‘จันทจิรา’ นิติ มธ. ให้การเป็นพยานคดีนักวิชาการแถลงข่าวมหา’ลัย ไม่ใช่ค่ายทหาร


ภาพจากเว็บศูนย์ทนาย

15 ม.ค. 2559  เว็บศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รายงานว่า เวลา 14.00 น. ที่สถานีตำรวจภูธรช้างเผือก จังหวัดเชียงใหม่ จันทจิรา เอี่ยมมยุรา อาจารย์ประจำภาควิชากฎหมายมหาชน คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) เดินทางเข้าให้การต่อพนักงานสอบสวนในฐานะพยานผู้เชี่ยวชาญในคดีที่กลุ่มนักวิชาการในนาม “เครือข่ายคณาจารย์มหาวิทยาลัย” ร่วมกันแถลงข่าว “มหาวิทยาลัยไม่ใช่ค่ายทหาร” เมื่อวันที่ 31 ต.ค.2558 และได้ถูกเจ้าหน้าที่ทหารแจ้งความดำเนินคดีในข้อหาฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้าคสช.ฉบับที่ 3/2558 เรื่องการมั่วสุม หรือชุมนุมทางการเมืองที่มีจํานวนตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป 

ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 24 ธ.ค.58 อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์ อาจารย์ประจำคณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และสมชาย ปรีชาศิลปกุล อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้เข้ายื่นคำให้การต่อพนักงานสอบสวนเป็นลายลักษณ์อักษร โดยให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา และแถลงยืนยันถึงเสรีภาพทางวิชาการ (ดูสรุปคำให้การ) อีกทั้งยังขอให้พนักงานสอบสวนได้สอบพยานบุคคลเพิ่มเติม ซึ่งเป็นนักวิชาการในสาขาต่างๆ อีก 4 คน เพื่อสนับสนุนข้อต่อสู้คดี

ในวันนี้ จันทจิรา เอี่ยมมยุรา หนึ่งในรายชื่อพยานที่ยื่นต่อพนักงานสอบสวน จึงได้เดินทางเข้าให้การต่อ พ.ต.อ.ประยูร กาศทิพย์ พนักงานสอบสวนสภ.ช้างเผือก พร้อมกับทีมทนายความ โดยได้จัดทำคำให้การมายื่นเป็นเอกสาร

ในคำให้การของจันทจิรา ได้กล่าวถึงหลักการเรื่องเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น ว่าถูกบัญญัติรับรองไว้ในรัฐธรรมนูญมาอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งมาตรา 4 ในรัฐธรรมนูญชั่วคราวฉบับปัจจุบัน โดยหลักการดังกล่าวมีที่มาจากหลักสิทธิมนุษยชน ซึ่งปรากฏอยู่ทั้งในปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนขององค์การสหประชาชาติ (Universal Declaration of Human Rights: UDHR) และกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (International Covenant on Civil and Political Rights: ICCPR) ที่ไทยได้ให้การรับรองเป็นภาคีในพันธกรณีด้วย

“เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของบุคคลที่รัฐธรรมนูญและพันธกรณีระหว่างประเทศรับรองย่อมมีผลบังคับผูกพันสถาบันของรัฐโดยตรงทุกองค์กร ถึงแม้ว่าขณะนี้ประเทศไทยจะปกครองโดยรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว ซึ่งไม่มีบทบัญญัติกำหนดมาตรการทางกฎหมายเพื่อคุ้มครองสิทธิเสรีภาพเต็มรูปแบบ อย่างรัฐธรรมนูญฉบับถาวร แต่ประเทศไทยยังจำเป็นต้องผูกพันและปฏิบัติตามพันธกรณีระหว่างประเทศที่ได้ลงนามผูกพันตนไว้แล้ว” คำให้การระบุ

คำให้การยังระบุถึงบทบาทของนักวิชาการ ว่ามีภาระหน้าที่ในการตอบปัญหาให้แก่สังคมในช่วงเวลาหนึ่งๆ ภารกิจเช่นนี้นักวิชาการจึงเป็นผู้ทรงสิทธิเสรีภาพอีกประเภทหนึ่งนอกเหนือจากบุคคลทั่วไปคือ เสรีภาพทางวิชาการ  โดยใน ICCPR ได้วางหลักการคุ้มครองเสรีภาพทางวิชาการ ห้ามมิให้รัฐตรากฎหมายเพื่อดำเนินคดีกับผู้สื่อข่าว นักวิชาการ นักวิจัย ฯลฯ เพราะเหตุที่แสดงความคิดเห็นตามหลักวิชา แม้ประเทศจะอยู่ในสถานการณ์พิเศษหรือกฎอัยการศึกก็ตาม

คำให้การมีการอ้างถึงคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ 12/2555 ลงวันที่ 28 มี.ค.2555 ที่ได้พิจารณานำเอาหลักการในพันธกรณีระหว่างประเทศมาพิจารณาประกอบกับตัวบทรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัยคดีโดยตรง พร้อมกับยืนยันว่าแม้รัฐธรรมนูญและ ICCPR จะมีบทอนุญาตให้รัฐจำกัดเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นได้ แต่การจำกัดเสรีภาพต้องอยู่ภายใต้เงื่อนไข 3 ประการ ได้แก่

1) ทำได้โดยอาศัยบทบัญญัติของกฎหมายเท่านั้น และต้องเป็นกฎหมายในระดับพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ซึ่งตราขึ้นโดยรัฐสภา สำหรับคําสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 3/2558 นี้ไม่ได้ตราขึ้นโดยรัฐสภาจึงขาดความชอบธรรมทางการเมือง

2) ต้องทำภายใต้วัตถุประสงค์ที่รัฐธรรมนูญและพันธกรณีระหว่างประเทศให้อำนาจเท่านั้น เช่น เพื่อการเคารพในสิทธิหรือชื่อเสียงของบุคคลอื่น, เพื่อรักษาความมั่นคงของรัฐหรือความสงบเรียบร้อยของประชาชน, เพื่อการสาธารณสุขหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน พ.ร.บ.ที่มีบทจำกัดเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น จะต้องระบุวัตถุประสงค์ข้างต้นข้อใดข้อหนึ่งหรือหลายข้ออย่างชัดเจนในกฎหมาย เพื่อให้ประชาชนสามารถตรวจสอบได้

3) ต้องทำทําเท่าที่จําเป็น ตามหลักความได้สัดส่วน คําว่า “จําเป็น” ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศได้วางเงื่อนไขการพิจารณาเป็น 2 ประการ คือ (ก) การจํากัดเสรีภาพนั้นจำเป็นต้องกระทำเป็นเรื่องเร่งด่วน หรือไม่ หรือเป็นความจําเป็นอย่างแท้จริง หรือไม่ และ (ข) มาตรการที่กําหนดขึ้นต้องมีความเชื่อมโยงอย่างมีเหตุมีผลกับประโยชน์สาธารณะที่มุ่งคุ้มครอง รัฐต้องระมัดระวังเพื่อมิให้มาตรการนั้นๆ ลุกล้ำเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นจนเกินสมควร ในแง่นี้การกำหนดลักษณะการกระทำผิดที่กว้างเกินไปและเป็นการทั่วไปเกินไป ถือว่าขัดต่อหลักความจำเป็น

คําสั่งหัวหน้าคสช. ที่ 3/2558 ข้อ 12 วรรคแรก มีวัตถุประสงค์เพื่อจำกัดเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและการชุมนุมของบุคคล แต่การกำหนดฐานความผิดมีลักษณะทั้งกว้างเกินไป กล่าวคือ คำว่าการ “ชุมนุมทางการเมือง” ไม่มีความหมายที่แน่นอนชัดเจนเพียงพอ มีลักษณะเป็นการทั่วไปเกินไป เป็นการกําหนดขึ้นเพื่อจํากัดเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและการชุมนุมนั้น ไม่มีความเชื่อมโยงอย่างมีเหตุมีผลกับประโยชน์สาธารณะที่รัฐธรรมนูญและพันธกรณีระหว่างประเทศมุ่งคุ้มครอง เทียบกับมาตรา 215 ประมวลกฎหมายอาญาจะยิ่งเห็นว่า คำสั่งนี้บกพร่องอย่างชัดเจน

มาตรา 215 บัญญัติว่าผู้ใดมั่วสุมกันตั้งแต่สิบคนขึ้นไป ใช้กำลังประทุษร้าย ขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้ายหรือกระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดให้เกิดการวุ่นวายขึ้นในบ้านเมือง ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน ฯลฯ

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท