ท่องกรุงเทพ ฯ ในหนึ่งวัน

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

 

ช่วงกลางเดือนที่ผ่านมาผมมีโอกาสไปประชุมที่กรุงเทพ ฯ และต้องนอนค้างอ้างแรม แต่เนื่องด้วยข้อจำกัดเรื่องการเดินทางไปนั้นนี้ ที่ไม่สะดวกเนื่องจากไม่รู้ทาง ทำให้สิ่งที่พอทำได้ คือ เดินคุยกับคนนั้นคนนี้ในระยะทางที่เอื้ออำนวย ทั้งที่ไม่ได้รู้จักคนนั้น ๆ เลย 555

แต่กระนั้นด้วยความสอดรู้ของผมก็หาคนคุยด้วยไม่ยากนัก แต่นั้นไม่ใช่สิ่งที่ผมอยากเล่า 555 สิ่งที่ผมอยากเล่า คือ ชีวิตคน 5 คนที่ผมได้ไปรู้จักที่กรุงเทพ ฯ

คนแรก พี่เอ (นามสมมติ) เป็นคนแรกที่ผมได้พูดด้วยหลังจากลงเครื่อง พี่เอเป็นคนขับรถแท็กซี่ขับมาได้ 8 ปีกว่าแล้ว แกเล่าว่าแกเป็นคนกรุงเทพฯ โดยกำเนิด ซึ่งเราจะพบได้น้อยมากเพราะเท่าที่ผมพบส่วนใหญ่จะเป็นพี่น้องภาคอีสาน พี่เอมีรถแท็กซี่ 2 คัน อายุน่าจะใกล้ 40 ปี แกเล่าว่าช่วงนี้คนขับแท็กซี่รายได้ลดลง คนจะขึ้นมากเฉพาะช่วงปลายเดือน ช่วงกลางเดือนคนน้อย รวมถึงค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นในส่วนของค่าแก๊ส ที่ต่อไปรัฐบาลจะไม่อุดหนุนแล้วทำให้ต้นทุนของคนขับแท็กซี่เพิ่มมากขึ้น ซึ่งแกก็ดีกว่าเพื่อนคนขับแท็กซี่คันอื่น ๆ เพราะไม่ต้องเช่า ถ้าต้องเช่ารถค่าใช้จ่ายก็จะสูงขึ้น เพราะกะหนึ่งราว 12 ชั่วโมง จะตกอยู่ 500-600 บาท รวมถึงต้องเติมแก๊สอีกวันละ 400 - 600 บาท ทำให้ต้นทุนของแต่ละคนต้องเริ่มที่ 900-1,200 บาท ไม่นับค่ากินค่าใช้อื่น ๆ ทำให้พวกที่เช่ารถต้องหาให้ได้อย่างน้อยวันละ 1,500 บาทขึ้นถึงจะคุ้มกับการออกรถแต่ละกะ แกเล่าว่าบางวันก็เสมอตัว บางวันก็ขาดทุน ต่างจากเมื่อก่อนที่คนจะขึ้นแท็กซี่มาก วันเสาร์อาทิตย์คนจะเที่ยวห้างซื้อของ แต่ปัจจุบันคนจับจ่ายน้อยลงมาก ทั้งที่น้ำมันราคาลดลง แต่สินค้าอื่น ๆ กลับไม่ลดตาม

นอกจากนี้พี่เอยังวิพากษ์เพื่อนผู้ให้บริการต่างชนิด เช่น เจ๊เกียว ที่เวลาน้ำมันขึ้นนิดหน่อยขึ้นค่าโดยสารอย่างฉับไว แต่พอราคาน้ำมันลดกลับไม่ลดราคาค่าโดยสารเลย พี่แกบอกยายนี้เอาเปรียบคนอื่น 555 แกบอกว่าแท็กซี่จะขึ้นแต่ละบาทยากแสนยากไม่เหมือนรถทัวร์ และทุกวันนี้แท็กซี่ก็ออกมามายมาย รวมถึงแกถามผมเรื่องรถโดยสาร (มวลชน) ในเชียงใหม่ ผมบอกไม่มี แกออกจะประหลาดใจว่าทำไมเมืองใหญ่ขนาดนี้ถึงไม่มี 555 ผมก็ตอบไม่ได้ครับ ผมใช้เวลากับแกราว 50 นาทีก็ถึงที่หมาย

คนที่สอง พี่แอ้ (นามสมมติ) แม่หญิงพะเยาที่เข้ามาเรียนกรุงเทพ ฯ ตั้งแต่อายุ 12 ปี เธอเล่าว่ามีพี่น้อง 12 คน ต้องทำงานและเรียนไปด้วย เข้ามากรุงเทพ ฯ กับพี่สาวฝาแฝด ทำงานสารพัดจนเรียนจบมหาวิทยาลัยเอกชนเเห่งหนึ่ง ซึ่งในสมัยนั้นถือว่าไฮโซแล้ว ปัจจุบันพี่แอ้มีร้านขายยาแผนโบราณขนาดใหญ่ ทั้งขายปลีกขายส่งมียาสมุนไพรสารพัด

นอกจากนี้เธอยังมีชุมชนเพื่อนกลุ่มเล็กที่ล้วนแล้วแต่เป็นคนต่างจังหวัด ที่มักออกไปบริจาคของ ทำบุญปฏิบัติธรรมตามจังหวัดต่าง ๆ รวมถึงเธอเป็นคนชอบร้องเพลงจึงมีกลุ่มร้องเพลงในไทยสากล (ลูกกรุง) เจอกันเป็นประจำ มีการนัดกินข้าวกันทุกอาทิตย์ 5-8 คน เท่าที่แกเล่า ซึ่งเป็นคนต่างจังหวัด ที่มีฐานะดีพอสมควร เพราะพี่อ้อบอกว่าเธอมีบ้าน 2 หลังในกรุงเทพ ฯ และมีสวนดาวอินคาที่เธอทำต่างจังหวัดอีกราว 30 ไร่ มีที่นากว่า 80 ไร่ เธอยังเอารูปบ้านในจังหวัดพะเยาให้ดูซึ่งก็ใหญ่โต รวมถึงที่ที่ไปเที่ยวต่าง ๆ ก็อาจนับว่าพี่แอ้เป็นผู้มีอันจะกิน

เธอเล่าว่าเธอกลับบ้านทุกเดือนเพราะลูกชายเป็นเภสัชกรอยู่เชียงราย รวมถึงที่บ้านได้ทำสถานที่ปฏิบัติธรรม ขุดสระน้ำให้คนในพื้นที่ได้ประโยชน์ สิ่งหนึ่งที่เธอภูมิใจ คือ การไม่ลืมบ้านเกิดแม้ว่าค่อนชีวิตของเธออาศัยในเมืองกรุง เธอก็ยังบอกว่าเธอเป็นคนเมืองพะเยา

คนที่สาม ลุงแอ๊ด (นามสมมติ) คนอุบลฯ เข้ามาขายผลไม้แบบรถเข็น แกเล่าว่ามาทำอาชีพนี้ได้กว่า 10 ปีแล้ว เพราะอยู่บ้านไม่มีแนวเฮ็ดอยู่เฮ็ดกิน คงแปลว่าไม่มีไรทำกระมัง เพราะแกเจอหน้าผมก็เว้าอีสานเลย ฟังออกบ้างไม่ออกบ้าง แกบอกว่าแกเดินเข็นรถขายผลไม้ตั้งแต่กลางวันจนราว ๆ 4 ทุ่ม แล้วก็จะเดินกลับบ้าน (ที่พัก) (ผมเจอแกที่สนามเป้า) ขายจนหมดทุกวัน ผลไม้แกมีทุกอย่างตั้งแต่สับปะรด มะละกอ มะม่วง แตงโม ฯลฯ ขายถุงละ 10 บาทขึ้นไป วันหนึ่งแกบอกว่าขายได้ 2,000 บาทขึ้น (ไม่แน่ใจว่ากำไรหรือต้นทุนกับกำไรรวมกัน) จะขายดีตลอดเพราะราคาถูก แกไปรับผลไม้มาเอง ทำให้ต้นทุนไม่สูงมาก แต่ถ้าวันไหนฝนตกก็แย่หน่อย นอกจากขายผลไม้แล้วพอถึงหน้านาแกก็จะกลับบ้านไปทำนาที่อุบลฯ แต่แกบอกว่าทำพอกิน ข้าวที่กินในกรุงเทพ ฯ ก็เอามาจากบ้าน แกกลับบ้านไม่บ่อยนักปีละ 3-4 ครั้ง ยกเว้นตอนทำนาจะไปนานหน่อย แต่ญาติก็จะเอาข้าวฝากคนในหมู่บ้านที่มากรุงเทพ ฯ อยู่เนือง ๆ

คนที่สี่ พี่เพ็ญ (นามสมมติ) คนเมืองพล จังหวัดขอนแกน แกอายุไม่ห่างจากผมมากนัก แต่แกมีหลานแล้ว แกเล่าว่าพึ่งกลับบ้านไปแต่งสะใภ้มา ลูกชายแกพึ่งจบ ม. 6 ทำสาวท้องเลยต้องแต่งงานกลายเป็นคุณย่ายังสาว แกเล่าว่ามีลูกสองคน อีกคนยังเล็กอยู่ อยู่กับยายที่บ้าน

แกเข้ามาขายลูกชิ้น ปลาหมึกปิ้งได้ราวๆ 8 ปีแล้ว ร้านตั้งอยู่แถว BTS หน้าเซเว่นสนามเป้า แกจะเริ่มขายตั้งแต่เย็น ๆ ถึงราวๆ 4 ทุ่ม ช่วยกันขายกับสามีสองคน แกเล่าว่าลูกยังเล็กต้องสลับกับสามีกลับบ้านทุกเดือน เพราะอยู่บ้านแกบอกไม่มีอะไรทำ พื้นที่ของแกทำได้แต่นา ผมถามว่าปลูกยางไหม แกบอกว่าที่บ้านไม่มีการปลูกยาง อาจเพราะพื้นที่ไม่เอื้ออำนวย แต่แกยังกลับไปทำนาอยู่เหมือนลุงแอ๊ด คือ ช่วงหน้านาก็จะกลับไปอยู่บ้านคนหนึ่ง หลังจากเสร็จจากนาแล้วถึงมาขายของต่อ ซึ่งแกบอกว่าก็พอขายได้มีอยู่มีกิน เพราะแถวนี้ (สนามเป้า) คนเยอะมีคนซื้อตลอด.

คนสุดท้าย พี่ทิว(นามสมมติ) มีอาชีพขับแท็กซี่ เป็นอีสาน (จำจังหวัดไม่ได้) แกมาขับแท็กซี่ได้ 10 กว่าปีแล้ว แต่แท็กซี่เช่าเขาขับ พี่ทิวขับกะเช้าเพราะมีอายุแล้ว ขับกะดึกไม่สะดวก สายตาไม่ค่อยดี รายได้ของแกไม่แน่นอนบางวันก็พอตัว ได้นิดๆ หน่อยๆ ไม่เหมือนเมื่อก่อน แกเล่าว่าเมื่อก่อนขับสัก 4-5 ชั่วโมงก็คุ้มแล้ว แต่ปัจจุบันต้องขับทั้ง 12 ชั่วโมง บางทีก็ได้ร้อยสองร้อย แกบอกว่าปีสองปีนี้แย่

แต่ที่สำคัญแกเป็นแฟนพันธุ์แท้การเมืองไทย โดยเฉพาะเสื้อแดง แกเล่าอย่างจริงจังเกือบทุกเรื่อง แต่เรื่องที่น่าสนใจก็คือ การสื่อสารของคนเสื้อเเดงกับเครือข่าย ที่ต่าง ๆ ที่ฉับไวได้ทั้งภาพทั้งเสียง ส่งข่าวให้กันทั้งในเมืองและชนบท ทุกคนมีไลน์ มี เฟซบุ๊ก ต่างเป็นนักข่าวโดยตัวเอง ฟังวิทยุ อ่านหนังสือพิมพ์ เข้าอินเทอร์เน็ต และที่สำคัญไม่รับสื่อจากทางการ หรือสื่อกระแสหลักอย่างเดียว แกบอกว่าคนชนบทรู้ทุกเรื่อง รัฐไม่สามารถปิดบังอะไรได้แล้ว

อาจกล่าวได้ว่าโลกของพี่ทิวเป็นโลกที่ใครก็ไม่สามารถปิดกั้นได้อีกแล้ว เป็นโลกที่ทุกคนเข้าถึงค้นหาข้อมูลได้ด้วยตนเอง (ถูกผิดเป็นอีกเรื่อง) เป็นโลกที่การเมืองหมุนรอบตัวแก แกบอกว่าแกไม่ได้โง่ให้ใคร "หลอก" อีกแล้ว

ชีวิตในหนึ่งผมพบเจอผู้คนได้สัมผัสเศษเสี้ยวของชีวิตคนต่าง ๆ ที่ล้วนต้องเข้ามาอยู่เมืองกรุงด้วยเหตุผลต่าง ๆ กันไป แต่ผมตั้งข้อสังเกตว่า

1) กรุงเทพ ฯ ที่เจริญเติบโตได้เพราะคนต่างจังหวัดที่เข้าไปอยู่/หากิน/ทำงาน/ใช้ชีวิต ทำให้กรุงเทพ ฯ ที่เขารังเกียจคนบ้านนอกนี้ที่ทำให้กรุงเทพ ฯ หมุนไปทุกวัน ถ้าไม่มีคนเหล่านี้กรุงเทพ ฯ ก็คงเป็นอัมพาต

2) ผมว่าเศรษฐกิจถูกขับเคลื่อนโดยคนเล็กคนน้อย ที่ทำอาหาร บริการราคาถูกให้พนักงานออฟฟิศ หรือคนทำงานในกรุงเทพ ฯ อยู่ได้ เพราะถ้าลำพังกินอาหารในห้างทุกวันเงินเดือนคงไม่มีเหลือ แต่เรากลับมีความรู้เกี่ยวกับเศรษฐกิจในระดับจุลภาคนี้น้อยมาก ๆ รัฐเองก็ไม่สนใจทั้งที่เขาเหล่านี้คือคนหล่อเลี้ยงเมืองอย่างแท้จริง

3) คนต่างจังหวัดได้สร้างชุมชนของตนในเมืองกรุงในรูปแบบต่าง ๆ ทั้งคนบ้านเดียวกัน คนคอเดียวกัน คนรสนิยมเดียวกัน ฯลฯ ซึ่งเป็นชุมชนที่ต่างมีความสัมพันธ์กันในแบบใดแบบหนึ่ง ซึ่งอาจแย้งกับพวกที่บอกว่าเมืองเป็นสังคมปัจเจกก็เป็นได้

4) แม้ว่าคนต่างจังหวัดหลายคนจะเข้าไปอยู่ในเมืองกรุง เขาเหล่านั้นก็ต่างรักษาสายสัมพันธ์ของเขากับ “บ้าน” ในชนบทแบบใดแบบหนึ่งไว้

5) ท้ายที่สุดคนที่ข้ามแดนไปในพื้นที่ต่าง ๆ ทำให้เขามีจินตนาการต่อโลกอีกแบบหนึ่ง ซึ่งไม่ใช่โลกแบบเดิมอีกเเล้ว (ดูงาน พัฒนา กิติอาษา. 2557. สู่วิถีอีสานใหม่ กรุงเทพฯ : วิภาษา) ซึ่งคนที่คิดว่าคนเหล่านี้ดักดานอาจดักดานยิ่งกว่าเขาเหล่านี้ เพราะประสบการณ์ที่เขาพบเจอได้ทักทอโลกอีกแบบขึ้นแล้ว และไม่มีทางกลับไปเหมือนเดิมได้อีก

 

เกี่ยวกับผู้เขียน: ปัจจุบัน ชัยพงษ์ สำเนียง  กำลังศึกษาในระดับปริญญาเอกสาขาวิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท