Skip to main content
sharethis

นักกฎหมายจากม.หอการค้าไทยชี้ประเด็นใหญ่ในการปิดห้องร่างรธน.ที่ชะอำ ความถี่กลับสู่รัฐอีกหน หลังปฏิรูปกันมาอย่างยากลำบาก จากทรัพยากรสาธารณะกลับสู่มือรัฐเต็มๆ ยืนยันนิยามผู้ทำคลอดรธน.มีปัญหา รัฐ ไม่เท่ากับ ประชาชน อีกสารพัดคำถามในทางปฏิบัติจะตามมา

15 ม.ค. 2559 กรณีมีการเปิดเผยว่าจะแก้บทบัญญัติในร่างรัฐธรรมนูญเรื่องการจัดสรรคลื่นความถี่ โดยจะย้ายจากหมวด ‘สิทธิเสรีภาพของประชาชน’ ไปอยู่หมวด ‘แนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ’ และแก้ไขให้คลื่นความถี่จากที่เป็น ‘ทรัพยากรสื่อสารของชาติเพื่อประโยชน์สาธารณะ’ เป็น ‘ทรัพยากรของรัฐ’ โดยตอนหนึ่ง มีชัย ฤชุพันธุ์ ประธาน กรธ. ให้สัมภาษณ์สื่อระบุว่า รัฐนั้นก็คือประชาชน 

ปิยะบุตร บุญอร่ามเรือง อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ให้สัมภาษณ์ประชาไทโดยแย้งว่า รัฐไม่มีทางเท่ากับประชาชน รัฐใหญ่กว่าตลอด การบัญญัติเช่นนี้จะทำให้หลักการเปลี่ยนไปพอสมควร 

"พอมันเป็นสิทธิ ถ้ารัฐไม่ทำอะไร ประชาชนก็สามารถอ้างได้ ทีนี้พอไม่ใช่สิทธิแล้ว ประชาชนจะอ้างให้จัดสรรไม่ได้อีก ส่วนรัฐก็จะอ้างว่าเป็นเรื่องของรัฐ รัฐมีสิทธิเต็มที่ที่จะจัดการ เป็นกิจการของรัฐโดยสมบูรณ์ มันก็จะแตกต่างมากในเชิงหลักการ" ปิยะบุตรกล่าว

ปิยะบุตรกล่าวว่า ที่ผ่านมาเราจะเห็นการมีส่วนร่วมของประชาชนในการจัดสรรคลื่นความถี่ โดยมีการเรียกร้องให้ กสทช.ต้องรับฟังความเห็นโดยอ้างสิทธิพื้นฐาน 

"แต่ต่อไปนี้เราจะอ้างอันนี้ได้อยู่ไหม อาจารย์มีชัยต้องตอบว่าจะให้เราอ้างอะไร เมื่อไม่อยู่ในหมวดสิทธิแล้ว" ปิยะบุตรกล่าว


ภาพจากเว็บไซต์อิศรา 

ส่วนกรณีที่มีการเขียนให้ครอบคลุมถึง "วงโคจร" นั้น ปิยะบุตรชี้ว่าเป็นประเด็นใหญ่ที่ต้องพูดถึง โดยคาดว่าเหตุที่มีการหยิบตรงนี้มาพิจารณา เพราะที่ผ่านมามีปัญหาระหว่างบทบาทของ กสทช. กับกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) จึงเขียนให้เรื่องนี้เป็นนโยบายของรัฐเพื่อให้ไอซีทีดูแลดาวเทียมเต็มที่ แต่คนร่างรัฐธรรมนูญคงลืมไปว่ามันจะไปเปลี่ยนหลักการเดิม 

"จริงๆ รัฐมีอำนาจที่จะกำหนดนโยบายอยู่แล้ว แม้แต่เรื่องสิทธิความเป็นส่วนตัว เรื่องอื่นๆ ที่เป็นสิทธิของประชาชน รัฐก็มีนโยบายได้อยู่แล้ว มันไม่จำเป็นต้องโยกมาอยู่ในหมวดนโยบายก็ได้ แต่มันต้องเน้นว่าอะไรเป็นสิทธิ รัฐมีนโยบายทุกเรื่อง ไม่จำเป็นว่าถ้าไม่อยู่ในหมวดนโยบาย รัฐจะไม่มีนโยบาย" ปิยะบุตรกล่าว

ปิยะบุตรชี้ว่า เมื่อเขียนในร่างรัฐธรรมนูญเช่นที่มีการเปิดเผยมานี้จเกิดปัญหา เพราะในวรรค 2-3 เขียนว่าเป็นทรัพยากรของรัฐ ที่รัฐจะมีนโยบาย แต่ให้ กสทช.เป็นคนจัดสรร มันก็จะกลับไปเรื่องเดิมคือ ให้ กสทช. จะจัดสรรใช่ไหม แปลว่า กสทช.อยู่ในบทบาทกำกับดูแลตลาดที่เอกชนให้บริการ ในกรณีที่เอกชนแข่งขันกันหลายราย ทีนี้ถ้ามีรายเดียว เช่น ดาวเทียม แล้วให้ กสทช. จัดสรร กสทช. ก็ต้องกลับมาถามรัฐใช่ไหม มันจึงยังมีปัญหาอยู่ดี และเท่ากับไม่ได้แก้ปัญหาเดิม นอกจากนี้ยังทำให้สับสนด้วยเพราะพอเขียนว่า คลื่นความถี่เป็นทรัพยากรของรัฐ กับ วงโคจรเป็นทรัพยากรของรัฐ จะมีคำถามว่าแล้วอย่างอื่นเป็นทรัพยากรของรัฐไหม ในรัฐธรรมนูญเดิมเขียนว่า คลื่นความถี่เป็นทรัพยากรของชาติ ดังนั้นเวลาตีความก็จะตีความแบบกว้างๆ เพราะเขียนแค่นี้ 

"แต่ในนี้เขียนชัดเจนเลยว่าวงโคจร คือ วงโคจรเป็นส่วนเกี่ยวเนื่องจากความถี่ ไม่ใช่วงโคจรโดดๆ พอระบุว่าวงโคจรปุ๊บก็จะมีคำถามว่า แล้วเลขหมายล่ะ เพราะเลขหมายก็เกี่ยวกับความถี่ การใช้โครงสร้างโทรคมนาคมเกี่ยวไหม เป็นทรัพยากรของชาติไหม ตรงนี้ก็จะเป็นปัญหาไปหมด" ปิยะบุตรกล่าวและว่า ของเดิมมีปัญหาอยู่แล้ว แต่ที่เขียนใหม่ก็ไม่ได้แก้ปัญหา

"มันจะยิ่งงงกว่าเดิมว่าจะเอายังไงกันแน่ เพราะรัฐธรรมนูญมันไม่ใช่นโยบาย ต้องเข้าใจก่อนว่า นโยบายของรัฐก็คือรัฐอยากจะทำหรือไม่ทำอะไร แต่รัฐธรรมนูญเลือกแบบนั้นไม่ได้ รัฐธรรมนูญจะต้องประกันสิทธิเสรีภาพของประชาชน เป็นหน้าที่หลัก" ปิยะบุตรกล่าวและเพิ่มเติมว่า คนร่างรัฐธรรมนูญสนใจแต่กลไกและใช้เครื่องมือผิดตัว รัฐธรรมนูญไม่ใช่เครื่องมือนโยบาย การไปเขียนนโยบายในรัฐธรรมนูญก็ผิดหมด

ด้านคำนูณ สิทธิสมาน สมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ โพสต์ข้อความลงเฟซบุ๊กส่วนตัว Kamnoon Sidhisamarn วานนี้ (14 ม.ค.) 

ตอนนี้เริ่มมีร่างรัฐธรรมนูญรายมาตราเผยแพร่ออกมาบ้าง เห็นการโยกมาตราที่เกี่ยวด้วยคลื่นความถี่จากหมวด 'สิทธิเสรีภาพของประชาชน' ไปอยู่หมวด 'แนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ' แล้วไม่สู้สบายใจนัก ยิ่งเมื่อได้อ่านเนื้อหาใหม่แล้วยิ่งต้องถอนใจเฮือกใหญ่ เพราะมีการเปลี่ยนแปลงหลักการสำคัญในอย่างน้อย 2 ประเด็นไปจากเดิม

ทวนความนิดนะครับว่าหลักการเดิมคือ...

1. คลื่นความถี่ฯเป็น 'ทรัพยากรสื่อสารของชาติเพื่อประโยชน์สาธารณะ'

2. ให้มีองค์กรของรัฐ '...ที่เป็นอิสระ' ทำหน้าที่จัดสรรฯและกำกับ

หลักการทั้งสองเป็นหลักการที่ยืนหยัดอยู่ในรัฐธรรมนูญมาตั้งแต่ปี 2540 (มาตรา 40) และรัฐธรรมนูญ 2550 (มาตรา 47)

หลักการทั้งสองเป็นผลส่วนหนึ่งมาจากการต่อสู้เดือนพฤษภาคม 2535 ที่เกิดการปิดกั้นข่าวสาร จึงเกิดกระแสรณรงค์ให้เกิดสื่อเสรี กระทั่งเปลี่ยนหลักการสำคัญว่าคลื่นความถี่ไม่ใช่ของรัฐ แต่เป็นของชาติเพื่อประโยชน์สาธารณะ

ความรู้ความเข้าใจพื้นฐานของผมคือ หลักการใดก็ตามที่ถูกบัญญัติไว้ในหมวด 'สิทธิ' แปลว่าเมื่อรัฐธรรมนูญมีผลใช้บังคับแล้ว หลักการนั้นจะเป็นผลเต็มร้อยทันที รัฐมีหน้าที่ต้องกระทำต้องจัดให้ ประชาชนมีสิทธิตามรัฐธรรมนูญและสิทธิทางศาลทันที ต่างกับหมวด 'แนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ' ที่เป็นกรอบให้รัฐออกนโยบายปฏิบัติ แต่รัฐจะทำเมื่อไร แค่ไหน อย่างไร ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย

ร่างฯฉบับใหม่นอกจากย้ายออกจากหมวด 'สิทธิ' แล้ว ยังมีการเปลี่ยนแปลงถ้อยคำที่น่าจะกระทบหลักการที่เป็นสาระพื้นฐานทั้ง 2 ประการ

1. เปลี่ยนสถานะของคลื่นความถี่จาก 'ทรัพยากรสื่อสารของชาติเพื่อประโยชน์สาธารณะ' เป็น 'ทรัพยากรของรัฐ'

2. เปลี่ยนองค์กรกำกับฯจากองค์กร 'อิสระ' เป็นองค์กร 'ที่มีความเป็นอิสระในการปฏิบัติหน้าที่'

ครูของผมคนหนึ่งที่ร่วมงานกันมาเกือบตลอดปี 2558 เคยพูดเปรียบเทียบไว้ว่า 'อันว่าสิทธินั้น เมื่อรัฐให้ประชาชนแล้ว จะเอาคืนมิได้' จึงปรากฎเป็นความจริงว่ารัฐธรรมนูญหมวดสิทธิของฉบับที่ออกมาภายหลังจึงอย่างน้อยไม่ทำให้สิทธิของประชาชนลดลงกว่าฉบับก่อน

แต่ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ จากความรู้อันไม่มากนักของผม อย่างน้อยเฉพาะมาตราว่าด้วยคลื่นความถี่นี้ หาได้เป็นเช่นนั้นไม่

เรื่องย้ายที่ออกจากหมวด 'สิทธิ' นี้ฟังอย่างไม่เป็นทางการจากกรรมการร่างรัฐธรรมนูญบางคนที่เคารพนับถือกัน ท่านชี้แจงว่าเป็นวิธีการเขียนที่แตกต่างออกไป ประชาชนมีสิทธิทุกอย่างเท่าที่รัฐธรรมนูญไม่เขียนจำกัดไว้

ผมยังไม่ค่อยเข้าใจเต็มที่นัก แต่ก็เปิดใจรับฟัง

และได้ถามกลับไปว่า ไม่ว่าจะเขียนอย่างไรก็ตาม ไว้หมวดไหนก็ตาม แต่ผลลัพธ์ในที่สุดสารัตถะเรื่องคลื่นความถี่จะยังคงเหมือนเดิมไม่ลดลงกว่ารัฐธรรมนูญ 2540 และ 2540 หรือไม่

ผมถาม เพราะถ้อยคำเปลี่ยนแปลงไป และเป็นถ้อยคำที่น่าจะกระทบหลักการ

และยังเสมือนไปสอดคล้องกับภาพรวมของชุดร่างกฎหมายเศรษฐกิจดิจิตอล 10 ฉบับที่เผยแพร่ออกมาเมื่อต้นปีที่แล้ว

รวมทั้งร่างกฎหมายกสทช.ฉบับใหม่ที่สารัตถะลดความเป็นองค์กรอิสระของกสทช.ลง โดยเสมือนให้อยู่ในกำกับของคณะกรรมการเศรษฐกิจดิจิตอล (ชื่อทำนองนี้) ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน

พูดง่ายๆ ว่าเสมือนนำคลื่นความถี่และการจัดสรรรวมทั้งการกำกับกลับไปอยู่ในมือของรัฐอย่างเนียนๆ

หวังว่าผมคงเข้าใจผิด

เคารพและเชื่อมั่นในคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญว่าจะสามารถชี้แจงให้กระจ่างได้ และยังสามารถปรับแก้ได้อีก 

__________

หมายเหตุ : ความเห็นนี้เป็นความเห็นส่วนตัวทั้งสิ้น ไม่ใช่ในฐานะตำแหน่งใดๆ ในสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ


 

ขณะที่  มติชนออนไลน์ รายงานเมื่อ 14 ม.ค.ว่า มีชัย ฤชุพันธุ์ ประธาน กรธ.ให้สัมภาษณ์ถึงการปรับบทบัญญัติว่าด้วยการจัดสรรคลื่นความถี่ที่ปรับจากทรัพยากรสื่อสารของชาติเป็นทรัพยากรของรัฐว่า ความมุ่งหมายไม่ใช่เพื่อให้รัฐมีสิทธิเข้าดำเนินการรื้อระบบสารสนเทศ หรือระบบการใช้คลื่นความถี่ในปัจจุบัน แต่เพื่อต้องการสื่อให้เห็นว่าคลื่นความถี่นั้นเป็นทรัพยากรของคนไทยทุกคน เพราะคำว่ารัฐในบทบัญญัติจะเป็นคำที่สื่อถึงบุคคลที่อยู่ภายในรัฐ ไม่ใช่คำว่า รัฐ ที่หมายถึงผู้มีอำนาจสูงสุดในการบริหารราชการแผ่นดิน ส่วนกรณีที่กำหนดให้รัฐพึงมีองค์กรที่มีความเป็นอิสระในการปฏิบัติหน้าที่นั้น ต้องการสื่อไปยัง กสทช. ว่าการบริหารจัดการคลื่นความถี่ไม่ใช่ให้สิทธิขาดในการดูแลหรือจัดการคลื่น หรือนำคลื่นไปดำเนินการใดๆ ได้ตามใจชอบถือเสมือนว่าคลื่นความถี่นั้นเป็นของตนเอง การดูแลและการบริหารจัดการดังกล่าวต้องคำนึงถึงประโยชน์สาธารณะเป็นหลัก อย่างไรก็ตามการปรับบทบัญญัติดังกล่าวไม่ใช่เป็นการเขียนเพื่อให้รองรับกับการบังคับใช้ร่างกฎหมายดิจิตอล ส่วนการเขียนให้ครอบคลุมถึงวงโคจรด้วยนั้น เพื่อต้องการรักษาผลประโยชน์ว่าวงโคจรเป็นสาธารณะสมบัติของประเทศแม้เอกชนจะได้สัปทานจากรัฐ แต่ไม่อาจถือเป็นสมบัติของเอกชน ดังนั้นผู้ใดที่ได้รับสัปทานไปแล้ว ต้องคำนึงถึงประโยชน์สาธารณะด้วยเช่นกัน 

ภายหลังการให้ข่าวของประธาน กรธ.ดังกล่าว คำนูณ สิทธิสมาน ได้ชี้แจงผ่านเฟซบุ๊กอีกครั้ง ว่า

........ท่านประธานกรธ.ยังยืนยันว่าการปรับบทบัญญัติดังกล่าวไม่ใช่เป็นเพื่อให้รองรับกับการบังคับใช้ร่างกฎหมายดิจิตอล 10 ฉบับ

ต้องขอบพระคุณกรธ.ทุกท่านที่รับฟังความเห็นต่าง โดยเฉพาะท่านประธานกรธ.ที่ได้กรุณาไลน์พูดคุยกับผมมาอีกโสดหนึ่งด้วย

สรุปได้ว่าเจตนาตรงกันครับ คือต้องการให้คลื่นความถี่เกิดประโยชน์กับประชาชนสูงสุด

แต่เมื่อมีการปรับข้อความ ก็เกิดความเข้าใจที่ต่างกันเป็นธรรมดา ถ้าคำชี้แจงของท่านประธานกรธ.วันนี้สามารถบันทึกไว้เป็น 'บันทึกเจตนารมณ์' ของรัฐธรรมนูญมาตรานี้และมีผลตามกฎหมายก็จะดียิ่ง จะได้ไม่เกิดการโต้เถียงกันในอนาคต

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net