สุภลักษณ์ กาญจนขุนดี: คิดถึงเมื่อครั้งยางกิโลร้อย

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

การบนบานศาลกล่าว ไม่ใช่วิธีที่ดีที่สุดในการแก้ไขปัญหายางพาราหรอก แต่เชื่อมั่นว่ารัฐบาลทหารจะใช้วิธีนี้เท่านั้นในการแก้ปัญหาราคายางตกต่ำในขณะนี้

สินค้าเกษตรของไทยทุกรายการมีการเมืองอยู่ในนั้น ยางพาราก็เช่นกัน ถ้าในสถานการณ์ปกติเกษตรกรใช้การประท้วงตามท้องถนนเรียกร้องให้รัฐบาลอุดหนุนราคาในยามที่มันตกต่ำ แต่วิธีการนั้นจะใช้ได้ผลเฉพาะกับรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง เพราะรัฐบาลเหล่านั้นห่วงอนาคตของตัวเองในการเลือกตั้งครั้งหน้า

ชาวสวนยางจากภาคใต้โชคร้าย ที่พวกเขาไม่ประสีประสาในทางการเมืองเท่าไหร่ เพราะไว้ใจพรรคประชาธิปัตย์ว่าจะมีนิสัยเหมือนคนใต้ คือถ้าเป็นพวกกันแล้วยังไงก็ต้องช่วยกัน แต่พรรคประชาธิปัตย์ไม่เคยมีนิสัยเหมือนคนใต้เลยชั่วประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา หากแต่ทำทุกทางเพื่อเอาตัวรอด

ชาวสวนยางเป็นกำลังหลักในการประท้วงขับไล่รัฐบาลก่อนและนำการรัฐประหารกลับมาสู่การเมือง ได้รัฐบาลทหาร เข้ามาปกครองบ้านเมืองสมใจ แต่นั่นจะต้องแลกด้วยการสูญเสียอำนาจทางการเมืองของชาวสวนยางเอง กล่าวคือ รัฐบาลนี้พึ่งพิงกองทัพ ไม่ใช่ชาวสวนยางซึ่งมีเพียงคะแนนเสียงในการเลือกตั้งเท่านั้น หมายความว่า ชาวสวนยางในปัจจุบันจะไม่สามารถเรียกร้องให้รัฐบาลทหารช่วยอะไรพวกเขาได้ รัฐบาลนี้ก็ไม่จำเป็นอะไรที่จะต้องช่วยพวกเขาด้วย เพราะแรงสนับสนุนของพวกเขาไม่มีความหมายต่อรัฐบาล และไม่มีอะไรมาต่อรองด้วย

วิธีการแก้ปัญหาราคาสินค้าโภคภัณฑ์ไม่ว่ายางหรือพืชอื่นๆของรัฐบาลนี้ จะทำตามตำราเศรษฐศาสตร์คลาสสิคแบบโบราณคือ ลด supply ลงให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้เพื่อหวังว่ามันจะไปด้านราคาให้สูงขึ้นเอง แต่เชือเถอะไม่ได้ผลหรอก เพราะยางเป็นสินค้าที่ใช้ปิโตรเลียมทดแทนได้ ตราบเท่าที่ปิโตรเลียมถูกยางก็คงจะต้องถูกต่อไป เพราะต่อให้ลด supply แล้วราคามันขยับขึ้นมันก็จูงใจให้ผู้ซื้อไปหาอย่างอื่นมาแทนได้ไม่ยากนัก ว่าที่จริงถ้าตัวเลขส่งออกจากจากปีที่แล้ว ไม่ได้ลงลงแปลว่า demand ในตลาดโลกไม่ได้ลด supply เท่าเดิม ราคามันก็ต่ำลงตามราคาปิโตรเลียมเป็นหลักใหญ่

ข้อเสนอให้ใช้ในประเทศนั้น พูดเล่นๆไปอย่างนั้นแหละ ปัจจุบันด้วยขนาดเศรษฐกิจแบบนี้ประเทศไทยใช้ยางภายในประเทศปีละแค่ 500,000 ตัน (ส่งออกกว่า 3 ล้านต้น เหลือสต๊อกเฉลี่ยปีละ 500,000 ตัน) จะเอายางไปทำอะไรในเวลาที่เศรษฐกิจถดถอย

อย่าเพ้อเจ้อเรื่องเอาไปลาดถนนแทนยางมะตอย มันใช้ได้บ้างแต่น้อยมาก แค่ 5 % และราคายางพารานั้นต่อให้ต่ำก็ยังแพงกว่ายางมะตอย ยิ่งในการวิจัยพบว่า มันมีอายุการใช้งานนานกว่าแปลว่า มันคงไม่ต้องใช้บ่อย แต่เกษตรกรกรีดยางทุกวัน ก็ต้องมี supply ส่วนเกินอยู่ดี

ไปปลูกอย่างอื่นเสริม ก็ยิ่งเพ้อเจ้อ เพราะอย่างอื่นที่ว่านั้นไม่ได้ปลูกง่ายนัก ไม่ใชทางออกระยะสั้น ไม่นับว่าจะหาตลาดที่ไหน รวมถึงว่าถ้าปลูกกันมากๆก็ไปกดราคาสินค้าชนิดนั้นให้ต่ำลงไป เกษตรกรที่ปลูกพืชนั้นเป็นอาชีพหลัก ก็จะมีปัญหาอีก อีกหน่อยนายกต้องบอกให้ชาวสวนกล้วย สวนสะตอเบอร์ลี่ ไปปลูกยางเป็นอาชีพเสริมอีกแหละ

สิ่งที่รัฐบาลกำลังจะทำคือให้ 8 กระทรวงมาซื้อยาง คำถามคือ ซื้อมากแค่ไหน ราคาเท่าไหร่ และทำไมมาคิดซื้อเอาตอนที่ชาวบ้านจะปิดหน้ายางแล้ว

ปกติเกษตรกรจะปิดหน้ายางพักการกรีดในเดือนกุมภาพันธ์ ซึ่งจะส่งผลให้ราคายางสูงขึ้นประมาณ 3-5 บาทต่อกิโลกรัมอยู่แล้ว (ลองเปิดสถิติราคายางย้อนหลังดูก็ได้) รัฐบาลไม่ต้องทำอะไรเลยราคายางก็ขึ้น และถ้าหน่วยงานรัฐเอางบประมาณมาซื้อตอนนี้ (ไม่รู้ซื้อไปทำอะไรอีกต่างหาก) ก็แปลว่าช่วยพ่อค้ายางที่มีของสต๊อกอยู่แล้ว ใครที่เป็นปรึกษาให้รัฐบาล นับว่าฉลาดในการทำมาหากินมากทีเดียว เกษตรกรที่มาเคลื่อนไหวตอนนี้ก็เท่ากับ เตะสุกรเข้าปากสุนัข มันก็เป็นเช่นนั้น

 

ภาพประกอบ: ผู้เขียนและครอบครัวเลี้ยงผีเฝ้าไร่ด้วยหัวหมูและสุรา วัตถุประสงค์ก็เพื่อความอิ่มหมีพีมันของพวกเราเอง เนื่องจากผีกินแต่วิญญาณหมู เนื้อหมูนั้นพวกเขาก็เอามากินกันเอง โบราณกล่าวไว้ชอบนัก "ทำบุญสูญเปล่า ไหว้เจ้า (ไหว้ผี) ได้กิน" เราอยากกินอะไรเอาก็เอาอันนั้นไปไหว้ ไม่เกี่ยวอะไรกับกับราคายางพารา แต่ใช้สวนยางเป็นสถานที่เลี้ยงผีเท่านั้น

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท