Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis


ที่มาภาพ:
 fastcodesign.com/meet-the-women-who-treat-their-reborn-dolls-like-real-children

ในสหรัฐอเมริกา การเลี้ยงตุ๊กตาเด็กทารกประหนึ่งว่าเป็นลูกจริงๆเป็นวัฒนธรรมย่อยประเภทหนึ่งที่เติบโตขึ้นมาในปลายทศวรรษ 1990 หรือที่เรียกกันว่า Reborning subculture ตุ๊กตาดังกล่าวประดิษฐ์ขึ้นจากวัสดุต่างๆอาทิ ไวนิล หนัง หรือแก้ว และผ่านการลงสีอย่างพิถีพิถันหลายสิบชั้นเพื่อให้ออกมาเหมือนกับเด็กที่มีชีวิตจริงๆ ผู้ประดิษฐ์และผลิตตุ๊กตาประเภทดังกล่าวถูกเรียกว่า Reborner ในขณะที่กระบวนการประดิษฐ์ตุ๊กตาถูกเรียกว่า Reborning และตุ๊กตาดังกล่าวถูกเรียกว่า Reborn dolls

วัฒนธรรม Reborning มีมิติทางเพศอย่างชัดแจ้ง เพราะกลุ่มลูกค้าใหญ่ของอุตสาหกรรมประเภทนี้ ได้แก่ ผู้หญิงวัยกลางคน ส่วนใหญ่เป็นชนชั้นกลางที่มีฐานะและมีการศึกษา บ้างได้ผ่านประสบการณ์การแท้งหรือสูญเสียบุตร บ้างไม่สามารถมีบุตรของตนเองได้ และบ้างลูกหลานได้เติบใหญ่และทิ้งบ้านไว้ให้กลายเป็นรังอันว่างเปล่า (empty nest)

บทบาทของตุ๊กตาต่อผู้หญิงอเมริกันเหล่านี้ จึงเปรียบเสมือนวัตถุที่ช่วยให้ผ่านพ้นช่วงเวลาแห่งความสูญเสีย (transition object, โปรดดู http://www.today.com/…/fake-babies-ease-womens-anxiety-sa…/…) หรือเป็นบุตรเทียม (substitute children) ที่ทำหน้าที่ในการปลอบประโลมทางจิตใจ และเปลี่ยนชีวิตที่ว่างเปล่าให้มีความหมายด้วยวัตถุสังเคราะห์เสมือนจริง การเลี้ยงดูตุ๊กตาเหล่านี้ในชีวิตประจำวันจึงดำเนินไปประหนึ่งการเลี้ยงดูทารกจริงๆ ไม่ว่าจะเป็นการป้อนนม อาบน้ำ เปลี่ยนเสื้อผ้า กล่อมให้นอนหลับ ฯลฯ

วัฒนธรรมย่อยและความสัมพันธ์แบบเหนือจริงดังกล่าว ไม่ได้ดำเนินไปโดยราบรื่นหรือปราศจากแรงเสียดทานจากสังคม นักสะสม reborn dolls ส่วนใหญ่ตระหนักดีถึงการไม่ต้อนรับจากสาธารณะ อันเนื่องมาจากภาวะ Uncanny Valley หรือความตระหนก สะพรึงกลัวต่อวัตถุที่ไม่ใช่มนุษย์แต่เคลื่อนไหวคล้ายมนุษย์ ในหมู่ผู้คนเป็นอย่างดี ซึ่งสามารถนำมาซึ่งความรังเกียจและปฏิกิริยาตอบโต้ที่รุนแรงได้ ผู้หญิงบางคนแม้จะเผยแพร่ชีวิตประจำวันของการเลี้ยงดูลูกตุ๊กตาของเธอผ่านสื่อออนไลน์ แต่ก็ป้องกันตนเองด้วยการออกตัวว่าสิ่งที่ปรากฏเป็นเพียงความบันเทิง และเด็กที่เห็นนั้นเป็นเพียงตุ๊กตาเท่านั้น

แต่ด้านตรงข้ามของ uncanny valley จากเหล่า reborn dolls ก็คือ การที่คนอื่นๆ สำคัญผิด คิดว่าตุ๊กตาเหล่านี้เป็นเด็กจริงๆ ผลก็คือภาวะอลหม่านต่างๆที่เกิดขึ้น อาทิ ในเดือนกรกฎาคม 2008 ตำรวจของรัฐควีนส์แลนด์ ออสเตรเลีย ได้ทุบกระจกรถยนต์คันหนึ่งเพื่อเข้าไปช่วยเหลือเด็กที่เขาคิดว่าถูกทิ้งไว้ในรถยนต์ตามลำพังแล้วมีภาวะหมดสติไป ในสหรัฐฯ เหตุการณ์ทำนองเดียวกันเกิดขึ้นเมื่อตำรวจพังกระจกบ้านหลังหนึ่งเข้าไปช่วยเหลือทารกที่หมดสติ เพียงเพื่อจะพบว่าทารกนั้นเป็นเพียง reborn doll เท่านั้น

แต่สังคมสหรัฐฯ ก็อดทนและให้พื้นที่สำหรับวัฒนธรรมย่อยประเภทนี้ ด้วยเหตุผลสำคัญที่ว่า วัฒนธรรมดังกล่าวมีคุณค่าในการบำบัด (Therapeutic value) ที่สำคัญในการเยียวยาจิตใจของผู้หญิง และตราบเท่าที่วัฒนธรรม และอุตสาหกรรมที่ผลิตสินค้าดังกล่าว ไม่สร้างอันตราย หรือละเมิดสิทธิของผู้อื่นในพื้นที่สาธารณะ วัฒนธรรมดังกล่าวก็ถูกถือว่าเป็นวัฒนธรรมเฉพาะของผู้หญิงเฉพาะกลุ่มหนึ่ง

วัฒนธรรมลูกเทพในไทยจะมี therapeutic value หรือไม่ ต่อใคร และอย่างไรบ้าง คงเป็นเรื่องที่ต้องศึกษาและวิจัยกันต่อไป แน่นอนที่ว่าสมาชิกของวัฒนธรรมนี้ ย่อมแตกต่างไปจากโลกตะวันตกอย่างไม่ต้องสงสัย เพราะเห็นมีตั้งแต่นักศึกษา สาวออฟฟิศ ไปจนแม่ค้า และนักธุรกิจผู้มีกำลังทรัพย์ สิ่งที่น่าสนใจคือ ในขณะที่อุตสาหกรรม reborning ของอเมริกา สร้างความเหมือนจริงให้กับตุ๊กตาผ่านการผลิตรูปลักษณ์ และการโฆษณาที่เน้นการสร้างความผูกพันทางจิตใจระหว่างแม่และลูก อุตสาหกรรมลูกเทพในไทย (ที่ไม่ใช่ผู้ผลิต แต่ฉวยโอกาสเกาะกระแสสร้างตลาดขายความเหนือจริงกับเขา) ปั่นความเหนือจริงของตุ๊กตาผ่านการ commercialize อภินิหาร ความศักดิ์สิทธิ์ และการปลุกเสก อย่างเป็นล่ำเป็นสัน กลายเป็น cult ที่น่าจะสร้างภาวะ uncanny valley ในพื้นที่สาธารณะ ที่ก่อผลสะเทือนมากที่สุดอันหนึ่งของประวัติศาสตร์วัตถุเสมือนจริงที่ผ่านมา

และในขณะที่ reborning subculture เป็นวัฒนธรรมย่อยที่พยายามดำรงตัวเองอยู่ในกลุ่มและที่ทางเฉพาะ จำนวนไม่น้อยสารภาพว่าเป็นวิถีชีวิตที่ให้ความรื่นรมย์ แต่ก็อดรู้สึกไม่ได้ว่าเป็น guilt pleasure และอีกจำนวนไม่น้อย ที่หลีกเลี่ยงแรงเสียดทานด้วยการนิยามตนเองว่าเป็น “งาน/นักสะสม” วัฒนธรรมลูกเทพในไทย กลับแสดงตนอย่างสง่าผ่าเผยในพื้นที่สาธารณะ impose ความเหนือจริงของความเชื่อของตนในปฏิสัมพันธ์กับผู้คนนอกแวดวง ไม่ว่าจะกับคนขับแท๊กซี่ ร้านอาหาร ร้านเสริมสวย กระทั่งสายการบิน ก่อให้เกิดปฏิกิริยาตอบกลับจากสังคมอย่างกว้างขวาง

ใครว่า คัลท์ลูกเทพเป็นวัฒนธรรมชายขอบ ดิฉันกลับคิดว่าวัฒนธรรมย่อยของผู้หญิงชนิดนี้ มีอำนาจอย่างมากต่างหาก และอำนาจดังกล่าว ส่วนหนึ่งก็มาจากอำนาจซื้อที่ขยายตัวอย่างรวดเร็วในปัจจุบันนั่นเอง


หมายเหตุผู้เขียน:

สำหรับผู้ที่สนใจประเด็น Reborn dolls ในสหรัฐฯ อ่านเพิ่มเติมได้จากลิงค์ด้านล่างนี้https://en.wikipedia.org/wiki/Reborn_dollhttp://www.fastcodesign.com/…/meet-the-women-who-treat-thei…

ชีวิตประจำวันของแม่และลูก reborn doll ของเธอ
https://www.youtube.com/watch?v=3p4FFHJ1L3s
https://www.youtube.com/watch?v=eEvEwGNiu7g

สำหรับงานศึกษาทางมานุษยวิทยาเกี่ยวกับผู้หญิงผู้สะสมตุ๊กตาและอุตสาหกรรมตุ๊กตาสำหรับผู้ใหญ่ในสหรัฐฯ โปรดอ่าน Life Like Dolls: The Collector Doll Phenomenon and the Lives of
the Women Who Love Them, A.F.Robertson, Routledge, 2004

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net