Skip to main content
sharethis

ถือเป็นความก้าวหน้าของกระบวนการยุติธรรมในกัวเตมาลาเมื่อมีนายทหารระดับสูงหลายนายถูกจับกุมในข้อหาอาชญากรรมต่อมนุษยชาติและอุ้มหายผู้คนในช่วงยุคสมัยปราบปรามฝ่ายซ้ายหลายสิบปีก่อน แม้จะยังมีผู้กังวลเรื่องความปลอดภัยของกลุ่มผู้เรียกร้องความยุติธรรมเนื่องจากทหารกัวเตมาลามีส่วนพัวพันกับแก๊งอาชญากรผู้มีอิทธิพล

ที่ตั้งของประเทศกัวเตมาลา ในภูมิภาคอเมริกากลาง (ที่มา: Google Maps)

13 ม.ค. 2559 เว็บไซต์โครงการศูนย์เพื่อนโยบายนานาชาติทวีปอเมริกาหรือซีไอพีอเมริกา (CIP Americas) รายงานว่าทางการกัวเตมาลาได้จับกุมเจ้าหน้าที่ทหารระดับสูง 18 นาย ตั้งแต่เมื่อวันที่ 6 ม.ค. ที่ผ่านมา ในข้อหาอาชญากรรมต่อมนุษยชาติและการบังคับให้สูญหาย

หนึ่งในผู้ที่ถูกจับกุมคือ เบเนดิกโต ลูคัส การ์เซีย ผู้นำกองทัพในสมัยของอดีตผู้นำเผด็จการ โรมิโอ ลูคัส การ์เซีย ที่เป็นพี่น้องกัน เขาอยู่ในตำแหน่งเจ้าหน้าที่ระดับสูงช่วงที่เกิด 'สงครามสกปรก' (dirty war*) และมีส่วนเกี่ยวข้องกับพวกเครือข่ายขบวนการแก๊งอาชญากรรม นอกจาก 18 คนที่ถูกจับกุมตัวดังกล่าวแล้ว ยังมีหมายเรียกผู้กระทำผิดเพิ่มเติมอีก

ทหารกลุ่มนี้ถูกตั้งข้อหาในอาชญากรรมที่พวกเขาก่อไว้ในช่วงปี 2525-2531 เช่น กรณีสังหารหมู่ชาวมายาอะชิ ซึ่งเพิ่งมีการขุดค้นร่างของเหยื่อ 550 ราย ในปี 2555 ซึ่งเป็นเพียงแค่ส่วนหนึ่งจากที่มีการประเมินว่ามีคนถูกสังหารไปราวหลายหมื่นคน

CIP Americas ระบุว่าการดำเนินคดีต่อทหารระดับสูงผู้กระทำความผิดเหล่านี้เกิดขึ้นได้จากการต่อสู้เรียกร้องเป็นเวลานาน 20 ปี ของกลุ่มสมาคมเหยื่อและญาติของเหยื่อกลุ่มต่างๆ ทั้งกลุ่มเหยื่อการสังหารหมู่ชาวมายาอะชิที่ยื่นฟ้องร่วมกับสมาคมญาติของผู้สูญหายหรือถูกกุมขังในกัวเตมาลา (FAMDEGUA) และกลุ่มผู้ส่งเสริมช่วยเหลือกันและกัน (GAM) สิ่งที่เอื้อต่อความสำเร็จอีกประการหนึ่งคือการต่อสู้เรียกร้องให้มีการเปลี่ยนแปลงระบบยุติธรรมที่ฉ้อฉลซึ่งได้รับการสนับสนุนจากนักกิจกรรมเพื่อสิทธิมนุษยชนและผู้เรียกร้องปฏิรูปศาล

มีนายพลเกษียณอายุอีกหนึ่งรายที่จะถูกจับกุมมาดำเนินคดีคือ ริคาร์โด เมนเดซ รุยซ์ ผู้มีลูกชายในชื่อเดียวกันเป็นผู้นำหน่วยต่อต้านการก่อการร้าย ก่อนหน้านี้รุยซ์ได้ทำการฟ้องร้องออร์ลันโด โลเปซ อัยการพิเศษเพื่อสิทธิมนุษยชนที่เป็นผู้นำการสืบสวนคดีอาชญากรรมต่อมนุษยชาติและการะเมิดสิทธิของทหารระดับสูงเหล่านี้ โดยอ้างข้อหาว่าโลเปซ "รวมกลุ่มอย่างผิดกฎหมาย" จากการที่เขาเป็นอัยการในในคดีฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ของเอเฟรน ริออส มอนต์ อดีตผู้นำเผด็จการ

นอกจากนี้รุยซ์ยังฟ้องร้อง เฟรดี เพคเซเรลลี ผู้อำนวยการมูลนิธินิติเวชมานุษยวิทยาแห่งกัวเตมาลา (Forensic Anthropology Foundation of Guatemala) ผู้สั่งให้ขุดศพของเหยื่อมาชันสูตรด้วยข้อหาที่น่าขันอย่างข้อหาทำตัวเลียนแบบผู้พิพากษาจากการที่เพคเซเรลลีแสดงออกคล้ายผู้พิพาทษาในตอนที่เขาให้การในคดีฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ของริออส มอนต์ การที่ยังไม่มีการปิดคดีเหล่านี้แสดงให้เห็นถึงปัญหาในระบบยุติธรรมของกัวเตมาลา

อีกทั้งการที่ จิมมี โมราเลส ประธานาธิบดีคนใหม่ของกัวเตมาลาผู้มาจากพรรคเอฟซีเอ็น (FCN) พรรคฝ่ายขวาที่มีความใกล้ชิดกับทหารกำลังจะเข้ารับตำแหน่งในวันที่ 14 ม.ค. นี้ทำให้มีความกังวลต่อความปลอดภัยของกลุ่มคนที่เรียกร้องความยุติธรรมในกรณีนี้ อย่างไรก็ตามมีการเรียกร้องจากกลุ่มอัยการให้มีการขับ ส.ส. พรรคเอฟซีเอ็น ผู้เป็นอดีตเจ้าหน้าที่ทหารชื่อ เอ็ดการ์ จัสติโน โอวัลลี มัลโดนาโด ออกจากตำแหน่งเพื่อให้เขาถูกดำเนินคดีข้อหาอาชญากรรมต่อมนุษยชาติและการบังคับให้สูญหาย

อีกเหตุผลหนึ่งที่ทำให้มีความกังวลถึงความปลอดภัยของเหล่าผู้เรียกร้องความยุติธรรมเนื่องจากกลุ่มทหารที่ถูกจับมีความเกี่ยวข้องกับเครือข่ายแก๊งอาชญากรรมในประเทศ ซึ่งกลุ่มแก๊งเหล่านี้มีอิทธิพลอยู่ในภูมิภาคอเมริกากลางทั้งกัวเตมาลา, ฮอนดูรัส และเอลซัลวาดอร์ มีส่วนพัวพันกับกรณีการฆาตกรรมจำนวนมาก โดยที่ CIP Americas ระบุว่าอิทธิพลของแก๊งอาชญากรรมเหล่านี้มีผลทำให้เกิดความเสื่อมต่อกระบวนการยุติธรรมมีกรณีการลอยนวลไม่ต้องรับผิดจำนวนมากรวมถึงมีการแทรกแซงกระบวนการศาล

ผู้เชี่ยวชาญในกัวเตมาลาและจากต่างประเทศเคยเตือนในเรื่องเครือข่ายแก๊งอาชญากรรมมานานแล้ว ซึ่งมีการต้องสงสัยว่าจะมีเจ้าหน้าที่ทหารระดับสูงมีส่วนพัวพันกับแก๊งค้ายาและมีแก๊งอาชญากรรมที่ทรงอิทธิพลอยู่เบื้องหลังนักการเมืองส่วนหนึ่ง รวมถึงอ็อตโต เปเรซ โมลินา อดีตประธานาธิบดีที่เพิ่งถูกขับไล่และโดนข้อหาทุจริตคอร์รัปชั่นก็มีส่วนเกี่ยวข้องกับแก๊งอาชญากรรมเหล่านี้ด้วย

 

เชิงอรรถ

* Dirty War หรือสงครามสกปรกในกัวเตมาลาสื่อถึงสงครามกลางเมืองช่วงปี 2503-2539 ระหว่างกลุ่มกบฏฝ่ายซ้ายกับรัฐบาลกัวเตมาลา โดยที่ในช่วงแรกๆ รัฐบาลเผด็จการกัวเตมาลาใช้กำลังกับฝ่ายพลเรือนรวมถึงนักกิจกรรม รวมถึงมีการอุ้มหายฝ่ายต่อต้านรัฐบาล

 

เรียบเรียงจาก

18 Former Guatemalan Military Officers Arrested for Crimes Against Humanity, CIP americas http://www.cipamericas.org/archives/18204

ข้อมูลเพิ่มเติมจาก

https://en.wikipedia.org/wiki/Guatemalan_Civil_War

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net