ชมรมอิหม่ามบาเจาะคัดค้านบทบาท ศอ.บต.ในโครงการแหล่งเรียนรู้ตะโละมาเนาะมัสยิด 300 ปี

ชมรมอิหม่ามบาเจาะ จ.นราธิวาส โวย ศอ.บต.กันองค์กรศาสนาและภาคประชาชนดำเนินโครงการแหล่งเรียนรู้ตะโละมาเนาะ ปรับภูมิทัศน์มัสยิด 300 ปี ฝืนข้อตกลงไปดำเนินการแทนยันชมรมไม่ได้ค้านโครงการแต่กลับถูกปล่อยข่าวให้เสียหาย โต๊ะอิหม่ามยันชาวบ้านเห็นด้วยพร้อมเดินคู่กับกรรมการอิสลามและชมรมอิหม่ามฯ ด้านนายอำเภอชี้เป็นความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน ยังไม่เห็นสัญญาจ้างบริษัทรับเหมา

เมื่อวันที่ 29 มกราคม 2559 นายแวสะมะแอ แลแตบาตู รองประธานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดนราธิวาส ในฐานะประธานชมรมอิหม่าม คอเต็บ บิหลั่น อ.บาเจาะ จ.นราธิวาส ได้ประกาศท่าทีของชมรมต่อโครงการแหล่งเรียนรู้ตะโละมาเนาะ บริเวณมัสยิดวาดีอัลฮูเซ็นหรือมัสยิด 300 ปีและพื้นที่บ้านตะโละมาเนาะ อ.บาเจาะ จ.นราธิวาส ต่อชาวบ้านหลังจากละหมาดวันศุกร์ งบประมาณ 200 ล้าน โดยคัดค้านบทบาทของศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) และขอถอนตัวจากโครงการนี้หลังพบความไม่จริงใจและมีการขัดขวางกีดกันการมีส่วนร่วมขององค์กรทางศาสนาและภาคประชาชนในพื้นที่

นายแวสะมะแอ ประกาศว่า ขณะนี้มีคนถามถึงตนมากมายเกี่ยวกับโครงการนี้ ตนต้องชี้แจงเพื่อป้องกันความเสียหายต่อชมรม เนื่องจากมีคนคิดว่าวันนี้ชาวบ้านจะประท้วงคัดค้านโครงการนี้ทั้งที่ไม่ใช่ แถมยังมีการปล่อยข่าวว่าผู้รับเหมาโครงการจะเข้ามาดำเนินการไม่ได้เพราะชาวบ้านคัดค้านก็ไม่เป็นความจริง และมีข่าวทางชมรมขอค่าหัวคิว 2 ล้านบาทเพื่อแลกกับการเปิดทางให้เข้ามาดำเนินโครงการก็ไม่เป็นความจริงกัน และไม่ได้คิดเช่นนั้นมาตั้งแต่ต้น

จากนั้นนายแวสะมะแอ อธิบายว่า โครงการแหล่งเรียนรู้ตะโละมาเนาะเกิดจากประชาชนในพื้นที่บ้านตะโละมาเนาะได้เสนอขอโครงการนี้ต่อองค์การความร่วมมืออิสลาม หรือ โอไอซี(Organization of the Islamic Conference : OIC)เมื่อครั้งตัวแทน OIC เดินทางไปเยี่ยมมัสยิดตะโละมาเนาะ เมื่อปี 2555 แต่ต่อมาทาง ศอ.บต. เสนอให้ใช้งบประมาณของรัฐ กระทั่งต่อมา ศอ.บต. ได้เข้ามาจัดทำประชาคมกับประชาชนในพื้นที่เพื่อแสดงความตั้งใจที่จะให้การสนับสนุนโครงการนี้ โดย ศอ.บต. อนุมัติเงินอุดหนุนให้กับชมรมอิหม่ามฯ จัดทำแบบก่อสร้าง ต่อมาในปี 2556 รัฐบาลก็ได้อนุมัติงบประมาณ 200 ล้านบาท เพื่อดำเนินโครงการนี้

นายแวสะมะแอ อธิบายต่อไปว่า ต่อมาทาง ศอ.บต.ได้ปรับเปลี่ยนคณะทำงานโครงการขึ้นมาหลังจากมีการเปลี่ยนแปลงผู้บริหารใน ศอ.บต. และเริ่มถามใหม่ว่าใครจะดำเนินโครงการนี้ จากนั้นในช่วงปลายปี 2557 ก็มีการประชุมร่วมระหว่างผู้แทน ศอ.บต. คณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดนราธิวาสและชมรมอิหม่ามฯ และมีมติร่วมกันที่จะให้สำนักงานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดนราธิวาสเป็นผู้ดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างแทนชมรมอิหม่ามฯ เพราะชมรมไม่มีแรงพอที่จะทำได้

นายแวสะมะแอ กล่าวว่า ในงานฉลองครบรอบ 390 ปีมัสยิดตะโละมะเนาะเมื่อวันที่ 27 ธันวาคม 2557 นายภานุ อุทัยรัตน์ เลขาธิการ ศอ.บต. ก็ประกาศว่าชมรมอิหม่ามฯต้องร่วมพิจารณาโครงการนี้

นายแวสะมะแอ กล่าวว่า ต่อมาวันที่ 15 กรกฎาคม 2558 ทาง ศอ.บต.ได้ประกาศราคากลางของโครงการโดยสำนักงานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดไม่ทราบเรื่องมาก่อน จากนั้นได้แต่งตั้งคณะกรรมการจัดจ้างโดยวิธีพิเศษ โดยไม่มีตัวแทนประชาชนในพื้นที่ แต่ก็แต่งตั้งเพิ่มหลังจากคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดส่งหนังสือร้องเรียนแต่ ศอ.บต. ก็แต่งตั้งตัวแทนภาครัฐเพิ่มเข้าไปอีกเช่นกันทำให้ตัวแทนชาวบ้านเป็นเสียงข้างน้อย ไม่สามารถเสนอให้มีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงกรอบการดำเนินโครงการ หรือTOR (Team of Reference)ให้เหมาะสมกับพื้นที่ได้

นายแวสะมะแอ กล่าวด้วยว่า ล่าสุดเมื่อวันที่ 12 มกราคม 2559 ทางชมรมฯได้ทำหนังสือแสดงเจตนารมณ์สนับสนุนโครงการนี้ต่อ ศอ.บต. อีกครั้ง โดยให้สำนักงานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดนราธิวาสในฐานะองค์กรนิติบุคคลเป็นผู้ดำเนินการแทนชมรมอิหม่ามฯ โดย ศอ.บต. เป็นผู้สนับสนุนงบประมาณ

นายแวสะมะแอ กล่าวว่า แต่ต่อมาเมื่อวันที่ 19 มกราคม 2559 ศอ.บต. กลับทำหนังสือเชิญประธานกรรมการอิสลามประจำจังหวัดนราธิวาส ประธานชมรมอิหม่ามฯ ไปเป็นสักขีพยานในการลงนามสัญญาระหว่าง ศอ.บต กับบริษัทผู้รับเหมาโครงการแต่ไม่มีใครไป

นายแวสะมะแอ กล่าวว่า จากลำดับเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นทางภาคประชาชนในพื้นที่ได้มาหารือกันและได้ข้อสรุปว่า เป็นการสะท้อนให้เห็นถึงความไม่จริงใจของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและแสดงถึงการขัดขวางกีดกันการมีส่วนร่วมขององค์กรทางศาสนาและภาคประชาชน

“ในนามชมรมอิหม่ามฯมีความเห็นว่าผู้บริหาร ศอ.บต.ไม่รักษาคำพูดที่จะให้ทางชมรมเป็นผู้ดำเนินการ แต่กลับดึงงานไปทำเสียเองทั้งหมดและยังกีดขวางการมีส่วนร่วมของประชาชนด้วยวิธีการต่างๆ ซึ่งยิ่งสร้างความไม่พอใจให้ชุมชน เป็นการเพิ่มความขัดแย้งให้มากขึ้นไปอีก”นายแวสะมะแอ กล่าว

นายรัมลี ตะโละดิง โต๊ะอิหม่ามประจำมัสยิดตะโละมาเนาะ ให้สัมภาษณ์ว่า ในนามของชาวบ้านตะโละมาเนาะ เมื่อทราบว่าจะมีโครงการนี้เกิดขึ้น และจะได้รับงบประมาณจำนวนมาก ตนจึงได้นำชาวบ้านไปศึกษาดูงานเรื่องการบูรณะมัสยิดเก่าแก่ที่ประเทศมาเลเซีย ทำให้ชาวบ้านเห็นด้วยว่าควรปรับภูมิทัศน์รอบมัสยิดตะโละมาเนาะให้เหมาะสมกับความเป็นมัสยิดเก่าแก่ทางประวัติศาสตร์และพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวได้

“โครงการนี้เป็นโครงการที่ดีและชาวบ้านในพื้นที่ก็พร้อมที่จะเดินไปด้วยกันคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดและชมรมอิหม่ามฯ อ.บาเจาะ” นายรัมลี กล่าว

นายรัมลี กล่าวต่อไปว่า ตอนจัดงานครบรอบ 390 ปีทาง ศอ.บต. บอกว่าจะสนับสนุนโครงการนี้ โดยให้ชมรมอิหม่ามฯดำเนินโครงการซึ่งชาวบ้านในพื้นที่ก็เห็นชอบด้วย แต่ตอนนี้ตนก็ยังไม่ทราบว่าโครงการดำเนินการไปถึงไหนแล้ว ชาวบ้านก็ถามมาตลอด เพราะรอมา 3 ปีแล้ว

ด้านนายจิรัสย์ ศิริวัลลภ นายอำเภอบาเจาะ ซึ่งมาร่วมละหมาดวันศุกร์ที่มัสยิดตะโละมาเนาะและได้ขึ้นไปพูดคุยกับชาวบ้านด้วยว่า ตนเองก็ไม่ทราบรายละเอียดมากนัก และยังไม่เห็นหนังสือสัญญาจ้างผู้รับเหมาดำเนินโครงการนี้

นายจิรัสย์ให้สัมภาษณ์เพิ่มเติมว่า โครงการนี้ต้องขอขอบคุณทาง ศอ.บต. ที่อนุมัติงบประมาณมาเพื่อดำเนินโครงการนี้ในพื้นที่อำบาเจาะงบประมาณ 154 ล้านบาท ไม่ใช่ 200 ล้านบาท และสิ่งที่ประธานชมรมอิหม่ามประกาศไปนั้น ก็ไม่ได้ต้องการคัดค้านโครงการ เพราะเป็นโครงการที่ทางชมรมอิหม่ามเสนอมาตั้งแต่ต้น แต่น่าเป็นเรื่องของกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างที่ทางชมรมอิหม่ามกับ ศอ.บต. เข้าใจคลาดเคลื่อนกัน

นายจิรัสย์ กล่าวต่อไปว่า โครงการนี้หากมีการจัดซื้อจัดจ้างไปแล้วก็ต้องนำมาชี้แจงให้ชาวบ้านที่นี่ทราบ เพื่อจะได้รู้ขั้นตอนต่างๆในการก่อสร้าง แต่ตอนนี้ตนก็ยังไม่เห็น จึงยังไม่สามารถประชาสัมพันธ์ให้ชาวบ้านรู้ แต่ก็อยากให้ทุกอย่างดำเนินไปด้วยความเรียบร้อย เชื่อว่าจะคุยกันได้

ผู้สื่อข่าวได้ติดต่อขอสัมภาษณ์นายภานุอุทัยรัตน์ เลขาธิการ ศอ.บต.ทางโทรศัพท์ในเรื่องนี้ แต่นายภานุปฏิเสธที่จะให้สัมภาษณ์ โดยระบุเพียงว่าโครงการนี้ทางจังหวัดนราธิวาสและนายอำเภอบาเจาะเป็นผู้ดำเนินการ แม้ ศอ.บต. เป็นเจ้าของงบประมาณและเป็นคู่สัญญาจ้างซึ่งต้องทำตามระเบียบราชการ แต่การตันสินใจอยู่ที่จังหวัด ไม่เกี่ยวกับ ศอ.บต.

ลำดับเหตุการณ์สำคัญโครงการแหล่งเรียนรู้ตะโละมาเนาะ

ต่อไปนี้เป็นลำดับเหตุการณ์ที่ชมรมอิหม่ามฯ อ.บาเจาะได้บันทึกไว้นับตั้งแต่เริ่มที่มีการเสนอโครงการต่อโอไอซีมาจนกระทั่งล่าสุดที่มีการแสดงการคัดค้านกระบวนการดำเนินการของ ศอ.บต.ที่แจกให้สื่อมวลชนดังนี้

1.    วันที่ 9 พฤษภาคม 2555 ตัวแทนโอไอซี มาเยี่ยมมัสยิด 390 ปี บ้านตะโละมาเนาะ ชาวบ้านได้เสนอเพื่อให้มีการสนับสนุนงบประมาณปรับปรุงแหล่งเรียนรู้ตะโละมาเนาะแต่ ศอ.บต.เล็งเห็นว่ามีความสำคัญจึงขอสนับสนุนจากรัฐบาล

2.    วันที่ 2 มกราคม 2556 ทาง ศอ.บต อนุมัติงบประมาณให้กับชมรมอิหม่ามฯ เพื่อจัดจ้างในการทำแบบเพื่อก่อสร้างเป็นจำนวนเงิน 1,930,200 บาท

3.    วันที่ 1 ตุลาคม 2556 ศอ.บต. ได้รับแจ้งการจัดสรรเงินงบประมาณงบเงินอุดหนุนเฉพาะกิจ วงเงิน 200 ล้านบาท ซึ่งเป็นงบผูกพัน 4 ปี

4.     วันที่ 23 กันยายน 2557 คณะกรรมการกำหนดราคากลางที่แต่งตั้งโดย ศอ.บต. มีมติว่าแบบก่อสร้างของนายเอ(สงวนชื่อ)และทีมงานไม่สมบูรณ์ และชมรมอิหม่ามตัดสินใจเลิกจ้างและดำเนินการจัดจ้างทีมสถาปนิกใหม่ และสามารถส่งแบบตามกรอบที่ ศอ.บต. กำหนด

5.    วันที่ 11 ธันวาคม 2557 ได้มีมติ 3 ฝ่ายประกอบด้วย ศอ.บต สำนักงานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดนราธิวาส และชมรมอิหม่ามฯ อำเภอบาเจะ มีมติให้ สำนักงานคณะกรรมการฯเป็นผู้ดำเนินการจัดซื้อจัดจ้าง แทนชมรมอิหม่ามฯ

6.    วันที่ 16 ธันวาคม 2557 สำนักงานคณะกรรมการอิสลามฯทำหนังสือแสดงถึงความยินดีที่จะดำเนินการโครงการฯ

7.    วันที่ 27 ธันวาคม 2557 เวลา 11.04 นาที ท่านภานุ อุทัยรัตน์ เลขาธิการ ศอ.บต. มากล่าวปราศรัยบนเวที ในงาน “ศาสนสัมพันธ์ เฉลิมฉลอง 390 ปี มัสยิดตะโละมาเนาะ ดังปรากฏในคลิป กล่าวว่า “คนที่จะต้องมาร่วมพิจารณาเนี่ยคือตัวของชมรมอิหม่าม ของบาเจาะของพื้นที่ตรงนี้ นะครับ ผมก็เลยคิดว่าจะเป็นสิ่งหนึ่งที่เป็นความตั้งใจของพวกเราร่วมกัน ข้าราชการจะเปิดเฉพาะเรื่องการใช้เงินนะครับ ซึ่งจะต้องตามระเบียบราชการไม่ยังงั้นพวกผมก็แย่เหมือนกันนะครับเพราะเป็นภาษีของพวกเราทั้งหลายนะครับ”

8.    วันที่ 15 กรกฎาคม 2558 ศอ.บต.ได้ประกาศราคากลางของโครงการ สำนักงานคณะกรรมการอิสลามจึงทราบถามขั้นตอนหลังจากนี้ควรดำเนินอย่างไร แต่ไม่ได้รับคำตอบจาก ศอ.บต แต่อย่างใด

9.    วันที่ 21 กรกฎาคม 2558 ศอ.บต ได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการ 3 คณะประกอบด้วย 1. คณะกรรมการจัดจ้างโดยวิธีพิเศษ จำนวน 5 คน เป็นข้าราชการทั้งหมด 2.คณะกรรมการตรวจการจ้าง จำนวน 7 คน เป็น ข้าราชการ 6 คน และภาคประชาชน 1 คน คือประธานชมรมอิหม่ามฯ บาเจาะ 3.ช่างควบคุมงาน จำนวน 2 คน มาจากข้าราชการ พร้อมประกาศให้บริษัทที่สนใจมายื่นซองในวันที่ 27 กรกฎาคม 2558

10. วันที่ 26 กรกฎาคม 2558 สำนักงานคณะกรรมการทำหนังสือร้องเรียนถึงความไม่ให้เกียรติของ ศอ.บต. ที่ไม่ได้สนกับคำชี้แจ้งก่อนหน้านี้เลย และช่วงเย็นทาง ศอ.บต.ได้ประสานเพื่อขอประชุมร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการอิสลามฯโดยขอเริ่มประชุมช่วงบ่ายของวันที่ 27 กรกฎาคม 2558

11. ช่วงเช้าของวันที่ 27 กรกฎาคม 2558 ได้มีบริษัทแค่หนึ่งบริษัทที่ยื่นซองประกวดราคา แต่ ศอ.บต.ขอชลอการเปิดซองไว้ก่อน ในขณะเดียวกัน เพราะหาความชอบถามในการดำเนินการที่ผ่านมา ทาง ศอ.บต.ได้ทำหนังสือ ลงวันที่ 27 กรกฎาคม 2558 ขอหารือการดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างว่า ศอ.บต. สามารถดำเนินการเองได้หรือไหมในงบประมาณประเภทเงินอุดหนุนเฉพาะกิจ ซึ่งกรมบัญชีกลางตอบมาว่า ศอ.บต. ต้องดำเนินการเองเท่านั้น จะให้สำนักงานคณะกรรมการอิสลามดำเนินไม่ได้ ซึ่งมีความขัดแย้งกับคำชี้แจงของสำนักงบประมาณด้วยวาจาว่า วัตถุประสงค์ในการจัดสรรงบประมานประเภทอุดหนุนเฉพาะกิจก็เพื่อเปิดช่องทางให้นิติบุคคลภาคประชาชนเป็นผู้ดำเนินการ หากจะให้ ศอ.บต. ดำเนินการเองก็ควรที่จะจัดสรรงบประมาณประเภทลงทุนทั่วไป

12. ช่วงบ่ายของวันที่ 27 กรกฎาคม 2558 ได้มีการประชุมหารือระหว่าง ศอ.บต.กับ สำนักงานคณะกรรมการอิสลามฯ ชมรมอิหม่ามฯ สุดท้ายมีมติว่า ศอ.บต ยินดีที่จะเพิ่มกรรมการภาคประชาชนเป็นกรรมการ

13. วันที่ 28 กรกฎาคม 2558 สำนักงานคณะกรรมการอิสลามฯได้ทำหนังสือเสนอชื่อ คณะกรรมการ 2 คณะ ประกอบด้วย 1.คณะกรรมการจัดจ้างโดยวิธีพิเศษ จากเดิม มีจำนวน 5 คน ทางภาคประชาชน จึงเสนอเพิ่มอีก 4 คน รวม 9 คน 2. คณะกรรมการตรวจการจ้าง จากเดิม มีจำนวน 7 คน ทางภาคประชาชนจึงเสนอเพิ่มอีก 4 คน รวม 11 คน

14. วันที่ 29 กรกฎาคม 2558 ศอ.บต. ได้แต่งตั้งคณะกรรมการ 2 คณะใหม่โดยมีภาคประชาชนตามที่เสนอ แต่ได้เพิ่มข้าราชการจาก ศอ.บต. อีกคณะละหนึ่งคน กล่าวโดยสรุปคือ คณะกรรมการจัดจ้างฯ 10 คน มาจาก ข้าราชการ. 6 คน จากภาคประชาชน 4 คน ส่วนคณะกรรมการตรวจการจ้าง 10 คน มาจากข้าราชการ 6 คน จากภาคประชาชน 4 คน และในวันนนี้ได้มีการประชุมนัดแรกระหว่างคณะกรรมการใหม่โดยมีการประชุมร่วมกันทั้ง 2 คณะ โดยประเด็นอยู่ที่การแก้ไข TOR ให้เหมาะสมกับพื้นที่โบราณสถาน และที่ประชุมได้มอบหมายให้กรรมการทุกคนไปศึกษาเพื่อประชุมสรุปในวันที่ 3 สิงหาคม 2558 อีกครั้งหนึ่ง

15. วันที่ 3 สิงหาคม 2558 ก่อนการประชุม ศอ.บต. ได้มีคำสั่งแก้ไขประธานกรรมการจัดจ้างโดยวิธีพิเศษ จากนางกิตติมา นวลทวี เป็นนายขวัญชาติ วงศ์ศุภรานันต์ แทน ซึ่งในวันประชุมดังกล่าวเสียงส่วนใหญ่ให้ความเห็นว่า TOR แก้ไขไม่ได้แล้วเพราะไม่ใช่อำนาจหน้าที่ และทาง ศอ.บต.ต้องขออภัยที่ชี้แจงก่อนหน้านี้ว่าแก้ไขได้

16. วันที่ 6 สิงหาคม 2558 สำนักงานคณะกรรมการอิสลาม ทำหนังสือแจ้งขอยุติบทบาทความร่วมมือในโครงการฯกับ ศอ.บต. เพราะชี้แจงเปลี่ยนไปเปลี่ยนมาไม่ให้เกียรติองค์กรมุสลิม และขอถอนตัวจากการเป็นคณะกรรมการของภาคประชาชนที่ได้เสนอไว้ทั้งหมด

17. วันนี้ 7 สิงหาคม 2558 คณะกรรมการจัดซื้อจัดจ้างโดยวิธีพิเศษ ส่วนที่เหลือที่เป็นข้าราชการทั้งหมดดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างต่อจนได้บริษัทรับงานจ้างได้ในที่สุด

18. วันที่ 12 พฤศจิกายน 2558 นายไกรศร วิศิษฎ์วงศ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัด มาประชุมหารือกับตัวแทนชาวบ้านเพื่อหาทางแก้ไขปัญหา ซึ่งในที่ประชุมว่าขอให้ทบทวนการจัดซื้อจัดจ้างใหม่ และให้เริ่มกระบวนการใหม่โดยมีสำนักงานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดนราธิวาสเป็นผู้ดำเนินการ

19. วันที่ 17 ธันวาคม 2558 นายอำเภอบาเจาะได้เชิญตัวแทนประกอบด้วย นายอาหะมะ มะตอเห ประธานชมรมกำนันฯ นายอาแวเจะแว ประธานชมรมนายกองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอำเภอบาเจาะ และนายแวสะมะแอ แลแตบาตู ประธานชมรมอิหม่ามฯ โดยมีนายขวัญชาติ วงศ์ศุภรานันต์ รองเลขาธิการ ศอ.บต. มีมติให้ทำหนังสือแสดงเจตนารมณ์ว่าขอให้ ศอ.บต. ดำเนินการโครงการตะโละมาเนาะให้แล้วเสร็จ

20. วันที่ 19 ธันวาคม 2558 ศอ.บต.จัดพิธีลงนามสัญญาโครงการตะโละมาเนาะ แต่ตัวสำนักงานคณะกรรมการอิสลาม และชมรมอิหม่าม ไมมีใครเข้าร่วม จึงมีการชะลอไว้ก่อนในวันดังกล่าว

21. วันที่ 20 ธันวาคม 2558 มีเจ้าหน้า ศอ.บต. แจ้งมายังประธานชมรมอิหม่ามทางโทรศัพท์ว่ามีการลงนามแล้ว แต่โดยความเป็นจริงไม่ทราบเป็นอย่างไร

22. วันที่ 12 มกราคม 2559 ได้ทำหนังสือแสดงเจตนารมณ์สนับสนุนโครงการฯนี้ โดยให้สำนักงานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดนราธิวาส ในฐานะองค์กรนิติบุคคล เป็นผู้ดำเนินการแทนชมรมอิหม่ามฯ และ ศอ.บต. เป็นผู้สนับสนุนงบประมาณ

23. วันที่ 19 มกราคม 2559 ศอ.บต.มีหนังสือเชิญประธานกรรมการอิสลามประจำจังหวัดนราธิวาสและประธานชมรมอิหม่ามฯ เป็นสักขีพยานในการลงนามสัญญาระหว่าง ศอ.บต กับ บริษัท

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท