Skip to main content
sharethis

14 ม.ค. 2559 เครือข่ายองค์กรประชาชนที่ร่วมรณรงค์รายชื่อเสนอกฎหมายหลักประกันสุขภาพ ออกแถลงการณ์สนับสนุนเจตนารมณ์กฎหมายหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 ขอให้กฤษฎีกาได้พิจารณาทบทวนการตีความกฎหมายให้ยึดโยงกับเจตนารมณ์และยึดมั่นในหลักการว่า การบริหารจัดการระบบหลักประกันสุขภาพไม่ใช่บทบาทหน้าที่ของบุคลากรทางการแพทย์ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านการแพทย์เท่านั้น แต่เป็นเรื่องของประชาชนซึ่งเป็นเจ้าของภาษีและเป็นผู้ใช้สิทธิในการได้รับหลักประกันด้านสุขภาพ

แถลงการณ์สนับสนุนเจตนารมณ์กฎหมายหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545

เครือข่ายองค์กรประชาชน ที่ร่วมรณรงค์ระดมรายชื่อเสนอกฎหมายหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าตั้งแต่ปีพ.ศ.2543 และได้มีส่วนร่วมในการพิจารณากฎหมายในรัฐสภากระทั่งมีการประกาศใช้ พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เมื่อ พ.ศ.2545 ทั้งนี้ เจตนารมณ์ของประชาชนคือ ให้มีระบบหลักประกันสุขภาพที่เป็นระบบเดียวกองทุนเดียวที่เป็นหลักประกันว่าประชาชนทุกคนสามารถเข้าถึงได้ถ้วนหน้า ได้รับบริการที่เป็นมาตรฐานเดียว ชุดสิทธิประโยชน์เดียวกัน มีการบริหารระบบอย่างมีประสิทธิภาพ ลดความซ้ำซ้อน เนื่องจากสิทธิด้านสุขภาพเป็นสิทธิของทุกคนโดยเสมอภาค ไม่ใช่เป็นสิทธิที่กลุ่มประชาชนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งมีสิทธิเหนือกลุ่มอื่นๆ ในประเทศไทย

เจตนารมณ์ของกฎหมายได้รับการพิจารณาโดยรัฐสภาที่มีองค์ประกอบทั้งคณะรัฐบาล สมาชิกสภาผู้แทนทั้งพรรครัฐบาล พรรคฝ่ายค้าน นักกฎหมายจากสำนักกฤษฎีกา ผู้ทรงคุณวุฒิ และตัวแทนประชาชนที่เสนอร่างกฎหมาย ซึ่งที่สุดยืนยันให้เป็นกฎหมายสำหรับทุกคน โดยกำหนดให้ประชาชนทุกคนมีสิทธิได้รับบริการสาธารณสุขที่จำเป็นต่อสุขภาพ มีมาตรฐาน ไม่ไปลิดรอนสิทธิเดิมของกลุ่มข้าราชการและกลุ่มประกันสังคมที่มีอยู่เดิม แต่ให้มีการตกลงกันในการบริหารจัดการไม่ให้เกิดความซ้ำซ้อน ลดค่าใช้จ่าย ตามบัญญัติใน มาตรา 9-12 ซึ่งเจตนารมณ์นี้ยังไม่บรรลุเนื่องจากไม่มีการตกลงกัน

เจตนารมณ์สำคัญอีกประการหนึ่งคือเรื่องการจัดตั้งกองทุนและการใช้จ่ายกองทุน ซึ่งเป็นประเด็นที่มีการตีความกฎหมายกันไปอย่างหลากหลาย ทั้งคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ที่ตั้งขึ้นโดยอำนาจของกฎหมายฉบับนี้ สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) คณะกรรมการติดตามและตรวจสอบการใช้เงินภาครัฐ (คตร.) และกฤษฎีกา มีข้อขัดแย้งในการตีความตามตัวอักษรของกฎหมาย ซึ่งละเลยและผิดเพี้ยนไปจากเจตนารมณ์ การตีความว่าเงินกองทุนต้องจ่ายให้โดยตรงต่อตัวประชาชนเท่านั้น และส่งตรงให้หน่วยบริการ โดยหน่วยบริการไม่สามารถนำไปจ่ายเป็นค่าจ้างลูกจ้าง ค่าทำงานนอกเวลา ค่าสาธารณูปโภคได้ ซึ่งส่งผลกระทบโดยตรงต่อประชาชน เพราะการบริการสาธารณสุขคือการใช้คนและสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆของโรงพยาบาลเป็นพื้นฐานในการให้บริการ และส่งผลกระทบต่อหน่วยบริการของกระทรวงสาธารณสุขเองเป็นส่วนใหญ่

เครือข่ายองค์กรประชาชนเห็นว่า กฤษฎีกาตีความกฎหมายไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ 2 เรื่องคือ
1. กรอบค่าใช้จ่ายเพื่อบริการสาธารณสุข ไม่รวมค่าตอบแทน ค่าล่วงเวลา ค่าสาธารณูปโภค กฤษฎีกาตีความแบบยึดเอาแต่เฉพาะคำนิยาม "ค่าใช้จ่ายเพื่อบริการสุขภาพ" ตามมาตรา 3 ที่มีอยู่ 12 รายการ โดยไม่ได้โยงกับมาตราอื่นๆ คือ มาตรา 46(2) ที่ระบุชัดว่า หลักเกณฑ์การกำหนดค่าใช้จ่ายเพื่อบริการสาธารณสุข ต้องอยู่ภายใต้เงื่อนไขว่า ”ครอบคลุมถึงค่าใช้จ่ายของหน่วยบริการในส่วนเงินเดือนและค่าตอบแทนบุคคลากร” ด้วย เป็นการตีความแบบไม่เข้าใจเรื่องระบบบริการสาธารณสุข หรือมีอคติต่อระบบเพราะอ้างว่าได้ฟังความเห็นผู้ทรงคุณวุฒิที่ส่วนใหญ่เป็นหมอแล้วในเรื่องเหล่านี้

2. เงินกองทุนไม่สามารถจ่ายให้หน่วยงานในระดับจังหวัด สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด เพื่อใช้ในการพัฒนาบุคลากร ใช้ในการกำกับติดตามผล การดำเนินงานบริการสุขภาพโดยเฉพาะเรื่องการป้องกันโรค การส่งเสริมสุขภาพ ทั้งนี้ กฤษฎีกาตีความ ม.38 ในมุมมองด้านเดียวคือการจัดบริการตามกรอบคำนิยามค่าใช้จ่ายบริการสุขภาพเท่านั้น ทั้งที่ใน ม.38 ระบุชัดว่า กองทุนฯ มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นค่าใช้จ่าย สนับสนุน และส่งเสริมการจัดบริการสาธารณสุขของหน่วยบริการ เพื่อส่งเสริมให้คนเข้าถึงบริการ โดยคำนึงถึงการพัฒนาการบริการ ในเขตพื้นที่ที่ไม่มีหน่วยบริการเพียงพอ หรือมีการกระจายหน่วยบริการอย่างไม่เหมาะสม การพัฒนาการบริการ เป็นบทบาทภาระหน้าที่โดยตรงของหน่วยงานสาธารณสุขจังหวัด หรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หรือองค์กรอื่นใดที่สามารถเข้ามาเติมเต็มการจัดบริการ การพัฒนา หมายถึงการเสริมศักยภาพบุคลากร การกำกับติดตามผล ด้วย

ทางเครือข่ายองค์กรประชาชนขอให้กฤษฎีกาได้พิจารณาทบทวนการตีความกฎหมายให้ยึดโยงกับเจตนารมณ์และยึดมั่นในหลักการว่าการบริหารจัดการระบบหลักประกันสุขภาพไม่ใช่บทบาทหน้าที่ของบุคลากรทางการแพทย์ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านการแพทย์เท่านั้น แต่เป็นเรื่องของประชาชนซึ่งเป็นเจ้าของภาษีและเป็นผู้ใช้สิทธิในการได้รับหลักประกันด้านสุขภาพ

ขอแถลงจุดยืนว่า
1. ประชาชนทุกคนบนผืนแผ่นดินไทยได้รับหลักประกันสุขภาพ เข้าถึงระบบบริการที่มีมาตรฐานเดียวโดยเสมอหน้ากัน ไม่มีการคัดกรองคัดแยกคนจนได้รับการสงเคราะห์ คนรวยต้องจ่ายเอง
2. สนับสนุนให้มีการปฏิรูประบบการเงินการคลัง ระบบจัดเก็บภาษีที่มีประสิทธิภาพ เพื่อจัดสวัสดิการถ้วนหน้า เพื่อลดความเหลื่อมล้ำทันที
3. ไม่มีการร่วมจ่าย ณ จุดบริการในการเข้ารับบริการสาธารณสุข
4. ไม่มีประชาชนล้มละลายจากความเจ็บป่วย
5. กำกับการดำเนินธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนให้รองรับระบบหลักประกันสุขภาพ

แถลงมา ณ วันที่ 14 มกราคม 2559

เครือข่ายองค์กรประชาชนที่ร่วมรณรงค์รายชื่อเสนอกฎหมายหลักประกันสุขภาพ
เครือข่ายเด็กและเยาวชน เครือข่ายคนพิการ
เครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ เครือข่ายผู้ป่วยเรื้อรัง ไต และอื่นๆ
เครือข่ายแรงงาน เครือข่ายชุมชนแออัด
เครือข่ายผู้สูงอายุ เครือข่ายผู้หญิง
เครือข่ายเกษตรทางเลือก เครือข่ายกองทุนสวัสดิการชุมชนเมือง
เครือข่ายองค์กรผู้บริโภคและสาธารณสุข เครือข่ายชนพื้นเมือง ชาติพันธุ์

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net