สำรวจกระบวนการสันติภาพต่างประเทศที่โดดเด่นในปี 2015: 1 ความหวัง 3 ความท้าทาย

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

ข้อมูลจากดัชนีชี้วัดสันติภาพโลกปี 2558 (Global Peace Index 2015)ได้สรุปให้เราได้เห็นถึง การเปลี่ยนแปลงสำคัญต่อความขัดแย้งและสันติภาพทั่วโลก กล่าวคือ ปี 2558ที่ผ่านมาภูมิภาคตะวันออกกลางและหลายประเทศในภูมิภาคอาฟริกาเหนือได้รับผลกระทบจากความรุนแรงจากการแบ่งแยกทางศาสนาความรุนแรงของสงครามกลางเมืองมากที่สุด รวมทั้งความรุนแรงจากกลุ่มเคลื่อนไหวมุสลิมสุดโต่งอย่างเช่นกลุ่ม IS  (Islamic State) จนอาจกล่าวได้ว่า สองภูมิภาคดังกล่าวได้รับผลกระทบจากความรุนแรงแซงหน้าภูมิภาคเอเชียใต้ในปี 2557

ส่วนในภูมิภาคอเมริกาใต้ อเมริกากลาง แถบคาริเบียนและเอเชียใต้ ก็ยังคงเผชิญปัญหาอาชญากรรม การประท้วงและการเคลื่อนไหวทางการเมืองของกลุ่มก่อความไม่สงบต่างๆ (เช่นในโคลอมเบีย)  ผลจากความรุนแรงในตะวันออกกลาง และหลายประเทศในอาฟริกาเหนือรวมทั้งแถบทะเลทรายซาฮารา ทั้งที่เกิดจากการประท้วงของประชาชนและการเกิดขึ้นของกลุ่ม IS  ทำให้เกิดการอพยพย้ายถิ่นฐานของประชากรที่เพิ่มมากขึ้น

กระนั้นก็ตาม ความหวังของการยุติความขัดแย้งที่เกิดขึ้นมาอย่างยาวนานยังคงเกิดขึ้นในบางประเทศอย่างในละตินอเมริกาที่กระบวนการสันติภาพกำลังเดินหน้าไป ดังเช่น ประเทศโคลอมเบีย และในที่อื่นๆ  อย่างในกรณีของอิหร่านที่การการพูดคุยประเด็นปัญหานิวเคลียร์ค่อนข้างประสบความสำเร็จ ส่วนในตูนีเซียนั้น พลังแห่งการพูดคุยทำให้เราเห็นพลังของการสานเสวนาระหว่างผู้คนท่ามกลางความรุนแรง  ที่อาฟกานิสถานมีอุปสรรคต่อกระบวนการสันติภาพอยู่บ้างในเรื่องความขัดแย้งระหว่างกลุ่มต่างๆ ภายในประเทศ

นอกจากนี้กระบวนการสันติภาพที่ดูเหมือนว่าจะเดินหน้าไปแต่ก็ยังคงเผชิญความท้าทาย ในบางประเทศอย่างฟิลิปปินส์ พม่า ตุรกี เหล่านี้เป็นประเทศที่หน่อเนื้อของกระบวนการสันติภาพกำลังเติบโตอย่างต่อเนื่องแต่ด้วยสภาวะทางการเมืองและสังคมทำให้ผู้คนที่เกี่ยวข้องจำต้องหาหนทางในการปรับประคองกระบวนการสันติภาพเกิดหน้าต่อไปได้ ในบทความนี้ผู้เขียนขอหยิบยกตัวอย่างของกระบวนการสันติภาพในต่างประเทศที่โดดเด่นทั้งที่เป็นความหวังและความท้าทายในปี 2558 ดังนี้

1 ความหวัง: โมเดลสันติภาพในโคลอมเบีย

กระบวนการสันติภาพโคลอมเบีย ถือเป็นความหวังที่เด่นชัดในปีนี้ สืบเนื่องมากจากการเจรจาอย่างเป็นทางการ ต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2555 ณ กรุงฮาวาน่า ประเทศคิวบา ระหว่างรัฐบาลโคลัมเบียและกลุ่มกบฏฝ่ายซ้าย คือ ขบวนการปฏิวัติฟาร์ก (The Revolutionary Armed Forces of Colombia-FARC)การเจรจาดังกล่าวทำให้เกิดกรอบข้อตกลง 4 ประการ ซึ่งจะมีการเซ็นข้อตกลงสันติภาพดังกล่าวในเดือนมีนาคมปี 2559และจะมีการทำประชามติของคนทั้งประเทศร่วมกัน กรอบข้อตกลงสันติภาพดังกล่าวได้แก่

1. การปฏิรูปที่ดินและการพัฒนาสังคม เศรษฐกิจ ในพื้นที่ชนบท และการจัดหาที่ดินให้กับชาวนาที่ยากจน

2. การเข้ามามีส่วนร่วมทางการเมืองของกลุ่มกบฏ ทันทีที่สัญญาสันติภาพบรรลุผล

3. การค้ายาเสพติดผิดกฎหมาย ซึ่งเป็นแหล่งสนับสนุนหลักของขบวนการ FARC และผลิตผลของยาเสพติดทั้งหมดจะต้องถูกกำจัดให้หมดไป

4. มีการดำเนินกระบวนการยุติธรรมเปลี่ยนผ่านซึ่งหมายรวมถึงการนิรโทษกรรมให้กับกลุ่มติดอาวุธเท่านั้นแต่การไม่รวมถึงผู้คนที่ก่ออาชญากรรมร้ายแรง

กรอบข้อตกลงสันติภาพเป็นความพยายามที่จะยุติความรุนแรงที่เกิดขึ้นมายาวนานที่สุดในโลกนับแต่ปี 1948 ระหว่างรัฐบาลและกลุ่มกบฏ FARC ส่งผลให้ผู้คนมากกว่า 220,000 ถูกฆ่าตาย ซึ่งกว่า 80 % เป็นพลเรือน  อีกทั้งทำให้เกิดการอพยพย้ายถิ่น การบาดเจ็บและการอุ้มหาย ซึ่ง ณ ตอนนี้มีผู้คนกว่า 7 ล้านคนได้ลงทะเบียนเป็นผู้ได้รับผลกระทบและตกเป็นเหยื่อต่อหน่วยงานของรัฐ

ผลกระทบจากความรุนแรงดังกล่าวเกิดจากการกระทำจากคู่ขัดแย้งทั้งสองฝ่ายคือ กบฏ FARC และกองกำลังทหารพรานของรัฐบาล นอกจากนี้ในความรุนแรงทางการเมืองยังมีภัยคุกคามอีกชั้นหนึ่ง คือ กลุ่มขบวนการอาชญากรรมที่ควบคุมแหล่งผลิตโคเคอีนซึ่งเป็นยาเสพติดที่ให้ผลกำไรอย่างงามซึ่งส่วนหนึ่งเชื่อมโยงกับ กลุ่มกบฏ  FARC ด้วย  ดังนั้น ความคาดหวังการบรรลุข้อตกลงสันติภาพของรัฐบาลต่อกลุ่มกบฏ FACR  ก็เพื่อที่จะมุ่งเน้นต่อสู้กับภัยคุกคามอื่นๆ อย่างยาเสพติดและเพื่อที่จะปกป้องพลเมืองมากกว่าที่จะต่อสู้อย่างยืดเยื้อกับกลุ่มกบฏ FARC ต่อไป

ขณะที่ประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศยอมรับต่อกระบวนการสันติภาพที่กำลังเดินหน้าไปอย่างต่อเนื่อง แต่มีหลายประเด็นที่อาจเป็นอุปสรรคหากว่าไม่ได้รับการสนับสนุนจากคนส่วนใหญ่ของประเทศ กล่าวคือ ประเด็น ความยุติธรรมเปลี่ยนผ่านด้วยการนิรโทษกรรมให้ฝ่ายกบฏ  ยังมีประชาชนส่วนหนึ่งและรวมทั้งเหยื่อที่ได้รับผลกระทบยังคงเคลือบแคลงสงสัยว่าฝ่ายกบฏมีความจริงใจหรือไม่ เสียงที่มีการวิจารณ์ที่มีอิทธิพลมากที่สุด คือ เสียงของอดีตประธานาธิบดีอัลวาโร อูริเบ ที่ให้ความเห็นว่าการนิรโทษกรรมมีเฉพาะให้กับกบฏที่อยากจะสารภาพการกระทำผิดเท่านั้นอีกทั้งการนำกลุ่มกบฏหลายพันคนเข้ามาในกระบวนการยุติธรรมค่อนข้างใช้ต้นทุนความช่วยเหลือทางจิตวิทยาและและใช้เวลานานหลายปี  นอกจากนี้ในประเด็นการปฏิรูปที่ดินที่จำเป็นต้องใช้ทุนสูง ในการเปลี่ยนพืชยาเสพติดเป็นการเพาะปลูกพืชที่ถูกกฎหมาย

 


ประธานาธิบดีคิวบา ราอูล คาสโตร จับมือประสานประธานาธิบดีโคลัมเบีย ฮวน มานูแอล ซานโตส  (ซ้าย)และหัวหน้าสูงสุดของกองกำลังติดอาวุธ FARC  โรดริโก ลอนโดโน  ‘ทิโมเชนโก’ อิเชเวอร์ริ(ขวา) ระหว่างการแถลงข่าวประกาศการบรรลุสันติภาพร่วมกัน
ที่มา: http://www.theguardian.com/world/2015/sep/26/colombia-farc-peace-santos

อย่างไรก็ตาม ข้อตกลงสันติภาพโคลอมเบีย ถือเป็นโมเดลแห่งความหวังในการยุติความขัดแย้งที่เกิดขึ้นมาอย่างยาวนานเพื่อที่จะให้ทั้งสองฝ่ายเอาชนะความแตกต่างที่ยากเกินกว่าจะเอาชนะกันได้โดยใช้กระบวนการยุติธรรมเปลี่ยนผ่านและการสร้างความสมานฉันท์ ซึ่งนี่เป็นประเด็นที่ขับเคลื่อนได้ยากมากที่สุดทำให้การเจรจาสันติภาพเกือบจะล่มลงเมื่อช่วงต้นปี 2558โดยกรอบของกระบวนการยุติธรรมเปลี่ยนผ่านไม่ได้มีแต่การนิรโทษกรรมกลุ่มกบฏเท่านั้น แต่รวมไปถึงการลงโทษและการดำเนินดคีอาชญากรรมเพื่อให้เหยื่อที่ได้รับผลกระทบได้เข้าถึงสิทธิในกระบวนการยุติธรรมด้วย โดยการจัดตั้งศาลพิเศษ (The Special Jurisdiction) ซึ่งผสมผสานวิธีการตัดสินของศาลในกรุงเฮก จากการกรณีที่เคยเกิดความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในยูโกสลาเวียและจากคณะกรรมการไต่สวนข้อเท็จจริงและการสร้างความสมานฉันท์ในอาฟริกาใต้  อีกทั้งมีการถอดบทเรียนจากความต้องการของเหยื่อที่ได้รับผลกระทบจากความรุนแรงที่เกิดขึ้นในข้อตกลง Good Fridayในไอร์แลนด์เหนือ

ประธานาธิบดีคนปัจจุบัน ฮวน  มานูแอล ซานโตส กล่าวว่า  ชาวโคลอมเบียพยายามที่จะมีการก่อร่างหรือใช้วิธีการใหม่ในการผสมผสานให้เกิดกระบวนการสันติภาพ  ซึ่งอาจเป็นบางอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นในการเจรจาสันติภาพก็ได้อาจกล่าวได้ว่า ศาลดังกล่าวถือได้ว่าเป็นศาลแห่งสันติภาพ (Peace Court)  ที่ไม่ได้มีการปฏิบัติหรือการดำเนินการที่ไหน ซึ่งประประกอบไปด้วยสองระบบ คือ ระบบแรกจะจัดการกับผู้ที่รับผิดชอบในช่วงแรกของอาชญากรรมที่เกิดขึ้น ระบบที่สอง ดำเนินการเพื่อผู้คนที่ได้รับผลกระทบเข้ามาเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมพิเศษที่ครอบคลุมทั้งการค้นหาความจริง กระบวนการยุติธรรม การฟื้นฟูเยียวยา และการไม่หวนกลับมาเกิดความรุนแรงซ้ำ ซึ่งการดำเนินกระบวนการยุติธรรมเปลี่ยนผ่านดังกล่าวจะต้องเข้ากับข้อปฏิบัติอื่นๆ ของกรอบข้อตกลงสันติภาพสันติภาพได้แก่ การปฏิรูปที่ดิน  การลดการค้ายาเสพติด และการเข้ามามีส่วนร่วมทางการเมืองของอดีตกบฏ

อย่างไรก็ตาม ข้อตกลงสันติภาพโคลอมเบีย ถือเป็นโมเดลแห่งความหวังในการยุติความขัดแย้งที่เกิดขึ้นมาอย่างยาวนานเพื่อที่จะให้ทั้งสองฝ่ายเอาชนะความแตกต่างที่ยากเกินกว่าจะเอาชนะกันได้โดยใช้กระบวนการยุติธรรมเปลี่ยนผ่านและการสร้างความสมานฉันท์ ซึ่งนี่เป็นประเด็นที่ขับเคลื่อนได้ยากมากที่สุดทำให้การเจรจาสันติภาพเกือบจะล่มลงเมื่อช่วงต้นปี 2558โดยกรอบของกระบวนการยุติธรรมเปลี่ยนผ่านไม่ได้มีแต่การนิรโทษกรรมกลุ่มกบฏเท่านั้น แต่รวมไปถึงการลงโทษและการดำเนินดคีอาชญากรรมเพื่อให้เหยื่อที่ได้รับผลกระทบได้เข้าถึงสิทธิในกระบวนการยุติธรรมด้วย โดยการจัดตั้งศาลพิเศษ (The Special Jurisdiction) ซึ่งผสมผสานวิธีการตัดสินของศาลในกรุงเฮก จากการกรณีที่เคยเกิดความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในยูโกสลาเวียและจากคณะกรรมการไต่สวนข้อเท็จจริงและการสร้างความสมานฉันท์ในอาฟริกาใต้  อีกทั้งมีการถอดบทเรียนจากความต้องการของเหยื่อที่ได้รับผลกระทบจากความรุนแรงที่เกิดขึ้นในข้อตกลง Good Fridayในไอร์แลนด์เหนือ

ประธานาธิบดีคนปัจจุบัน ฮวน  มานูแอล ซานโตส กล่าวว่า  ชาวโคลอมเบียพยายามที่จะมีการก่อร่างหรือใช้วิธีการใหม่ในการผสมผสานให้เกิดกระบวนการสันติภาพ  ซึ่งอาจเป็นบางอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นในการเจรจาสันติภาพก็ได้อาจกล่าวได้ว่า ศาลดังกล่าวถือได้ว่าเป็นศาลแห่งสันติภาพ (Peace Court)  ที่ไม่ได้มีการปฏิบัติหรือการดำเนินการที่ไหน ซึ่งประประกอบไปด้วยสองระบบ คือ ระบบแรกจะจัดการกับผู้ที่รับผิดชอบในช่วงแรกของอาชญากรรมที่เกิดขึ้น ระบบที่สอง ดำเนินการเพื่อผู้คนที่ได้รับผลกระทบเข้ามาเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมพิเศษที่ครอบคลุมทั้งการค้นหาความจริง กระบวนการยุติธรรม การฟื้นฟูเยียวยา และการไม่หวนกลับมาเกิดความรุนแรงซ้ำ ซึ่งการดำเนินกระบวนการยุติธรรมเปลี่ยนผ่านดังกล่าวจะต้องเข้ากับข้อปฏิบัติอื่นๆ ของกรอบข้อตกลงสันติภาพสันติภาพได้แก่ การปฏิรูปที่ดิน  การลดการค้ายาเสพติด และการเข้ามามีส่วนร่วมทางการเมืองของอดีตกบฏ

3 ความท้าทาย:ฟิลิปปินส์  พม่า และตุรกี

ฟิลิปปินส์: ก้าวหน้าแต่ยังคงท้าทาย

ปี 2015 ถือเป็นปีที่ กระบวนการสันติภาพมินดาเนาประเทศฟิลิปปินส์ มีความก้าวหน้าและต้องเผชิญกับความท้าทายไปพร้อมๆ กัน  โดยทั้งรัฐบาลฟิลิปปินส์และขบวนการปลดปล่อยอิสลามโมโร หรือ MILF  ไม่ถอยหลังกลับเข้าไปสู่สงครามและความรุนแรงดังที่เกิดขึ้นในรัฐบาลก่อนหน้า แต่ทั้งสองฝ่ายพยายามที่จะยึดถือข้อตกลงหยุดยิงอย่างเคร่งครัด โดยเฉพาะอย่างยิ่งความท้าท้ายเกิดขึ้นหลังจากโศกนาฏกรรมที่เกิดขึ้นจากการปะทะที่เมืองมามาซาปาโน  ระหว่างกลุ่มแนวร่วมปลดปล่อยแห่งชาติโมโร (Moro National Liberation Front – MNLF) และกองกำลังพิเศษฟิลิปปินส์ ทำให้ฝ่ายหลังเสียชีวิตไปกว่า 40 คน กระนั้นก็ตามรัฐบาลและ MILF ได้เดินหน้ากลไกและโครงการต่างๆ เพื่อเปลี่ยนผ่านไปสู่สันติภาพที่ยั่งยืนโดยมุ่งเน้นไปสู่ชีวิตของผู้คนรากหญ้าเพื่อฟื้นฟูชีวิตและความหวังให้กับพวกเขา รวมไปถึงการปฏิรูปสถาบันต่างๆ ที่เกี่ยวข้องเพื่อให้ผู้คนได้ตระหนักถึงคุณค่าของการปกครองตนเองและประชาธิปไตยที่เคารพคุณค่าความหลากหลายของผู้คน

ช่วงปีที่ผ่านมารัฐบาลพยายามเดินหน้าหน้าในการนำข้อตกลงบังซาโมโรฉบับครอบคลุมรอบด้าน (The Comprehensive Agreement on Bangsamoro) ซึ่งเป็นผลจากการเจรจาสันติภาพ ในช่วงรัฐบาลต่างๆ ไปใช้ในการเดินหน้าในการสร้างแผนที่เดินทางเพื่อเดินหน้าไปสู่กระบวนการสันติภาพ แต่เหตุการณ์ปะทะที่เมืองมามาซาปาโน เมื่อวันที่ 25 มกราคม ปี 2558ทำให้กระแสของการสนับสนุนกระบวนการสันติภาพตกลงไป และมีผลต่อความล้าช้าของสภาผู้แทนราษฎรในพิจารณาผ่านร่างกฎหมายพื้นฐานแห่งบังซาโมโร (Bangsamoro Basic Law  หรือ BBL)ในช่วงปลายปี 2558 ซึ่งจะเป็นกลไกและหมุดหมายสำคัญที่จะขับเคลื่อนสันติภาพในภูมิภาคนี้อย่างเป็นรูปธรรม

นอกจากนี้เหตุการณ์ดังกล่าวยังกระทบต่อความรู้สึกของสาธารณชนฟิลิปปินส์ในการสนับสนุนกระบวนการสันติภาพ ถึงกระนั้นรัฐบาลเองที่นำโดยสำนักงานที่ปรึกษาประธานาธิบดีในกระบวนการสันติภาพ หรือ OPAPP (Office of the Presidential Adviser on the Peace Process)ยังคงมุ่งทำงานขับเคลื่อนสันติภาพอย่างต่อเนื่องและให้คำมั่นว่าจะไม่ยอมให้เหตุการณ์ดังกล่าวมากำหนดทิศทาง หรือสร้างผลกระทบต่อกระบวนการสันติภาพ แต่ได้พยายามจัดการกับกรณีโศกนาฏกรรมดังกล่าวสู่กระบวนการยุติธรรมและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างมีประสิทธิผล

ความพยายามในการขับเคลื่อนสันติภาพของรัฐบาลดังกล่าวนั้นก้าวหน้าหลายประการในช่วงปีที่ผ่านมา  ประการแรกคือ การเผยแพร่และให้ข้อมูลเกี่ยวกับร่างกฎหมายพื้นฐานแห่งบังซาโมโรอย่างกว้างขวางทั่วประเทศ  เช่น สถานศึกษาต่างๆ ทั้งวิทยาลัย และมหาวิทยาลัย  การเผยแพร่ร่างกฎหมายทางสื่อมวลชน และมีการให้จัดเวทีรับฟังความคิดเห็นประชาชนกว่า 20 ครั้ง มีการทำงานประสานกันระหว่างสำนักงานตำรวจแห่งชาติและกองกำลังทหารฟิลิปปินส์ในการให้ข้อมูลแก่กองทัพภาค 9 และ ภาค 10 ในพื้นที่ความขัดแย้ง นอกจากนี้ทาง OPAPP ยังได้จัดแถลงข่าวเกี่ยวกับร่างกฎหมายดังกล่าวนี้กว่า 48 ครั้ง

ประการที่สองงานด้านความมั่นคง ในปีนี้เป็นปีที่มีนัยยะสำคัญมากต่อกลุ่มMILF ที่พยายามแสดงความจริงใจในการเดินหน้ากระบวนการสันติภาพในการปลดอาวุธและนักรบ  โดยจัดพิธีปลดอาวุธและนักรบประจำการที่เมืองหนึ่งในจังหวัดมามินดาเนา โดยประธานาธิบดี เบนิกโน อากีโน และเจ้าหน้าที่ระดับสูงเข้าร่วมพิธีดังกล่าว  อีกทั้งมีทีมติดตามและตรวจสอบต่างประเทศ ทั้งนอร์เวย์ บูรไนและตุรกี ร่วมตรวจสอบและเป็นสักขีพยานในพิธีปลดอาวุธนอกจากนี้รัฐบาลพยายามปรับปรุงมีกลไกในการตรวจสอบการติดตามการหยุดยิงจากคณะกรรมการติดตามและตรวจสอบการหยุดยิงซึ่งได้รับการร้องเรียนกว่า 68 กรณี ทำให้สามารถป้องกันความรุนแรงที่จะขยายไป มีเพียงกรณีเดียวเท่านั้นที่เกิดขึ้นที่เมืองมามาซาปาโนที่ความรุนแรงกลับขยายตัวและสร้างแรงเหวี่ยงที่ทำให้กระบวนการสันติภาพถดถอย

 


ประธานาธิบดีเบนนิกโน อากีโน ที่ 3 และ ฮัจญี มูรัด อิบราเฮม ประธานคณะกรรมการกลาง MILF เข้าร่วมเป็นสักขีพยานกระบวนการส่งมอบอาวุธและปลดนักรบของ MILF  (Bangsamoro Islamic Armed Forces) ที่หมู่บ้าน ซิมวย เมืองสุลตาน กุดารัต จังหวัดมากินดาเนา เมื่อวันอังคารที่ 16 มิถุนายนที่ผ่านมา
ที่มา: http://www.gmanetwork.com/news/photo/138882/pnoy-witnesses-milf-decommissioning-in-maguindanao

ส่วนการขับเคลื่อนสันติภาพในระดับพื้นที่ รัฐบาลและหน่วยงานต่างประเทศ ต่างมีความพยายามขับเคลื่อนกลไกในการพัฒนาสังคมและเศรษฐกิจ โดยดำเนินโครงการพัฒนาพื้นค่ายทหารทั้ง 6 แห่งของ MILF ใน 4 จังหวัดด้วยกันคือ มากินดาเนา, นอร์ธโกตาบาโต, ลาเนาเดลซูร์และลาเนาเดลนอร์ธไม่ว่าจะเป็นการจัดให้มีระบบพลังงานแสงอาทิตย์ การพัฒนาระบบชลประทาน และสะพานแขวนในพื้นที่เหล่านี้ การสนับสนุนโรงเรียนประถม 18 โรงเรียน  การช่วยเหลืออดีตนักรบให้สามารถกลับเข้าสู่สังคมนอกจากนี้การพัฒนาได้เกิดขึ้นจากโครงการ Sajahatra Bangsamoro ที่ดำเนินมากว่า 2 ปี ได้สนับสนุนและพัฒนาสุขภาพและชีวิตของผู้คนกว่า 10 หมู่บ้านเกิดสถานีบริการด้านสุขภาพ  มีพยาบาล ศูนย์เลี้ยงเด็ก และศูนย์อุปการะอาหารเด็ก  ตลอดจนสนับสนุนทุนการศึกษาของนักเรียนในโรงเรียนทั้งสามัญและโรงเรียนสอนศาสนา และดูแลอาชีพเกษตรให้กับประชาชนในพื้นที่

นอกจากนี้ มีกระบวนการสำคัญที่เดินทางอย่างต่อเนื่อง คือ กระบวนการยุติธรรมเปลี่ยนผ่านและสร้างความสมานฉันท์ ซึ่งรัฐบาลได้จัดเวทีรับฟังผู้คนกว่า 210 เวที โดยผู้เชี่ยวชาญจากสวิสเซอร์แลนด์เข้ามาจัด “กระบวนการรับฟัง”  ให้กับผู้ได้รับผลกระทบจากความรุนแรง ผู้ไม่ได้รับความยุติธรรมในอดีต ผู้ถูกการละเมิดสิทธิมนุษยชน  เพื่อให้พวกเขาสามารถเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมและเป็นการสร้างความสมานฉันท์ระหว่างผู้คน

พม่า: ข้อตกลงหยุดยิงคือก้าวสำคัญในกระบวนการสันติภาพระยะเริ่มต้น

พม่าเป็นประเทศหนึ่งที่ผ่านความขัดแย้งที่สู้รบด้วยกำลังอาวุธระหว่างรัฐบาลทหารและกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ที่ต้องการปกครองตนเอง นับตั้งแต่พม่าได้เอกราชจากอังกฤษตั้งแต่ปี 2491 (ค.ศ.1948) ความรุนแรงทำให้ ผู้คนหลายหมื่นคนต้องเสียชีวิตและหลายแสนคนต้องอพยพย้ายถิ่นฐาน หลังจากนั้นรัฐบาลทหารก็ดำรงอำนาจของตนเองเอาไว้ กระทั่งไม่กี่ปีที่ผ่านมารัฐบาลทหารพม่าได้ยอมรับกระบวนการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตยและพยายามที่จะแก้ปัญหาความขัดแย้งกับกลุ่มชาติพันธุ์ซึ่งเป็นปัญหาใจกลางของประเทศด้วยกระบวนการสันติภาพ และสร้างความเชื่อมั่นต่อการจัดจัดการเลือกตั้งในพื้นที่ความขัดแย้งต่างๆ

ในปี2558 ที่ผ่านมาเป็นปีที่รัฐบาลพม่าได้บรรลุข้อตกลงหยุดยิงกับกลุ่มชาติพันธ์ 8 กลุ่มด้วยกัน  (ซึ่งเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ส่วนน้อย) หลังจากที่ดำเนินการเจรจาสันติภาพระหว่างกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ มากว่า 2 ปี  ประธานาธิบดีเตงเส่ง ให้ความเห็นในในช่วงของพิธีลงนามในข้อตกลงหยุดยิงว่าการลงนามครั้งนี้เป็นการปูทางไปสู่เส้นทางสันติภาพของพม่าในอนาคต และถือเป็นวันแห่งประวัติศาสตร์ของพม่าที่จะเปิดเส้นทางสายใหม่ให้กับประเทศ เช่นเดียวกับผู้นำกลุ่มติดอาวุธสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง หรือ KNU (The Karen National Union) ที่กล่าวว่ามันเป็นประวัติศาสตร์หน้าใหม่ และเป็นผลผลิตของการเจรจาที่กล้าหาญและมีพลัง นอกจากนั้น กลุ่มต่างๆ ที่ได้ลงนามในตกลงหยุดยิงกับรัฐบาลจะถูกลบออกจากลิสรายชื่อองค์กรผิดกฎหมาย 

 


ข้อตกลงหยุดยิงถือเป็นก้าวแรกในการยุติความขัดแย้งรุนแรงที่มีมากกว่า 3 ทศวรรษ ในพม่า
ที่มา: http://www.aljazeera.com/news/2015/10/myanmar-signs-truce-deal-rebel-groups-151015053859530.html

การมีข้อตกลงหยุดยิง ถือเป็นสิ่งที่ต้องกระทำก่อนที่จะมีการทำข้อตกลงสันติภาพระหว่างคู่ขัดแย้ง ดังนั้นในระหว่างที่มีการถือข้อตกลงหยุดยิง ความเสี่ยงที่จะเกิดความขัดแย้งต่างๆ อาจเกิดขึ้นได้ ก่อนหน้าที่จะเข้าสู่การเจรจาทางการเมืองในช่วงต่อไปที่จะมีความซับซ้อนมากยิ่งขึ้น ในจำนวนของกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ มีกลุ่มขบวนการติดอาวุธที่ใหญ่ที่สุดที่ร่วมเซ็นข้อตกลงหยุดยิง  คือกองกำลังสหชาติว้า (The United Wa State Army) ซึ่งมีสมาชิกราย 25,000 คน ที่กำลังปฏิบัติการอยู่ที่พรมแดนของประเทศจีน ส่วนองค์กรเอกราชคะฉิ่น KIO หรือ (The Kachin Independence Organization) ซึ่งควบคุมพื้นที่ส่วนใหญ่ทางตะวันออกเฉียงเหนือของรัฐคะฉิ่น ไม่ได้เข้ามาร่วมการเซ็นข้อตกลงหยุดยิงครั้งนี้ อีกทั้งได้ปะทะกับรัฐบาลทหารพม่าบ่อยครั้งนับตั้งแต่การเจรจาข้อตกลงหยุดยิงล่มในปี 2554นักวิเคราะห์สถานการณ์ในพม่าแสดงความเห็นว่า ข้อกังวลของการหยุดยิงครั้งนี้ อาจเกิดขึ้นในระเวลาสั้นๆ หากรัฐบาลทหารพม่าเพิกเฉยหรือละเมิดข้อตกลงดังกล่าว และอาจเกิดผลกระทบต่อกระบวนการเลือกตั้งในพื้นที่ความขัดแย้ง      

ตุรกี: ความรุนแรงจาก “ภายนอก” ส่งผลกระบวนการสันติภาพ “ภายใน”

ประเทศตุรกี เป็นประเทศที่มีความขัดแย้งระหว่างรัฐบาลตุรกีและชนกลุ่มน้อยชาวเคิร์ดมากว่าสามทศวรรษแต่ได้บรรลุผลข้อตกลงในช่วงสองปีที่ผ่านมา ช่วงเดือนกรกฎาคม2558ข้อตกลงหยุดยิงระหว่างรัฐบาลตุรกีกับพรรคแรงงานเคิร์ดประสบความล้มเหลว ทำเกิดการปะทะกันทางอาวุธและเกิดการแตกแยกทางการเมืองภายในขึ้น ผลจากความรุนแรงทำให้มีผู้เสียชีวิตกว่า 550 คน  กว่า 150 คนเป็นทนายความปกป้องสิทธิมนุษยชนชาวเคิร์ด  แม้หลังจากมีการเลือกตั้งรัฐบาลใหม่เมื่อเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา  ความไม่ไว้วางใจยังคงระหว่างรัฐบาลและชาวเคิร์ด อีกทั้งภาวะการนำของขบวนการเคิร์ดยังไม่มีความชัดเจนว่าอำนาจดังกล่าวจะตกอยู่ที่ใครระหว่างพรรคประชาชนประชาธิปไตย Peoples’ Democratic Party ของชาวเคิร์ดที่เคลื่อนไหวในสภาและกลุ่มติดอาวุธ PKK (The Kurdistan Workers' Party)

ความรุนแรงในครั้งนี้เกิดขึ้นโดยเป็นผลจากปรากฏการณ์ความซับซ้อนที่เกิดขึ้นจากความขัดแย้งในซีเรียที่ทำให้ความขัดแย้งระหว่างรัฐบาลตุรกีและชาวเคิร์ดที่ดำรงอยู่แต่เดิมยืดยาวออกไปโดยรัฐบาลมีความเคลือบแคลงว่าพรรคสหภาพประชาธิปไตย หรือ Democratic Union Party (PYD) ซึ่งเป็นปีกการเมืองของ PKK จะมีความก้าวหน้าเคลื่อนไหวโดยสนับสนุนกลุ่มติดอาวุธ PKK  ต่อต้านกลุ่ม IS ในดินแดนทางตอนใต้ของตุรกี  ทั้งๆที่ตุรกีก็ให้ความสนับสนุนสหรัฐในการต่อต้านกลุ่ม IS อยู่แล้ว นักวิเคราะห์แสดงความเห็นว่าตุรกีต้องการที่หยุดยั้ง PKK ในการโจมตีกลุ่ม IS  ซึ่งตุรกีมองว่าการเคลื่อนไหวของ PKK จะเป็นการบดบังศักยภาพของตุรกีในการต่อต้าน IS แต่ส่วนหนึ่งวิเคราะห์ว่า ตุรกีได้ใช้โอกาสนี้ในการโจมตีกลุ่ม PKK ซึ่งเป็นศัตรูของตุรกีอยู่แล้วแต่เดิม

นับตั้งแต่เดือนพฤษภาคม2558 รัฐบาลตุรกีได้พุ่งเป้าโจมตีนักเคลื่อนไหวชาวเคิร์ด อีกทั้งมีเหตุระเบิดฆ่าตัวตายกลางกรุงอังการาในขณะที่มีการเดินประท้วงที่สันติของประชาชน สิ่งเหล่านี้ยิ่งทำให้ชาวเคิร์ดมีความรู้สึกว่ารัฐบาลตุรกี ไม่ได้ให้ความปลอดภัยแก่พวกเขา แต่กลับขยาย ความรุนแรง โดยอ้างการจัดการต่อต้าน IS ภายในประเทศ ความแตกแยกดังกล่าวไม่ได้เพียงเป็นการสะท้อนให้เห็นถึงข้อบาดหมางทางสังคมระหว่างชาวเคิร์ดและชาวตุรกีเท่านั้น  แต่ยิ่งขยายความเปราะบางระหว่างความแตกต่างระหว่างชาติพันธุ์ ศาสนาซึ่งมีอยู่แล้วแต่เดิม

ชาวเคิร์ดร่วมขบวนเดินประท้วงรัฐบาลตุรกี หลังจากรัฐบาลตุรกีใช้อาวุธโจมตีกลุ่มติดอาวุธเคิร์ด PKK ทั้งทางบกและทางอากาศ เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2558 ที่ผ่านมา
ที่มา: http://www.dailymaverick.co.za/article/2015-12-17-icg-the-unbearable-urgency-of-resuming-turkeypkk-peace-talks/

สถานการณ์อาจเลวร้ายลง เนื่องจากรัฐบาลใหม่ประกาศว่าจะไม่เริ่มกระบวนการพูดคุยกับหัวหน้ากลุ่มติดอาวุธ คือ นาย Abdullah Öcalan ซึ่งปัจจุบันถูกจองจำอยู่ในคุก  แต่กลับไปเน้นที่ยุทธศาสตร์ในการต่อต้าน PKK  ทำให้กระทบต่อโครงสร้างนโยบายหลายอย่างต่อชาวเคิร์ด เช่น การปฏิรูปด้านสิทธิของชาวเคิร์ด การจำกัดการเข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการทางการเมืองของขบวนการเคิร์ด  และการแก้ไขปัญหาชนกลุ่มน้อยชาวเคิร์ดโดยวิธีทางกฎหมายอื่นๆ  สิ่งเหล่านี้ทำให้เกิดความเสี่ยงที่จะนำมาสู่ความรู้สึกชาตินิยม จนกระทั่งใช้อาวุธต่อสู้กัน  อย่างไรก็ตามนักวิเคราะห์ได้ให้ความเห็นว่าการพิจารณาในการทบทวนข้อตกลงหยุดยิงอาจเกิดขึ้นใหม่อีกครั้งและการพูดคุยสันติภาพอาจเกิดขึ้น หลังจากที่สงครามในซีเรียเริ่มสงบลง เพราะศูนย์กลางของความรุนแรงนั้นยังคงอยู่ที่ประชาชนภายในประเทศ รวมทั้งมีข้อเสนอแนะว่ารัฐบาลใหม่ควรจะหยิบยกความต้องการของชาวเคิร์ดทั้งในเรื่องสิทธิด้านต่างๆ  ส่วนผู้นำ PKK ควรจะต้องลดความแข็งกร้าวทางการเมือง ที่จะนำไปสู่การท้าทายต่อความคิดและความรู้สึกของนักการเมืองและชาวตุรกี

อาจกล่าวได้ว่า ปี 2558  ที่ผ่านมานี้  หากมองในภาพรวมถือว่าเป็นปีที่ค่อนข้างมีความท้าทาย เนื่องจากความรุนแรงในหลายพื้นที่ยังเกิดคงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในภูมิภาควันออกกลางและอาฟริกาเหนือ ก่อให้เกิดปัญหาต่างๆ ที่เกี่ยวเนื่องตามมาและมีผลกระทบต่อภูมิภาคอื่นๆ  เช่น ปัญหาผู้อพยพ  ปัญหาแตกแยกทางศาสนา อย่างไรก็ตาม เราได้เห็นกระบวนการสันติภาพในหลายประเทศที่พยายามคลี่คลายปัญหาความขัดแย้งชุดเก่าที่เกิดขึ้นมาหลายทศวรรษ จากตัวอย่างหลายความขัดแย้งสามารถที่จะคลี่คลายไปได้ ส่วนหนึ่งเกิดจากการเติบโตของอำนาจของประเทศในภูมิภาคต่างๆ ทำให้มีโอกาสในการสร้างสรรค์วิธีทางใหม่ๆ ในการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งและอาจต้องมาจากความร่วมมือจากหลากหลายตัวแสดง ดังตัวอย่างการสร้างสันติภาพข้างต้นที่จะต้องได้รับการความช่วยเหลือจากประเทศหรือจากองค์กรต่างๆ ที่เกี่ยวข้องมากขึ้นกว่าในอดีต

 

อ้างอิง

BBC NEWS. What is at stake in the Colombian peace process?  [Online].  2015 .Available from: http://www.bbc.com/news/world-latin-america-19875363

BBC NEWS. Myanmar signs peace deal with armed rebel groups [Online].  2015 .Available from: http://www.bbc.com/news/world-asia-34536002

Foreign Policy. 10 Wars to Watch in 2015  [Online]. 2015 .Available from: https: http://foreignpolicy.com/2015/01/02/10-wars-to-watch-in-2015/

International Crisis Group. A Sisyphean Task? Resuming Turkey-PKK Peace Talks [Online]. 2015.Available from: www.icg.org

International Crisis Group. Myanmar’s Peace Process:A Nationwide Ceasefire Remains Elusive [Online]. 2015 .Available from:www.icg.org

Institute for Economics and Peace. 2015 Global Peace Index [Online]. 2015 .Available from: www.visionofhumanity.org/indexes/global-peace-index/2015

OPAPP.2015, a productive but difficult year for the Bangsamoro peace process [Online]. 2015.Available from: http://www.opapp.gov.ph/milf/news/2015-productive-difficult-year-bangsamoro-peace-process

The Guardian. Colombia peace deal with Farc is hailed as new model for ending conflicts  [Online].  2015.Available from: http://www.theguardian.com/world/2015/sep/26/colombia-farc-peace-santos

 

หมายเหตุ: เผยแพร่ครั้งแรกใน www.deepsouthwatch.org
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท