Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis


การใช้ความรุนแรงบนท้องถนนทวีมากขึ้นกว่าเดิมมาก กรณีของ“ดีเจเก่ง”เป็นเพียงหนึ่งในหลายร้อยหลายพันรายที่เกิดขึ้นจนอาจจะกล่าวได้ว่าเราที่ใช้ถนนอยู่ก็มีโอกาสจะพบกับเหตุการณ์เช่นนี้ได้เท่าๆ กันทุกคน

อะไรเกิดขึ้นในสังคมไทย อะไรเกิดขึ้นบนท้องถนนของเมืองไทย

เราอาจจะกล่าวโทษโดยรวมๆ ได้ว่า เพราะคนไทยในปัจจุบันไม่มีน้ำใจต่อกันแล้ว ทุกคนจึงไม่ยอมกัน แม้ในเรื่องไม่ยากเย็นนัก เช่นปล่อยให้รถที่ปาดหน้ามาเข้าเลนได้ แต่การยกสาเหตุทั้งหมดไปที่ความเปลี่ยนแปลงของน้ำใจผู้คนไม่เพียงพอต่อการทำความเข้าใจและการมองหาทางออกจากปัญหานี้

เราจะเข้าใจปรากฏการณ์นี้ได้จากการมองจาก 2 ด้านด้วยกัน ด้านแรก ได้แก่ ความหมายของ “ท้องถนน” ในสังคมไทยปัจจุบัน อีกด้านหนึ่งได้แก่ ความหมายของ “ตัวตน” ในพื้นที่สาธารณะ

ในสังคมบางสังคมเช่นญี่ปุ่น การละเมิด การแสดงอารมณ์ส่วนตัว ตัวตนในพื้นที่สาธารณะเช่นถนน เป็นเรื่องที่เสื่อมเสียเกียรติยศและศักดิ์ศรีอย่างมาก แต่สำหรับสังคมไทยกลับเป็นตรงกันข้ามการละเมิด การแสดงอารมณ์ส่วนตัว ตัวตนในที่สาธารณะกลับเป็นเครื่องหมายแสดงความเหนือกว่าทางชนชั้น

เหตุผลที่เป็นเช่นนี้ ก็เพราะว่าในทุกพื้นที่ทางสังคมของไทยถูกกำกับด้วยลำดับชั้นอย่างหนาแน่น และเหนียวแน่น จนผู้คนไม่กล้าที่จะแสดงอะไรที่เป็นตัวตนตนเองแม้ในที่ประชุมต่างๆ คนไทยก็ไม่กล้าที่จะแสดงความคิดเห็นของตนเพราะกลัวผู้ใหญ่

ขณะเดียวกันในชีวิตปัจจุบันของคนไทยต้องใช้เวลาเดินทางบนถนนมากและยาวนานขึ้น “ท้องถนน”ได้กลายเป็นความหมาย “พื้นที่สาธารณะที่ว่างเปล่า” จากลำดับชั้นทางสังคม พร้อมกันนั้นที่สำคัญก็คือคนไทยส่วนใหญ่ที่ขับรถอยู่ในวันนี้ “ขับรถไม่เป็น” แม้ว่าจะสอบได้ใบขับขี่แล้วก็ตาม (อย่างที่ทุกคนรู้กันนะครับว่า สอบใบขับขี่เมืองไทยนั้นง่ายดายนัก ดังนั้นการมีใบขับขี่ไม่ได้หมายความว่าขับรถเป็น การ “ขับรถเป็น” หมายถึงการมีจินตนาการเชื่อมรถตนเองกับการจราจรทั้งหมด ผมเคยเขียนเรื่องนี้แล้วเมื่อหลายปีก่อน วันหลังจะค้นมาขยายปรับปรุงครับ) จึงทำให้ความตึงเครียดทวีมากขึ้นมาก

ความตึงเครียดบนท้องถนนที่เป็น“พื้นที่สาธารณะที่ว่างเปล่า”จึงซับซ้อนมากขึ้นคนที่ขับรถไม่เป็นจำนวนมาก ก็จะบังคับรถไปตามสัญชาติญานของการบังคับรถให้เดินหน้า ถอยหลังตามสามัญสำนึก คนที่ขับรถเป็นแต่ต้องการแสดงเอาเปรียบในพื้นที่สาธารณะ ก็พร้อมที่จะทำทุกวิถีทางเพื่อที่จะช่วงชิงความได้เปรียบตามแรงปรารถนาของตน ส่วนคนขับรถเป็นที่เข้าใจและอยากจะรักษาระบบการจราจรไว้ ก็จะรู้สึกโกรธและพร้อมที่จะแสดงความรุนแรงต่อคนขับรถไม่เป็นที่ทำตัว/รถกีดขวางการจราจรอย่างไม่รู้สารู้สมอะไร

ความต้องการความไว (Speed) ในการเดินทางในชีวิตประจำวันของคนแต่ละกลุ่มบนท้องถนนที่ซ้อนทับกัน กับการขับรถเป็น/ไม่เป็น เห็นแก่ตัว/ไม่เห็นแก่ตัว ยิ่งทำให้ความตึงเครียดบนท้องถนนเพิ่มสูงมากขึ้นและทวีทับถมกัน จนการขับรถในแต่ละวันเหมือนการออกไปสู่สภาวะเผชิญภัยประจำวันกันแล้ว

เมื่อความตึงเครียดกลายเป็นพื้นฐานของการใช้ชีวิตบน “พื้นทีสาธารณะที่ว่างเปล่า” และไม่มีลำดับชั้นทางสังคมมากำกับ (คนขี่เบนซ์อาจจะอยู่ในระดับชั้นที่สูงกว่าแต่ชั้นของเขาไม่เกี่ยวกับเรา เพราะเราไม่ได้เป็นลูกน้องเขา) จึงทำให้การปะทุของการใช้ความรุนแรงตามแรงขับด้านดิบของมนุษย์จึงเกิดได้ง่ายมากขึ้น

อีกด้านหนึ่ง ได้แก่ความหมายของ "ตัวตน"ในพื้นที่สาธารณะ กล่าวคือคนไทยจำนวนมากที่ถูกกดดันจากลำดับชั้นทางสังคมในพื้นที่อื่นๆ เช่นพื้นที่การทำงานก็พร้อมที่จะแสดง “ตัวตน” ในพื้นที่ถนน เพราะท้องถนนเป็น “พื้นที่สาธารณะที่ว่างเปล่า” จึงทำให้เกิด “ความเสมอภาค” ขึ้นบนท้องถนน

คนที่ไปได้ไกลกว่า เร็วกว่า กลายเป็น “ตัวตน” ของผู้มีศักยภาพบนพื้นที่ถนน และเป็น “ตัวตน”ที่อวดอ้างข้ามพรมแดนของชนชั้นทางสังคมได้ สำหรับลูกคนรวยการครอบครองรถดี/ราคาแพงและขับด้วยความเร็วสูงกว่าคนอื่น ก็เป็นการยืนยันความเหนือกว่าอีกด้านหนึ่งของลำดับชั้นทางสังคม และช่วงชิงความเหนือกว่าภายในชนชั้นของตนเอง

คนชั้นกลางทั่วไปที่จำเป็นต้องใช้รถก็พยายามขับอย่างระมัดระวัง (แม้ว่าจะขับรถเป็นบ้างไม่เป็นบ้าง) ต่างก็ประสบกับปัญหาความตึงเครียดนี้ทุกผู้ทุกคนแต่ทางออกก็ทำได้แค่ก่นประณามคนช่วงชิงความได้เปรียบเช่นนี้ภายในรถตนเอง (ซึ่งก็ทำให้คนนั่งข้างๆ เช่นสามีหรือภรรยาเกิดความเครียดตามไปด้วย..ฮา)

ทางออกจากปัญหา “ความตึงเครียดและความรุนแรง” บนท้องถนน จึงจำเป็นที่จะต้องทำให้เกิดการสร้าง/รื้อฟื้น/บังคับใช้กฎการจราจรทั้งหมดให้เหมาะสม และทำให้ซึมลึกเข้าไปอยู่ในระบบอารมณ์ความรู้สึกนึกคิดของผู้คน เช่นการออกใบอนุญาตการขับขี่ต้องละเอียดและพิถีพิถันมากกว่านี้ ซึ่งจะทำให้คนรู้สึกว่าถนนเป็นเรื่องของการจัดความสัมพันธ์ทางสังคม ไม่ใช่แค่ฉันบังคับรถเป็นก็ได้ใบขับขี่แล้ว

สังคมทั้งหมดต้องทำให้ถนนไม่ใช่ “พื้นที่สาธารณะที่ว่างเปล่า” หากแต่เป็นพื้นที่ส่วนรวมที่เราทุกคนต้องดูแลให้การจราจรเดินไปได้อย่างดีโดยที่เราแต่ละคนจะไม่เป็นปัญหาให้แก่การจราจรของส่วนรวม



เผยแพร่ครั้งแรกใน คอลัมน์ ใต้กระแส กรุงเทพธุรกิจ
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net