สถาปนิกผู้สร้างรัสเซียแบบปูติน

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

 

สำหรับคนไทยจำนวนมากซึ่งชื่นชอบวลาดิมีร์ ปูติน ประธานาธิบดีของรัสเซีย คำอธิบายที่ดีที่สุดว่าเหตุใดเขาจึงเป็นผู้นำทางการเมืองที่แข็งแกร่งและเก่งกาจในการนำรัสเซียเข้าสู่ความยิ่งใหญ่จนสามารถงัดข้อกับมหาอำนาจอย่างสหรัฐอเมริกาจากความขัดแย้งในยูเครนและซีเรีย นั่นคือเขาเคยเป็นเจ้าหน้าที่ของหน่วยข่าวกรองของรัสเซียหรือเคจีบีมาก่อน (โดยมักไม่ทราบว่าเขามีประวัติการทำงานเป็นอย่างไร ผลประเมินการทำงานเป็นแบบใด) หรือบางรายอาจรู้ไปมากกว่านั้นคือปูตินเรียนจบวิชากฎหมายที่มหาวิทยาลัยเลนินการ์ดเสตท (แต่ก็บอกไม่ได้ว่าผลการเรียนเป็นอย่างไร แล้วช่วยให้เขากลายเป็นผู้นำที่เก่งกาจได้อย่างไร)  ทั้งที่ตามความเป็นจริงแล้ว เอกบุรุษหรือผู้นำที่ยิ่งใหญ่นั้นหาได้เกิดความคิดหรือความสามารถดังกล่าวขึ้นมาเองจากการมีพื้นฐานลอยๆ เช่นนั้นไม่ ด้วยตัวเขาเป็นผลผลิตหรือเบ้าหลอมจากบริบทหรือปัจจัยทางการการเมืองและเศรษฐกิจของยุคนั้น กอปรกับการส่งเสริมจากชนชั้นนำหรือชนชั้นปกครองที่มีต่อผู้นำคนนั้น รวมไปถึงทั้งแรงสนับสนุนและแรงกดดันของประชาชนของประเทศที่ตัวผู้นำปกครอง อันตั้งอยู่บนอุดมการณ์หรือฉันทามติบางอย่าง ไม่ว่าประเทศนั้นจะเป็นประชาธิปไตยหรือเผด็จการ ดังนั้นจึงไม่สามารถกล่าวได้ว่ามีชนชั้นนำคือปูตินเพียงคนแรกและคนเดียวที่ปรารถนาและสามารถนำรัสเซียกลับสู่เสถียรภาพภายหลังความวุ่นวายทางการเมืองในทศวรรษที่ 90 รวมไปถึงการเป็นมหาอำนาจแบบสหภาพโซเวียตในอดีตอย่างน้อยก็ในระดับหนึ่ง ภายหลังจากคนรัสเซียต้องทนอับอายกับการเป็นมหาอำนาจระดับรองๆ มานานกว่าทศวรรษ และผู้เขียนเชื่อว่าหนึ่งในบุคคลเหล่านั้นซึ่งจะกล่าวถึงในบทความนี้คือพรีมาคอฟ ผู้เป็นนักการเมืองที่ทรงอิทธิพลที่สุดคนหนึ่งในยุคของบอริส เยลต์ซิน รวมไปถึงที่ปรึกษาซึ่งทรงอิทธิพลต่อรัฐบาลในต้นทศวรรษที่ 21 จนได้รับสมญาว่าเป็น “พ่อทูนหัวทางการเมือง” ของปูติน

เยฟกีนี พรีมาคอฟเกิดเมื่อวันที่  29  ตุลาคม ปี 1929  ในยูเครนซึ่งขณะนั้นยังเป็นส่วนหนึ่งของสหภาพ  โซเวียต มารดาของเขามีเชื้อสายยิว และพรีมาคอฟก็เหินห่างจากบิดาซึ่งเป็นคนเชื้อสายรัสเซีย เพราะบิดาถูกคุมขังอยู่ในค่ายกักกันหรือกูลัก อันกลายเป็นวิถีชีวิตแบบธรรมดาๆ ของประชากรรัสเซียในสมัยนั้น  ชีวิตของ  พรีมาคอฟในวัยหนุ่มมักวนเวียนอยู่กับวงการวิชาการเป็นส่วนใหญ่ เขาจบการศึกษามาจากสถาบันมอสโคว์แห่งบุรพศึกษา (Oriental studies) ในช่วงระหว่างปี  1956  ถึงปี 1970  ยังได้ทำงานเป็นนักข่าวสำหรับสถานีวิทยุของสหภาพโซเวียตและเป็นนักเขียนให้กับหนังสือข่าวอันลือชื่อคือปราฟดาที่เป็นตัวตั้งตัวตีในการโฆษณาชวนเชื่อให้กับพรรคคอมมิวนิสต์  ด้วยความสามารถในการพูดภาษาอารบิคได้ พรีมาคอฟจึงถูกส่งตัวไปยังตะวันออกกลางและสหรัฐอเมริกาในฐานะเป็นสายลับให้กับเคจีบี อันเป็นชื่อย่อมาจากคณะกรรมการความมั่นคงแห่งรัฐ (Committee for State Security)  โดยเขามีนามแฝงว่าแม็กซิมอันน่าจะมาจากชื่อกลางของเขาคือแม็กซิมโมวิชนั้นเอง  ภายหลังจากนั้นเขายังเป็นนักวิชาการและยังเป็นผู้อำนวยการของสถาบันต่างๆ ในด้านบุรพศึกษาและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ   เขาถูกดึงเข้าสู่แวดวงทางการเมืองโดยมิคาอิล กอร์บาชอฟ ผู้นำสูงสุดของสหภาพโซเวียต   ในปี  1989 พรีมาคอฟได้ถูกเลือกให้เป็นประธานของสภาหนึ่งในสภาสูงสุดของโซเวียตและยังเป็นสมาชิกของสำนักประธานาธิบดีเพื่อจัดการกับรัฐย่อยต่างๆ ในสหภาพโซเวียต ขณะที่เสียงเรียกร้องเอกราชของรัฐเหล่านั้นกำลังดังขึ้นเรื่อยๆ

พรีมาคอฟยังเป็นสัญลักษณ์ของการดิ้นรนครั้งสุดท้ายของสหภาพโซเวียตในการดำรงบทบาทของมหาอำนาจโลก  เมื่อปี 1991 ประธานาธิบดีจอร์จ เอช ดับเบิลยู บุชกำลังเตรียมพร้อมในการส่งกองกำลังของฝ่ายพันธมิตรที่นำโดยสหรัฐฯ บุกอิรัก กอร์บาชอฟได้พยายามเข้ามาระงับความขัดแย้งโดยส่งพรีมาคอฟไปยังกรุงแบกแดดเพื่อเกลี้ยกล่อมให้ซัดดัม ฮุสเซนปฏิบัติตามมติของสหประชาชาติ แต่ผลที่ได้ไม่ประสบความสำเร็จ  สงครามอ่าวครั้งแรกจึงได้อุบัติขึ้น  ต่อมาในช่วงวิกฤตเมื่อเดือนสิงหาคมปี 1991 ที่เจ้าหน้าที่ระดับสูงของพรรคคอมมิวนิสต์พยายามทำรัฐประหารโค่นล้มกอร์บาชอฟแต่ล้มเหลวนั้น พรีมาคอฟก็ได้แสดงจุดยืนว่ายังอยู่กับผู้นำคนสุดท้ายของสหภาพโซเวียตจึงได้รับรางวัลคือตำแหน่งรองผู้อำนวยการของเคจีบี  สำหรับในยุคที่บอริส เยลต์ซินเป็นประธานาธิบดี  พรีมาคอฟได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้อำนวยการสำนักข่าวกรองต่างประเทศ (เอสวีอาร์ หรือ Foreign Intelligence Service) ซึ่งแตกแขนงมาจากเคจีบีในช่วงระหว่างปี 1991 ถึง ปี 1996 หน่วยงานนี้มีหน้าที่ในด้านการข่าวรวมไปถึงการก่อวินาศกรรมนอกประเทศ  พรีมาคอฟถือได้ว่าประสบความสำเร็จในการทำงานอย่างมาก จนในปี 1999  เยลต์ซินออกมายอมรับว่าสำนักข่าวกรองต่างประเทศเข้ามามีบทบาทต่อนโยบายต่างประเทศของรัสเซียมากกว่ากระทรวงต่างประเทศเสียอีก

พรีมาคอฟยังได้พยายามเชื่อมความสัมพันธ์อีกครั้งกับอดีตพันธมิตรในโลกอาหรับ เช่นอิรักภายใต้การปกครองของซัดดัม ฮุสเซนและซีเรีย อันเป็นจุดเริ่มต้นที่ว่าทำไมรัสเซียจึงให้การสนับสนุนซีเรียเสมอมาโดยเฉพาะรัฐบาลของตระกูลอัลอัสซาดดังในปัจจุบัน รวมถึงอิหร่านซึ่งพรีมาคอฟเชื่อว่าเป็นพันธมิตรที่ทรงคุณค่าในการธำรงไว้ซึ่งเสถีรภาพของภูมิภาคตะวันออกกลางและยังเป็นตลาดสำคัญสำหรับอุตสาหกรรมอาวุธและอาวุธนิวเคลียร์ของรัสเซีย  พรีมาคอฟเมื่อครั้งอยู่ในฐานะเป็นผู้อำนวยการสำนักข่าวกรองต่างประเทศได้เดินทางไปถึงกรุงเตหะรานถึง 2 ครั้งคือในปี 1993 และปี 1995 เพื่อแก้ไขปัญหาความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและอิหร่าน รวมไปถึงการปรับปรุงความสัมพันธ์ทางการเมืองและเศรษฐกิจระหว่าง 2 ประเทศซึ่งยังคงดำรงมาถึงทุกวันนี้ จนกลายเป็นนโยบายต่างประเทศที่รัสเซียกับอิหร่านมีร่วมกันเพื่อคานอำนาจกับสหรัฐฯ และตะวันตก     

ในปี 1996 พรีมาคอฟก้าวขึ้นดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศแทน อังเดรย์ คอเซเรฟ ซึ่งมีความนิยมและยอมตามตะวันตกอย่างล้นพ้น (หากมองตามแบบพวกชาตินิยมจะมองว่าเป็น “การประจบ”หรือ “การขายชาติ”)  และยังต้องการให้รัสเซียเข้าเป็นส่วนหนึ่งของยุโรป อดีตหัวหน้าสำนักข่าวกรองผู้นี้ถือว่าเป็น สัญลักษณ์ของการเปลี่ยนนโยบายต่างประเทศของเยลต์ซินให้รัสเซียถอยห่างจากตะวันตก เพราะเป็นไปได้ที่ ประธานาธิบดีคนแรกของรัสเซียตระหนักว่าความสัมพันธ์กับตะวันตกไม่ได้ช่วยให้ประเทศรัสเซียดีขึ้นเลย (บางทีเขาอาจมองข้ามบริบททางการเมืองอันเลวร้ายของรัสเซียและกลุ่มบริวารของตนที่หาผลประโยชน์จากการช่วยเหลือและการเป็นหนึ่งเดียวกับระบบตลาดเสรีของตะวันตกก็เป็นได้)   สำหรับมุมมองของพรีมาคอฟ โลกควรอยู่ในภาวะอันประกอบด้วยมหาอำนาจอันหลากหลาย เขาได้เสนอกลยุทธ์ในการเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างประเทศขนาดใหญ่แบบ 3 เส้านั่นคือรัสเซีย จีนและอินเดียซึ่งน่าจะเป็นตัวจุดประกายให้เกิดการก่อตั้งกลุ่มประเทศเศรษฐกิจโตไวหรือกลุ่มบริกส์ (BRICS) เช่นเดียวกับการที่พรีมาคอฟได้แนะนำให้เยลต์ซินหันมาเน้นนโยบายเชื่อมความสัมพันธ์และแผ่อิทธิพลมายังประเทศในยุโรปตะวันออกซึ่งเคยเป็นทั้งบริวารและส่วนหนึ่งของสหภาพโซเวียต ทำให้ชาวตะวันตกสายเหยี่ยวจำนวนมากเห็นว่าเป็นการรื้อฟื้นวงอำนาจของอดีตสหภาพโซเวียต อันส่งผลให้ยุคของปูตินเมื่อปี 2012 ที่นางฮิลลารี คลินตันได้เรียกความพยายามของรัฐบาลรัสเซียที่จะรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจอันประกอบด้วยประเทศทั้งในยุโรปตะวันออกและเอเชียกลางว่าเป็นการกลับไปเป็นสหภาพโซเวียตอีกครั้ง

พรีมาคอฟยังเป็นผู้ต่อต้านการขยายตัวขององค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือหรือนาโต ถึงแม้ว่าภายหลังการล่มสลายของสหภาพโซเวียต  ทั้งนาโตและรัสเซียได้มีความพยายามเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างกันเสมอมาเช่นในปี 1991 รัสเซียเข้าร่วมสมัชชาการร่วมมือกันของแอตแลนติกเหนือ และในปี 1994 รัสเซียยังเป็นหุ้นส่วนสำหรับโครงการสันติภาพ  สำหรับปี 1997  ในการประชุมสุดยอดของนาโตที่กรุงปารีส นาโตและรัสเซียยังได้ลงในสนธิสัญญาแห่งความสัมพันธ์ ความร่วมมือและความมั่นคงร่วมกัน มีความพยายามในการเจรจาอยู่เสมอว่ารัสเซียควรจะเข้าเป็นส่วนหนึ่งของนาโต แต่ด้วยหนึ่งในอุปสรรคทั้งหลายทั้งปวงคือการเป็นสมาชิกของนาโตกลายเป็นตัวขัดขวางความทะเยอทะยานในการกลับมาเป็นมหาอำนาจอีกครั้งของรัสเซีย และความคิดเช่นนี้ถูกสะท้อนผ่านพรีมาคอฟ ในปี 1993  สำนักข่าวกรองต่างประเทศภายใต้การบริหารของ พรีมาคอฟ ได้ตีพิมพ์เอกสารปกขาวภายใต้ชื่อ “ช่องทางของการขยายตัวของนาโตและผลประโยชน์ของรัสเซีย” อันแสดงถึงความเชื่อมั่นของพรีมาคอฟที่ว่าสหรัฐฯ  สมาชิกที่ทรงอิทธิพลของนาโตนั้นจ้องจะลดบทบาทสำคัญของรัสเซียอยู่เสมอ แม้สำนักข่าวกรองดังกล่าวจะพยายามส่งข้อมูลที่สนับสนุนมุมมองเช่นนี้ให้กับเยลต์ซินซ้ำแล้วซ้ำเล่า แต่เยลต์ซินซึ่งยังคงดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีสมัยแรกนั้นหาได้ให้ความสนใจเท่าไรนัก เพราะถือว่าตะวันตกยังเป็นพันธมิตรที่มีค่าสำหรับตน  อย่างไรก็ตามวิสัยทัศน์ของพรีมาคอฟทั้งก่อนและหลังการดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีน่าจะเป็นเบ้าหลอม สำหรับนโยบายต่างประเทศของรัสเซียในยุคของปูตินที่ว่ารัสเซียไม่สามารถรับแนวคิดที่จะยอมให้สหรัฐฯ เป็นมหาอำนาจที่ยิ่งใหญ่เพียงผู้เดียว

ในที่สุดวาสนาทางการเมืองของพรีมาคอฟก็ได้เข้าถึงจุดสูงสุด เมื่อรัสเซียพบกับวิกฤตการณ์ทางการเงินครั้งใหญ่ในปี 1998  ที่รัฐสภาได้หันมาเป็นปรปักษ์กับเยลต์ซินอีกครั้งเพราะเล็งเห็นว่าเยลต์ซินนั้นแวดล้อมด้วยกลุ่มอิทธิพลซึ่งดำรงตำแหน่งระดับสูงของรัฐบาล โดยส่วนหนึ่งนั้นเรียกกันว่าพวกคณาธิปไตย (Oligarchy) ได้ผลประโยชน์จากการปรับเปลี่ยนแปลงเศรษฐกิจของรัสเซียเข้าสู่ระบบตลาดเสรี ความล้มเหลวของเยลต์ซินในการแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจอันนำไปสู่การพลาดการชำระหนี้ให้กับต่างประเทศ ได้ทำให้สภาผู้แทนราษฎรหรือดูมาพยายามนำเยลต์ซินไปสู่กระบวนการไตร่สวนความผิด นายกรัฐมนตรีหนุ่มคือเซอร์กีย์   กิริเยนโกซึ่งดำรงตำแหน่งได้เพียงไม่กี่เดือนประกาศลาออกเพื่อแสดงความรับผิดชอบ เยลต์ซินจึงพยายามแก้ไขสถานการณ์โดยการนำวิกเตอร์ เชอร์โนมีร์ดิน ผู้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในช่วงปี 1992  ถึง 1998 กลับมาดำรงตำแหน่งอีกครั้ง  แต่ถูกสภาดูมาปฏิเสธ[i]  เยลต์ซินจึงหาบุคคลซึ่งเป็นที่ยอมรับโดยทั่วไปและยังเป็นที่เคารพอย่างสูงเช่น พรีมาคอฟซึ่งมีแนวคิดตรงกันข้ามกับเสรีนิยมใหม่ดังพวกคณาธิปไตย แนวคิดเศรษฐศาสตร์ของพรีมาคอฟเป็นแบบกลางค่อนซ้าย ซึ่งต้องการให้รัฐให้บทบาทอย่างสูงในการเข้าควบคุมเศรษฐกิจและการลงทุนโดยตรง

ภายใต้ตำแหน่งนายกรัฐมนตรี พรีมาคอฟดำเนินนโยบายเศรษฐกิจเชิงปฏิรูป เช่นมาตรการผ่อนคลายในเชิงปริมาณทางการเงิน (Quantitative Easing)   และยังเริ่มต้นการอัดฉีดเม็ดเงินไปยังรัฐวิสาหกิจเพื่อเป็นการจ่ายเงินเดือนหลังจากหยุดพักมาก่อนหน้านี้ รัฐบาลยังเน้นการจ้างงานและการฟื้นฟูการลงทุน  นอกจากนี้การที่ค่าเงินรูเบิลลดลงทำให้การส่งออกสินค้าได้ดีขึ้น ผสมกับราคาน้ำมันในตลาดโลกซึ่งรัสเซียเป็นผู้ส่งออกรายใหญ่ของโลกพุ่งทะยานขึ้น เศรษฐกิจของรัสเซียจึงฟื้นตัว อันสะท้อนให้เห็นว่าพรีมาคอฟเป็นผู้เริ่มต้นทำให้เศรษฐกิจของรัสเซียดีขึ้น และเป็นปูตินซึ่งเข้ามาเก็บเกี่ยวผลสำเร็จโดยการสืบต่อนโยบายเช่นนี้ในภายหลัง  ผู้เขียนคิดว่าเป็นไปได้ว่า การที่คนจำนวนมากไม่คุ้นเคยกับการปกครองแบบประธานาธิบดีกึ่งรัฐสภาที่ประธานาธิบดีแบ่งอำนาจในการบริหารประเทศกับนายกรัฐมนตรี จึงมักคิดว่าผู้นำรัสเซียมีเพียงเยลต์ซินและปูติน ทั้งที่ความจริงแล้วหากตัดเมดเวเดฟซึ่งบทบาทไม่มากนักในยุคของปูตินออกไป ทั้งเชอร์โนมีร์ดินและโดยเฉพาะอย่างยิ่งพรีมาคอฟต่างมีบทบาทต่อประเทศอย่างมหาศาลในยุคของเยลต์ซิน ด้วยสาเหตุนี้จึงทำให้คนเหล่านั้นมองว่าปูตินเป็นผู้สร้างเริ่มต้นแห่งความยิ่งใหญ่ของรัสเซีย  เป็นไปได้ว่าถ้าไม่มีพรีมาคอฟ ปูตินก็คงไม่ยิ่งใหญ่อย่างทุกวันนี้ และหากพรีมาคอฟไม่ถูกปลดจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีก่อนเวลาอันควรหรือได้เป็นประธานาธิบดีแทนปูติน โฉมหน้าของรัสเซียก็คงไม่แตกต่างจากในปัจจุบันนี้เท่าไรนัก

แต่ความสัมพันธ์ระหว่างพรีมาคอฟกับปูตินนั้นถือได้ว่าไม่น่าจะสู้ดีนัก สำหรับปูตินได้ลาออกจากเคจีบีตั้งแต่ปี 1991 ก่อนจะก้าวมาเป็นผู้อำนวยการขององค์กรความมั่นคงแห่งรัฐ (เอฟเอสบี หรือ Federal Security Service) ซึ่งเป็นองค์กรที่สืบต่อหน้าที่และบทบาทจากเคจีบีในช่วงปี 1998-1999 ขณะพรีมาคอฟเป็นนายกรัฐมนตรี ทาทายา ยูมาเชวา ลูกสาวของเยลต์ซินผู้มีอิทธิพลแฝงทางการเมืองอย่างยิ่งในทศวรรษที่ 90 ได้เขียนลงในบล็อกของเธอเมื่อปี 2010 ว่า พรีมาคอฟนั้นเกลียดปูตินมากจนถึงขั้นร้องขอให้เยลต์ซินไล่ปูตินออกจากตำแหน่ง ภายหลังจากปูตินปฏิเสธคำร้องขอให้ติดตั้งเครื่องดักฟังโทรศัพท์ของเกรกอรี ยาฟลินสกี ผู้นำของพรรคฝ่ายค้านในสภาดูมา แต่เยลต์ซินปฏิเสธ  เป็นเรื่องน่าสงสัยว่าปูตินจะล่วงรู้เรื่องนี้หรือไม่ ไม่ว่าอย่างไรก็ตาม ปูตินน่าจะได้รับอิทธิพลจากพรีมาคอฟ ซึ่งมีทัศนคติเกี่ยวกับอดีตสหภาพโซเวียตในลักษณะที่ใกล้เคียงกันไม่มากก็น้อย  แต่เราก็ไม่ควรปฏิเสธว่าปูตินยังอาจได้รับแนวคิดชาตินิยมซึ่งมีอยู่ดาษดื่นในกลุ่มชนชั้นนำของรัสเซียยุคนั้นและหลายกลุ่มมีความคิดสุดโต่งยิ่งกว่าพรีมาคอฟเสียอีก การร้องขอให้ติดเครื่องดักฟังยังเป็นสิ่งสะท้อนให้เห็นว่า พรีมาคอฟอาจเป็นผู้เปิดประตูให้หน่วยข่าวกรองผสมกับตำรวจลับในรูปแบบองค์กรต่างๆ ได้เข้ามามีอิทธิพลเหนือชีวิตของคนรัสเซียในยุคปัจจุบัน อันเป็นคุณต่อการปกครองแบบเผด็จการของปูตินอย่างมหาศาล ซึ่งยังได้รับการส่งเสริมโดยตัวปูตินเองที่มอบโอกาสให้อดีตเพื่อนที่ทำงานในหน่วยเคจีบีของเขาเข้ามาทำงานในองค์กรต่างๆ ของรัฐบาล

นอกจากนี้การเป็นนักลัทธิชาตินิยมของพรีมาคอฟยังมีส่วนทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างรัสเซียและตะวันตกเลวร้ายลง มีคนสงสัยว่าพรีมาคอฟเป็นนักต่อต้านอเมริกันหรือไม่ คำตอบที่น่าจะสอดคล้องกับความจริงที่สุดโดยผู้เขียนหนังสือชีวประวัติของพรีมาคอฟก็คือ พรีมาคอฟรู้สึกรำคาญใจอย่างไม่รู้เนื้อรู้ตัวกับความรุ่งเรือง โชคและความกร่างของสหรัฐฯ เสียมากกว่า ในวันที่ 24 มีนาคม ปี 1999 ขณะพรีมาคอฟนั่งเครื่องบินเพื่อไปยังกรุงวอชิงตันในการเจรจาเงินกู้ (แม้ว่าจะมีนโยบายงัดข้อกับตะวันตกก็ตาม) รองประธานาธิบดีสหรัฐฯ คืออัล กอร์ โทรศัพท์มาแจ้งให้เขาทราบว่านาโตเริ่มต้นทิ้งระเบิดลงที่นครเบลเกรด เมืองหลวงของยูโกสลาเวีย[ii]  พรีมาคอฟจึงได้แสดงความไม่พอใจและสั่งให้เครื่องบินของตนซึ่งบินข้ามมหาสมุทรแอตแลนติกมากว่าครึ่งทางหันกลับรัสเซีย ท่านนายกรัฐมนตรีได้รับการยกย่องจากสื่อมวลชนของรัสเซียอย่างมากว่ามีนโยบายที่เป็นไทแก่ตน และไม่ยอมอดกลั้นต่อการล่วงละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศของสหรัฐฯ เพียงเพราะอยากได้เงิน จากนั้นความสัมพันธ์ระหว่างรัสเซียกับตะวันตกก็เข้ามาติดหล่มความขัดแย้งอีกครั้งหนึ่ง รัสเซียคัดค้านการทิ้งระเบิดของนาโตแบบหัวชนฝา โดยการประท้วงนอกจากทางวาจาแล้วยังยุติความสัมพันธ์ทางทหารกับตะวันตกชั่วคราว ในหลายวันต่อมา พรีมาคอฟและรัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศของรัสเซียยังได้เป็นทูตของเยลต์ซิน ในการเดินทางไปยังนครเบลเกรดเพื่อเจรจากับประธานาธิบดีสลอบอดัน มีลอเชวิช เช่นเดียวกับการเดินทางไปกรุงบอนน์ของเยอรมัน เพื่อเจรจากับฝ่ายตะวันตกด้วยวัตถุประสงค์คือยุติความขัดแย้งครั้งนี้ ในขณะเดียวกันรัสเซียก็ได้ส่งกองกำลังเข้าไปในยูโกสลาเวียและให้ที่ลี้ภัยแก่ภรรยาและบุตรของนายมีลอเชวิช สิ่งเหล่านี้เป็นปัจจัยประการหนึ่งที่ทำให้มีลอเชวิชยอมยุติสงครามในอีก 2 เดือนต่อมาก่อนที่นาโตจะทำการบุกภาคพื้นดิน

ด้วยวีรกรรมและผลงานเช่นนี้ได้ทำให้พรีมาคอฟกลายเป็นนักการเมืองชื่อเสียงโด่งดังและได้รับความนิยมจากประชาชนสูงสุดคนหนึ่งของรัสเซีย จนมีการคาดการณ์ว่าเขาน่าจะได้เป็นประธานาธิบดีของรัสเซียต่อจากเยลต์ซิน อย่างไรก็ตามในเดือนพฤษภาคม ปี 1999 เยลต์ซินก็ได้มีคำสั่งปลดเขาจากตำแหน่งโดยมีข้ออ้างว่าเพราะไม่สามารถแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจได้อย่างน่าพอใจ มีการคาดการณ์อยู่ต่างๆ นานา ถึงสาเหตุที่แท้จริงว่าเพราะเยลต์ซินนั้นอิจฉาในบารมีของพรีมาคอฟ และยังมีสาเหตุสำคัญอื่นๆ อีกคือพรีมาคอฟมีความขัดแย้งกับเหล่าคนสนิทของเยลต์ซินดังที่เรียกว่า “ครอบครัว” ซึ่งรวมถึงพวกคณาธิปไตยอย่างเช่นบอริส เบเรซอฟสกีและโรมัน อับราโมวิก (เจ้าของทีมฟุตบอลเชลซี เอฟซี)  คนเหล่านี้ได้กอบโกยผลประโยชน์จากประเทศอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะขณะที่เยลต์ซินพักรักษาตนอยู่ที่โรงพยาบาลเป็นเวลานาน การที่พรีมาคอฟเน้นนโยบายให้รัฐเข้ามาควบคุมเศรษฐกิจได้ทำให้คนเหล่านั้นรำคาญใจเป็นยิ่งนัก และยิ่งรู้สึกว่ากลุ่มตนกำลังถูกคุกคามเมื่อเบเรซอฟสกีกำลังถูกสอบสวนจากอัยการในกรณีฉ้อราษฎรบังหลวงและคดีฉ้อโกงทรัพย์  เลขาธิการของเครือรัฐเอกราช (CIS) ผู้นี้ถึงกลับกล่าวหาว่าเป็นแผนทางการเมืองของพรีมาคอฟในการกลั่นแกล้งตน

ภายหลังการพ้นจากตำแหน่ง พรีมาคอฟได้เข้าร่วมกับกลุ่มการเมืองฟาเทอร์แลนด์ ออลรัสเซีย  (Fatherland – All Russia)  ที่นำโดยนายกเทศมนตรีนครมอสโคว์ คือยูริ ลูซคอฟซึ่งเป็นพันธมิตรของพรีมาคอฟในการแย่งชิงอำนาจกับพวกครอบครัวผ่านการแข่งขันลงสมัครเป็นประธานาธิบดีรัสเซียในสมัยหน้า กลุ่มครอบครัวเกิดความหวาดกลัวต่อพรีมาคอฟเป็นยิ่งนัก ภารกิจที่สำคัญของพวกเขาคือต้องหาใครสักคนมาท้าชนกับผู้เปี่ยมบารมีทางการเมืองเช่นนี้ ในที่สุดบุคคลที่พวกเขาค้นพบนั้น กลับเป็นนักการเมืองที่ไม่มีใครในสมัยนั้นรู้จักกันนักก็คือวลาดิมีร์ ปูตินนั้นเอง[iii] กลางเดือนกรกฎาคม ปี 1999  กลุ่มครอบครัวได้รบเร้าให้ปูตินเข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในอีก 1 เดือนต่อมาคือสิงหาคม ภายหลังจากเยลต์ซินปลดเซอร์กีย์ สเฟฟาลินออกจากตำแหน่ง  ซึ่งแน่นอนว่าการเปลี่ยนผู้นำรัฐบาลอย่างกระทันหันเช่นนี้เป็นฝีมือของกลุ่มครอบครัว

การแข่งขันเพื่อแย่งชิงอำนาจระหว่างมุ้งของพรีมาคอฟและปูตินที่หนุนโดยกลุ่มครอบครัว เพื่อเป็นประธานาธิบดีก่อนเดือนมีนาคม ปี 2000 เป็นไปอย่างดุเดือดและสกปรก เบเรซอฟสกีถือได้ว่าเป็นเจ้าแห่งการวางกลยุทธ์เพื่อโฆษณาประชาสัมพันธ์ให้ปูตินเอาชนะพรีมาคอฟ รวมไปถึงนักการเมืองคนอื่นๆ เช่นเกนนาดี ซูกานอฟซึ่งเป็นหัวหน้าพรรคคอมมิวนิสต์ให้จงได้ ปูตินแม้บารมีทางการเมืองจะเป็นรองพรีมาคอฟแต่ฝีมือของเขาในการสู้รบกับขบถเชเชนสามารถเอาชนะใจทั้งเยลต์ซินและประชาชนรัสเซีย  อย่างไรก็ตามมีการวิเคราะห์ว่าสาเหตุหนึ่งที่เยลต์ซินลาออกจากตำแหน่งประธานาธิบดีก่อนครบวาระ ก็เพราะกลุ่มครอบครัวไม่แน่ใจถึงผลในการรบกับเชชเนียนั้นจะเป็นไปในรูปแบบใด การลาออกจากจะช่วยร่นเวลาให้วันเลือกตั้งมาเร็วกว่าเดิมซึ่งจะเป็นช่วงที่กองทัพรัสเซียกำลังได้เปรียบ อันย่อมส่งผลดีต่อคะแนนความนิยมของปูตินซึ่งเป็นนายกรัฐมนตรีในขณะนั้น  ที่สำคัญพวกเขายังกลัวการหาเสียงของกลุ่มพรีมาคอฟซึ่งอาจใช้เรื่องเชเชนมาเล่นงานปูตินด้วยเหตุผลที่ทหารรัสเซียล้มตายมากมายจากสงครามครั้งนี้

นอกจากนี้ปูตินยังได้เปรียบพรีมาคอฟในเรื่องของวัย เพราะพรีมาคอฟนั้นอายุ 70 ปีแล้ว สถานีโทรทัศน์ของเบเรซอฟสกียังได้ถ่ายทอดภาพของพรีมาคอฟเดินทางไปผ่าตัดที่ขา อันเป็นการลดความน่าเชื่อถือของสุขภาพของเขาไปโดยปริยาย เช่นเดียวกับการปล่อยข่าวว่าพรีมาคอฟนั้นฝักใฝ่ไปทางเศรษฐกิจกับการเมืองแบบคอมมิวนิสต์ และยังเน้นนโยบายให้รัสเซียทำตัวโดดเดี่ยวจากประชาคมโลก ในการเลือกตั้งของสภาดูมาเมื่อเดือนธันวาคมปี 2000  ฟาเทอร์แลนด์ ออลรัสเซียของพรีมาคอฟก็พ่ายแพ้ให้กับกลุ่มการเมืองซึ่งสนับสนุนปูตินอย่างท่วมท้น (ซึ่งกลุ่มนี้ได้รับการจัดตั้งจากเบเรซอฟสกีนั้นเอง)    ในที่สุดพรีมาคอฟถอดใจประกาศถอนตัวออกจากการแข่งขันเพื่อเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดี เพียง 2 เดือนก่อนวันสำคัญจะมาถึงและหันมาสนับสนุนปูตินในฐานะเป็นที่ปรึกษา รวมไปถึงดำรงตำแหน่งที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการเมืองโดยตรงคือประธานหอการค้าและอุตสาหกรรมจนไปถึงอีกไม่กี่ปีก่อนถึงแก่กรรม

ปูตินในช่วงต้นของการเป็นประธานาธิบดีนั้นก็เหมือนกับเยลต์ซินคือมีท่าทีอันเป็นมิตรกับสหรัฐฯและตะวันตก โดยอย่างยิ่งเมื่อเกิดเหตุการณ์การก่อวินาศกรรมเครื่องบินชนตึกเวิลด์เทรดเมื่อวันที่ 11 กันยายน ปี 2001 ประธานาธิบดีหนุ่มวัยเพียง 46 ปีได้ให้การสนับสนุนสงครามต่อต้านการก่อการร้าย ของประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู บุช  อันมีวัตถุประสงค์ซ่อนเร้นเพื่อได้ปราบปรามพวกแยกดินแดนเช่นเชเชนอย่างเต็มที่โดยไม่ต้องกังวลเรื่องสิทธิมนุษยชนให้มากนัก และยังช่วยปูทางไปสู่การที่รัสเซียเข้าเป็นส่วนหนึ่งกับนาโต อย่างไรก็ตามปูตินก็ได้ค่อยๆ ถอยห่างจากการเป็นมิตรที่ดีกับตะวันตก โดยจุดเริ่มต้นเกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2002 ที่การประชุมของนาโต ณ กรุงปรากของสาธารณรัฐเช็คมีมติในการเจรจาเพื่อรับเอาประเทศในยุโรปตะวันออกอย่างเช่น บัลแกเรีย เอสโตเนีย โรมาเนีย สโลวีเนีย ฯลฯ เข้าเป็นสมาชิก  ทำให้รัสเซียมองว่านาโตเริ่มคุกคามตน นอกจากนี้รัสเซียยังไม่เห็นด้วยคำประกาศของบุชในการเตรียมพร้อมจะบุกรุกอิรัก ในอีก 1 ปีข้างหน้า ซึ่งแนวคิดเหล่านี้ของรัฐบาลรัสเซียล้วนแต่เดินบนเส้นทางของพรีมาคอฟทั้งสิ้น

พรีมาคอฟเขียนหนังสือออกมาหลายเล่มในด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศซึ่งมักตั้งอยู่บนแนวคิดชาตินิยม อย่างเช่นในหนังสือซึ่งถูกตีพิมพ์ในปี  2009 อันมีชื่อว่า  A World Without Russia  เขาเห็นว่ารัสเซียมีสิทธิมนุษยชนในระบอบประชาธิปไตยตามแบบของรัสเซียเอง อันจะทำให้รัสเซียไม่ก้มหัวให้กับแรงกดดันจากชาติใดๆ โดยเฉพาะสหรัฐฯ แน่นอนว่าแนวคิดนี้ย่อมเป็นการเอื้อต่อการปกครองแบบเผด็จการของรัสเซียและยังสามารถพบได้ในคำปราศรัยของปูตินจำนวนมากในหลายปีที่ผ่านมา อันเป็นการสร้างวาทกรรมในการต่อต้านตะวันตกแบบพรีมาคอฟเพื่อสร้างอำนาจและความนิยมเหนือคนรัสเซียทั้งหลาย อีกทั้งยังป้องกันไม่ให้ฝ่ายตะวันตกแผ่ขยายอิทธิพลทางแนวคิดและอุดมการณ์ประชาธิปไตยเข้ามาในสังคมรัสเซีย อันจะส่งผลเสียต่อความมั่นคงของรัฐที่มีการปกครองแบบเผด็จการอำนาจนิยม เหมือนกับช่วงที่สหภาพโซเวียตกำลังจะล่มสลายรวมไปถึงการปฏิวัติสีในยุโรปตะวันออกในช่วงต้นศตวรรษที่ 21 หรือการลุกฮือที่อาหรับเมื่อปี 2011  อย่างไรก็ตามในส่วนอื่นของหนังสือเล่มนี้ พรีมาคอฟเน้นให้ทั้งสหรัฐฯ และรัสเซียมีความร่วมมือกันในการรับมือกับหลายเรื่องที่สำคัญ เช่นภัยจากอาวุธนิวเคลียร์

เช่นเดียวกับหนังสืออีกเล่มหนึ่งซึ่งถูกพิมพ์ก่อนหน้านี้คือในปี 2004 คือ  A World Challenged: Fighting Terrorism in the Twenty-First Century  ที่พรีมาคอฟได้เขียนร่วมกับอดีตที่ปรึกษาความมั่นคงและรัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศของสหรัฐฯ คือเฮนรี คิสซิงเจอร์ ซึ่งเป็นเจ้าพ่อแห่งแนวคิดสัจนิยม ผู้เน้นการถ่วงดุลทางอำนาจระหว่างรัฐต่างๆ  เขากับคิสซิงเจอร์ยังได้รับการสนับสนุนจากปูตินในการตั้งกลุ่มทำงานที่จะร่างแผน สำหรับการสร้างความสัมพันธ์ร่วมกันระหว่างรัสเซียและสหรัฐฯ ในปี 2007   ในการกล่าวคำปราศรัยเมื่อเดือนมกราคมของปี 2015  ณ การประชุมครั้งสำคัญแห่งหนึ่ง พรีมาคอฟกล่าวว่าถึงแม้วิกฤตการณ์ยูเครนจะดำเนินไปเรื่อยๆ รัสเซียนั้นไม่ควรวางตัวให้โดดเดี่ยวและควรเปิดรับทั้งยุโรปและสหรัฐฯ  อันเป็นภาพสะท้อนให้เห็นว่า ช่วงท้ายอดีตนายกรัฐมนตรีผู้นี้หันกลับมาประนีประนอมกับตะวันตกอยู่พอสมควร

จึงเป็นไปได้ว่าในขณะนี้ หากปูตินยึดมั่นตามแนวคิดความสัมพันธ์ระหว่างประเทศแบบพรีมาคอฟซึ่งยังได้รับสมญาว่าเป็น “คิสซิงเจอร์แห่งรัสเซีย” การแสดงตนเป็นศัตรูกับสหรัฐฯ และตะวันตกจึงเหมือนกับนาฏกรรมฉากหนึ่งที่ปูตินสร้างขึ้นมาเพื่อปรับเปลี่ยนดุลทางอำนาจของการเมืองโลกให้มาทางรัสเซีย[iv] เสียมากกว่าการมุ่งจะปะทะกับสหรัฐฯ หรือนาโตอย่างเอาเป็นเอาตาย จนนำไปสู่สงครามโลกครั้งที่ 3 ดังที่ใครหลายคนคาดคะเนกัน นอกจากสงครามแบบตัวแทนตามรัฐขนาดเล็กต่างๆ  (ยกเว้นว่าจะเกิดอุบัติเหตุหรือมีตัวแปรอื่นๆ แทรกเข้ามาเสียก่อน) ดังนั้นทั้งสหรัฐฯ และรัสเซียอาจจะหันมาร่วมมือกันหากผลประโยชน์มาบรรจบกัน ข้อสันนิษฐานนี้เป็นไปได้อย่างมาก จากคำพูดของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของรัสเซียคนปัจจุบันคือเซอร์กีย์ ลาพรอพที่กล่าวภายหลังการจากถึงแก่กรรมของอดีตนายกรัฐมนตรี ว่าพรีมาคอฟได้วางรากฐานให้กับนโยบายต่างประเทศยุคปัจจุบันของรัสเซีย ลาพรอพยังเน้นอีกว่าแม้จะมีนโยบายต่างประเทศเป็นอิสระ แต่รัสเซียก็เปิดกว้างให้กับประเทศใดก็ได้ที่จะมีปฏิสัมพันธ์กับตนบนพื้นฐานในเรื่องผลประโยชน์ร่วมกันอย่างเท่าเทียมกัน   และความเป็นจริงก็ได้เกิดขึ้นมาแล้วในกรณีการจัดการกับกลุ่มไอเอส ที่ทั้ง 2  ประเทศต่างถือว่าเป็นภัยร่วมกันแม้จะมีมุมมองที่แตกต่างกันต่อรัฐบาลของนายบัลชาร์ของซีเรียก็ตาม

แม้ว่าจะอยู่ในช่วงบั้นปลายของชีวิต พรีมาคอฟก็ยังมีความกระตือรือร้นในกิจการต่างประเทศ ในปี 2003 เขาได้รับมอบหมายจากปูตินให้เป็นทูตพิเศษในการเจรจากับซัดดัม ฮุซเซนอย่างลับๆ ถึง 2 ครั้ง เพื่อให้ยอมตามคำร้องขอของสหประชาชาติเกี่ยวกับอาวุธทำลายล้างสูง แม้พรีมาคอฟจะได้รับการยกย่องว่าเป็นชาวต่างประเทศที่รู้จักซัดดัมอย่างดีและยาวนานกว่าใคร แต่ก็ต้องผิดหวังอีกครั้ง ภายหลังจากซัดดัมถูกประหารชีวิตในปี 2006 พรีมาคอฟได้ออกมากล่าวหาว่า สหรัฐฯ รีบปิดปากซัดดัมก่อนที่อดีตผู้นำเผด็จการจะออกมาแฉถึงความสัมพันธ์อันแนบแน่นระหว่างสหรัฐ ฯ กับอิรักในช่วงสงครามระหว่างอิรักและอิหร่านในทศวรรษที่ 80  และก่อนหน้านี้ในปี 2004 พรีมาคอฟได้เดินทางไปให้ปากคำแก่สลอบอดัน มีลอเชวิช ซึ่งถูกดำเนินคดีโดยศาลอาญาระหว่างประเทศของสหประชาชาติ ที่กรุงเฮก เนเธอร์แลนด์  พรีมาคอฟได้แก้ต่างว่ามีลอเชวิชเป็นบุรุษซึ่งต้องการหลีกเลี่ยงการนองเลือดในขณะที่สหรัฐฯและยุโรปนั้นกล่าวหาว่าชาวเซิร์บเป็นพวกรุกราน  พรีมาคอฟยังกล่าวอีกว่าวัตถุประสงค์ของตะวันตกคือการทำลายความเข้มแข็งของเซอร์เบีย และยังขัดขวางเพื่อไม่ให้เซอร์เบียสามารถป้องกันการล่มสลายของยูโกสลาเวียได้สำเร็จ  เป็นไปได้ว่าหากวันดีคืนร้าย บัลชาร์ อัลอัสซาด ประธานาธิบดีของซีเรียถูกจับขึ้นศาลและให้ปูตินมาให้ปากคำ เขาก็คงพูดเหมือนพรีมาคอฟอย่างไม่ผิดเพี้ยน

ภายหลังจากล้มป่วยอยู่นาน พรีมาคอฟได้ถึงแก่กรรมเมื่อวันที่  26 มิถุนายน ปี 2015 สิริรวมอายุ  85 ปี สถานีโทรทัศน์ของรัฐถ่ายทอดสดพิธีศพของเขาเป็นเวลาติดต่อกันถึง 6  ชั่วโมง ร่างอันไร้วิญญาณของรัฐบุรุษผู้ยิ่งใหญ่ถูกตั้งไว้ในตึกที่ชื่อว่าเฮาส์ออฟเดอะยูเนียนส์ (House of the Unions) ซึ่งเคยเป็นสถานที่จัดงานศพของบุคคลสำคัญของรัสเซียไม่ว่าวลาดิมีร์ เลนิน โจเซฟ สตาลิน และผู้นำคนอื่นๆ ของสหภาพโซเวียต  แขกร่วมงานหลายพันคนล้วนแต่เป็นนักการเมืองและชนชั้นสูงของรัสเซีย ซึ่งหนึ่งในนั้นคือมิคาอิล กอร์บาชอฟในวัย 84 ปีอีกด้วย ประธานในพิธีคือปูตินได้กล่าวไว้อาลัยต่อหน้าบรรดาแขกทั้งหลายว่า ความสามารถของพรีมาคอฟในการป้องกันผลประโยชน์ของรัสเซีย คือตัวอย่างของความรักชาติที่แท้จริงและเป็นการเสียสละตนอย่างไร้ความเห็นแก่ตัวเพื่อปิตุภูมิ  ปูตินยังแสดงความชื่นชมถึงญาณอันลุ่มลึกของพรีมาคอฟในด้านตะวันออกกลาง และความสัมพันธ์ส่วนตัวอันแนบแน่นของเขาต่อบรรดาผู้นำในภูมิภาคดังกล่าว   อย่างไรก็ตามคำชมที่พรั่งพรูออกมานั้น ก็คงไม่สามารถแทนความคิดของท่านประธานาธิบดีที่รู้ดีกว่าใครว่าพรีมาคอฟเป็นหนึ่งในสถาปนิกผู้สร้างรัสเซียแบบปูตินที่ยิ่งใหญ่ที่สุดนั้นเอง



 

[i] ดังที่ได้กล่าวมากับบทความที่แล้วว่า ประธานาธิบดีรัสเซียมีอำนาจในการแต่งตั้งและปลดนายกรัฐมนตรี (รวมถึงรัฐมนตรีคนอื่น) แต่การแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีนั้นต้องได้รับการเห็นชอบจากสภาผู้แทนราษฎรหรือดูมา อันแตกต่างจากรัฐสภาของสหรัฐฯ ซึ่งประธานาธิบดีต้องการความเห็นชอบจากวุฒิสภา หากสภาดูมาปฏิเสธถึง 3 ครั้ง ตามรัฐธรรมนูญปี 1993 ประธานาธิบดีมีอำนาจในการประกาศยุบสภา อันเป็นการถ่วงดุลอำนาจระหว่างฝ่ายบริหารและนิติบัญญัติ ความขัดแย้งเช่นนี้เกิดขึ้นได้ยากในสมัยปูตินและเมดเวเดฟ เพราะพรรคยูไนเต็ดรัสเซียซึ่งมีเมดเวเดฟเป็นหัวหน้าพรรค ผูกขาดคะแนนเสียงส่วนใหญ่ในสภา     ดูมา

 

[ii] สงครามในยูโกสลาเวียซึ่งเกิดขึ้นในช่วงปี 1991-2001 ถือได้ว่าเป็นชุดของสงครามกลางเมืองย่อยๆ หรือสงครามระหว่างรัฐย่อยที่เคยรวมตัวกันเป็นยูโกสลาเวีย ภายใต้ผู้นำเหล็กอย่างเช่นโจเซฟ ติโต โดยมีปัจจัยสำคัญคือความขัดแย้งระหว่างเชื้อชาติอย่างเช่นสงครามสโลวีเนีย สงครามบอสเนีย  สงครามโคโซโวมีจุดเริ่มต้นจากการที่แคว้นโคโซโวซึ่งมีเชื้อสายอัลบาเนียต้องการแยกตัวจากเซอร์เบียซึ่งยังถือว่าตนเป็นยูโกสลาเวีย การที่เซอร์เบียทำการสังหารหมู่ชาวโคโซโวส่งผลให้สหรัฐฯ และ   นาโตเข้ามาแทรกแซง จนกลายเป็นการทำสงครามทางอากาศเหมือนกับลิเบียในปี 2011 ในขณะที่รัสเซียถือว่าเซอร์เบียนั้นเป็นพันธมิตรเพราะมีเชื้อสายสลาฟเหมือนกันจึงคัดค้านนาโตอยู่เสมอมา และนโยบายเช่นนี้ส่วนหนึ่งย่อมได้รับการผลักดันโดยพรีมาคอฟ

 

[iii] ปูตินมีความสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดกับเบเรซอฟสกีมาตั้งแต่ช่วงต้นทศวรรษที่ 90 เมื่อครั้งปูตินดำรงตำแหน่งรองนายกเทศมนตรีนครเซนต์ ปีเตอร์สเบิร์ก  คนทั้งคู่ยังได้เดินทางไปเล่นสกีด้วยกันที่สวิสเซอร์แลนด์  ในหลายปีต่อมาปูตินแสดงตนว่าเป็นเด็กสร้างของเบเรซอฟสกี เมื่อเข้าร่วมงานวันเกิดของภรรยาของเบเรซอฟสกีอย่างเปิดเผยแม้เขาจะดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการขององค์กรความมั่นคงแห่งรัฐ ยังมีข่าวลือว่าปูตินนั้นได้ลอบเดินทางไปพบกับเบรซอฟสกีที่บ้านพักตากอากาศในสเปนถึง 5 ครั้ง เป็นเรื่องตลกร้ายอย่างไรไม่ทราบ เมื่อปูตินขึ้นดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีในปี 2000 เบเรซอฟสกีก็หันมาเป็นศัตรูทางการเมืองโดยการมุ่งโจมตีนโยบายของประธานาธิบดีคนใหม่ จนในที่สุดต้องลี้ภัยไปอยู่ที่อังกฤษในเวลาต่อมา (สมมติว่าพรีมาคอฟเป็นประธานาธิบดี ก็คงจะคุกคามหรือเล่นงานทางกฎหมายต่อเบเรซอฟสกีเช่นเดียวกับปูติน)  เบรซอฟสกีแขวนคอตายในบ้านพักที่เบิร์กเชียร์ในปี 2013  ยังไม่มีหลักฐานใดระบุว่าเป็นการฆาตกรรมอำพราง

 

[iv] แต่ปัจจัยอื่นที่ควรกล่าวถึงเช่นผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจกับภูมิรัฐศาสตร์ของรัสเซีย การใช้ความขัดแย้งทางการเมืองและการทหารเพื่อสร้างภาพของความเป็นผู้นำเช่นปูติน หรือที่มักไม่กล่าวถึงนักคือการที่ปูตินต้องการเอาใจอุตสาหกรรมอาวุธของรัสเซียซึ่งก็เป็นกลุ่มผลประโยชน์ที่ทรงอิทธิพลในรัฐบาลรัสเซียเช่นเดียวกับความต้องการมีอำนาจโดยเด็ดขาดเหนือกองทัพ เหตุการณ์เช่นนี้เป็นเรื่องที่รัฐบาลชาติต่างๆ อย่างเช่นสหรัฐฯ เผชิญอยู่เสมอมาตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่ 2  

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท