บทความดิอิโคโนมิสต์ ว่าด้วยการดิ้นรนของคนหนุ่มสาวยุค 'มิลเลนเนียล'

ถึงแม้ว่าสื่ออื่นๆ หลายแห่งเน้นนำเสนอเรื่องคนหนุ่มสาวยุค 'มิลเลนเนียล' ในแง่มุมเชิงวิพากษ์วิจารณ์พฤติกรรม แต่บทความในดิอิโคโนมิสต์ ชวนให้มองในแง่เศรษฐกิจ โอกาสทางการศึกษา และโอกาสทางการงาน ที่คนหนุ่มสาวทั่วโลกยังคงถูกปิดกั้นจากคนที่อาวุโสกว่า

ที่มาของภาพประกอบ: ITU Pictures/Flickr.com/CC BY 2.0

นิตยสารดิอิโคโนมิสต์ฉบับวันที่ 23 ม.ค. 2559 นำเสนอเรื่องราวความยากลำบากที่คนหนุ่มสาวรุ่นปัจจุบันต้องประสบ ในขณะที่ผู้ใหญ่ส่วนหนึ่งมองแบบเหมารวมว่าเยาวชนในยุคสมัยหลังคริสตศตวรรษ 2000 หรือ 'มิลเลนเนียล' (Millennials) เป็นพวกรักสบาย แต่ก็มีการชวนให้มองในอีกแง่มุมหนึ่งว่าเยาวชนในยุคสมัยนี้ก็ต้องเผชิญกับปัญหาต่างๆ คนละรูปแบบจากคนรุ่นก่อนด้วยบริบทแวดล้อมในปัจจุบัน เช่น ปัญหาการว่างงาน หรือปัญหาการที่คนรุ่นใหม่ถูกปิดกั้นความสามารถในการเติบโตในหน้าที่การงานหรือทางเศรษฐกิจซึ่งหลายครั้งผู้สร้างปัญหาหรือเงื่อนไขโครงสร้างให้เกิดปัญหาเหล่านี้มาจากตัวผู้ใหญ่รุ่นก่อนๆ เอง

โรเบิร์ต เกสต์ บรรณาธิการดิอิโคโนมิสต์ในอเมริการะบุว่าหนุ่มสาวยุคมิลเลนเนียลเป็นกลุ่มประชากรรุ่นที่มีการศึกษาดีที่สุด แต่คนมีอายุรุ่นก่อนๆ ก็มักจะทำให้พวกเขาไม่สามารถแสดงให้เห็นประสิทธิภาพของพวกเขาอย่างเต็มที่ได้

บทความของเกสต์ระบุถึงกรณีของเฉินเชี่ยง หนึ่งในคนงานก่อสร้างที่จีนผู้มีสภาพชีวิตความเป็นอยู่ย่ำแย่ เขาต้องนอนในลังขนส่งร่วมกับแรงงานคนอื่นๆ เฉินเชี่ยงเป็นคนที่ต้องออกจากบ้านเกิดในชนบทเพื่อมาเป็นแรงงานในเมืองถือเป็นพลเมืองชั้นสองของประเทศจีน เขาไม่สามารถหาที่อยู่เป็นหลักแหล่งในเมืองได้เนื่องจากการจดทะเบียนครัวเรือนที่เรียกว่า 'ฮู่โขว' (Hukou) อีกทั้งยังถูกปิดกั้นโอกาสทางการศึกษา เฉินเชี่ยงบอกว่าเขามีแผนการจะแต่งงานให้เร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้ แต่เขาก็ถูกครอบครัวฝ่ายหญิงกีดกันเมื่อไม่มีเงินมากพอ ทำให้เฉินเชี่ยงรู้สึกว่าเขาไม่ได้รับความเป็นธรรมในชีวิต

เฉินเชี่ยงเป็นแค่ตัวอย่างหนึ่งของประชากรวัยหนุ่มสาวอายุ 15-30 ปี ที่มีอยู่ 1,800 ล้านคนทั่วโลกหรือราว 1 ใน 4 ของประชากรทั้งหมด เหล่าบริษัททั้งหลายจะมองเรื่องของคนสมัย 'มิลเลนเนียล' ไปในแค่การที่พวกเขาเป็นกลุ่มลูกค้าและการใช้พวกเขาทำงาน ส่วนนักวิชาการที่เขียนบทความในสื่อหลายแห่งก็มักจะบ่นว่าคนรุ่นใหม่ในประเทศร่ำรวยทำตัวเป็นวัยรุ่นไม่ยอมโตเพราะมัวโพสต์เซลฟี่ เล่นสื่อโซเชียลมีเดีย ยังคงต้องการพื้นที่สะดวกสบายแบบตอนอยู่ในมหาวิทยาลัยเพื่อปัดป้องตัวเองจากความคิดที่ชวนให้พวกเขารู้สึกไม่สบายใจ

อย่างไรก็ตามข้อมูลของเกสต์เน้นนำเสนอเรื่องราวของคนหนุ่มสาวในประเทศกำลังพัฒนาที่มีอยู่ร้อยละ 85 จากคนหนุ่มสาวทั้งหมดและเน้นเรื่องในเชิงปฏิบัติอย่างเรื่องงานและเรื่องการศึกษา ซึงเผยให้เห็นว่าจริงๆ แล้วคนหนุ่มสาวในประเทศเหล่านี้เป็นกลุ่มที่ถูกกดขี่และฉุดรั้งความเจริญจากผู้อาวุโสกว่า โดยเป็นการกดทับที่อ้างว่ามาจากความรักและการดูแลเอาใจใส่

บทความในดิอิโคโนมิสต์ระบุว่าจริงๆ แล้วคนหนุ่มสาวยุคนี้ได้เปรียบที่ทั้งรวยกว่าและมีชีวิตยืนยาวกว่าคนรุ่นก่อน การเข้าถึงเทคโนโลยีอย่างสมาร์ทโฟนทำให้สามารถเข้าถึงข้อมูลข่าวสารต่างๆ ของโลกได้ กลุ่มคนที่เคยถูกกดขี่อย่างผู้หญิงหรือคนรักเพศเดียวกันก็มีเสรีภาพมากขึ้น คะแนนการวัดระดับสติปัญญาของพวกเขาก็มากขึ้นด้วยซึ่งเกสต์มองว่าเป็นเพราะการได้รับสารอาหารที่ดีขึ้นและการแพร่ขยายทางการศึกษา

แต่เกสต์ก็ชี้ว่าปัญหาที่คนหนุ่มสาวเหล่านี้ต้องเผชิญคือเรื่องที่ไม่ได้แสดงความสามารถอย่างเต็มที มีคนหนุ่มสาวร้อยละ 25 ในกลุ่มประเทศรายได้ระดับกลางและร้อยละ 15 ในกลุ่มประเทศร่ำรวย ถูกจัดอยู่ในกลุ่ม 'นีท' (NEET) คือผู้ที่ไม่ได้กำลังศึกษา ฝึกฝีมือ หรือมีงานทำ พวกเขาต้องเผชิญกับการแข่งขันที่สูงขึ้นในในตลาดแรงงานและในหลายประเทศก็มีการเล่นไม่ซื่อเพื่อเอื้อประโยชน์เฉพาะต่อคนที่มีงานทำอยู่แล้ว

นอกจากนี้ยังมีปัญหาเรื่องค่าเล่าเรียนที่แพงขึ้นจนทำให้คนเป็นหนี้ ค่าเช่าที่อยู่อาศัยก็แพงขึ้นด้วยโดยเฉพาะในเมืองใหญ่ๆ ทำให้คนหนุ่มสาวที่หวังจะทำงานในเมืองใหญ่เพื่อได้เงินมากๆ และมีโอกาสทางสังคมต้องหมดโอกาสเหล่านี้เพราะเรื่องค่าเช่าที่อยู่ นอกจากนี้เส้นทางจากการศึกษาสู่การงานของพวกเขาก็ซับซ้อนขึ้นซึ่งเกสต์มองว่าเป็นเรื่องดี ในปัจจุบันคนหนุ่มสาวมักจะเรียนไปจนถึงช่วงกลางอายุ 20s และถ่วงเวลาการมีครอบครัวไว้ในช่วงอายุ 30s เพราะต้องการสร้างความมั่นคงในการงานละการเงินก่อน

ทั้งนี้จากมุมมองของเกสต์ยังมีเรื่องที่ระบบของประเทศร่ำรวยมักจะให้ความสำคัญกับสวัสดิการของคนสูงอายุมากกว่าสวัสดิการของคนหนุ่มสาว ทั้งที่ในประวัติศาสตร์คนมีอายุมักจะให้ความช่วยเหลือคนหนุ่มสาวมากกว่า จากการที่หลายประเทศร่ำรวยมีการใช้จ่ายเงินภาษีไปกับสวัสดิการด้านสุขภาพและด้านบำนาญมากกว่าด้านการศึกษาของเยาวชนซึ่งต้องกู้ยืมทำให้ในบางประเทศอย่างในเยอรมนี, ออสเตรีย, ญี่ปุ่น, สโลวิเนีย, ฮังการี มีการนำทรัพยากรจากคนหนุ่มสาวไปหล่อเลี้ยงคนสูงอายุที่มีความร่ำรวยอยู่แล้วมากกว่า

บรรณาธิการหนังสือพิมพ์นักศึกษาของมหาวิทยาลัยคิงส์คอลเลจกล่าวไว้ว่า "คนรุ่นของพวกเรามีความสนใจในประเด็นทางการเมืองอย่างมากแต่ไม่มีศรัทธาในระบบพรรคการเมือง" แต่เรื่องนี้อาจจะเป็นผลสืบเนื่องกันได้เนื่องจากบทความของเกสต์ตั้งข้อสังเกตว่านักกการเมืองในระบอบประชาธิปไตยย่อมรับฟังคนที่ไปใช้สิทธิ์เลือกตั้ง แต่คนหนุ่มสาวในประเทศอย่างสหรัฐฯ และอังกฤษ เข้าไปใช้สิทธิเลือกตั้งน้อยกว่ากลุ่มคนที่มีอายุมากกว่า 65 ปี ในอัตราส่วนที่มีนัยสำคัญ

สำหรับประชากรคนหนุ่มสาวในประเทศที่เป็นเผด็จการพวกเขายิ่งตาสว่างและสิ้นหวังกับระบบมากกว่าโดยบทความดิอิโคโนมิสต์ยกตัวอย่างการสำรวจคนหนุ่มสาวในจีนมีเพียงร้อยละ 10 เท่านั้นที่เชื่อว่าความก้าวหน้าในหน้าที่การงานจะมาจากความสามารถและการทำงานหนักแทนการมีเส้นสายทางครอบครัว โดยเกสต์เตือนว่าการละเลยไม่ให้โอกาสคนหนุ่มสาวอาจจะส่งผลทางลบต่อชนชั้นนำในประเทศเองได้จากการที่คนหนุ่มสาวผู้เกรี้ยวกราดเคยลุกฮือขึ้นปฏิวัติในปรากฎการณ์ 'อาหรับสปริง' (หมายถึง: ปรากฎการณ์ที่ประชาชนประท้วงโค่นล้มเผด็จการในประเทศแถบอาหรับหลายประเทศ)

 

เรียบเรียงจาก

The Young : Generation Uphill, Robert Guest, The Economist, 23-01-2016 http://www.economist.com/news/special-report/21688591-millennials-are-brainiest-best-educated-generation-ever-yet-their-elders-often

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท