนั้นจึงมีข้อเรียกร้องให้โครงการภาคีร่วมดำเนินงานกับ สสส.ต้องได้รับการสนับสนุนงบประมาณตามสัญญาที่ทำไว้ร่วมกัน หากโครงการยังถูกแช่แข็ง ไม่จ่ายเงินตามงวดความตกลงที่ได้ลงนามไว้ ขบวนการฯจะยื่นฟ้อง สสส.ต่อศาลปกครอง 
  
3. กรณีผู้มีอำนาจสั่งการให้มีการไล่เบี้ยเก็บภาษีย้อนหลัง 5 ปี ต่อมูลนิธิและองค์กรเกี่ยวข้อง ที่ร่วมปฏิบัติงานกับ สสส.โดยอ้างว่า การดำเนินงานเหล่านี้เป็นการรับจ้างทำของ ต้องเสียภาษีและตีตราอากร ซึ่งไม่ตรงกับข้อเท็จจริงที่ว่า องค์กรภาคประชาสังคมกับ สสส.ไม่ได้สัมพันธ์ ในฐานะผู้รับจ้างทำของ แต่เป็นผู้ดำเนินงานแทน สสส.โดยมีการลงนามความตกลงที่เรียกว่า ข้อตกลงการปฏิบัติงาน ไม่ใช่สัญญารับจ้างทำของ แต่ประการใด ทั้งนี้ สสส.เคยให้สำนักงานอัยการสูงสุดวินิจฉัยตีความในเรื่องดังกล่าวเมื่อ 27 ธ.ค. 2547 วินิจฉัยว่าเป็นการดำเนินการแทนข้อตกลงร่วมได้แยกงบฯออกเป็น 2 ส่วน คืองบฯค่าตอบแทนบุคลากร จะมีการหักภาษี ที่จ่าย โดย สสส.จะหักก่อนโอนงบฯให้กับมูลนิธิ และองค์กรที่ร่วมปฏิบัติงาน กับงบฯการดำเนินกิจกรรมตามโครงการเพื่อประโยชน์สาธารณะ มีใบเสร็จหลักฐานต่างๆเอาไว้หมด หากมีเงินเหลือนอกเหนือจากการใช้จ่ายจะต้องส่งคืน สสส.ตอนหมดสัญญา ซึ่งต้องเป็นไปตามเป้าหมายและตัวชี้วัดที่ สสส.กำหนด โดยถือว่าเป็นผลงาน ของสสส.
 
ปัญหาความเดือดร้อนในขณะนี้เกิดขึ้นจากกรณีที่กรมสรรพากรไล่เรียกเก็บภาษีย้อนหลัง และตีความอย่างไม่ชอบธรรมว่าความตกลงดังกล่าวเป็นสัญญาจ้างต้องเสียภาษีในอัตรา3เปอร์เซ็นต์ พร้อมปรับเบี้ย 5-6 เท่า ของงบฯดำเนินการ สร้างความตระหนกเป็นอย่างมาก อาจมีปัญหาเรื่องวินัย ถือเป็นการคุกคามการทำงานขององค์กรภาคประชาสังคมอย่างร้ายแรง ที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน จึงมีข้อเรียกร้องให้หน่วยงานรัฐ เช่น สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน(สตง.)กรมสรรพากรทั่วประเทศ ยุติการคุกคามองค์กรต่างๆ ให้ สสส.ยื่นเรื่องต่อคณะกรรมการกฤษฎีกาตีความ และขบวนการฯจะร่วมมือกันฟ้องร้องเพื่อยกเลิกประกาศกรมสรรพากรที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ 
 
ขณะที่นางสาวจิตติมา ภาณุเตชะ ตัวแทนเครือข่ายสุขภาวะทางเพศ อ่านแถลงการณ์ต่อว่า 4.ข้อเสนอการปฏิรูป สสส.ช่วง 1-2 ทศวรรษ ที่ผ่านมา เกิดการกระจายระบบผูกขาด และรวมศูนย์เกี่ยวกับระบบส่งเสริมสุขภาพ และการที่ภาคประชาชนเข้ามามีบทบาทในการปฏิรูปสุขภาพไม่ให้รวมศูนย์อยู่ในระบบราชการอย่างที่ผ่านมา สสส.มีข้อดีมากกว่าข้อเสีย ซึ่งควรปฏิรูปเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ และสร้างความโปร่งใสให้เพิ่มมากขึ้น อย่างเท่าเทียม เปิดโอกาสให้ผู้มีผลงาน ประสบการณ์ เข้าถึงการเพิ่มสัดส่วนคณะกรรมการระดับต่างๆ ไม่จำกัดแค่กลุ่มเดิมๆ ออกระเบียบใหม่เพื่อป้องกันผลประโยชน์ทับซ้อน และผู้ได้ประโยชน์จากการรับทุนอย่างเข้มงวด กระจายไปในระดับภูมิภาคให้มีส่วนตัดสินใจ และประเมินผลการทำงานของทุกระดับในองค์กรสสส.โดยโปร่งใส และเกิดจากส่วนร่วมของภาคีให้มากขึ้น 
 
5.กรณีโครงการประชารัฐ จากการหารือเดินหน้านโนบายประชารัฐ ที่ไม่สามารถเดินหน้าได้เพราะคณะกรรมการตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐ(คตร.)ไม่อนุมัติโครงการเช่นเดียวกับโครงการอื่นๆ ของสสส. ซึ่งนายกฯได้สั่งการให้แก้ไขโดยแยกโครงการออกเป็น 3 กลุ่ม คือ โครงการที่เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของสสส.ที่ไม่มีข้อกังขาให้ผ่านการพิจารณา โครงการประชารัฐของรัฐบาลที่เกี่ยวข้องกับสุขภาวะของชุมชน สังคม ฐานรากให้ได้รับการพิจาณา และโครงการอื่นๆที่ไม่เข้าข่าย ให้ไปปรับแก้ แล้วเสนอเข้ามาตามขบวนการ อย่างไรก็ดีการดำเนินการดังกล่าวชี้ว่า การตีความเรื่องสุขภาวะโดยรวมที่คตร.เห็นว่าไม่เป็นไปตามวัตถุประสงค์ เกินขอบเขต จนนำมาสู่การตรวจสอบ และแช่แข็ง ล้วนแล้วแต่เป็นความเข้าใจผิดของคตร.เนื่องจากนโยบายต่างๆที่ผ่านมาของสสส.มีการดำเนินการไม่แตกต่างกับนโยบายประชารัฐ ที่ขอเสนอทุนสนับสนุนจากสสส.แต่ประการใด การปลดบอร์ด และบีบให้ผู้จัดการสสส.ต้องลาออก ล้วนเกิดจากความเข้าใจผิดของหน่วยงานที่ตรวจสอบทั้งสิ้น 
 
นอกจากนี้ขบวนการฯยังได้ติดตามการดำเนินโครงการประชารัฐในส่วนที่ขอรับทุนสนับสนุน ว่าจะมีการใช้งบฯในโครงการจนเกิดผลกระทบต่อการดำเนินงานปกติของสสส. ที่เกี่ยวข้องกับประชาชนผู้ด้อยโอกาสหรือไม่อย่างไร การตรวจสอบโครงการประชารัฐมีคณะกรรมการที่เกี่ยวข้องมาจากกลุ่มบริษัทธุรกิจแอลกอฮอล์ร่วมด้วย ได้ดำเนินไปเพื่อผลประโยชน์ของประชาชนอย่างแท้จริง หรือ เพื่อผลประโยชน์ของกลุ่มทุน ติดตามผลการประชุมของบอร์ดในวันที่15ม.ค.นี้ เกี่ยวกับการแต่งตั้งผู้จัดการสสส.คนใหม่ การดำเนินการสรรหาบอร์ดผู้ทรงคุณวุฒิ และความคืบหน้าโครงการแช่แข็งโครงการว่าจะมีการดำเนินการไปในทิศทางใด “ขบวนการฯ เห็นว่าวิกฤตที่เกิดขึ้นกับสสส.ได้ทำให้ทั้งภาคีต่างๆ รวมทั้งประชาชนและสื่อมวลชนได้เข้ามามีบทบาทมากขึ้นในการนำเสนอความคิดเห็นและมีส่วนร่วมในการปรับปรุงและพัฒนากลไกการปฏิรูประบบสุขภาพเพื่อให้เป็นผลประโยชน์ต่อประชาชนอย่างแท้จริง เรายังคงทำหน้าที่อย่างต่อเนื่องเพื่อติดตามความคืบหน้าการแก้ปัญหา และการปฏิรูปสสส.เราจะเคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องตามที่ได้นำเสนอไปแล้วให้ปรากฏเป็นจริง เราเชื่อมั่นในพลังของประชาชนมากกว่าการฝากอนาคตการปฏิรูปในมือของผู้มีอำนาจ” อย่างไรก็ตาม ทางขบวนการฯ ยืนยันว่าการดำเนินการของภาคประชาชนในครั้งนี้ ไม่มีแกนนำ ไม่มีพี่ใหญ่ในวงการ หากใครจะไปตกลงกับผู้มีอำนาจว่าเคลียร์ได้ ไม่มีการเคลื่อนไหว ไม่ใช่ เพราะเรากำลังหาข้อตกลง บางเครือข่ายอยากเคลื่อนไหว บางองค์กรขอรอดูวันที่15ม.ค.นี้นั้น อะไรที่อยู่ในแถลงการณ์ทั้งหมด ให้ถือว่าพอเป็นข้อตกลงร่วม ที่เหลือก็ให้เป็นอิสระ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท