Skip to main content
sharethis

ทางการเปรูยอมจ่ายค่าชดเชยให้กับหญิงที่ถูกปฏิเสธทำแท้งทั้งที่อยู่ในภาวะเสี่ยง ถือเป็นคดีที่ทางสหประชาชาติผู้ร่วมพิจารณาคดีด้วยสามารถยืนยันได้ว่าสิทธิในการเลือกทำแท้งถือเป็นสิทธิมนุษยชน แต่ก็ยังต้องมีการต่อสู้เพื่ออนาคตให้ผู้หญิงสามารถเข้าถึงการทำแท้งที่ปลอดภัยได้

2 ก.พ. 2559 จากการตัดสินคดีสำคัญเกี่ยวกับผู้หญิงชาวเปรูฟ้องร้องกรณีที่โรงพยาบาลในเปรูไม่ยอมทำแท้งให้เธอทั้งที่เด็กในครรภ์มีภาวะพิการที่เสี่ยงต่อการเสียชีวิตตั้งแต่ในครรภ์เมื่อปี 2548 ที่องค์กรสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติตัดสินให้การไม่ยอมทำแท้งถือเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน เมื่อไม่นานมานี้ทางการเปรูยอมจ่ายค่าชดเชยให้กับโจทก์แล้ว ถือเป็นการยืนยันว่าเรื่องสิทธิในการทำแท้งถือเป็นสิทธิมนุษยชน

คดีดังกล่าวเกิดขึ้นในปี 2544 โดยหญิงชาวเปรูนามแฝงว่าเคแอล (K.L.) ซึ่งในขณะนั้นอายุ 17 ปีได้รับการตรวจพบว่าตัวอ่อนอายุ 14 สัปดาห์ในครรภ์ของเธอมีภาวะพิการที่เรียกว่าภาวะไม่มีกะโหลกศีรษะ (Anencephaly) ซึ่งมีโอกาสสูงที่ทารกจะเสียชีวิตตั้งแต่อยู่ในครรภ์ มีโอกาสเสียชีวิตขณะคลอดหรือหลังคลอดเพียงไม่นาน รวมถึงทำให้ผู้ตั้งครรภ์มีความเสี่ยงต่อชีวิตและสุขภาวะด้วย แต่ผู้อำนวยการโรงพยาบาลในเปรูปฏิเสธไม่ยอมให้เธอทำแท้งถึงแม้ว่าการทำแท้งในเปรูเป็นเรื่องถูกกฎหมาย เป็นเหตุให้เคแอลจำเป็นต้องตั้งครรภ์ในภาวะเสี่ยงดังกล่าวต่อไปจนกระทั่งตัวอ่อนเสียชีวิต 4 วันหลังจากนั้น

เคแอลฟ้องร้องในเรื่องนี้ต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (UNCHR) โดยความช่วยเหลือของทนายความด้านสิทธิมนุษยชน จนกระทั่งในปี 2548 UNCHR ตัดสินให้ทางการเปรูต้องจ่ายค่าชดเชยใหกับเคแอลในฐานะที่ละเมิดกติกาสากลแห่งสหประชาชาติว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (International Covenant on Civil and Political Rights หรือ ICCPR) หลายมาตรา จนกระทั่งเมื่อไม่นานมานี้ทางการเปรูถึงยอมจ่ายค่าชดเชยในที่สุดซึ่งถือเป็นการยอมรับว่าการปฏิเสธทำแท้งของพวกเขาเป็นการกระทำที่ "โหดร้าย ขาดมนุษยธรรม และลดทอนความเป็นมนุษย์"

บทความในฮัฟฟิงตันโพสต์โดย เดวิด เอ ไกร์ม หัวหน้าฝ่ายควบคุมดูแลด้านการทำแท้งจากศูนย์ควบคุมโรคติดต่อสหรัฐฯ (CDC) ระบุว่า ผู้หญิงส่วนมากที่ตรวจพบกรณีความปกติร้ายแรงช่วงการตั้งครรภ์จะเลือกทำแท้งโดยเฉพาะเมื่อตรวจพบว่าตัวอ่อนอยู่เกิดภาวะไม่มีกะโหลกศีรษะ ทาง CDC เคยสำรวจพบว่าผู้หญิงที่ตรวจพบโรคนี้ในตัวอ่อนร้อยละ 83 จะขอเลือกทำแท้ง นอกจากนี้ผู้หญิงมีครรภ์ยังเลือกทำแท้งเนื่องจากตัวอ่อนมีภาวะความผิดปกติอื่นๆ ในอัตราส่วนที่ต่างกัน เช่น หญิงตั้งครรภ์ร้อยละ 92 จะเลือกทำแท้งเมื่อตรวจพบภาวะดาวน์ซินโดรมในตัวอ่อน ร้อยละ 72 จะเลือกทำแท้งเมื่อตรวจพบว่าตัวอ่อนมีภาวะเทอร์เนอร์ซินโดรม (ภาวะความผิดปกติของโครโมโซมที่ก่อให้เกิดความผิดปกติหลายอย่างในเด็กทั้งทางร่างกายและสติปัญญา)

นอกจากความผิดปกติของตัวอ่อนแล้วไกร์มยังได้ระบุถึงการที่ผู้หญิงจำเป็นต้องได้รับสิทธิเข้าถึงการทำแท้งเนื่องจากหญิงที่ตั้งครรภ์เองก็มีความเสี่ยงด้านสุขภาพแต่ผู้หญิงที่อยู่ในพื้นที่ไม่อนุญาตให้ทำแท้งจะต้องเสี่ยงตั้งครรภ์ต่อไป มีการยกตัวอย่าง 26 กรณีในไอร์แลนด์ที่หญิงตั้งครรภ์ประสบภาวะไม่มีกะโหลกศีรษะในตัวอ่อน พบว่ามี 7 กรณี (ร้อยละ 27) หญิงตั้งครรภ์จะมีน้ำคร่ำอยู่รอบบริเวณตัวอ่อนมากเกินไป มี 3 กรณีที่ได้รับการเจาะเอาน้ำคร่ำออกในช่วงใกล้คลอดแล้วและมีอยู่ 4 รายที่ประสบความยากลำบากในการคลอด

นอกเหนือจากการให้เงินชดเชยจากรัฐบาลเปรูแล้ว ในปี 2557 ที่ผ่านมาเปรูยังได้ประกาศใช้แนวทางปฏิบัติเพื่อการทำแท้งอย่างปลอดภัย อย่างไรก็ตามไกร์มระบุว่ายังคงมีผู้หญิงอยู่จำนวนน้อยที่สามารถเข้าถึงการทำแท้งที่ถูกกฎหมายและปลอดภัยได้ ยังต้องมีการต่อสู้เรียกร้องสิทธิในเรื่องนี้ต่อไป

แนนซี นอร์ธรอป ประธานบริหารศูนย์เพื่อสิทธิด้านการเจริญพันธุ์กล่าวว่า ในขณะที่การชดเชยในกรณีนี้มีความสำคัญ แต่ยังคงต้องต่อสู้อีกมากในเรื่องการเข้าถึงบริการสาธารณสุขด้านการเจริญพันธุ์

"มันถึงเวลาแล้วที่เปรูจะต้องประกาศและบังคับใช้แนวทางการทำแท้งอย่างปลอดภัยเพื่อพัฒนาการเข้าถึงบริการสาธารณสุขด้านการเจริญพันธุ์ที่มีความสำคัญต่อผู้หญิงและเด็กหญิงทุกคน" นอร์ธรอปกล่าว

 

เรียบเรียงจาก

Peru compensates woman in historic UN Human Rights abortion case, OHCHR, 18-01-2016
http://www.ohchr.org/EN/NewsEvents/Pages/PeruAbortionCompensation.aspx

United Nations Committee Affirms Abortion as a Human Right, The Huffington Post,
http://www.huffingtonpost.com/david-a-grimes/united-nations-committee-affirms-abortion-as-a-human-right_b_9020806.html

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net