Skip to main content
sharethis

กสม. จัดโครงการฝึกอบรมวิทยากรกระบวนการด้านสิทธิมนุษยชนแก่อาจารย์และบุคลากรทางการศึกษาภาคเหนือ 13 แห่ง ดึงสถาบันอุดมศึกษาร่วมเคลื่อนงานสิทธิระดับภูมิภาค

วัส ติงสมิตร 

19 ม.ค. 2559 รายงานข่าวจากสำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ(กสม.) แจ้งว่า เมื่อวันที่ 18 ม.ค. ที่ผ่านมา  ที่โรงแรมคุ้มภูคำ จังหวัดเชียงใหม่ สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ  จัดโครงการฝึกอบรมวิทยากรกระบวนการด้านสิทธิมนุษยชน (ภาคเหนือ) ระหว่างวันที่ 18 – 21 มกราคม 2559 ให้แก่อาจารย์และบุคลากร ทางการศึกษากว่า 60 คน จากสถาบันอุดมศึกษาภาคเหนือ 13 แห่ง ได้แก่ 1) มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ 2) มหาวิทยาลัยพายัพ 3) มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง  4) มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย 5) มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ 6) มหาวิทยาลัยนเรศวร  7) มหาวิทยาลัยพะเยา 8) มหาวิทยาลัยแม่โจ้  9) มหาวิทยาลัยราชภัฏกำแพงเพชร 10) มหาวิทยาลัยราชภัฏพิบูลสงคราม 11) มหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบูรณ์ 12) มหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง และ 13) มหาวิทยาลัยราชภัฏอุตรดิตถ์

โดยพิธีเปิดในวันแรก นายวัส ติงสมิตร  ประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติเป็นประธานกล่าวเปิดโครงการและกล่าวบรรยายเรื่อง ‘ทิศทางการดำเนินงานของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ’ ใจความว่า คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ชุดปัจจุบันมีแนวทางในการดำเนินงานโดยสรุป 4 ประการ ได้แก่ 1. พัฒนาองค์กรให้มีประสิทธิภาพ 2. ระดมพลังภาคีเครือข่าย ภาครัฐ เอกชน ประชาสังคม รวมทั้งภาคการศึกษา 3. เสนอแนะและปรับปรุงกฎหมาย 4. เสริมสร้างองค์ความรู้ความเข้าใจในหลักสิทธิมนุษยชนของประชาชน นอกจากนั้นยังมีแผนการดำเนินงานในระยะกลาง โดยจะเน้นการดำเนินงานด้านการส่งเสริมสิทธิมนุษยชนให้มากขึ้นควบคู่ไปกับการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน ซึ่งจะปรับปรุงระบบการรับเรื่องร้องเรียนจากประชาชนและการพิจารณาเรื่องร้องเรียนให้รวดเร็วมากยิ่งขึ้น ส่วนแผนในระยะยาวนั้น อาจมีการขยายสำนักงานสาขาไปในส่วนภูมิภาคเพื่อให้ความช่วยเหลือแก่ประชาชนในพื้นที่ห่างไกล

นางฉัตรสุดา จันทร์ดียิ่ง กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวว่า กสม. ให้ความสำคัญในการดำเนินงานร่วมกับสถาบันการศึกษาเป็นอย่างยิ่ง โดยในอนาคตต้องการผลักดันให้เกิดหลักสูตรสิทธิมนุษยชนศึกษาแก่เยาวชนตั้งแต่ระดับอนุบาลถึงระดับอุดมศึกษา จึงจำเป็นต้องได้รับความร่วมมือจากสถาบันอุดมศึกษาในเรื่องดังกล่าว

ขณะที่นางเตือนใจ ดีเทศน์  กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวเพิ่มเติมว่า สิ่งสำคัญที่ต้องการให้เกิดขึ้นในระบบการเรียนการสอน คือ การที่นักศึกษาโดยเฉพาะอย่างยิ่งนักศึกษากฎหมายได้มีโอกาสเรียนรู้และเข้าใจเรื่องสิทธิมนุษยชนกับชุมชนนอกเหนือจากการเรียนในตำรา

ทั้งนี้ โครงการดังกล่าว เป็นโครงการสืบเนื่องจากการจัดทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือด้านสิทธิมนุษยชนระหว่างสำนักงาน กสม.และสถาบันอุดมศึกษาทั่วประเทศ 50 แห่ง โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อฝึกฝนการเป็นวิทยากรกระบวนการด้านสิทธิมนุษยชนแก่อาจารย์และบุคลากรทางการศึกษา เพื่อให้เกิดประโยชน์ท้ายที่สุดในการถ่ายทอดความรู้และสร้างความตระหนักเรื่องสิทธิมนุษยชนแก่นิสิต นักศึกษาซึ่งจะเป็นพลังสำคัญของชาติ ในการขับเคลื่อนงานด้านการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนในสังคมต่อไป

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net