Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis



หลายครั้งที่เรารู้สึกรำคาญหรือขัดข้องใจที่ข้อมูลที่ไม่พึงประสงค์ของเราหรือญาติพี่น้องของเราถูกผลิตซ้ำแล้วซ้ำอีกทั้งๆที่เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนั้นได้ยุติแล้วหรือได้พิสูจน์แล้วว่าเป็นข้อมูลที่คลาดเคลื่อนหรือเป็นการเข้าใจผิด แต่มีการเผยแพร่ผ่านสื่อหลายช่องทางรวมทั้งโซเชียลเน็ตเวิร์ก

สิทธิที่จะถูกลืม(Right to be Forgotten)เป็นสิทธิใหม่ที่เกิดขึ้นในปัจจุบันที่ข้อมูลข่าวสารถูกผลิตซ้ำผ่านสื่อหลากหลายช่องทาง หรือปรากฏซ้ำข้ามวันข้ามคืนนานเป็นปีๆ แม้ว่าภาพหรือข่าวเหล่านั้นได้ถูกพิสูจน์อย่างแน่ชัดแล้วว่าถึงจุดสิ้นสุดของกระบวนการยุติธรรมแล้วว่าเราหรือญาติของเราไม่มีความผิด แต่สื่อทั้งหลายไม่ได้เผยแพร่ข้อมูลข่าวสารอย่างเพียงพอต่อการประกาศความบริสุทธิ์และมิหนำซ้ำไม่ได้ลบข้อมูลข่าวสารที่อาจสร้างความเข้าใจผิดต่อผู้บริสุทธิ์ เพื่อให้ผู้ต้องหา ผู้ต้องสงสัยหรือจำเลยถูกลืมข่าวเชิงลบนี้ไปจากสังคมเพื่อเป็นการให้โอกาสในการเริ่มต้นชีวิตใหม่

เมื่อปี 2557 ที่ผ่านมาศาลยุติธรรมแห่งสหภาพยุโรป(Court of Justice of the European Union)ได้มีคำพิพากษาที่สำคัญและเป็นมาตรฐานเกี่ยวกับเรื่องสิทธิที่จะถูกลืมไว้อย่างน่าสนใจมาก ซึ่งคดีที่ว่าก็คือคดีที่นายMario Costeja Gonzalez ทนายความชาวสเปนผู้ซึ่งมีปัญหาทางการเงินอย่างหนัก เมื่อปี 2541 เขาถูกบังคับให้ชำระหนี้ด้วยการนำเอาอสังหาริมทรัพย์ออกมาขาย โดยหนังสือพิมพ์ La Vanguardia ในแคว้นคาตาลันของสเปนฉบับที่ตีพิมพ์ในเดือนมกราคมและมีนาคมปี2541ได้ลงรายละเอียดแทบทุกอย่างของเขารวมทั้งหนี้สินและเอกสารกฎหมายทั้งในฉบับที่เป็นสิ่งพิมพ์และแบบออนไลน์

เมื่อหนี้สินของเขาหมดไป เขาต้องการเดินหน้าและลืมเรื่องเก่าของเขาที่อาจส่งผลกระทบต่อเขา แต่ปัญหาก็คืออินเตอร์เน็ตไม่ยอมลืมด้วย ทุกครั้งที่เขาพิมพ์ชื่อตัวเองลงในกูเกิล(Google) ข่าวข้อมูลเกี่ยวกับการขายทอดตลาดสมบัติของเขายังคงอยู่ไม่เปลี่ยนแปลง เขาต้องการกู้ชื่อเสียงของเขาด้วยการขอให้หนังสือพิมพ์ลบเนื้อหาและขอให้กูเกิลลบลิงก์เหล่านั้นออก แต่กูเกิลไม่ยอมเขาจึงต้องไปร้องเรียนต่อสำนักงานคุ้มครองข้อมูลของสเปน(AEPD-Agencia Espanola de Protection de Datos)ซึ่งAEPDเห็นว่าหนังสือพิมพ์มีสิทธิ์ตามกฎหมายที่จะเก็บข้อมูลฉบับตีพิมพ์ไว้(lawfully published)แต่มีคำสั่งให้ กูเกิลลบลิงก์เหล่านั้นออก แต่กูเกิลได้อุทธรณ์ต่อศาลสเปนซึ่งศาลสเปนได้ส่งต่อไปยังศาลยุติธรรมแห่งสหภาพยุโรปหรือECJ และECJได้มีคำพิพากษาโดยยึดบรรทัดฐานการปกป้องข้อมูลของสหภาพยุโรปในปัจจุบันที่ว่าผู้ให้บริการสืบค้นข้อมูลอินเตอร์เน็ตมีความรับผิดชอบในการประมวลผลข้อมูลส่วนบุคคลดังกล่าว(ที่มา : PRESS RELEASE No70/14,Luxemburg,13 May 2014 – Judgment in case C – 131/12)

จากคำพิพากษาดังกล่าวจะเห็นได้ว่าเมื่อประชาชนมีสิทธิเรียกร้องให้เว็บค้นหาข้อมูลทั้งหลายแก้ไขหรือลบหรือซ่อน(ไม่ให้ค้นหาได้โดยตรง)ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับตนเองได้หากเป็นข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง ไม่ครบถ้วน ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องหรือเคยมีส่วนเกี่ยวข้องแต่เป็นอดีตไปแล้ว ซึ่งคำพิพากษานี้ชี้ให้เห็นว่าปัจเจกบุคคลมีสิทธิสูงสุดในการควบคุมข้อมูลเกี่ยวกับตนเอง อย่างไรก็ตามศาลอาจอนุญาตให้มีการเปิดเผยข้อมูลที่ได้รับการคุ้มครองไว้ก็ได้หากสามารถพิสูจน์ได้ว่าสิ่งที่เปิดเผยออกมานั้นเป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ ดังเช่น กรณีหมิ่นประมาทโดยโดยหากผู้ถูกกล่าวหาว่าหมิ่นประมาทพิสูจน์ได้ว่าเรื่องนั้นเป็นความจริงและไม่ใช่เรื่องส่วนตัวอีกทั้งเป็นประโยชน์กับประชาชน เป็นต้น


มองเขาแล้วมองเรา

ในขณะที่สหภาพยุโรปมีความก้าวหน้าถึงการมีสิทธิที่จะถูกลืมแล้ว แต่ไทยเรากลับมีทิศทางไปในทางตรงกันข้าม ไม่ว่าจะเป็นการร่างรัฐธรรมนูญที่ลดทอนสิทธิต่างๆลงจากเดิมในรัฐธรรมนูญปี 40และ50 มิหนำซ้ำยังมีการพยายามที่จะบรรจุข้อมูลส่วนบุคคลแทบทุกอย่างลงในสิ่งที่เรียกว่า “สมาร์ทการ์ด”ในรูปแบบของบัตรประชาชนที่เป็นของรัฐ ทั้งๆที่พระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ.2540 หมวด 3 ได้บัญญัติเรื่อง “ข้อมูลข่าวสารส่วนบุคคล”ไว้ว่า หน่วยงานของรัฐที่มีข้อมูลส่วนบุคคลของประชาชนจะต้องจัดให้มีระบบข้อมูลข่าวสารส่วนบุคคลเพียงเท่าที่เกี่ยวข้องและจำเป็นเพื่อให้การดำเนินงานของหน่วยงานของรัฐให้สำเร็จตามวัตถุประสงค์เท่านั้น

ที่สำคัญก็คือข้อมูลข่าวสารส่วนบุคคล เช่น ชื่อ นามสกุล อายุ เพศ ที่อยู่ หรือรายละเอียดในการติดต่ออื่นๆ เช่น สถานที่ทำงาน รายงานทางการแพทย์ ประวัติอาชญากรรม ประวัติทางการเงิน ฯลฯ นั้น ในมาตรา 24 ของ พรบ.ข้อมูลข่าวสารฯยังบัญญัติไว้อย่างชัดเจนว่าหน่วยงานของรัฐจะเปิดเผยข้อมูลข่าวสารส่วนบุคคลที่อยู่ในการควบคุมดูแลของตนต่อหน่วยงานอื่นหรือผู้อื่นโดยปราศจากความยินยอมเป็นหนังสือของเจ้าของข้อมูลที่ให้ไว้ล่วงหน้าหรือในขณะนั้นมิได้ เว้นแต่จะเป็นไปเพื่อประโยชน์ของภาครัฐตามที่กฎหมายกำหนดไว้ และในมาตรา 23 วรรคสามยังบัญญัติไว้อีกว่าหน่วยงานของรัฐต้องแจ้งให้เจ้าของข้อมูลทราบในกรณีมีการจัดส่งข้อมูลข่าวสารส่วนบุคคลไปยังที่ใดซึ่งจะเป็นผลให้บุคคลทั่วไปทราบข้อมูลข่าวสารนั้นได้ เว้นแต่เป็นไปตามลักษณะการใช้ข้อมูลตามปกติเท่านั้น

อย่าลืมนะครับว่าข้อมูลข่าวสารส่วนบุคคลนั้นอาจสร้างผลร้ายและผลกระทบต่อบุคคลที่เกี่ยวข้องได้ โดยอาจทำลายชีวิตของคนๆหนึ่งได้ ฉะนั้น จึงถึงเวลาแล้วที่เราจะต้องหันมาพิจารณาถึงเรื่องข้อมูลข่าวสารส่วนบุคคลกันอย่างจริงจัง ซึ่งก็หมายความรวมถึง “สิทธิที่จะถูกลืม(Right to be Forgotten)” ด้วยนั่นเอง

 

 

หมายเหตุ เผยแพร่ครั้งแรกในกรุงเทพธุรกิจฉบับประจำวันพุธที่ 20 มกราคม 2559

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net